โน้ตสั้นๆ ถึง METAPHORS: AN EVENING OF SOUND AND MOVING IMAGE WITH KICK THE MACHINE
1.
หนังสั้น/วิดีโอที่ใช้เปิดหัวประเดิมงาน คือ “Bangkok in the Evening” (กรุงเทพฯ ตอนเย็นๆ) ของ “สมพจน์ ชิตเกษรพงศ์” ทรงพลังมาก แม้จะเป็นผลงานเมื่อ 12 ปีก่อน
สมพจน์พาคนดูไปสัมผัสกับบรรยากาศ ณ เวลาหกโมงเย็น ของผู้คนใน กทม. ช่วงเวลาที่พวกเขาทั้งหมดต้องยืนตรงหรืออย่างน้อยก็ต้องลุกขึ้นยืนเพื่อแสดงความเคารพเพลงชาติ แต่คนทำหนังก็ละเอียดลออมากพอที่จะจับภาพให้เห็นความแตกต่างหลากหลาย หรือความไม่ได้เป็นอันหนึ่งอันเดียวกันโดยสมบูรณ์ของคนเหล่านั้น
ที่สำคัญ นี่เป็นหนังบันทึกภาพเวลาหกโมงเย็น ที่คนจำนวนมากกำลังแสดงอากัปกิริยาเคารพเพลงชาติ โดยไม่มีเพลงชาติเป็นเสียงประกอบแต่อย่างใด!
“Bangkok in the Evening” จึงเป็นผลงานภาพเคลื่อนไหวจากปี 2005/2548 ที่ไม่เชย แม้จะนำมาฉายอีกครั้งในปี 2017/2560
2.
ผมน่าจะได้ดู “Ghost of Asia” (2009) เป็นครั้งที่สอง แต่หนแรกเป็นการดูแบบจอเดียว แต่พอมาได้ดูแบบมัลติ-สกรีนในหนนี้ ก็เลยรู้สึกว่าคำสั่งตลกๆ ของเด็กน้อยสองคน ที่มีต่อ “ศักดา แก้วบัวดี” นั้นทรงอำนาจและเปี่ยมอารมณ์ขันอย่างยิ่ง
อีกสิ่งหนึ่งที่น่าแปลก คือ จู่ๆ ตัวเองก็รู้สึกว่าเพลง “ดอกไม้” (บอย โกสิยพงษ์) ที่ถูกใช้ในหนังสั้นเรื่องนี้ มันไพเราะ/ฟังเพลินขึ้นมาซะงั้น ทั้งๆ ที่ไม่ได้รู้สึกสะดุดใจใดๆ กับการใช้เพลงนี้ ระหว่างการดูคราวแรก
3.
เคยได้ดู “Vapour” หรือ “หมอกแม่ริม” (2015) ของอภิชาติพงศ์มาหนหนึ่งที่ “ใหม่เอี่ยม” แต่เป็นการดูแบบไม่สมบูรณ์ คือ เข้าไปห้องฉายหนังช้าเล็กน้อย เลยได้ดูหนังฉบับไม่เต็ม และทำให้ไม่ค่อยมีสมาธิจดจ่อเท่าไหร่
จนมาได้ดูรอบสองในงานนี้ จึงพบว่าหนังมีมิติทางการเมืองเด่นชัด อย่างน้อยก็พิจารณาได้จากเสียงประกอบตอนช่วงท้ายๆ (ซึ่งเอาเข้าจริง ก็ควรจะสังเกตได้ตั้งแต่เมื่อดูครั้งแรก)
ทำให้รู้สึกได้ชัดเจนขึ้น ถึงความน่ากลัวและพลังคุกคามของ “หมอกควัน” ภายในหนัง
4.
ชอบช่วงที่ศักดาและ “ป้าเจน เจนจิรา พงพัศ” ออกมาเล่าเรื่อง
อย่างไรก็ดี ขณะที่เรื่องเล่าของศักดามีความราบรื่น เชื่อมโยง เป็นวงจรอันสมบูรณ์แบบ คือ เริ่มต้นจากเรื่องราวของเขากับเพื่อนสนิทวัยเด็ก ความใฝ่ฝันและการสู้ชีวิตที่ทั้งคู่มีร่วมกัน ตัดไปสู่การได้เป็นนักแสดงของศักดา การได้โอกาสไปใช้ชีวิตที่ต่างประเทศ การมีคนรักเป็นชาวต่างชาติ การได้ริเริ่มภารกิจใหม่ๆ แล้ววกกลับมายังความฝันที่ถูกเติมเต็มของเพื่อนในวัยเยาว์ เป็นฉากปิดท้าย
เรื่องเล่าของป้าเจนกลับมีท่วงทำนองในสไตล์ “อภิชาติพงศ์” มากกว่า กล่าวคือ แกเล่าเรื่องการเสียชีวิตของพี่ชาย การกลายเป็นผีของเขา แล้วก็ตัดไปที่เรื่องของรักแรกๆ ระหว่างแกกับเพื่อนชายในช่วงวัยรุ่น ก่อนจะลงเอยด้วยการรอคอย ความสิ้นหวัง และความพลัดพรากที่เขาต้องประสบ เรื่องเล่าสองเรื่องไม่มีจุดเชื่อมโยงหรือจุดบรรจบถึงกันแบบชัดๆ ทว่า กลับมีลักษณะ “ยั่วล้อ” กันอยู่ในที และถูกเชื่อมร้อยแบบบางๆ ด้วยเพลงที่ป้าเจนร้อง
ไม่รู้ว่าป้าเจนเล่าเรื่องราวแบบนี้ได้อยู่มือเพราะแสดง “หนังเจ้ย” มาเยอะ หรือ “หนังเจ้ย” ได้รับอิทธิพลการเล่าเรื่องมาจากนักแสดงขาประจำอย่างป้าเจนกันแน่ 555
5.
ชอบช่วง “Metaphors” โดย “อัคริศเฉลิม กัลยาณมิตร” และ “โคอิชิ ชิมิสึ” มากๆ
การออกมาเดี่ยวกีต้าร์เพื่อบรรเลงสกอร์ของ “แม่โขง โฮเต็ล” นั้นไพเราะตราตรึงทีเดียว
แปลกดี ที่ตอนฟังเพลงนี้ในหนังเรื่องนั้น ในหัวผมมันจะคิดแต่เรื่องบริบททางการเมืองยุคสงครามเย็น ที่ปรากฏล่องลอยขึ้นรางๆ จนเกือบจะรู้สึกว่าถ้าขาดไร้ซึ่งบริบทดังกล่าว สกอร์เด่นของหนังก็แทบไม่มีความหมายใดๆ
แต่พอได้มาฟังตัวสกอร์แบบเพียวๆ ในอีกบริบทหนึ่ง ผมกลับรู้สึกว่า เออ จริงๆ เพลงนี้มันก็เวิร์คและดีงามในตัวมันเองอยู่นะ
6.
“An excerpt from Fever Room (เมืองแสงหมด)” (2015) ของอภิชาติพงศ์ เป็นการปิดท้ายที่เจ๋งสมการรอคอย
โดยส่วนตัวคิดว่าการนำพาสายตาคนดูไปเผชิญหน้ากับลูกเล่น/มายากลของ “แสงสว่าง” ก่อนจะพร่าเลือนทัศนวิสัยของพวกเขาด้วย “หมอกควัน” (เช่นเดียวกับผู้คนในหนังสั้น “หมอกแม่ริม”) มีความคมคายมาก
อีกจุดที่เป็นเรื่องตลกร้าย ก็คือ ในรอบที่ผมไปชมการแสดงเมื่อวันอาทิตย์ที่ 29 พ.ย. นั้น ทางผู้จัดควบคุมเวลาไว้ได้ค่อนข้างดี เพราะไม่ได้ใช้เวลาเต็มแม็กซ์จนไปเลิก 24.00 น. แต่เลิกการแสดงเมื่อเวลาประมาณ 23.00 น. เท่านั้น
ด้วยเหตุนี้ ระหว่างกำลังถูกรมและปกคลุมรายรอบด้วยหมอกควัน เมื่อเวลาสี่ทุ่มกว่าๆ ผมซึ่งยกนาฬิกาขึ้นมาดู จึงเกิดอาการตกใจ (เพราะเชื่อ -ณ ขณะนั้น- ว่าการแสดงจะไปเลิกเอาตอนเที่ยงคืนเป๊ะๆ) ว่า “เชี่ย! นี่เค้ากะจะรมควันเราไปอีกเกือบสองชั่วโมงเลยเหรอวะ???”
แต่สุดท้าย อะไรๆ มันก็ไม่เลวร้ายถึงขั้นนั้นหรอกครับ 555
7.
ขออนุญาตปิดท้ายด้วยภาพน่ารักๆ หลังการแสดงสิ้นสุดลงครับ