เนื้อหาบางส่วนจากบทสนทนากับ “ดาวี่ ชู” ซึ่งเพิ่งพาหนังเรื่อง Diamond Island ของเขา ไปฉายที่เทศกาลภาพยนตร์นานาชาติโตเกียว 2016
คนมองหนัง – สำหรับผม ดูเหมือนจุดที่น่าสนใจที่สุดของ Diamond Island คือ ความพยายามที่จะก้าวข้ามไปให้พ้นจากประเด็นเกี่ยวกับ “บาดแผลแห่งชาติ” ซึ่งก่อขึ้นโดยระบอบเขมรแดง
นี่คือความตั้งใจของคุณหรือเปล่า?
ดาวี่ ชู – มันน่าสนใจ ที่คุณตีความไปในลักษณะนั้น ทางเลือกใหญ่ตอนที่เราเริ่มสร้างหนังเรื่องนี้ ก็คือ เราจะสามารถทำหนังที่เล่าเรื่องราวเกี่ยวกับสังคมกัมพูชายุคปัจจุบัน โดยไม่ต้องพูดถึง “เขมรแดง” ได้ไหม?
เพราะว่าถ้าเราจะทำหนังเกี่ยวกับประเทศกัมพูชายุคปัจจุบัน เรามักจะต้องมีจุดหนึ่งในเรื่องราว ที่เชื่อมโยงหรืออธิบายสถานการณ์ตอนนี้ว่าเป็นผลมาจากเขมรแดง จากนั้น ก็จะมีตัวละครบางคนที่นึกย้อนภาพกลับไปถึงประสบการณ์ยุคเขมรแดง และนั่นก็จะกลายเป็นสายสัมพันธ์ระหว่าง “อดีต” กับ “ปัจจุบัน”
อย่างไรก็ตาม สิ่งที่ผมรู้สึก … ก็คือ เมื่อเราอาศัยอยู่ในสังคมกัมพูชายุคปัจจุบัน คุณจะรู้สึกตกใจกับสิ่งที่อาจเรียกได้ว่าเป็น “ภาวะความจำเสื่อม” นอกจากนี้ เมื่อคุณได้ไปพูดคุยหรือสังสรรค์กับคนรุ่นใหม่ คุณจะรู้สึกตกใจที่ประเด็นสนทนาเกี่ยวกับเขมรแดงไม่เคยหลุดออกมาบนโต๊ะอาหาร นี่ไม่ได้หมายความว่าพวกเขาไม่รู้อะไรเลยเกี่ยวกับเรื่องเขมรแดง พวกเขารู้ ไม่ได้รู้ทุกเรื่อง แต่พวกเขามีความรู้เกี่ยวกับประวัติศาสตร์ยุคเขมรแดงบ้างเล็กๆ น้อยๆ ทว่า พวกเขาไม่เคยแลกเปลี่ยนความเห็นกันในเรื่องนี้เลย
ดังนั้น นี่จึงเป็นภาวะแห่งการหลงลืม หรือการมีเจตจำนงที่จะลืม และมันก็เป็นสิ่งน่าสนใจสำหรับผม ในการเลือกที่จะทำหนังเรื่องนี้ โดยไม่พูดถึงประเด็นเขมรแดงเลยเช่นกัน
… แต่บางครั้ง การไม่พูดถึงอะไรบางอย่าง และผลักให้มันออกไปอยู่นอกจอ ก็ยิ่งช่วยยืนยันถึงการดำรงอยู่ของมัน นั่นอาจเป็นเหตุผลว่าทำไมคุณจึงตั้งคำถามนี้ขึ้นมา
อย่างไรก็ดี ผมก็มีทางเลือกที่จะนำเสนอภาพแทนของสิ่งที่ตนเองรู้สึก ผ่าน “หน้ากระดาษที่ว่างเปล่า” บางทีนี่อาจคือสิ่งที่คนกัมพูชาต้องการเป็น
… มันคือพื้นที่ว่างเปล่าซึ่งนำไปสู่สิ่งใหม่ “เกาะเพชร” เป็นสถานที่ ซึ่งแทบจะไม่มีสัญลักษณ์อันเกี่ยวข้องกับประวัติศาสตร์และวัฒนธรรมของกัมพูชาปรากฏอยู่เลย มันมีรูปลักษณ์เหมือนดูไบ สิงคโปร์ ฝรั่งเศส หรือกรีซ มันเป็นส่วนผสมของวัฒนธรรมโลก และนี่อาจเป็นสิ่งที่ผู้คนกัมพูชาอยากเข้าไปมีส่วนร่วมด้วย
คำถามคือประวัติศาสตร์จะมีที่ทางอยู่ตรงไหนในภาวะดังกล่าว?
บางทีมันอาจดำรงอยู่ในความคิดและอารมณ์ความรู้สึกของเรา
ติดตามอ่านและชมบทสัมภาษณ์ฉบับยาว เร็วๆ นี้