ข้อสังเกตเพิ่มเติมถึง “ดาวคะนอง” (หลังดูรอบสอง): เห็ด รา และ “ประวัติศาสตร์” แบบใหม่ๆ

หมายเหตุ เป็นข้อสังเกตเพิ่มเติม ที่ช่วยขยับขยายความเข้าใจ “ส่วนตัว/เฉพาะตัว” ของผู้เขียนเอง และไม่ได้เป็นข้อสังเกต “ใหม่” เสียทีเดียว

ว่าด้วยเห็ด, รา และวรรคทองของหนัง

ตอนดูรอบแรก ผมไม่เข้าใจเลยว่า “เห็ด-รา” มีความหมายและหน้าที่อย่างไรในหนังเรื่องนี้

ระหว่างดูรอบสอง จึงเริ่มเห็นนัยยะของ “สิ่งมีชีวิต” เหล่านี้มากขึ้น

หลังหนังจบ มีคนถามคุณใหม่ อโนชา ผู้กำกับ ในประเด็นนี้พอดี ซึ่งคุณใหม่ตอบราวๆ ว่า “เห็ด-รา” สื่อให้เห็นถึงสิ่งมีชีวิตที่เติบโตขึ้นมาจากความย่อยสลาย ผุพัง รวมทั้งยังแสดงให้เห็นถึง “วงจรชีวิต” อีกด้วย

แต่การตีความ “เห็ด-รา” ของผมหลังดู “ดาวคะนอง” รอบสอง ไม่ได้ตรงกับคำอธิบายของคุณใหม่ซะทีเดียว

สถานะของเห็ดและราในหนังเรื่องนี้ ดูจะมีความชัดเจนขึ้นในหัวผม หลังได้ฟังบทสนทนาระหว่างตัวละครที่รับบทโดยคุณวิศรา วิจิตรวาทการ (ผู้กำกับหญิง) และคุณรัศมี เผ่าเหลืองทอง (นักเขียนหญิง)

ผู้กำกับหญิงบอกว่าที่เธอเลือกนำชีวิตของนักเขียนรุ่นพี่มาเล่าผ่านภาพยนตร์นั้น ก็เพราะชีวิตของนักเขียนผ่านอะไรมาเยอะ มีคุณค่า ฯลฯ ผิดกับชีวิตของเธอที่ดำเนินไปเรื่อยๆ ไม่มีอะไรน่าสนใจ (ตรงซับไตเติ้ลภาษาอังกฤษ ใช้คำว่า “mundane” พ้องกับชื่อภาษาอังกฤษ “Mundane History” ของ “เจ้านกกระจอก” หนังยาวเรื่องแรกของอโนชา)

ผมเห็นว่า “เห็ด” และ “รา” ที่สามารถถือกำเนิดขึ้นมาเองตามธรรมชาติ ท่ามกลางการปล่อยปละละเลยไม่ต้องใส่ใจใดๆ ก็เป็นส่วนหนึ่งของไอ้ความเรื่อยๆ เปื่อยๆ ไม่มีอะไร อันสามัญทั้งหลายแหล่ด้วย

ซึ่งไอ้ความไม่มีอะไรทั้งหลายนี่แหละ ที่ถูกนำมาเล่าให้ “มีอะไร” ผ่านเรื่องเล่าหลากหลายชั้นในหนังเรื่องนี้

ประเด็นข้างต้นยังอาจสอดคล้องกับ “วรรคทอง” ของพี่นักเขียนที่บอกว่าตนเอง “ไม่ใช่ประวัติศาสตร์ที่มีชีวิต” แต่เป็นแค่ “ผู้รอดชีวิต”

วรรคทองตรงนี้น่าสนใจ เพราะในขณะที่การเป็น “ประวัติศาสตร์ที่มีชีวิต” นั้น จุดเน้น อาจอยู่ตรงคำว่า “ประวัติศาสตร์” หรือ “ประวัติศาสตร์นิพนธ์” อันนำไปสู่การมีพล็อตเรื่อง มีดราม่า มีเงื่อนปมขัดแย้ง มีฮีโร่ มีเหยื่อ มีมรณสักขี

แต่การเป็น “ผู้รอดชีวิต” คือ การขับเน้น/คืนความสำคัญไปที่ “ตัวคน” ผู้ยังเหลือรอดอยู่ ซึ่งอาจเป็นได้ทั้งวีรชน นักต่อสู้ หรือเป็นเพียงคนธรรมดาสามัญ หาเช้ากินค่ำ กินขี้ปี้นอน ทั่วๆ ไป

แล้ว “ดาวคะนอง” ของอโนชา ก็มุ่งมั่นที่จะเลือกเล่าเรื่องราวของ “ผู้เหลือรอด/ผู้รอดชีวิต” ในสังคมยุคปัจจุบัน ที่เป็นคนธรรมดาสามัญอันหลากหลาย ไม่ใช่ “ตัวละครในหน้าประวัติศาสตร์”

%e0%b8%a3%e0%b8%b1%e0%b8%a8%e0%b8%a1%e0%b8%b5

การมุ่งเน้น “ประวัติศาสตร์” โดยไม่บอกเล่า “ประวัติศาสตร์”

ผมคิดว่ามันมีลักษณะ “ร่วม” บางอย่าง ของหนังไทย/หนังอาเซียนร่วมสมัยจำนวนหนึ่ง ที่เลือกละ “ประวัติศาสตร์” เอาไว้ในฐานที่เข้าใจ (โดยมีจุดมุ่งหมายแตกต่างกันไป)

ขออนุญาตยกตัวอย่างเด่นๆ ของหนังสามเรื่องที่ผมได้ดูในช่วงประมาณหนึ่งเดือนที่ผ่านมา

เริ่มจาก “Diamond Island” หนังกัมพูชา โดย ดาวี่ ชู ที่เลือกเล่าเรื่องราว/ปัญหายุคปัจจุบันและความใฝ่ฝันของหนุ่มสาวเขมรรุ่นใหม่ แล้วปล่อย “ประวัติศาสตร์เขมรแดง” ให้มีสถานะเป็น “หน้าว่าง” ของภาพยนตร์

ส่วน “From Bangkok To Mandalay” ของ ชาติชาย เกษนัส เน้นความรักความสัมพันธ์ข้ามพรมแดนระหว่างไทย-พม่า (และพม่า-พม่า) มากกว่าจะให้ความสนใจกับรายละเอียดปลีกย่อยของประวัติศาสตร์ความขัดแย้งทางการเมือง

มาถึงกรณีของ “ดาวคะนอง” ที่อาจแปลกอยู่สักหน่อย เพราะด้านหนึ่ง หนังก็ต้องการรำลึกถึงประวัติศาสตร์ 6 ตุลาคม 2519 แต่หนังกลับเลือกเล่า “ประวัติศาสตร์” หน้าดังกล่าว ผ่านกระบวนท่าสลับซับซ้อนและเรื่องราวสามัญต่างๆ นานา (ทั้งที่อาจเกี่ยวและไม่เกี่ยวกับ 6 ตุลา) กระทั่ง “ตัวประวัติศาสตร์” เอง รางเลือนจมดิ่งลงไปในระลอกคลื่นของหลากหลายเรื่องเล่าเหล่านั้น

จริงๆ อาจเทียบเคียง “ดาวคะนอง” กับ “A Lullaby to the Sorrowful Mystery” ของลาฟ ดิแอซ ด้วยก็ยังได้

เพราะขณะที่หนังของลาฟพยายามจะเล่าเรื่องราวของ “ประวัติศาสตร์การปฏิวัติฟิลิปปินส์” ผ่านการประกอบสร้าง “เรื่องเล่า” หลายแบบ ให้กลายเป็น “องค์รวม” ที่แสดงภาพแทน “ผืนมหึมา” ว่าด้วยจิตวิญญาณการต่อสู้ของอดีต เรื่อยมาถึงปัจจุบัน

หนังของอโนชา กลับจัดวาง “เรื่องเล่า” หลายๆ ชั้น ไว้อย่างกระจัดกระจาย ปราศจากระบบระเบียบ จนกลายเป็น “องค์ขาด” ซึ่งไม่สามารถบอกเล่าถึงภาพรวมของประวัติศาสตร์หน้าไหนหรือการต่อสู้ใดๆ ได้อย่างชัดเจน

และจำกัดบทบาทของตนเองไว้ที่การนำเสนอ “ส่วนเสี้ยว” สิ่งละอันพันละน้อย ซึ่งรายล้อมและ/หรือเป็นผลลัพธ์ของประวัติศาสตร์บางหน้า

ถ้าลาฟ ดิแอซ พยายามต่อสู้ส่งเสียงด้วยการสร้าง “อภิมหาบรรยาย” ฉบับสามัญชน อโนชาก็คล้ายจะพยายามกระซิบแผ่วๆ เพื่อย้ำให้เห็นถึงการมีอยู่ขององค์ประกอบเล็กๆ น้อยๆ ที่ยังไม่ใช่ “ปัจจัยชี้ขาด” ทางประวัติศาสตร์ แต่เป็นเพียงมูลเหตุยิบย่อยที่อาจไร้ความสำคัญไปตลอดกาล หรืออาจจะก่อตัวกลายเป็น “เงื่อนไขสำคัญ” บางประการได้ในภายภาคหน้า

บางทีแนวโน้มที่ปรากฏในงานของอโนชาและคนทำหนังรุ่นใกล้ๆ กัน อาจบ่งชี้ให้เห็นถึงวิธีการเขียน/ผลิตซ้ำประวัติศาสตร์ “รูปแบบใหม่ๆ” ผ่านสื่อภาพยนตร์ก็เป็นได้

ของแถมเล็กๆ น้อยๆ

พอมาดูรอบสอง ผมถึงเห็นรายละเอียดบางอย่างชัดเจนขึ้น เช่น ถ้าเข้าใจไม่ผิด เหมือนหนังจะพยายามเปรียบเปรยเทียบเคียง “สิ่งที่ดูสวยงามมีชีวิตชีวา” ใน “โลกภาพยนตร์” กับ “สิ่งที่เก่าแก่ทรุดโทรมไร้ชีวิต” ใน “โลกของภาพยนตร์อีกเรื่อง” เอาไว้หลายจุด ที่เห็นชัดสุด คงเป็นความแตกต่างของ “บ้าน” 

นอกจากนี้ ผมเพิ่งมาตระหนักว่าตนเองชอบดนตรีประกอบของหนังมากทีเดียว โดยเฉพาะสกอร์ตรงช่วงที่มีตัวละครหนุ่มสาวชายหญิงเดินคู่กัน แต่ไม่ยอมจับมือกัน

1 Comment

Leave a Reply

Fill in your details below or click an icon to log in:

WordPress.com Logo

You are commenting using your WordPress.com account. Log Out /  Change )

Twitter picture

You are commenting using your Twitter account. Log Out /  Change )

Facebook photo

You are commenting using your Facebook account. Log Out /  Change )

Connecting to %s

This site uses Akismet to reduce spam. Learn how your comment data is processed.