“ยุคทอง” ใน Last Night I Saw You Smiling

ไม่ขอลงรายละเอียดหรือบรรยายอะไรเกี่ยวกับตัวหนังมากนัก เพราะคิดว่าคงมีท่านอื่นๆ เขียนถึงไปเยอะแล้ว หรือกำลังจะเขียนในอนาคตอันใกล้

โดยส่วนตัว รู้สึกว่าหนังสารคดีจากกัมพูชาเรื่องนี้มีความน่าสนใจอยู่ 2-3 จุด

หนึ่ง

คนดูจะไม่ได้มองเห็นรูปพรรณสัณฐานของ “the White Building” ช่วงก่อนถูกทุบ ในมุมกว้างๆ เลย แต่จะเห็นเพียงเสี้ยวเล็กส่วนน้อยภายในตึกหรือด้านนอกอาคาร รวมทั้งภาพนิ่งที่สื่อถึงความโอ่อ่าทันสมัยของมันเมื่อแรกสร้างเสร็จ ณ ทศวรรษ 1960

สอง

ผมชอบที่หนังเลือกจับภาพส่วนเสี้ยวเล็กๆ กระจัดกระจายของบางชีวิตใน “the White Building” โดยไม่พยายามจะเชื่อมโยงแต่ละส่วนเข้าหากันเป็นองค์รวม หรือพยายามทำให้หลายๆ ชีวิตเหล่านั้นมีความขัดแย้งไม่ลงรอยกัน ผมรู้สึกว่าวิธีการนำเสนอเช่นนี้ ก็สอดคล้องกับการนำเสนอรูปลักษณ์อาคารที่ปรากฏในหนัง

lastnight

สาม

ข้อนี้เป็นประเด็นใหญ่สุดที่ผม “ติดใจ” และพยายามคิดต่อ เมื่อได้ดู “Last Night I Saw You Smiling”

เท่าที่ได้ดูภาพยนตร์กัมพูชาร่วมสมัยของผู้กำกับรุ่นใหม่ ซึ่งรวมกลุ่มกันในนาม “Anti-Archive” (เดวี่ ชู และ คาวิค เหนียง) ผมพบว่าลักษณะร่วมที่พวกเขามีคล้ายกับผู้กำกับหนังอิสระหลายรายของไทย ก็คือ การมองไม่เห็นอนาคตภายภาคหน้าของประเทศ (กัมพูชาและไทย) ด้วยสภาวะที่น่าอึดอัดคับข้องใจในปัจจุบัน

อย่างไรก็ดี ขณะที่หนังไทยจากผู้กำกับอิสระหลายๆ คน (ตั้งแต่ “Ten Years Thailand” จนถึง “Where We Belong” เป็นต้น) เลือกพูดถึงอนาคตอันรางเลือน ผ่านความวิตกกังวลต่อสภาวะปัจจุบันที่สับสนอลหม่าน

แต่หนังกัมพูชาจาก “Anti-Archive” กลับเลือกจะเผชิญหน้ากับอนาคตที่ไม่แน่นอน และปัจจุบันที่ไร้ความหวัง ด้วยการย้อนกลับไปคนึงหา “ยุคทองในอดีต” (ไม่ว่าจะเป็นศิลปะ บทเพลง และสถาปัตยกรรม) ช่วงก่อนชัยชนะของ “เขมรแดง”

ซึ่งคงต้องยอมรับว่าหนังอิสระไทยที่เผชิญปัญหาคล้ายๆ กัน ไม่สามารถเลือกวิถีทางเช่นนั้นได้

ไม่กี่ปีก่อน “2475” เกือบจะกลายเป็นวัตถุดิบชั้นดี ที่สามารถนำมาไตร่ตรองสะท้อนคิดถึงสังคมการเมืองไทยร่วมสมัยและในอนาคต

ทว่า ณ ปัจจุบัน การปฏิวัติ/เปลี่ยนแปลงการปกครองครั้งนั้น ก็คล้ายจะหวนกลับไปเป็นประเด็นสาธารณะที่อ่อนไหวบอบบาง จนไม่สามารถนำมาถกเถียง ตีความใหม่ หรือผลิตซ้ำในทางวัฒนธรรมได้

“อดีตอันงดงามและไกลโพ้น” ของคนกัมพูชาสมัยนี้ นั้นอยู่ในประมาณทศวรรษ 2500 แต่ช่วง 2500-2510 ก็คือจุดเริ่มต้นของความอัปลักษณ์-อาการป่วยไข้นานัปการ ในปัจจุบันและอนาคตของประเทศไทย

ยิ่งกว่านั้น ยังเป็นเรื่องยากที่คนทำหนังอิสระไทยจะนำเอาดอกผลจากสภาพสังคมวัฒนธรรมในช่วง 2500-2510 มาใช้วิพากษ์ปัจจุบันอย่างเข้มข้น เพราะทั้งสองบริบทดังกล่าวมีความเชื่อมโยงเป็นเนื้อเดียวกันจนเกินไป

(ยกเว้นกรณีการต่อสู้-ความขัดแย้งระหว่างรัฐไทยกับพรรคคอมมิวนิสต์ ดังปรากฏในผลงานกลุ่มหนึ่งของ “อภิชาติพงศ์ วีระเศรษฐกุล” แต่นั่นก็ไม่ใช่ “ยุคทองที่งดงาม” พร้อมกันนั้น ประวัติศาสตร์หน้านี้ยังอาจตกอยู่ในสภาพเดียวกับ “2475” ซึ่งกลายเป็นเรื่องอ่อนไหว ณ สถานการณ์ร่วมสมัย)

ผิดกับสิ่งที่เกิดขึ้นในประวัติศาสตร์การเมืองกัมพูชา ซึ่งมีการเปลี่ยนแปลงระบอบ-สังคมการเมืองชนิดถอนรากถอนโคน (ที่ล้มเหลวในเวลาต่อมา) และสภาพสังคมก่อนและหลัง “ยุคเขมรแดง” ก็ผิดแผกแตกต่าง มีผู้คน-วิถีชีวิตที่สูญหายไปมากมาย

ความทรงจำ “ก่อนยุคเขมรแดง” กลายสภาพเป็นเหมือน “วัตถุ” บางอย่าง ที่อยู่ห่างไกลออกไป มีแต่ตัวตนเลือนๆ รางๆ มิอาจจับต้องจ้องมองได้อย่างสมบูรณ์แบบ ณ ปัจจุบัน (ไม่ต่างอะไรกับ “the White Building”)

แต่อีกด้านหนึ่ง เราก็สามารถหยิบจับนำเอาเศษซากประวัติศาสตร์-ความทรงจำอัน “เป็นอื่น” และ “ไกลตัว” เช่นนั้น มาตั้งคำถามต่อปัจจุบันและอนาคตได้โดยไม่ติดขัดเคอะเขิน

ดังที่ภาพยนตร์สารคดีกัมพูชาอย่าง “Last Night I Saw You Smiling” แสดงให้เห็น

Leave a Reply

Fill in your details below or click an icon to log in:

WordPress.com Logo

You are commenting using your WordPress.com account. Log Out /  Change )

Twitter picture

You are commenting using your Twitter account. Log Out /  Change )

Facebook photo

You are commenting using your Facebook account. Log Out /  Change )

Connecting to %s

This site uses Akismet to reduce spam. Learn how your comment data is processed.