รู้จักผู้กำกับหญิงจากปากีสถานที่คว้าออสการ์ได้ถึงสองครั้ง และผลงานของเธอ

“ชาร์มีน โอเบด ชินอย” ผู้กำกับหญิงวัย 37 ปี สร้างประวัติศาสตร์เป็นชาวปากีสถานเพียงคนเดียว ที่สามารถคว้ารางวัลออสการ์ได้ถึง 2 ครั้ง

โดยในงานมอบรางวัลหนล่าสุด เธอได้รับรางวัลภาพยนตร์สารคดีขนาดสั้นยอดเยี่ยม จากหนังเรื่อง “A Girl in the River: The Price of Forgiveness” ซึ่งเล่าเรื่องราว “การสังหารเพื่อเกียรติยศ” ในปากีสถาน

Print

ชาร์มีนติดตามชีวิตของเด็กสาววัย 18 ปีรายหนึ่ง ซึ่งถูกยิงโดยญาติๆ ด้วยข้ออ้างที่ว่า “เพื่อกอบกู้เกียรติยศชื่อเสียงของครอบครัว” ก่อนพวกเขาจะนำร่างเธอโยนลงสู่แม่น้ำ

อย่างไรก็ดี เด็กสาวกลับรอดชีวิตอย่างปาฏิหาริย์ แล้วนำเรื่องที่เกิดกับตัวเองมาถ่ายทอดให้โลกได้รับรู้

“การฆ่าเพื่อผดุงรักษาเกียรติยศ” เป็นความจริงที่รับทราบกันในวงกว้าง แต่ไม่ค่อยถูกกล่าวถึงในสังคมปากีสถาน เพราะอาชญากรรมลักษณะนี้มักไม่ถูกรายงานเป็นข่าว ส่วนเหยื่อผู้ถูกสังหารก็กลายสถานะเป็นบุคคลหายสาบสูญ ชาร์มีน จึงเลือกหยิบยกเอาปัญหาที่เกิดขึ้นมาถ่ายทอดเป็นภาพยนตร์สารคดี

หลังขึ้นรับรางวัลออสการ์ เธอระบุว่า นายกรัฐมนตรี “นาวาซ ชารีฟ” แห่งปากีสถาน ได้ชมหนังเรื่องนี้แล้ว และให้สัญญาว่าจะหาทางแก้ไขกฎหมาย เพื่อป้องกันการก่ออาชญากรรมในลักษณะดังกล่าว

แต่คงต้องจับตาดูกันยาวๆ เพราะประเพณีการเข่นฆ่าเช่นนี้ยังคงได้รับการสนับสนุนจากผู้คนจำนวนมากในปากีสถาน ขณะเดียวกัน ฆาตกรก็สามารถรอดพ้นจากการถูกดำเนินคดีอย่างง่ายดาย หากเพียงพวกเขาได้รับการให้อภัยจากครอบครัวของเหยื่อ

ชาร์มีนเกิดและเข้ารับการศึกษาเบื้องต้นที่ปากีสถาน ก่อนจะไปจบการศึกษาด้านสื่อสารมวลชนที่มหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ด

เมื่อปี 2012 เธอเคยได้รับรางวัลออสการ์ สาขาภาพยนตร์สารคดีขนาดสั้นยอดเยี่ยม มาหนหนึ่งแล้ว จากหนังเรื่อง “Saving Face” (ที่กำกับร่วมกับ “แดเนียล ยุงเกอร์”)

Saving_Face-915x1414

หนังเล่าเรื่องราวเกี่ยวกับกรณีการทำร้ายกันด้วยน้ำกรดที่ปากีสถาน ซึ่งสมาชิกในครอบครัวที่รู้สึกเสื่อมเสียเกียรติ หรือชายผู้ผิดหวังในความรัก เลือกจะทำร้ายคู่กรณีที่เป็นเหยื่อและสตรีเพศ ด้วยการสาดน้ำกรดทำลายโฉมผู้หญิงเหล่านั้น

ชาร์มีนบอกกับ “ไชมา คาลิล” ผู้สื่อข่าว “บีบีซี” ว่า ตนเองมักถูกวิจารณ์ว่าชอบนำเสนอแต่เพียงแง่มุมด้านลบของประเทศบ้านเกิด

ผู้กำกับหญิงรายนี้พยายามอธิบายกลับไปว่า เธอก็รักประเทศบ้านเกิด จนจำเป็นต้องพูดถึงประเด็นปัญหาของประเทศแห่งนี้ เพื่อให้ปัญหาทั้งหมดได้รับการแก้ไข

ชาร์มีน โอเบด ชินอย มิได้เป็นเพียง “กรณียกเว้น” ของประเทศปากีสถาน ในฐานะพลเมืองรายแรกและรายเดียวที่ได้รับรางวัลออสการ์ถึงสองครั้งเท่านั้น

แต่เธอยังเป็นผู้หญิงที่ประสบความสำเร็จในระดับนานาชาติ ท่ามกลางสตรีร่วมสังคมอีกหลายพันคน ซึ่งต้องเผชิญหน้ากับการถูกสาดน้ำกรดใส่ หรือการถูกสังหารเพื่อปกป้องรักษาเกียรติยศของวงศ์ตระกูล

“ถ้ากฎหมายต่อต้านการสังหารคนเพื่อรักษาเกียรติยศถูกประกาศใช้ เมื่อนั้น ฉันจึงจะเป็นผู้ชนะที่แท้จริง ขณะเดินอยู่บนพรมแดง” ชาร์มีน เคยให้สัมภาษณ์เอาไว้ ก่อนจะได้รับออสการ์ตัวที่สอง

“การสังหารเพื่อรักษาเกียรติยศ” คือ การสังหารชีวิตญาติพี่น้องในครอบครัว โดยสมาชิกรายอื่นๆ ในวงศ์ตระกูล เพราะฆาตกรมีความเชื่อว่าเหยื่อได้สร้างความน่าอับอายหรือเสื่อมเสียเกียรติยศให้แก่เครือญาติ หรือได้ล่วงละเมิดหลักการข้อห้ามของชุมชนหรือศาสนา

 

โดยส่วนใหญ่ ผู้ถูกสังหาร มักเป็นคนซึ่งปฏิเสธที่จะเข้าพิธีสมรสแบบ “คลุมถุงชน,” หรือไปมีความรัก ซึ่งไม่ได้รับการอนุญาตจากครอบครัว, ไปมีเพศสัมพันธ์นอกสถาบันการแต่งงาน, ตกเป็นเหยื่อของการล่วงละเมิดทางเพศ, แต่งกายไม่เหมาะสมกับบรรทัดฐานทางสังคม, เข้าไปข้องเกี่ยวกับความสัมพันธ์ทางเพศที่หลุดพ้นออกไปจากกรอบ “ชาย-หญิง” รวมทั้งการประกาศสละทิ้งซึ่งความเชื่อความศรัทธาทางศาสนา

 

เหยื่อของการถูกสังหารในลักษณะนี้ มักเป็นผู้หญิงมากกว่าผู้ชาย

Leave a Reply

Fill in your details below or click an icon to log in:

WordPress.com Logo

You are commenting using your WordPress.com account. Log Out /  Change )

Facebook photo

You are commenting using your Facebook account. Log Out /  Change )

Connecting to %s

This site uses Akismet to reduce spam. Learn how your comment data is processed.