หมายเหตุ ติดตามอ่านบทความฉบับเต็มได้ใน “มติชนสุดสัปดาห์” ฉบับวางแผงวันที่ 9 กุมภาพันธ์ 2561 ครับ
หนึ่ง
จุดน่าสนใจประการแรก คือ โครงสร้างของโชว์ที่แปลกประหลาดและผิดแผกแหวกแนวจากคอนเสิร์ตส่วนใหญ่ (อย่างน้อยก็ของเมืองไทย)
หากจะตั้งชื่อใหม่ให้คอนเสิร์ตครั้งนี้ โดยเลียนแบบพวกหนังสือรวมเรื่องสั้นไทยยุคหลัง ๆ ก็คงต้องใช้ชื่อว่า “Rhythm and Boyd และอื่นๆ”
ถ้าให้เปรียบเทียบกับภาพยนตร์ คอนเสิร์ตหนล่าสุดของบอยก็มีโครงสร้างสองส่วนใหญ่ๆ ที่แยกออกจากกันอย่างเด่นขาดชัดเจน
จนชวนให้นึกถึง “Chungking Express” ของ “หว่องกาไว” หรือหนังหลายๆ เรื่องของ “อภิชาติพงศ์ วีระเศรษฐกุล”
อธิบายให้เห็นรายละเอียดได้ว่า โครงสร้างของโชว์ถูกแบ่งแยกออกเป็นสองส่วน คอนเสิร์ตเปิดฉากขึ้นในเวลาประมาณสองทุ่ม แล้วก็ระดมซัดอาวุธหนักใส่ผู้ชมด้วยบทเพลง 12 เพลงแรก
ใช่แล้ว 12 เพลงแรกของคอนเสิร์ต “RHYTHM & BOYd THE CONCERT” นั้นเป็นบทเพลงทั้งหมดจากอัลบั้มชุด “ริธึ่ม แอนด์ บอยด์” แถมยังจัดเรียงตามลำดับในเทปเพลง/ซีดีเป๊ะ
หมายความว่าไฮไลท์สำคัญของคอนเสิร์ตนั้นถูกเทไปกระจุกตัวอยู่ในช่วงแรกแบบเสร็จสรรพ! (ถ้าใครมาถึงอิมแพ็ค อารีน่า ประมาณสองทุ่มครึ่ง -ซึ่งมีอยู่หลายคน- ย่อมพลาดของสำคัญไปเกือบหมด!!)
จากนั้น จึงเข้าสู่ครึ่งหลังของคอนเสิร์ต ที่มีอารมณ์ราวๆ “บอย โกสิยพงษ์ เชิญแขก” ผ่านการแวะโน่นชมนี่ไปเรื่อยๆ อย่างเพลิดเพลินพอสมควร
ตั้งแต่เบิร์ดกะฮาร์ท, กันต์ เดอะสตาร์, ตูนและโครงการก้าวคนละก้าว, นิชคุณ, การโปรโมทคอนเสิร์ต BOYdKO50th ตอนที่ 2 และ 3 ในปลายปีนี้-ต้นปีหน้า รวมถึงช่วง “เบเกอรี่ เดอะ คอนเสิร์ต” ฉบับมินิ
การแหวกจารีตทำนองนี้นำไปสู่ภาพรวมของโชว์ที่แปลกๆ แปร่งๆ อยู่ไม่น้อย ความใจเด็ดของบอยและทีมงานกลายเป็นการวัดใจกับคนดู
ซึ่งสังเกตเห็นได้ชัดเจนว่าผู้ชมที่ไม่ใช่ “แฟนพันธุ์แท้” หลายราย ต่างทยอยเดินออก และเดินเพ่นพ่านไปมา (ไปซื้อเบียร์มาดื่มเพิ่ม แวะเข้าห้องน้ำ หรือแวะคุยกับคนรู้จักที่นั่งอยู่ต่างโซน) ภายหลังโชว์เด่น 12 เพลงแรก ที่กินเวลาแค่ราวหนึ่งชั่วโมง ยุติลง
สอง
ตามโจทย์หรือโครงสร้างของโชว์ข้างต้น หลายคนอาจคิดว่าช่วงแรกสุดของคอนเสิร์ตครั้งนี้น่าจะเป็นไฮไลท์สำคัญอันทรงพลัง
ทั้งเพราะตัวเพลงที่สอดคล้องกับชื่อและธีมหลักของงาน และเพราะตัวศิลปินบนเวที (ซึ่งทุกคนเป็นเจ้าของเสียงร้องฉบับออริจินัลในอัลบั้ม “ริธึ่ม แอนด์ บอยด์”) รวมถึงโปรดักชั่นแสง สี เสียง ระดับอลังการ (ใช้ไฮดรอลิกเป็นว่าเล่น)
อย่างไรก็ตาม การวางลำดับโชว์ล้อไปกับการเรียงเพลงในอัลบั้มดั้งเดิมแบบเป๊ะๆ เสมือนผู้ชมกำลังนั่งฟังเทปคาสเส็ตต์ม้วนเก่าอยู่ และการไม่เปิดโอกาสให้นักร้องพูดจาทักทายหรือมีปฏิสัมพันธ์กับคนดูเลย (กระทั่ง บอยขึ้นมาปิดท้ายโชว์ช่วงนี้ พร้อมเพลง “จะเก็บเธออยู่ในใจเสมอ” แล้วหันเหคอนเสิร์ตไปสู่ทิศทางอื่น ปฏิสัมพันธ์ระหว่างศิลปินและผู้ชมจึงค่อยเกิดขึ้น)
นั้นส่งผลให้ครึ่งแรกของคอนเสิร์ตดำเนินไปแบบเรื่อยๆ เรียงๆ ปราศจากจุดพีกอย่างน่าเหลือเชื่อ
การเลือกจะผลิตซ้ำเทปคาสเส็ตต์บนเวทีคอนเสิร์ตนำไปสู่ “การสื่อสารทางเดียว” เพลงจากอัลบั้ม “ริธึ่ม แอนด์ บอยด์” ซึ่งเป็นที่รู้จักน้อยหน่อย เช่น “คลั่ง” “เก็บดาว” และ “ข่าวของเธอ” ดูจะไม่สามารถส่งพลังไปสู่ผู้ชมได้ ผ่านวิธีการขึ้นมาร้องๆ เล่นๆ บนเวทีแล้วรีบระเหยหายจากไป
ครั้นถึงช่วงครึ่งหลัง เมื่อมีการโต้ตอบเล่นมุขกับคนดูเยอะขึ้น ความสนุกสนานเฮฮาผ่อนคลายจึงบังเกิด ทว่า โชว์ส่วนนี้ก็กระจัดกระจาย ไม่เป็นเอกภาพ จึงมีทั้งโมเมนต์ที่ดี น่าประทับใจ และน่าตื่นเต้นเอามากๆ และช่วงที่ความน่าตื่นตาตื่นใจดร็อปลงไปนิดหน่อย (เพราะสามารถหาดูได้จากคอนเสิร์ต/เทศกาลดนตรีอื่นๆ)
สาม
สำหรับผมเอง ไปๆ มาๆ ช่วงที่ตนเองรู้สึกชอบมากที่สุดในคอนเสิร์ตคราวนี้ กลับไม่ได้อยู่ตรงไฮไลท์ตอนต้นๆ แต่เป็นโชว์ย่อมๆ บนเวทีเล็กกลางฮอลล์ ในช่วงกึ่งกลางคอนเสิร์ต
นั่นคือการมาร่วมร้องเพลง “ตัดสินใจ” (เพลงจากอีพีชุด “วัน” อันเป็นรอยต่อระหว่างอัลบั้มเต็มชุดแรกและชุดที่สองของบอย ระหว่างปี 2538-39) โดย “นภ พรชำนิ” และ “วิทูร-พรวิช ศิลาอ่อน”
นี่คือการมาร่วมร้อง/แสดงสดเพลง “ตัดสินใจ” เป็นครั้งแรกสุดของทั้งสามคนนี้ ซึ่งพวกเขาทำหน้าที่กันได้ดีทีเดียว (โดยเฉพาะการขึ้นเสียงสูงของวิทูร)
ถ้าหากผลงานชุด “ริธึ่ม แอนด์ บอยด์” มีความยึดโยงกับแนวดนตรี “ริธึ่ม แอนด์ บลูส์” โชว์ของนภและสองพี่น้องศิลาอ่อน ก็มีความเป็น “อาร์แอนด์บี” มากที่สุดในคอนเสิร์ต แม้บทเพลงที่พวกเขาร่วมกันขับร้องจะไม่ได้มาจากอัลบั้มชุด “ริธึ่ม แอนด์ บอยด์” ก็ตาม