เขียนรำลึกความหลัง เนื่องในโอกาสที่หนังสารคดี All Things Must Pass กำลังจะเข้าฉาย (โดยการดำเนินการของกลุ่ม Documentary Club) ครับ
—–
1.
นี่อาจเป็นข้อเดียวที่ถูกเขียนขึ้นอย่างมีหลักมีการบ้างนิดหน่อย
จากประสบการณ์ตอนวัยรุ่น ผมเห็น Tower Records เป็นห้องสมุดเพลง ที่มีคุณภาพ “โอเคระดับหนึ่ง” หรือจริงๆ แล้ว คือ “ดี” เลย ตามมาตรฐานของบ้านเรา
ในช่วงวัย 14-17 ประมาณ พ.ศ.2538-41 ผมยังสามารถย้อนกลับไปค้นหางานเพลงเก่าๆ ที่ออกวางจำหน่ายประมาณต้นทศวรรษ 2530 จากร้าน Tower Records ได้
เช่น ครั้งหนึ่ง ผมได้อ่านนิตยสารสีสัน ฉบับที่มีการประกาศรายชื่อผู้เข้าชิงรางวัลสีสัน อะวอร์ดส์ ครั้งที่ 10 ประจำปี 2540 (แสดงว่านิตยสารวางแผงตอนต้นปี 2541) ซึ่งนอกจากจะมีรายชื่อผู้เข้าชิงรางวัลประจำปีดังกล่าวแล้ว ยังมีการเผยแพร่รายชื่อศิลปินผู้ได้รับรางวัลในครั้งที่ 1-9 อีกด้วย จากนั้น ผมก็มานั่งสำรวจคลังเทปของตนเองและพี่ ว่ายังขาดงานที่ได้รางวัลสีสันชุดไหนอยู่บ้าง แล้วจึงไปตระเวนตามหาผลงานที่ไม่มีในครอบครองจาก Tower Records สาขาต่างๆ
เท่าที่จำความได้ อย่างน้อยที่สุด ผมก็สามารถหาซื้อซีดีชุด “ตะไคร่น้ำสุดขอบฟ้า” ของวง “เฉลียง” ที่ออกวางจำหน่ายตั้งแต่ พ.ศ.2534 ได้จาก Tower Records เมื่อตอนต้นทศวรรษ 2540
2.
ตอน ม.4 ผมไปซื้อเทปเพลงชุด “อย่าสัญญา (Don’t Promise)” ซึ่งเป็นงานเดี่ยวชุดแรกและชุดเดียวของ “ธาริณี ทิวารี” จาก Tower Records สาขาเซ็นทรัลปิ่นเกล้า แล้วใบเสร็จก็ตกค้างอยู่ในไม่กระเป๋านักเรียน ก็หนังสือเรียนนี่แหละ
ปรากฏว่ามีเพื่อนคนหนึ่งมาพบใบเสร็จดังกล่าวเข้า และพูดทำนองว่า โห! ซื้อมาได้ไง อัลบั้มนี้ ไม่ได้เรื่องเลย เอาทำนองเพลงดี๊ดาดี๊ของ Maria Montell มาร้องเนี่ยนะ?
แต่สุดท้าย ในระยะยาว คนฟังเพลงหลายรายก็ได้ตระหนักว่า อัลบั้มชุดนี้มีดีมากกว่านั้น หรือในทางกลับกัน อาจกล่าวได้ว่า จุดอ่อนเดียวในอัลบั้มของธาริณี ก็คือเพลงโปรโมทชื่อ “อย่างงั้นอย่างงี้ (Di Da Di)” นั่นเอง
3.
ผมไปซื้อซีดีอัลบั้มชุด “Demo Tracks” (1) ซึ่งเป็นงานรวมเดโมของศิลปินหน้าใหม่จากค่ายไมล์สโตนฯ โดยมาโนช พุฒตาล ที่ Tower Records สาขาปิ่นเกล้า
เพราะก่อนหน้านั้น ได้ซื้อเทปไปฟัง และมีเพลงที่ชอบหลายๆ เพลง อาทิ เพลงของไวลด์ซี้ด-ชุมพล เอกสมญา, เอ้-รงค์ สุภารัตน์, The Wanderers และ Eleven (ที่มีหมู มูซู เป็นสมาชิก)
ในอัลบั้มชุดนั้น มีเพลง “นรกในใจ (มึงก็เลว กูก็เลว)” ของ “เอ๋ อีโบล่า” ซึ่งผมชอบชื่อเพลงมาก แต่ตัวเพลงกลับไม่ต้องตรงกับรสนิยมของตนเองสักเท่าไหร่
ตอนหยิบซีดีไปจ่ายเงินที่เคาน์เตอร์ มีพี่พนักงานคนหนึ่งเอ่ยทักขึ้นว่า นี่น้อง พี่เอ๋เค้าทำงานที่นี่ด้วยนะ ถ้าแกมาเห็นคนซื้อซีดีชุดนี้ คงดีใจแย่
น่าเสียดายที่ตอนนั้น เอ๋ อีโบล่า ไม่อยู่ในร้าน ผมจึงอดได้ลายเซ็นของแกไปตามระเบียบ
4.
แม้อัลบั้มของวง “พราว” จะออกวางจำหน่ายตั้งแต่ปี 2538 แต่ผมเพิ่งมาฟังงานของพวกเขาอย่างจริงจังตอนประมาณปี 2540 โดยได้รับแรงบันดาลใจจากการอ่านกระทู้ที่เขียนถึงพราว ในห้องเฉลิมไทย เว็บไซต์พันทิป
ผมไปตามหาแผ่นซีดีของพราวจาก Tower Records (ไม่แน่ใจว่าสาขาไหนบ้าง) และแน่นอนว่าไม่ผิดหวัง
เมื่อผมได้มาทั้งซีดีอัลบั้มเต็ม และซีดีแผ่นอีพี “เธอคือความฝัน” เวอร์ชั่นมิวสิค บ็อกซ์
5.
ตอน ม.4 (อีกแล้ว) น่าจะประมาณเทอมสอง ผมไปเดิน Tower Records สาขาปิ่นเกล้า กับเพื่อนชื่อเบนซ์ แล้วอยู่ดีๆ ก็เจอเพื่อนเก่าตอน ม.1 ชื่อต้น ซึ่งไปเรียนต่อที่อังกฤษ หลังจบ ม.3
ผมกับต้นเคยต่อยกัน แต่ก็เป็นกัลยาณมิตรกันในเรื่องเพลง
ครั้งหนึ่ง ตอน ม.1 มันเคยร้องเพลงจากอัลบั้มชุดแรกๆ ของใหม่ เจริญปุระ แล้วโกหกผมว่าเป็นเพลงของวง “คาซอย”
สุดท้าย ผมก็ซื้อเทปของคาซอยมาจริงๆ (ไม่ได้ซื้อจาก Tower Records) ไม่ใช่เพราะเพลงของใหม่ ที่ไอ้ต้นร้องให้ผมฟังหรอก แต่เป็นเพราะผมชอบเพลง “คาซอย” และ “เด็กซอยสนิท” มากกว่า
นอกจากนี้ ผมกับต้นยังเป็นแฟนตัวยงของ “โมเดิร์นด็อก” ตอนออกอัลบั้มชุดแรก และ “บอย โกสิยพงษ์” ตอนออกอีพี “รักคุณเข้าแล้ว”
จำได้ว่า ต้นเป็นคนแนะนำให้ผมลองไปฟังเพลง “เธอ” ของโมเดิร์นด็อก ในช่วงที่ผมยังคงบ้าคลั่งอยู่แค่ “ก่อน” “บุษบา” และ “กะลา”
ส่วนตอน ม.2 ผมก็เป็นคนไปแจ้งข่าวให้มันรู้ว่า อัลบั้ม “ริธึ่ม แอนด์ บอยด์” ออกวางจำหน่ายแล้ว (แม้เราจะอยู่คนละห้องกัน)
อีกเรื่องที่อยู่ในความทรงจำ คือ ตอน ม.2 เมื่อ “ธรรพ์ณธร ปาลกะวงศ์ ณ อยุธยา” ออกมินิอัลบั้ม ซึ่งมีเพลงขายคือ “ร่ำลา” ผมกับต้นต่างชื่นชอบงานชุดนั้นเป็นอย่างมาก
แต่พอธรรพ์ณธรออกอัลบั้มเต็มชุดแรกตอนเราเรียน ม.3 ผมกับต้นกลับมีความเห็นสวนทางกัน คือ ผมยังชอบงานอัลบั้มเต็มอยู่ ทว่า ต้นกลับไม่ชอบอัลบั้มชุดนั้นเอาเลย เพราะมันมีเพลงช้าเพราะๆ น้อยเกินไป ตามความเห็นของเขา
6.
พูดถึงเพลงต่างประเทศบ้าง อัลบั้มเพลงภาษาต่างประเทศที่ผมประทับใจ ซึ่งซื้อมาจาก Tower Records ไม่สาขาดิ เอ็มโพเรียม ก็แถวๆ สยามฯ (จริงๆ แล้ว น่าจะเป็นยุค CD Warehouse มากกว่า) ก็คือ “Todd Rundgren: The Definitive Rock Collection” และ “Initials S.G.” ของ “Serge Gainsbourg”
เพราะเป็นอัลบั้มที่ยังคงหยิบมาเปิดฟังได้อยู่บ่อยๆ (แม้ในยุค iTunes ก็ยังดาวน์โหลดงานสองชุดนี้มาฟังอยู่ดี)
7.
สมัยเรียนมัธยมฯ ผมชอบแว้บไป Tower Records/CD Warehouse สาขาเซ็นทรัลปิ่นเกล้า เพราะไม่ไกลจากโรงเรียน แถมเวลาเรียนพิเศษเสาร์-อาทิตย์ โรงเรียนกวดวิชาก็ดันตั้งอยู่ใกล้ๆ เซ็นปิ่น เสียอีก
แต่พอเรียนมหาวิทยาลัยและปริญญาโท แม้จะเรียนอยู่แถวสนามหลวง แต่ผมกลับชอบขับรถและนั่งรถไฟฟ้าไปเดินดูซีดีที่ Tower Records/CD Warehouse สาขาดิ เอ็มโพเรียม, เวิร์ลด์เทรด เซ็นเตอร์, สยามเซ็นเตอร์ และสยามดิสคัฟเวอรี่ (เข้าใจว่าสองอันหลัง คือ สาขาเดียวกัน แต่มีการโยกย้ายที่ตั้ง?)
ซึ่งบ่อยครั้ง ก็ไม่ได้ซื้ออะไรติดไม้ติดมือกลับมา แต่เป็นการไปยืนทดลองฟังเพลง (หลายครั้ง หูฟังหรือเครื่องเล่นซีดีก็เสีย) หรือดูนั่นดูนี่เฉยๆ
8.
เคยเจอ “โอ๋ ภัคจีรา” ที่สาขาดิ เอ็มโพเรียม เธอ “สวย สูง สว่าง” กว่าตอนอยู่ในจอทีวีมาก
9.
ในช่วงท้ายๆ ก่อนเลิกกิจการ CD Warehouse สาขาดิ เอ็มโพเรียม มีนโยบายรับซื้อซีดีเก่าจากลูกค้า
ผมเองก็เคยหอบซีดีเป็นสิบแผ่นไปขาย โดยหนึ่งในซีดีที่ถูกนำไปเลหลัง ก็ได้แก่ อัลบั้มชุด “ออกไปข้างนอก” ของ “เพนกวิน วิลล่า” เพราะผมรู้สึกว่าเสียงร้องมันง้องแง้งน่ารำคาญยังไงก็ไม่รู้
ครั้นพอมีเพลงของเพนกวิน วิลล่า ปรากฏอยู่ในหนังอภิชาติพงศ์ ครั้นพอได้ฟัง “กลับไปที่โลก” เวอร์ชั่น “เก่ง ธชย”
ผมก็เริ่มมารู้สึกนึกเสียดายย้อนหลัง ที่เผลอนำเอาอัลบั้มชุดนี้ไปขาย แต่จะทำยังไงได้ ก็มันถูกเลหลังไปแล้วนี่
อย่างไรก็ดี ผมนำซีดีใช้แล้วไปขายให้ CD Warehouse แค่ครั้งเดียว เพราะ หนึ่ง จำนวนเงินตอบแทนที่ได้กลับคืนมา ไม่มากเท่าที่ควร และ สอง พอมีเวลาจะรวบรวมซีดีไปขายอีกครั้ง ร้านก็ปิดกิจการเสียแล้ว
10.
ครั้งล่าสุด ที่ได้เยี่ยมเยือน Tower Records ก็คือ เมื่อปีที่แล้ว ตอนไปเที่ยวโอซาก้า
ทำให้ผมได้แผ่นเสียงไวนิลอัลบั้ม “Something/Anything?” ของ “Todd Rundgren” (ผลิตใหม่) มาหนึ่งชุด
11.
อย่างไรก็ตาม ร้านเทป/ซีดีขนาดใหญ่ครบวงจรร้านแรกในชีวิตผม ไม่น่าจะใช่ Tower Records แต่เป็นร้านเทปของห้างสรรพสินค้าเซ็นทรัล ชิดลม ช่วงกลางๆ ทศวรรษ 2530 มากกว่า
จำได้ว่านักวิจารณ์เพลงชื่อดังในยุคนั้น อย่าง “ขุนทอง อสุนี ณ อยุธยา” เคยเขียนในคอลัมน์หรือเคยให้สัมภาษณ์ผ่านสื่อกระดาษ/สื่อทีวี? ว่า ร้านเทปที่ดีที่สุด คือ ร้านเทปของเซ็นทรัล ชิดชม
ตอนอายุ 11 ขวบ ผมไปเดินหาซื้อเทปของ “Bryan Adams” ชุดที่ภาพหน้าปกเป็นรูปเขาถือโทรโข่ง (ซึ่งคล้ายคลึงกับหน้าปกอัลบั้มชุดหนึ่งของบิลลี่ โอแกน ในเวลาต่อมา) เพราะชอบเพลง “(Everything I Do) I Do It For You” จากหนังเรื่อง “Robin Hood: Prince of Thieves”
ภาพที่จำได้คือ พนักงานขายรูปร่างอ้วนใหญ่คนหนึ่ง ทำทียิ้มเยาะและหันไปหัวเราะเบาๆ กับเพื่อนพนักงานข้างกาย เมื่อเด็กอย่างผมเข้าไปพูดจาสอบถามประมาณว่า “มีเทปไบรอัน อดัมส์ ชุดที่ถือโทรโข่งตรงหน้าปกมั้ยครับ?”
แต่ท้ายสุด เขาก็ต้องหยิบเทปชุดนั้นมาให้ผม
ต่อมา เกิดเหตุไฟไหม้ห้างเซ็นทรัล ชิดลม ตามความรู้สึกส่วนตัว หลังจากนั้น ร้านเทป/ซีดีของห้างเซ็นทรัล ทุกสาขา ก็ไม่เคยมีคุณภาพดีเทียบเท่ากับร้านเทปที่ชิดลม สมัยก่อนไฟไหม้ อีกเลย (แม้กระทั่งในยุคเริ่มต้นของ B2S)
ระหว่างเซ็นทรัล ชิดลม ปิดซ่อม ผมก็บังเอิญไปเดินเจอคุณพี่พนักงานอ้วนใหญ่ ที่ร้านเทปของห้างเซ็นทรัล ปิ่นเกล้า (ถ้าจำไม่ผิด ขณะนั้น ดำเนินการโดยบริษัทเอ็มจีเอ ในเครือแกรมมี่)
ผมจึงทักเขาว่า อ้าว พี่ย้ายมาจากชิดลมใช่มั้ยครับ ซึ่งเขาก็พยักหน้าตอบรับ และแสดงสีหน้าเศร้าๆ แทนคำพูด
ผมส่งเสียงหัวเราะเบาๆ แล้วเดินจากมา (ย้อนคิดดูอีกที ตอนนั้น เราก็นิสัยเลวจริงๆ)