เรตติ้ง “เทพสามฤดู” ตอน 3-4 รวมเกร็ด “กระหัง” จากเว็บข่าว-กฎหมายตราสามดวง-นิทานวัดเกาะ

เรตติ้ง “เทพสามฤดู” ตอน 3-4 ยังเกิน 5

ผลการสำรวจเรตติ้งยอดผู้ชมของละครโทรทัศน์แนวจักรๆ วงศ์ๆ เรื่อง “เทพสามฤดู” เวอร์ชั่น 2560 ประจำวันที่ 8-9 กรกฎาคมที่ผ่านมา ยังคงมีมาตรฐานใกล้เคียงกับละครที่ออกอากาศสองตอนแรกในช่วงสัปดาห์ก่อนหน้านั้น

เรตติ้ง 3-4
ภาพจากอินสตาแกรม “สามเศียร”

โดยในตอนที่ 3 และ 4 “เทพสามฤดู 2560” คว้าเรตติ้งไป 5.2 และ 5.4 ตามลำดับ ต่ำกว่าตัวเลข 5.7 ของสอนตอนแรกเล็กน้อย

ต้องจับตาดูว่ากระแสตอบรับที่มีต่อละครพื้นบ้านเรื่องนี้จะดำเนินไปในทิศทางใด ทรง-ทรุด-รุ่ง?

ว่าด้วยประวัติศาสตร์ผี “กระหัง”

กระหังป่า
ภาพจากอินสตาแกรม “สามเศียร”

ช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา หลายสำนักข่าวต่างเล่นข่าวชาวบ้านหนองเสม็ด อ.ชำนิ จ.บุรีรัมย์ พบคน/สิ่งของบินผ่านยอดไม้ยามค่ำคืน จนชาวบ้านเชื่อกันว่าสิ่งดังกล่าวคือ “ผีกระหัง” (อ่านรายละเอียดข่าว ที่นี่)

ต่อมา มีรายงานเกี่ยวเนื่องน่าสนใจ เมื่อเว็บไซต์มติชนออนไลน์ไปสำรวจข้อความจาก “กฎหมายตราสามดวง” ซึ่งมีเนื้อหาที่กล่าวถึง “ผี” จำพวกต่างๆ แต่กลับไม่มีชื่อ “ผีกระหัง” ปรากฏอยู่

โดยทาง ผศ.ดร.รุ่งโรจน์ ภิรมย์อนุกูล นักวิชาการด้านประวัติศาสตร์ จาก ม.รามคำแหง ตั้งคำถามว่า เป็นไปได้หรือไม่ที่ความเชื่อเรื่องกระหังจะเป็นสิ่งที่เพิ่งเกิดขึ้นใหม่ จึงไม่ปรากฏชื่อผีประเภทนี้ในเอกสารโบราณ (อ่าน ที่นี่)

อย่างไรก็ตาม เมื่อบล็อกคนมองหนังลองตรวจสอบนิทานวัดเกาะเรื่อง “สามฤดู” (ซึ่งเป็นต้นกำเนิดของละครจักรๆ วงศ์ๆ “เทพสามฤดู” ยุคหลัง) ที่ตีพิมพ์เผยแพร่เมื่อ ร.ศ.108 (พ.ศ.2432) และถูกจัดเก็บในระบบดิจิตอลที่เว็บไซต์ “หนังสือเก่าชาวสยาม”

พบว่ามีตัวละครเจ้างั่ง กระหังป่า ซึ่งแฟนละครจักรๆ วงศ์ๆ คุ้นเคยกันดี ปรากฏอยู่ในหนังสือนิทานวัดเกาะเรื่อง “สามฤดู” ตั้งแต่เล่มที่ 1

โดยบทเปิดตัวของตัวละครผีกระหังรายนี้มีเนื้อความว่า

“จะกล่าวถึงอ้ายงั่งกระหังเปรต
สถิตย์ในหิมเวศเปนเพศผี
แต่ก่อนนั้นมันเปนคนกายตนดี
อยู่กินที่เรือนบ้านมีภรรยา
แต่โง่เง่าเป็นงั่งเที่ยวนั่งจ้อ
ในใจคอร้ายนักเหมือนยักษา
กินของสดพุงไส้ตับไตตา
เนื้อ โค ม้า ทิง ถึก มฤคคี
กินดิบๆ หยิบลากใส่ปากเคี้ยว
ตัวเหม็นเขียวสาบสางเหมือนอย่างผี
ในตาปลิ้นลิ้นแลบถึงนาพี
ขนหัวชี้เขี้ยวงอกกลอกหน้าตา
เวลาค่ำออกหาภักษาหาร
สุริฉานเร่งเร่กลับเคหา
วันนั้นไปไม่พานอาหารมา
เต็มประดาหิวโหยโรยกำลัง
เห็นเมียนอนอยู่กับบุตร์สุดจะอยาก
หักคอลากกินไม่เหลือทั้งเนื้อหนัง
ไม่อิ่มหนำซ้ำบุตร์หยุดประทัง
ค่อยอิ่มนั่งกลอกหน้าในตาวาว
หมดลูกเมียเสียดายร้องไห้หา
ทั้งลูกยาก็เสียอีกเมียสาว
ตัวผู้เดียวอยู่ใยไม่ยืดยาว
ไปอยู่ดาวแดนดงพงพนา”

งั่ง

เกร็ดน่าสนใจต่อเนื่องกันก็คือ นิทานวัดเกาะเรื่อง “สามฤดู” เมื่อ ร.ศ.108 นั้น อาจแต่งโดยหลวงพัฒนพงศ์ภักดี (ทิม สุขยางค์) ผู้ประพันธ์หนังสือ “นิราศหนองคาย” อันโด่งดัง

โดยในสำเนาต้นฉบับลายมือเขียนอัตชีวประวัติของหลวงพัฒนพงศ์ภักดี ซึ่งปัจจุบันเผยแพร่ในเว็บไซต์วชิรญาณ มีเนื้อหาส่วนหนึ่งระบุว่าเจ้าพระยามหินทรศักดิ์ดำรง (เพ็ง เพ็ญกุล) เจ้านายของหลวงพัฒนพงศ์ภักดี (ขณะดำรงตำแหน่งเป็นขุนจบพลรักษ์) ได้สั่งให้ขุนจบฯ แต่งหนังสือเล่นบทละครหลายเรื่อง ทั้งที่แต่งเองโดยไม่อาศัยสำเนาเรื่องเดิม และแต่งตาม/แต่งต่อจากสำเนาเรื่องเดิม

luang-patanaphong-pakdi-bio-4

ในส่วนที่แต่งจากสำเนาเรื่องเดิมนั้น มีเรื่อง “สามฤดู” รวมอยู่ด้วย โดยเหตุการณ์ช่วงที่ขุนจบพลรักษ์ (ทิม) แต่งหนังสือเล่นบทละครดังกล่าวน่าจะเกิดขึ้นก่อนหน้าที่เจ้าพระยามหินทรศักดิ์ดำรงจะล้มป่วยลงใน ร.ศ.113 (ซึ่งสอดคล้องกับกับเวลาการตีพิมพ์หนังสือนิทานวัดเกาะช่วง ร.ศ.108 พอดี)

 

Leave a Reply

Fill in your details below or click an icon to log in:

WordPress.com Logo

You are commenting using your WordPress.com account. Log Out /  Change )

Twitter picture

You are commenting using your Twitter account. Log Out /  Change )

Facebook photo

You are commenting using your Facebook account. Log Out /  Change )

Connecting to %s

This site uses Akismet to reduce spam. Learn how your comment data is processed.