ความสัมพันธ์สองด้าน ของ “ผู้กองยอดรัก” กับ “สังคมการเมืองไทย”

มติชนสุดสัปดาห์ 7-13 สิงหาคม 2558

เมื่อปลายเดือนก่อน เว็บไซต์ประชาไท เผยแพร่สกู๊ปข่าวภาษาอังกฤษหัวข้อ “Romancing the tanks: how military rom-com”s constant remakes since the ’70s legitimize coups” (ซึ่งต่อมามีการแปลเป็นภาษาไทยในชื่อ “ผู้กองยอดรัก: ละครรักกุ๊กกิ๊กเกี่ยวกับทหารที่ถูกสร้างใหม่ซ้ำแล้วซ้ำเล่า เพื่อสร้างความชอบธรรมให้แก่รัฐประหาร ตั้งแต่ทศวรรษ 1970”) โดย ผู้เขียนที่ใช้ชื่อว่า “เอสรี ไทยตระกูลพาณิช”

ข้อเสนอหลักของรายงานข่าวชิ้นนี้ ระบุว่า นับตั้งแต่ช่วงทศวรรษ 1970 เป็นต้นมา หนังและละครแนวโรแมนติกคอเมดี้ ที่มีตัวละครเอกเป็นทหาร เรื่อง “ผู้กองยอดรัก” (ตลอดจนภาคต่อในชื่ออื่นๆ) ได้ถูกสร้างขึ้น ซ้ำแล้วซ้ำเล่ามากถึง 9 ครั้ง

ที่น่าสนใจ คือ มีหลายๆ ครั้ง ที่หนัง-ละครเหล่านั้น ถูกสร้างขึ้นหลังเหตุการณ์ปฏิวัติรัฐประหาร

จึงอาจเป็นไปได้ว่า การรีเมก “ผู้กองยอดรัก” มีความข้องเกี่ยวกับการพยายามสร้างความชอบธรรมและสร้างภาพลักษณ์โรแมนติกให้แก่กองทัพ ซึ่งเข้ามามีบทบาทแทรกแซงทางการเมือง

“ผู้กองยอดรัก” “ยอดรักผู้กอง” และ “ผู้กองอยู่ไหน” เป็นนวนิยายชุดของ “กาญจนา นาคนันทน์” ที่ตีพิมพ์ในช่วงทศวรรษ 2510 โดยเคยถูกนำมาสร้างเป็นภาพยนตร์สองครั้งใน พ.ศ.2516 และ 2524 และถูกนำมา สร้างเป็นละครโทรทัศน์มากถึง 7 ครั้ง ใน พ.ศ.2515, 2522, 2531, 2538, 2545, 2550 และครั้งล่าสุด ทางช่อง 3 ใน พ.ศ.2558

เอสรีและกองบรรณาธิการประชาไท ได้นำข้อมูลดิบดังกล่าวมาเทียบเคียงกับสถิติการทำรัฐประหารในช่วงเวลาเดียวกัน แล้วประมวลออกมาเป็นอินโฟกราฟิก ซึ่งชี้ให้เห็นว่า มีหลายครั้งที่หนัง/ละครเรื่อง “ผู้กองยอดรัก” ถูกสร้างขึ้นคล้อยหลังเหตุการณ์รัฐประหารหรือการกบฏที่ล้มเหลวโดยกองทัพ

อินโฟกราฟิกทหาร

หลังรัฐประหารปี 2514 มีการสร้างละคร “ผู้กองยอดรัก” ในปี 2515 และเวอร์ชั่นหนังในปี 2516

หลังรัฐประหารปี 2519 และ 2520 มีการสร้างละคร “ผู้กองยอดรัก” ในปี 2522

พร้อมๆ กับเหตุการณ์กบฏ 2524 ในปีเดียวกัน ก็มีการสร้างหนังเรื่อง “ผู้กองยอดรัก”

หลังรัฐประหาร 2549 ในปี 2550 ละคร “ผู้กองยอดรัก” ถูกสร้างขึ้นอีกครั้งหนึ่ง

เช่นกันกับในปี 2558 ที่ละครเรื่องนี้ถูกรีเมกอีกหน ภายหลังรัฐประหารปี 2557

เอสรียังไปสัมภาษณ์บุคคลเพิ่มเติม คนแรก คือ ชานันท์ ยอดหงษ์ นักศึกษาปริญญาเอกและนักเขียนด้านประวัติศาสตร์ ที่แสดงความเห็นว่า ละคร “ผู้กองยอดรัก” ขับเน้นประเด็นเรื่องความรักชาติ ผ่านการนำเสนอภาพความแตกต่างระหว่างเมืองกับชนบท และสถานะอันแตกต่างทางสังคม-เศรษฐกิจ

ขณะเดียวกัน ภาพลักษณ์ทหารในละคร ยังถูกนำเสนอในเชิงโฆษณาชวนเชื่อ จนมีบุคลิกลักษณะโรแมนติก, สนุกสนาน และร่าเริง ส่วนบุคลิกและกิจกรรมด้านอื่นๆ กลับถูกลดทอนลบเลือนหมดสิ้น

ทางด้านนายทหารระดับพันเอกคนหนึ่งให้สัมภาษณ์ว่า ละคร “ผู้กองยอดรัก” ฉายภาพวิถีชีวิตของ “นายทหารรับใช้” อย่างไม่สมจริง กระทั่งอาจสร้างภาพลักษณ์ไม่ดีต่อกองทัพได้

อย่างไรก็ดี อารมณ์ขันในละคร “ผู้กองยอดรัก” ทำให้ชานันท์เห็นว่า ละครเรื่องนี้มีบางแง่มุม ที่ช่วยทำลายการแบ่งแยกชนชั้นในสังคม โดยเฉพาะในตอนที่ตัวละครผู้บังคับบัญชาถูกกลั่นแกล้งหรือหยอกล้อโดยพลทหาร

ผิดกับ นายทหารคนเดิม ที่มองว่า ถ้าเกิดเหตุการณ์หยอกล้อเช่นนั้นในชีวิตจริง พลทหารจอมทะเล้นจะต้องถูกลงโทษสั่งขังทันที

ขออนุญาตคิดต่อจากรายงานข่าวชิ้นดังกล่าว โดยที่บางประเด็นอาจมีความสอดคล้องกัน บางประเด็นอาจเห็นต่าง หรือบางประเด็นอาจไม่ได้มีความข้องเกี่ยวโดยตรงกับสิ่งที่เอสรีเสนอ

ประเด็นหลักที่เป็นจุดตั้งต้นของรายงานข่าวชิ้นนี้ เห็นจะเป็นสมมุติฐานที่ว่า สภาพสังคมการเมือง ณ ช่วงเวลานั้นๆ ย่อมมีส่วนในการกำหนด ครอบงำ หรือมีอิทธิพล ต่อการสร้างสรรค์สื่อบันเทิงหรือมหรสพต่างๆ ที่เกิดขึ้นในยุคสมัยเดียวกัน

คำถาม คือ ความสัมพันธ์ระหว่างบริบททางสังคมการเมือง กับ สื่อบันเทิง มีได้แค่รูปแบบหรือทิศทางเดียว เท่านั้นหรือ?

หากพิจารณาเฉพาะกรณีของ “ผู้กองยอดรัก 2558” ดูเหมือนสมมุติฐานของเอสรีน่าจะถูกต้อง กล่าวคือ ละครเรื่องนี้ ถูกสร้างขึ้นหลังรัฐประหาร พฤษภาคม 2557 (เปิดกล้องเดือนตุลาคม 2557) ฉะนั้น ละครคงหลีกลี้หนีอิทธิพลของอำนาจทหารที่กำลังแผ่กระจายในสังคมไปไม่พ้น

อย่างไรก็ตาม การช่วย “ฟอก” “โรแมนติไซส์” หรือถ่ายทอดอุดมการณ์ของกองทัพ ผ่านการสร้างละคร กลับไม่ได้ดำเนินไปอย่างทื่อๆ ตรงๆ ชนิดที่ถ้าหากผู้มีอำนาจกำลังโปรโมต “ค่านิยม 12 ประการ” อยู่ บรรดาตัวละครก็ต้องท่องค่านิยมเหล่านั้นให้คนดูฟัง

ประการแรก หากคิดแบบหยาบๆ และมองว่ามนุษย์ทุกคนต่างต้องพยายามคิดคำนวณ เพื่อกอบโกยหรือแสวงหาผลประโยชน์เข้าตัวเองและพวกพ้องให้มากที่สุด

ดังนั้น เมื่อทหารกำลังมีสถานะเป็นกลุ่มบุคคลที่มีพลังอำนาจมากที่สุดในสังคมการเมืองไทย จึงเป็นเรื่องธรรมดา ที่คนทำหนัง ทำละคร ทำอีเวนต์ จะพยายามผลิตงานอันมีเนื้อหาข้องเกี่ยวกับกองทัพ (ในแง่ดี)

คนทำสื่อบันเทิงเหล่านั้นอาจไม่ได้รับผลประโยชน์ตอบแทนอะไรมากมายนัก แต่อย่างน้อยที่สุด ก็น่าเชื่อว่า ทหารคงอำนวยความสะดวกให้พวกเขาอย่างเต็มที่ ในขั้นตอนการถ่ายทำหรือจัดนิทรรศการ (ไม่นับรวมบางกรณี ที่หน่วยงานความมั่นลงเข้าไปเป็นผู้อำนวยการสร้างภาพยนตร์แบบไม่หวังผลกำไรด้วยตัวเอง)

แม้แต่ผู้กำกับภาพยนตร์ “นอกกระแสหลัก” ที่มีแนวคิด “วิพากษ์อำนาจนำในสังคม” อย่างชัดเจนมากที่สุดของเมืองไทยยุคปัจจุบัน อย่าง “อภิชาติพงศ์ วีระเศรษฐกุล” ก็เพิ่งให้สัมภาษณ์กับนิตยสารจีเอ็มว่า ระหว่างการถ่ายทำหนังเรื่องล่าสุด “รักที่ขอนแก่น” ทีมงานของเขาได้รับการสนับสนุนช่วยเหลือจากบรรดาเจ้าหน้าที่รัฐเป็นอย่างดี รวมทั้งทหารในพื้นที่ด้วย

(อภิชาติพงศ์ไม่ได้อธิบายต่อ แต่ผมคาดเดาเอาเองว่า การช่วยเหลือดังกล่าวอาจเกิดขึ้น เพราะตัวละครหลักในหนังเป็นทหาร)

ประการถัดมา เมื่อทหารกลายเป็นบุคคลสำคัญในข่าวหรือประเด็นทอล์ก ออฟ เดอะ ทาวน์ ตั้งแต่ข่าวการเมือง ข่าวเศรษฐกิจ จนถึงปัญหาปากท้องและการเสี่ยงโชค

การจัดทำมหรสพที่มีตัวละครนำเป็น “บุคคลในเครื่องแบบลายพราง” จึงย่อมมีโอกาสสูงในการเข้าถึงหรือเป็นที่นิยมของผู้ชมหมู่มาก

ทว่า การจะเข้าถึงคนดูทีวีกลุ่มแมสได้นั้น ไม่สามารถกระทำผ่านการเชิดชูภาพลักษณ์ในด้านบวกของตัวละครเอกเพียงอย่างเดียว

มหรสพหรือละครเรื่องนั้นๆ จึงต้องกอปรขึ้นมาจากองค์ประกอบของการ “โปร” และ “ล้อเลียน” ทหาร (ดังที่ชานันท์ระบุว่า อารมณ์ขันในละคร “ผู้กองยอดรัก” อาจสามารถทำลายการแบ่งแยกชนชั้นได้)

ยิ่งมหรสพหรือละครที่พูดถึงทหาร ในยุคทหารเป็นใหญ่ มีลักษณะลักลั่นกำกวมระหว่างสององค์ประกอบข้างต้น และเปิดกว้างต่อการตีความของคนดูมากขึ้นเพียงใด ก็มีโอกาสที่มหรสพหรือละครเรื่องนั้น จะกลายเป็นที่นิยมในวงกว้างมากยิ่งขึ้น

คงไม่ต่างอะไรกับละครจักรๆ วงศ์ๆ ช่วงเช้าวันเสาร์-อาทิตย์ ที่ทำเรตติ้งสูงจนน่าเหลือเชื่อ อย่าง “แก้วหน้าม้า” ซึ่งด้านหนึ่ง ก็มีองค์ประกอบของการยืนยันทำซ้ำคุณค่า ความเชื่อ และจารีตแบบเดิมๆ แต่อีกด้าน คนดูก็มีโอกาสหัวเราะเฮฮา เมื่อ “ท้าวภูวดลฯ” ถูกแก้วหน้าม้าและพระมเหสี “ตั๊น” ใส่ แทบทุกอาทิตย์

ด้วยเหตุนี้ แม้การรีเมค “ผู้กองยอดรัก” หลังรัฐประหารครั้งล่าสุด จะเกิดขึ้นตามอิทธิพลขจรขจายของกองทัพ แต่ใช่ว่าผู้สร้างละครจะไม่รู้จักเก็บเกี่ยวผลประโยชน์บางด้านจากการทำตัวเป็นไผ่ลู่ลม

(และบ่อยครั้ง ผลประโยชน์ของคนทำสื่อบันเทิง ก็มิได้เป็นอันหนึ่งอันเดียวกันกับผลประโยชน์ของทหาร เหมือนที่นายทหารยศพันเอกในรายงานข่าวของประชาไท แสดงความไม่เห็นด้วยกับภาพลักษณ์ “ทหารรับใช้” ในละคร)

เกร็ดอีกประการหนึ่ง ซึ่งแสดงให้เห็นว่า บริบททางการเมืองไม่ได้ส่งอิทธิพลต่อละครในลักษณะบนลงล่างเสียทีเดียว ก็คือ ตอนอวสานของละคร “ผู้กองยอดรัก” เมื่อคุณหมอทหารอย่าง “ผู้กองฉวีผ่อง” ได้สมรสสมรักกับเนติบัณฑิต/ท่านผู้พิพากษาอย่าง “พัน”

บทสรุปจบเช่นนี้มีรากฐานมาจากนิยายในช่วงกลางทศวรรษ 2510 ของ กาญจนา นาคนันทน์ ซึ่งคงมีส่วน “ผลิตซ้ำ” ความเชื่อที่มองว่า ทหารและผู้พิพากษา เป็น “คนดี” ของสังคมไทย (หรือจริงๆ นิยายชุดนี้อาจเป็นผู้ผลิตความหมายทางวัฒนธรรมดังกล่าวเป็นลำดับต้นๆ เสียด้วยซ้ำ)

และแน่นอนว่าย่อมมาก่อนกระบวนการตุลาการภิวัฒน์ ที่ช่วยสานต่อภารกิจของคณะรัฐประหาร 2549 และเปิดทางให้แก่การรัฐประหาร 2557 ในอีกหลายทศวรรษหลัง

หากพิจารณาจากแง่มุมนี้ บริบททางสังคมการเมืองจึงมิได้มีอิทธิพลครอบงำต่อละครและตัวละครโดยเบ็ดเสร็จเด็ดขาด

ทว่า บางครั้ง ชะตากรรมของเหล่าตัวละครและสถานการณ์บ้านเมืองจริงๆ กลับไปพ้องกันโดยบังเอิญ

ยิ่งกว่านั้น ละคร มหรสพ หรือสื่อบันเทิงอื่นๆ ซึ่งมีส่วนผลิตซ้ำความเชื่อหลักที่ฝังแน่นในสังคมไทย อาจมีอำนาจในการก่อรูปความคิดของผู้นำการเมืองบางฝ่าย และมวลชนสนับสนุน ด้วยซ้ำไป

ดังนั้น ในทางกลับกัน สื่อบันเทิง ตลอดจนมหรสพต่างๆ ก็อาจมีอิทธิพลครอบงำสังคมการเมือง หรือผู้มีอำนาจทางการเมือง อยู่ไม่น้อย

คำถามจึงอาจไม่ใช่ ละครสะท้อนความจริงเพียงใด? แต่ควรถามว่า ผู้คนในโลกความจริงพยายามกล่อมเกลาบ่มเพาะตนเองให้กลายสถานะเป็นตัวละครในนิยายพาฝันอย่างไร? มากกว่า

Leave a Reply

Fill in your details below or click an icon to log in:

WordPress.com Logo

You are commenting using your WordPress.com account. Log Out /  Change )

Twitter picture

You are commenting using your Twitter account. Log Out /  Change )

Facebook photo

You are commenting using your Facebook account. Log Out /  Change )

Connecting to %s

This site uses Akismet to reduce spam. Learn how your comment data is processed.