Reflections : กระจกสะท้อน “ภราดรภาพ” และ “รอยปริแยก” ของ “เอเชีย”?

(มติชนสุดสัปดาห์ 4-10 พฤศจิกายน 2559)

“Reflections” เป็นหนัง omnibus หรือภาพยนตร์ขนาดยาวที่เกิดขึ้นจากการนำ “หนังสั้น” หลายเรื่อง มารวมกัน

หนังเรื่องนี้อยู่ในโครงการ “Asian Three-Fold Mirror 2016” ที่อำนวยการสร้างโดย เดอะ เจแปน ฟาวเดชั่น เอเชีย เซ็นเตอร์ และเทศกาลภาพยนตร์นานาชาติโตเกียว

โดยหนังเพิ่งฉายรอบปฐมทัศน์โลกในเทศกาลภาพยนตร์นานาชาติโตเกียวครั้งที่ 29 ซึ่งจัดขึ้นระหว่างวันที่ 25 ตุลาคม-3 พฤศจิกายน

“Reflections” ประกอบด้วยหนังสั้น 3 เรื่องจากผู้กำกับภาพยนตร์ 3 คน จาก 3 ประเทศ ได้แก่ บริลลันเต้ เมนโดซ่า จากฟิลิปปินส์, อิซาโอะ ยูกิซาดะ จากญี่ปุ่น และ โสโท กุลิการ์ จากกัมพูชา

หนังทั้งหมดเล่าเรื่องราวของสายสัมพันธ์ระหว่างคน/วัฒนธรรม “ญี่ปุ่น” กับคน/วัฒนธรรมจากประเทศอื่นๆ ในทวีปเอเชีย หรือจริงๆ แล้ว สามารถกล่าวได้อย่างเต็มปากเต็มคำว่า คือ “เอเชียตะวันออกเฉียงใต้” หรือ “อาเซียน” ซึ่งเป็นภูมิภาคที่เดอะ เจแปน ฟาวเดชั่น เอเชีย เซ็นเตอร์ ให้ความสำคัญมากเป็นพิเศษ

ดูเหมือนผู้ชมหลายรายที่โตเกียวจะเห็นตรงกันว่า หนังสั้นตอนแรกซึ่งมีชื่อว่า “SHINIUMA” หรือ “Dead Horse” ผลงานของ บริลลันเต้ เมนโดซ่า (หนึ่งในคนทำหนัง “ชั้นครู” ของทวีปเอเชียยุคปัจจุบัน ที่กวาดรางวัลมาแล้วจากทั้งคานส์ เบอร์ลิน และเวนิส) คือ ตอนที่มีคุณภาพดีที่สุด

หนังเล่าเรื่องของชายชราชาวฟิลิปปินส์ ผู้เดินทางข้ามน้ำข้ามทะเลไปทำงานที่คอกม้าในประเทศญี่ปุ่นนานกว่า 30 ปี

การทำงานดังกล่าวอาจส่งผลให้เขากลายเป็นคนขาพิการ แต่ชีวิตความเป็นอยู่ก็ไม่เดือดร้อน แถมยังได้เงินรางวัลพิเศษจากการแทงม้ามาใช้อยู่บ้างประปราย

ทว่า วันดีคืนดี ชายชรากลับถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจตรวจคนเข้าเมืองบุกเข้ามาจับกุมถึงคอกม้า เพราะทางการตรวจสอบพบว่าสถานที่ดังกล่าวมีการนำเข้าชาวต่างชาติมาทำงานแบบผิดกฎหมาย

สุดท้าย ตัวละครชายแก่ชาวฟิลิปปินส์ก็ถูกส่งตัวกลับประเทศ ชนิดที่เจ้าหน้าที่ ตม. ยังแสดงอาการงุนงงระหว่างสอบสวนว่า ชายผู้นี้สามารถลักลอบอาศัยและทำงานอยู่ในประเทศญี่ปุ่นมายาวนานถึงราวสามทศวรรษได้อย่างไรกัน?

อย่างไรก็ดี เมื่อเดินทางกลับมาถึง “บ้านเกิด” เขากลับมีอาการต่อกับ “บ้าน” หลังนี้ไม่ติด เพราะฟิลิปปินส์มิได้มีสถานะเป็น “เมืองนอน” ของชายชราผู้จากไกลไปเนิ่นนานอีกแล้ว

เหมือนดังที่คนขับแท็กซี่เพื่อนร่วมชาติบอกกับชายชราว่า เขาเดินทางออกนอกประเทศตั้งแต่ในยุคเผด็จการ ที่ปกครองโดยประธานาธิบดี “เฟอร์ดินานด์ มาร์กอส” แต่พอหวนกลับเข้ามา (อดีต) ประธานาธิบดี (เบนิโญ อะคีโน) ก็กลายเป็นลูกชายของศัตรูมาร์กอสเสียแล้ว

ลักษณะของอาการ “ต่อไม่ติด” มีตั้งแต่การพูด “อาริงาโตะ” จนติดปาก แม้คู่สนทนาจะเป็นชาวฟิลิปปินส์ เรื่อยไปถึงความสัมพันธ์ที่ไม่อาจรื้อคืนฟื้นกลับกับครอบครัว-เครือญาติ (สามทศวรรษก่อน ชายชราทอดทิ้งภรรยาและลูกๆ เพื่อออกไปแสวงโชคยังต่างแดนกับคู่รักคนใหม่ แต่แล้วคนรักใหม่กลับแยกทางกับเขา ขณะเดียวกัน ครอบครัวที่ถูกทิ้งขว้างก็ไม่เคยได้รับความสนใจไยดีจากเขา กระทั่งบางคนเสียชีวิตไปแล้ว)

สุดท้าย ชายชราต้องหันไปพึ่งพา “เพื่อนเก่า” และมีชีวิตลงเอยกับการทำงานที่คอกม้า (ในประเทศ) อยู่ดี

นอกจากตัวเรื่องราวที่รันทดกินใจแบบ “ข้ามวัฒนธรรม” ลักษณะอันโดดเด่น ซึ่งปรากฏอยู่ในหนังสั้นของเมนโดซ่า ก็เห็นจะเป็นการใช้ “สัตว์” มาเป็นสัญลักษณ์เพื่อสื่อถึง “สาร” บางประการ

ในกรณีของ Dead Horse “ม้า” ถูกนำมาใช้เป็นอุปลักษณ์หรือภาพสะท้อนของ “ชะตากรรมมนุษย์” ซึ่งสร้างอารมณ์เศร้าสะเทือนใจได้มากพอสมควรในตอนจบ

นอกจากนี้ ภาพบรรยากาศหิมะตกที่แสนหนาวเหน็บบนเกาะฮอกไกโดก็มีเสน่ห์อันแสน “กำกวม”

กล่าวคือ ด้านหนึ่ง บรรยากาศเช่นนั้นเป็นภาพฝันงดงามโรแมนติกถึง “ชีวิตที่ดีกว่า”

แต่อีกด้าน สภาพบ้านเมืองขาวโพลน ซึ่งถูกปกคลุมด้วยหิมะ ได้สื่อถึงแง่มุมที่โหดร้ายและค่อยๆ กัดกินทำลายชีวิตอย่างช้าๆ

หนังสั้นตอนที่สอง ซึ่งมีชื่อว่า “Pigeon” ของผู้กำกับฯ ชาวญี่ปุ่น อิซาโอะ ยูกิซาดะ ก็มีโจทย์และโครงสร้างเรื่องราวที่น่าติดตามไม่น้อย

หนังเล่าเรื่องของชายชรา ผู้ใช้ชีวิตร่วมกับลูกชายและครอบครัวของลูกที่ประเทศญี่ปุ่นไม่ได้ เขาจึงถูกส่งตัวมาใช้ชีวิตบั้นปลาย ณ ประเทศมาเลเซีย

ชายแก่ผู้มึนตึง ไม่ยอมพูดจากับใคร แต่คล้ายจะสื่อสารกับ “นกพิราบ” ได้ ต้องเผชิญหน้ากับความทรงจำ/ความสูญเสียในยุคสงครามโลกครั้งที่สอง และสานต่อ “มิตรภาพ” ระหว่างเขากับเด็กรับใช้สาวชาวมาเลเซีย ไปพร้อมๆ กัน

น่าเสียดายที่การคลี่คลายเงื่อนปม ซึ่งถูกผูกเอาไว้อย่างน่าสนใจ ของหนังเรื่องนี้ มีลักษณะง่ายดายเป็น “การ์ตูน” มากไปหน่อย ขณะเดียวกัน การแสดงของบรรดาตัวละครชาวมาเลเซีย ก็ออกแนวตลกๆ “โอเวอร์แอ๊กติ้ง” สไตล์ “ละครน้ำเน่า” เกินไปนิด (จนคล้ายเป็นการผสมผสาน “จุดอ่อน” บางอย่างของวัฒนธรรมความบันเทิงแบบญี่ปุ่นและเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เข้าไว้ด้วยกัน)

ความเข้มข้น-จริงจังของเรื่องราวจึงถูกลดทอนน้ำหนักลงจนเกินความจำเป็น

อีกหนึ่งจุดที่เกือบจะน่าสนใจ คือ การที่ยูกิซาดะ พยายามใช้สัตว์อย่าง “นกพิราบ” มาเป็นสัญลักษณ์ที่สื่อถึงความสัมพันธ์ “ข้ามวัฒนธรรม” ของมนุษย์

อย่างไรก็ตาม การให้ตัวละครพูดเฉลยว่านกพิราบคือสัญลักษณ์ของสันติภาพนั้น ออกจะเป็นการเปิดเผยนัยยะของสัญลักษณ์ที่ “ทื่อ” ไปหน่อย

และ “ไม่ใหม่” เท่าที่ควร หากเทียบกับการใช้ “ม้า” อย่างคมคายในหนังของเมนโดซ่า

ปัญหาในผลงานของคนทำหนังจากญี่ปุ่น มีความคล้ายคลึงกับ “Beyond the Bridge” หนังสั้นตอนสุดท้าย โดย โสโท กุลิการ์ ผู้กำกับฯ หญิงจากกัมพูชา (เธอรับบทเป็นหนึ่งในนักแสดงนำเองด้วย) ซึ่งวางโครงเรื่องเริ่มต้นไว้ได้น่าสนใจ

หนังพูดถึง “ชีวิตสองช่วง” ของชายชาวญี่ปุ่นคนหนึ่ง ซึ่งผูกพันลึกซึ้งกับประเทศกัมพูชา

ช่วงเวลาแรก ชายผู้นี้เดินทางเข้ามากัมพูชาตั้งแต่ยังอยู่ในวัยหนุ่ม เมื่อบริษัทของครอบครัว คือ เอกชนต่างชาติซึ่งรับงานก่อสร้างสะพานที่นี่

ชายหนุ่มมีสายสัมพันธ์กับหญิงสาวชาวเขมรรายหนึ่ง ก่อนที่การรุกคืบและชัยชนะของฝ่าย “เขมรแดง” จะทำให้ทั้งคู่ต้องพลัดพรากจากกันตลอดชีวิต

เหตุการณ์ “ก่อนยุคเขมรแดง” จะตัดสลับกับเหตุการณ์ “หลังยุคเขมรแดง” เมื่อชายชาวญี่ปุ่นคนเดิม ผู้มีอายุและประสบการณ์ชีวิตเพิ่มพูนขึ้น ได้เดินทางกลับมายังกัมพูชาอีกครั้งใน ค.ศ.1994 เพื่อร่วมบุกเบิกโครงการพัฒนาประเทศหลังยุคสงครามกลางเมือง และเพื่อ “ซ่อมสร้าง” สะพานแห่งเดิมที่ถูกทำลายลงโดยกองกำลังเขมรแดง

หนนี้ ชายญี่ปุ่นก็เกือบๆ จะมีสัมพันธ์ลึกซึ้งกับสตรีเขมรอีกคน ซึ่งเป็นผู้ร่วมงานของเขา แต่ความสัมพันธ์ที่ว่ากลับดำเนินไปอย่างคาบลูกคาบดอกและ “ไม่สุด”

(ผู้กำกับฯ อธิบายในงานแถลงข่าวว่า เธอต้องการจะสื่อให้ผู้ชมเห็นถึงความรัก-ความสัมพันธ์ระหว่างญี่ปุ่นกับกัมพูชา ซึ่งเป็นสายสัมพันธ์ที่ดำเนินไปอย่างต่อเนื่องไร้จุดสิ้นสุด จนไม่อาจลงเอยได้ด้วยข้อสรุปแบบใดแบบหนึ่ง ไม่ว่าจะ “สมหวัง” หรือ “ผิดหวัง” ก็ตาม)

ปัญหาของภาพยนตร์สั้นจากกัมพูชา คือ หนังควรเล่นกับปัจจัยเรื่องอารมณ์ความรู้สึกได้อย่างลึกซึ้ง แต่ผลลัพธ์ที่ออกมากลับไม่ลึกไม่ซึ้งเท่าที่ควร หนังวนเวียนอยู่กับการจับจ้องเรือนร่างของตัวละคร-วัตถุสิ่งของในระดับผิวเผิน และการสานต่อบทสนทนาอันอึดอัดคลุมเครือ แต่ยังเดินทางไปไม่ถึงหัวใจของตัวละคร (รวมถึงคนดู)

หนังยังพยายามจะโชว์วัฒนธรรมการแสดงแบบจารีตของกัมพูชา ซึ่งก่อให้เกิดภาพจำเจมากกว่าความน่าตื่นตาตื่นใจ

ยังดีที่ผู้กำกับฯ คล้ายจะตระหนักถึงจุดอ่อนข้อนี้ จึงแก้เกมด้วยการกำหนดให้ตัวละครชายชาวญี่ปุ่นมีอาการเลี่ยนๆ หรือพยายามหลีกหนีจากวัฒนธรรมจารีตเหล่านั้น (เพื่อไปพลอดรักกับหญิงสาวท้องถิ่น)

แม้กระทั่งการนำฟุตเทจความสูญเสียพังพินาศที่ก่อโดยฝ่ายเขมรแดงมาใช้ประกอบในหนัง ก็มีความจำเจอยู่ไม่น้อย เมื่อกลวิธีดังกล่าวมิได้ผลักดันให้หนังสั้นตอนนี้มีพลังและความแหลมคมเพิ่มขึ้น หรือ “ไปไกล” กว่าหนังว่าด้วยประวัติศาสตร์บาดแผลจากยุคเขมรแดงเรื่องอื่นๆ ที่มีมาก่อนหน้า

โจทย์ใหญ่ของโปรเจ็กต์ “Asian Three-Fold Mirror 2016” คือ การนำเสนอความร่วมมือหรือภราดรภาพระหว่างคนทำหนังในทวีปเอเชีย

ทว่า คงเป็นอย่างที่ เคนจิ อิชิซากะ นักวิชาการด้านภาพยนตร์ชาวญี่ปุ่น ผู้ทำหน้าที่เป็นหนึ่งในโปรดิวเซอร์ของภาพยนตร์เรื่องนี้ ได้ตั้งข้อสังเกตเอาไว้กับสื่อมวลชนนานาชาติว่าการร่วมกันจัดสร้าง “ภาพยนตร์รวมหนังสั้น” ประเภทนี้ในทวีปเอเชีย ย่อมหนีไม่พ้นจาก “ความท้าทาย” ประการหนึ่ง

กล่าวคือ หากเปรียบเทียบกับทวีปอื่นๆ ความหลากหลายทางวัฒนธรรมและภาษาภายในทวีปเอเชียนั้นมีมากและสูงกว่า อันส่งผลให้ความพยายามจะก้าวข้ามจากพรมแดนทางวัฒนธรรมของแต่ละชาติ กลายเป็น “งานยาก” (แต่น่าสนใจ) ตามไปด้วย

สอดคล้องกับองค์ประกอบ “ร่วม” ข้อหนึ่ง ซึ่งหนังสั้นทั้งสามเรื่องต่างนำเสนอออกมาอย่างพร้อมเพรียงกันโดยไม่ตั้งใจ นั่นคือ “ความสัมพันธ์ที่ขัดแย้งไม่ลงรอย” ระหว่างผู้คนที่เดินทางข้ามประเทศและวัฒนธรรม ตลอดจนผู้คนที่สังกัดในประเทศ/ขอบข่ายทางวัฒนธรรมเดียวกัน

ตั้งแต่การถูกส่งตัวกลับประเทศของแรงงานฟิลิปปินส์ในญี่ปุ่น แถมพอกลับมาแล้ว เขาก็เกิดอาการ “ต่อไม่ติด” กับบ้านเกิดเมืองนอนของตนเอง

มาถึงสภาวะที่พ่อ-ลูกชาวญี่ปุ่นไม่สามารถสื่อสารพูดจากันได้ จนพ่อต้องมาใช้ชีวิตบั้นปลาย ณ มาเลเซีย อย่างไรก็ดี ในหมู่ชาวมาเลเซียหลากหลายเชื้อชาติก็มีการเอารัดเอาเปรียบหรือขูดรีดกันเองอยู่ไม่น้อย

จนมาสิ้นสุดตรงเรื่องราวความรักระหว่างชายชาวญี่ปุ่นกับหญิงชาวกัมพูชา ที่พลัดพราก ไม่สมหวัง ครั้งแล้วครั้งเล่า

นอกจากภราดรภาพและความร่วมมือแล้ว คล้ายกับว่า “จุดเด่นจริงๆ” ที่ซ่อนแฝงอยู่ใน “Reflections” จะได้แก่ ร่องรอยความสัมพันธ์ที่ปริแยกไม่ราบรื่นลงตัวดังกล่าว

เครดิตภาพประกอบ : (c)2016 TIFF

Leave a Reply

Fill in your details below or click an icon to log in:

WordPress.com Logo

You are commenting using your WordPress.com account. Log Out /  Change )

Twitter picture

You are commenting using your Twitter account. Log Out /  Change )

Facebook photo

You are commenting using your Facebook account. Log Out /  Change )

Connecting to %s

This site uses Akismet to reduce spam. Learn how your comment data is processed.