ระลึกถึง พญ.โชติศรี ท่าราบ (6 ตุลาคม 2462 – 31 ธันวาคม 2559)
แสงศรัทธาเหนือลำน้ำเจ้าพระยา: เรื่องเล่าของผู้หญิงอันหลากหลายที่พยายามก้าวไปให้ไกลกว่า “วีรสตรี”?
(ปรับปรุงแก้ไขจากบทความที่เผยแพร่ครั้งแรกในเว็บไซต์มติชนออนไลน์ เมื่อวันที่ 22 ธันวาคม 2552)
ในช่วงสุดสัปดาห์ที่ผ่านมา (เผยแพร่ครั้งแรก 22 ธันวาคม 2552) เพิ่งมีการจัดแสดงละครเวทีที่น่าสนใจเป็นอย่างยิ่งผ่านพ้นไป ละครเวทีเรื่องดังกล่าวคือ “แสงศรัทธาเหนือลำน้ำเจ้าพระยา: ชีวิตและความทรงจำบนสายธารประชาธิปไตยไทยของท่านผู้หญิงพูนศุข พนมยงค์” ซึ่งจัดแสดง ณ สถาบันปรีดี พนมยงค์
ละครเวทีเรื่องนี้เป็นผลงานของนักศึกษา ศิษย์เก่า และอาจารย์ประจำสาขาสื่อสารการแสดง คณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โดย อ.ดร.จิรยุทธ์ สินธุพันธุ์ ผู้กำกับการแสดงและเขียนบท ได้แสดงความเห็นเกี่ยวกับการสร้าง “แสงศรัทธาเหนือลำน้ำเจ้าพระยา” เอาไว้ว่า
เมื่อตนเป็นเด็กนั้น ตนชอบฟังคนรุ่นคุณย่าคุณยายเล่าเรื่องราวต่าง ๆ ในชีวิตของพวกท่าน โดยเฉพาะเรื่องของผู้คนและเหตุการณ์ในช่วงก่อนและหลังการเปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ.2475 หลายเรื่องที่ได้ฟังนั้นเป็นประสบการณ์ตรงของผู้เล่า บางเรื่องก็เป็นคำซุบซิบนินทาที่เล่าลือสืบต่อกันมาปากต่อปาก ประวัติศาสตร์ในความเข้าใจของตนจึงต่างจากการเรียงลำดับของเหตุการณ์ที่เป็นเส้นตรงอย่างในแบบเรียนที่เราเรียนกัน แต่ประวัติศาสตร์คือประสบการณ์อันหลากหลายของผู้เห็นเหตุการณ์ที่เหลื่อมซ้อนกันและโยงใยอยู่กับอารมณ์และความคิดของผู้เล่า
ในวาระครบรอบ 110 ปี ชาตกาลรัฐบุรุษอาวุโส ปรีดี พนมยงค์ สาขาวิชาการสื่อสารการแสดงฯ จึงได้เลือกที่จะนำชีวิตของท่านผู้หญิงพูนศุข พนมยงค์ มารังสรรค์เป็นการแสดงเล็กๆ ที่จะสะท้อนให้เห็นแง่มุมต่างๆ ของการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองที่เกี่ยวพันกับชีวิตของผู้คน ณ ห้วงเวลาสำคัญในประวัติศาสตร์ไทย บทประพันธ์สำหรับการแสดงครั้งนี้เรียบเรียงขึ้นจากชีวประวัติของท่านผู้หญิงพูนศุข ร่วมกับบันทึกและคำบอกเล่าของสตรีชาวสยามคนอื่นๆ ที่มีชีวิตอยู่ร่วมสมัยกับท่าน แม้ในความเป็นจริงเส้นทางชีวิตของบุคคลเหล่านี้อาจจะไม่ได้เกี่ยวพันกัน แต่มุมมองของพวกเธอก็สะท้อนให้เห็นถึงความซับซ้อนของเหตุการณ์และช่วยเติมเต็มภาพของความขัดแย้งทางความคิด และผลประโยชน์ทางการเมืองระหว่าง พ.ศ.2474 ถึง 2500 ที่จะว่าไปแล้วก็ไม่ต่างอะไรนักจาก ณ ห้วงเวลาที่เราอาศัยอยู่นี้
ละครเวทีเรื่องแสงศรัทธาเหนือลำน้ำเจ้าพระยานำตัวละครสตรีทั้งหมด 12 คน มาร่วมพบปะและปะทะสังสรรค์กัน เพื่อจะถักทอประวัติศาสตร์ช่วง 2475 ผ่านหลายเสียงและหลากอากัปกิริยาของผู้หญิงที่มีตั้งแต่เจ้านาย, ท่านผู้หญิงพูนศุข, ชนชั้นสูงหัวอนุรักษ์นิยม, สาวชาววัง, เรื่อยไปจนถึงหญิงชาวบ้านและหญิงมุสลิม
อย่างไรก็ตาม แม้จะมีการพยายามทำให้ละครเวทีเรื่องนี้เป็นละครที่สะท้อนหลากเสียงทางประวัติศาสตร์ของผู้หญิง แต่เมื่อมีการจัดวางตัวละครท่านผู้หญิงพูนศุขให้มีสถานะเป็นศูนย์กลางของเรื่องแล้ว ก็ส่งผลให้ตัวละครผู้หญิงรายอื่นๆ ต้องถูกทำให้มีความพร่าเลือนไปอย่างมิอาจหลีกเลี่ยงได้
ศูนย์กลางของเรื่องอย่างท่านผู้หญิงพูนศุขนั้นถูกแบ่งซอยออกเป็น 3 ตัวละครสำคัญ ได้แก่ “นางสาวพูนศุข ณ ป้อมเพชร์” “นางประดิษฐ์มนูธรรม” และ “ท่านผู้หญิงพูนศุข พนมยงค์” ซึ่งก็สามารถสะท้อนช่วงชีวิตที่แตกต่างของท่านผู้หญิงพูนศุขออกมาได้อย่างน่าสนใจ
แต่ดูเหมือนผู้สร้างละครจะพยายามขับเน้น/สร้างให้ตัวละครท่านผู้หญิงพูนศุขมีบทบาทเป็นผู้ยึดมั่นใน “ธรรมะ” รวมทั้งเป็นผู้มองเห็นว่าการต่อสู้แย่งชิงอำนาจทาง “การเมือง” นั้นเป็นเรื่องชั่วร้าย
ส่วนหนึ่งในบทพูดของตัวละครท่านผู้หญิงพูนศุข (โดยเฉพาะในช่วงเปิดเรื่อง) น่าจะถูกเขียนขึ้นมาเองโดยผู้เขียนบท ขณะที่บทพูดส่วนที่เหลือเป็นการนำคำพูดหรือบทบันทึกของท่านผู้หญิงพูนศุขในวาระต่างๆ มาตัดต่อขึ้นใหม่
คำถามที่มีต่อบทพูดส่วนหลังก็คือ ท่านผู้หญิงพูนศุขเคยพูดถึงเรื่องการเมืองอันชั่วร้ายและการนำธรรมะมาเปรียบเทียบกับการเมืองในบริบทใด? บริบทดังกล่าวแตกต่างจากบริบทสังคมการเมืองปัจจุบันมากน้อยแค่ไหน? ใครคือผู้ที่ทำให้การเมืองไทยมีความชั่วร้ายในความเห็นของท่านผู้หญิงพูนศุข? และการนำคำพูด/บทบันทึกที่อยู่ในบริบทที่แตกต่างมาใส่ในบริบทแห่งความเกลียดชังนักการเมืองของคนชั้นกลาง/ชนชั้นนำบางส่วนบางส่วนในยุคปัจจุบันนั้น มีความสอดคล้องลงรอยกันหรือไม่ อย่างไร?
เพราะถ้าไม่ละเอียดรอบคอบระมัดระวัง แล้วนำคำพูด/บทบันทึกของท่านผู้หญิงพูนศุขมาใส่ผิดบริบทอย่างผิดฝาผิดตัว ตัวละครท่านผู้หญิงพูนศุขก็จะกลายเป็นฝ่ายที่พยายามทำตัวอยู่นอกเหนือ “วงจรทางการเมืองอันชั่วร้ายเลวทราม” ผ่านการอ้างอิง “หลักธรรมอันสูงส่ง” ซึ่งนี่เป็นแนวคิดที่ใช้ทำลายล้างความชอบธรรมของระบอบประชาธิปไตย อันมีจุดเริ่มต้นจากคณะราษฎร เสมอมา
สำหรับตัวละครผู้หญิงรายอื่นๆ โดยเฉพาะกลุ่มสตรีชั้นสูงและสาวชาววัง ที่ผู้เขียนมองว่าถูกสร้างให้มีความพร่าเลือน เบลอร์ และแบน เพื่อนำมารองรับสถานะโดดเด่นของตัวละครท่านผู้หญิงพูนศุขนั้น ก็เนื่องจากพวกเธอถูกสร้างให้กลายเป็นตัวละครนิยมเจ้า แอนตี้คณะราษฎร ฟุ้งเฟ้อ และดูถูกสามัญชน จนสามารถเหมารวมได้ว่าเป็นฝ่ายตรงข้ามกับคณะราษฎรอย่างแทบจะสิ้นเชิง
อาจกล่าวให้แคบกว่านั้นได้ว่าตัวละครเหล่านี้ต่างอยู่ในขั้วที่ตรงข้ามกับ “ปรีดี-พูนศุข” ไปเสียหมด จนพวกเธอต้องถูกจับยัดให้กลายเป็นฝ่ายสนับสนุนลัทธิชาตินิยมสมัยรัฐบาลจอมพล ป. พิบูลสงคราม ซึ่งถูกเชื่อว่าเป็นฝ่ายตรงข้ามกับ “ปรีดี-พูนศุข” อย่างสิ้นเชิงไปโดยปริยาย
หากใครตามอ่านงานบันทึกของสตรีชนชั้นนำในยุคหลัง 2475 ก็จะพบได้ว่าตัวละครสตรีชนชั้นนำทั้งหลายที่ไม่ถูกระบุชื่อในแสงศรัทธาเหนือลำน้ำเจ้าพระยา ล้วนเป็นภาพตัวแทนของบุคคลที่มีตัวตนจริงอยู่ในประวัติศาสตร์ทั้งสิ้น
ปัญหาก็คือหากพินิจพิจารณาถึงประวัติชีวิตของพวกเธออย่างถ้วนถี่ ตัวละครที่มีทั้งพระธิดาของเจ้านายชั้นผู้ใหญ่ในยุคสมบูรณาญาสิทธิราชย์ผู้หมดอำนาจภายหลังการเปลี่ยนแปลงการปกครอง ลูกสาวของแม่ทัพคนสำคัญของฝ่ายกบฏบวรเดช หรือนักเรียนทุนเล่าเรียนหลวงซึ่งมีสามีคนแรกเป็นพระบรมวงศานุวงศ์ที่เสียชีวิตด้วยอุบัติเหตุทางเครื่องบินขณะร่วมรบกับฝ่ายอังกฤษในสงครามโลกครั้งที่ 2 ก็คงจะไม่สามารถถูกเหมารวมว่าเป็นผู้ร่วมสนับสนุนลัทธิชาตินิยมของจอมพล ป. ได้อย่างง่ายดายดังเช่นที่ละครเวทีเรื่องนี้ทำ
(ขณะที่ตัวละครกลุ่มเดียวที่ไม่เฮโลไปกับกระแสชาตินิยมดังกล่าว ก็คือ ตัวละครสามคนที่เป็นตัวแทนสามช่วงอายุของท่านผู้หญิงพูนศุข ซึ่งก็น่าตั้งคำถามว่า “ปรีดี-พูนศุข” มีปฏิกิริยาอย่างไรบ้างต่อกระแสชาตินิยมของรัฐบาลจอมพล ป. ในช่วงก่อนสงครามโลกครั้งที่ 2)
การแปะป้ายแบ่งกลุ่มให้กับบุคคลทางประวัติศาสตร์ที่มีชีวิตจิตใจและไม่ได้มีความหยุดนิ่งตายตัวจึงไม่สามารถทำได้ง่ายๆ แต่เพราะการพยายามทำให้ตัวละครเหล่านี้มีความพร่าเลือนเพื่อขับเน้นตัวละครท่านผู้หญิงพูนศุขให้มีความโดดเด่น ลักษณะการสร้างภาพเหมารวมไปปิดทับตัวละครจึงปรากฏออกมา
ทว่า ตัวละครที่มีความน่าสนใจมากที่สุดในละครเวทีเรื่องนี้กลับเป็นสองตัวละครหญิงสาวชาวบ้านและหญิงสาวมุสลิม ที่ไม่มีบทพูดใด ๆ ตลอดทั้งเรื่อง (ซึ่งอาจแสดงให้เห็นถึงการไม่มีที่ทางในประวัติศาสตร์ทั้งฉบับทางการโดยรัฐและฉบับทางเลือกซึ่งเกิดขึ้นจากเอกสารลายลักษณ์อักษรหรือบทบันทึก/คำสัมภาษณ์ต่างๆ ของสตรีชนชั้นนำ) แต่อากัปกิริยายามปะทะสังสรรค์กับสตรีชั้นสูงหลากหลุ่มของพวกเธอก็มีนัยยะน่าสนใจและมีส่วนทำให้ละครเวทีเรื่องนี้มีสีสันและอารมณ์ขันอันร้ายกาจเป็นอย่างยิ่ง
โดยเฉพาะอย่างยิ่งภายหลังฉากไคลแม็กซ์สำคัญ ซึ่งตัวละครสตรีสองคนนี้ได้หายตัวไปอย่างไม่มีใครได้ทันสังเกต ครั้นพอละครจบลง บรรดาตัวละครสตรีสูงศักดิ์รายอื่นๆ รวมทั้งตัวละครท่านผู้หญิงพูนศุขทั้งสามคน ต่างเดินหายลับไป แต่จู่ๆ ตัวละครสาวชาวบ้านและสาวมุสลิมก็โผล่ออกมาจากผ้าคลุมโต๊ะอาหารที่พวกเธอไปแอบซ่อนตัวอยู่ข้างใต้ พวกเธอหันมามองผู้ชม แล้วพากันก็เดินหายไปหลังฉากบนเวที
ตัวละครสตรีทั้งคู่อาจมีสถานะเป็น “อุปลักษณ์” ที่คมคายที่สุดของแสงศรัทธาเหนือลำน้ำเจ้าพระยา ละครเวทีว่าด้วยประวัติศาสตร์การเมืองที่มีเนื้อหาเปรียบเปรยถึงสภาพการเมืองยุคปัจจุบันอยู่บ้าง ทั้งการให้ตัวละครท่านผู้หญิงพูนศุขกล่าวเปิดเรื่องด้วยความคำพูดที่แสดงถึงอาการสิ้นหวังต่อการเมืองไทยยุคปัจจุบัน รวมทั้งการมีฉากที่พาดพิงถึง “สีเหลือง” “สีแดง” และ “สีชมพู”
หรือผู้สร้างละครเวทีเรื่องนี้กำลังตั้งคำถามย้อนกลับมายังผู้ชมว่า ถึงเวลาแล้วหรือยังที่ตัวละครสาวชาวบ้านและสาวมุสลิมซึ่งเป็นผู้ปิดฉากให้แก่แสงศรัทธาเหนือลำน้ำเจ้าพระยาอย่างมีนัยยะสำคัญ/เป็นปริศนานั้น ควรจะได้รับบทบาทนำสำคัญเสียทีใน “ละครการเมืองร่วมสมัย” ที่ตัวละครเช่นท่านผู้หญิงพูนศุข (รวมทั้งวีรบุรุษและวีรสตรีรายอื่นๆ) ไม่มีความสามารถเพียงพอที่จะรับบทบาทนำคนเดียว/กลุ่มเดียวได้อีกต่อไป
“กอด” ของสตรีสองท่าน
โดยส่วนตัว ผมรู้จัก “คุณเครือพันธ์ บำรุงพงศ์” และ “พญ.โชติศรี ท่าราบ” มาตั้งแต่เด็ก
น่าแปลกที่แม้ทั้งสองท่านจะมีอายุอยู่ในรุ่นราวคราวเดียวกัน แต่ผมกลับเรียนท่านแรกว่า “ป้า” และเรียกท่านหลังว่า “คุณย่า”
หลายปีก่อน ผมมีโอกาสไปร่วมงานฉลองวันเกิดอายุครบ 90 ปี ของ พญ.โชติศรี ซึ่งคุณเครือพันธ์ และสามี คือ “คุณศักดิชัย บำรุงพงศ์” (เสนีย์ เสาวพงศ์) ได้ไปร่วมงานด้วย
สมัยยังเด็ก ผมมองคุณเครือพันธ์และ พญ.โชติศรี อย่างง่ายๆ ไร้เดียงสา ว่าทั้งสองท่านเป็นผู้ใหญ่ใจดีน่าเคารพ
เวลาผ่านไปหลายปี จนเริ่มเข้าเรียนมหาวิทยาลัยและหลังจากนั้น ผมจึงค่อยๆ รับรู้ว่า พญ.โชติศรี เป็นลูกสาวของ พ.อ.พระยาศรีสิทธิสงคราม (ดิ่น ท่าราบ) แม่ทัพฝ่ายกบฏบวรเดช ซึ่งถูกสังหารโดยกองทัพภายใต้รัฐบาลคณะราษฎร พร้อมๆ กับความพ่ายแพ้ของฝ่ายกบฏ
(ขณะเดียวกัน พญ.โชติศรี ก็มีสถานะเป็นน้าสาวของ พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ องคมนตรี และอดีตนายกรัฐมนตรี เท่ากับมีศักดิ์เป็นน้องสะใภ้ของ พ.ท.พโยม จุลานนท์)
เท่าที่เคยอ่านงานเขียนบางชิ้นของท่าน ก็พอจะจับความได้ว่า พญ.โชติศรี ไม่นิยมคณะราษฎรนักหรอก ซึ่งเป็นเรื่องที่เข้าใจได้ หากพิจารณาจากประสบการณ์ส่วนบุคคลที่ท่านต้องประสบ
แต่แน่นอนว่าประสบการณ์ส่วนบุคคล อารมณ์ความรู้สึก และความสูญเสียอีกชุดหนึ่ง ก็ย่อมส่งผลให้คุณเครือพันธ์ มีจุดยืนและทัศนคติทางการเมืองผิดแผกไปจาก พญ.โชติศรี เช่นกัน
ยิ่งรู้มาก จินตนาการ การตีความ และการคาดเดา ก็ยิ่งพาเราเตลิดไปไกล ถึงไหนต่อไหน
ตอนท้ายงานวันนั้น พญ.โชติศรี และคุณเครือพันธ์-คุณศักดิชัย มีโอกาสได้ถ่ายรูปร่วมกันเป็นที่ระลึก
โดยผมแอบยืนลุ้นอยู่ห่างๆ ว่าสตรีสองท่านจะมีปฏิกิริยาอย่างไรต่อกัน?
ผมคาดการณ์ถึง “ความเป็นไปได้” มากมาย ต่างๆ นานา อยู่ในใจอันแสนวุ่นวายของตนเอง (ซึ่งวิ่งวนอยู่ภายในกรอบความคิดทางประวัติศาสตร์การเมืองชุดหนึ่ง)
แต่แล้ว สิ่งที่ผมได้เห็นชัดๆ ประจักษ์กับสายตาตนเอง กลับกลายเป็นภาพที่ พญ.โชติศรี และคุณเครือพันธ์ ยืนสวมกอดกันอย่างแนบแน่นและยาวนานพอสมควร
ผมไม่อาจทราบแน่ชัดว่าทั้งสองท่านกำลังคิดอะไรระหว่างสวมกอดกันครานั้น
แต่อย่างน้อย “กอด” ดังกล่าว ก็แสดงให้เห็นว่า “ผู้สูญเสีย/รอดชีวิตสองฝ่าย” จากความขัดแย้งทางการเมืองชุดหนึ่ง ในยุคสมัยหนึ่ง อาจไม่จำเป็นจะต้องหวนมาเผชิญหน้ากันอย่าง “แตกหัก” เสมอไป
“เวลา” ยาวนานหลายทศวรรษ อาจมิสามารถเยียวยารักษาทุกสิ่ง ทว่า ผู้คนที่เดินทางผ่านระยะ “เวลา” หลายทศวรรษดังกล่าว อาจจะค่อยๆ ตระหนักชัดเจนยิ่งขึ้นเรื่อยๆ ว่า ไม่เคยมีใครได้ทุกสิ่งดังใจปรารถนา และไม่เคยมีรอยมลทินใดถูกชำระล้างกระทั่งบริสุทธิ์หมดจด
ก่อนที่ความทรงจำ-ประสบการณ์ส่วนบุคคลของแต่ละคน จะค่อยๆ จางหาย พร่าเลือนไปตามกาลเวลา
“กอด” ของสตรีสองท่าน ณ วันนั้น อาจบ่งชี้ถึงหลากนิยามความหมาย ตั้งแต่การโอบรัดความแตกต่าง, การร่วมแบ่งปัน “ความรู้สึกสูญเสีย” (ที่คล้ายคลึงกัน แต่ไม่เหมือนกันเสียทีเดียว) เรื่อยไปถึงการปล่อยวาง
ภายในเวลา 7 ปี หลังงานวันเกิดครั้งนั้น คุณเครือพันธ์ คุณศักดิชัย และ พญ.โชติศรี ต่างทยอยเสียชีวิตลงตามอายุขัยอันยืนยาวของแต่ละท่าน
(ภาพจากหนังสือที่ระลึกงานศพ พญ.โชติศรี ท่าราบ)