ความรู้สึกหลังได้มีปฏิสัมพันธ์กับ “Blissfully Blind”

“ท่านคุ้นเคยกับการอยู่เป็นหมู่ใหญ่
ปลอดภัยในพรมแดนและชายขอบ
แม้บางครั้งเคยข้ามแบบลักลอบ
ก็เพียงธุรกิจและเรื่องสนุก”

บทกวี “อภิวัฒนะ” โดย ไม้หนึ่ง ก. กุนที จากหนังสือ “รูปทรง มวลสาร พลังงาน และความรัก”

หนึ่ง

01

คราวนี้ขอเขียนถึงศิลปะการแสดงประเภทอื่นๆ บ้าง

“Blissfully Blind” ถูกนิยามว่าเป็น An Experiential Performance ภายใต้ศิลปะการจัดวางแสง โดย “ดุจดาว วัฒนปกรณ์”

ผมมีโอกาสไปดูการแสดงดังกล่าวในรอบสุดท้าย เมื่อคืนวันที่ 30 กรกฎาคม ทีแรกตั้งใจว่าหลังดูเสร็จ จะเขียนถึงงานชิ้นนี้เลย แต่สุดท้าย ก็ตัดสินใจเก็บมันไว้ในใจสักพักใหญ่ๆ แล้วค่อยนำมาเรียบเรียงเป็นข้อคิดเห็นในอีกหนึ่งสัปดาห์ถัดมา

ผลลัพธ์คือผมคงเขียนถึงการแสดงนี้ได้ไม่ละเอียดลออนัก (เพราะหลงลืมรายละเอียดปลีกย่อยหลายอย่างไปแล้ว) ทว่า ความรู้สึกหรือแรงบันดาลใจบางอย่างที่เกิดขึ้น/ได้รับจาก “Blissfully Blind” นั้นยังคงอยู่ และถูกถ่ายทอดออกมาเป็นความเห็น ดังจะบรรยายต่อไป

สอง

02

แน่นอน จุดเด่นสุดๆ ของ “Blissfully Blind” ที่หลายคนคงเขียนถึงกันไปทะลุปรุโปร่งแล้ว คือ เรื่องการเล่นกับ “พื้นที่จัดแสดง” และ “มุมมองของคนดู”

เดิมที ผมตั้งใจว่าตัวเองจะพยายามก้าวข้ามขีดจำกัดเรื่องพื้นที่/มุมมอง ซึ่งผู้สร้างวางโจทย์ท้าทายเอาไว้ ด้วยการเดินไปชมการแสดงทุกส่วนในสามพื้นที่หลัก: โซนการแสดงข้างใน, โซนการแสดงข้างนอก และพื้นที่รอยต่อ/ชายขอบของทั้งสองโซนตรงกึ่งกลาง ให้ครบถ้วน

แต่สุดท้าย ผมกลับล้มเหลวในเรื่องนี้อย่างไม่เป็นท่า เนื่องจากพอเข้าชมการแสดงจริงๆ ได้ไม่นาน ผมก็ตัดสินใจจำกัดพื้นที่การรับชมของตนเองให้อยู่ตรงบริเวณโซนการแสดงด้านนอก และแว้บไปตรงพื้นที่รอยต่อเป็นครั้งคราว ทว่า ไม่กล้าเข้าไปชมการแสดงของโซนข้างใน

(ด้วยเหตุผลที่ไม่เกี่ยวข้องกับการแสดงเลย แต่เป็นเรื่องส่วนตัวบางอย่าง 555 – ซึ่งนี่อาจบ่งชี้ให้เห็นถึงความร้ายกาจของการแสดงครั้งนี้ ที่มันไม่ได้ชักจูงให้คนดูคนหนึ่งต้อง “ดีล” กับการแสดงที่เขากำลังรับชมเท่านั้น แต่ยังผลักดันให้เขาต้องปะทะกับผู้ชมรายอื่นๆ ตลอดจนบรรยากาศ-พื้นที่-ความสัมพันธ์อันแปลกแยก กระทั่งก่อให้เกิดความรู้สึกไม่มั่นใจบางประการขึ้นภายในใจตน)

อย่างไรก็ตาม การเลือกจะขีดวงจำกัดตัวเองอยู่แค่นั้น ก็มิได้ทำให้อรรถรสการรับชมสูญเสียไป ผมยังประทับใจกับนักแสดงและการแสดงที่ตนเองได้รับชม

ผมชื่นชอบ/สะเทือนใจไปกับกระบวนการฝึกซ้อมเคี่ยวเข็ญทรมานนักแสดงหญิงวัยเยาว์ที่ปรากฏตรงเบื้องหน้า ผมรู้สึกฉงนเมื่อพบว่านักแสดงบางคนมีบทบาท/อำนาจแตกต่างออกไป เมื่อเธอปรากฏกาย ณ อีกพื้นที่หนึ่ง ไม่ไกลจากพื้นที่เดิม และผมก็เพลิดเพลินกับการคอยไปแอบจับจ้องสังเกตอากัปกริยาที่สื่อถึงความมืดบอดและขลาดกลัว จากการแสดงของคุณดุจดาว ตรงพื้นที่รอยต่อ

(นอกจากดูการแสดง ผมยังแอบดูผู้ชมคนอื่นๆ อยู่เนืองๆ จึงได้เห็นว่าผู้กำกับละครเวทีระดับเก๋าท่านหนึ่งและโปรดิวเซอร์ภาพยนตร์ฝีมือดีอีกท่าน ก็เลือกที่จะปักหลักชมการแสดงครั้งนี้อยู่ตรงโซนด้านนอกเป็นหลักเท่านั้น ผมเลยลอบดีใจว่า เออ! การที่เราไม่โผล่ไปดูอะไรที่ด้านในเลย มันคงไม่ถือเป็นความผิดพลาดมากนักหรอก 555)

สาม

03

ต้องขออภัย (สำหรับคนดูอื่นๆ ที่อาจรู้สึกไม่ชอบใจ) ว่าผมก็เป็นผู้ชมคนหนึ่งที่หยิบกล้องคอมแพ็คเล็กๆ ของตัวเอง ขึ้นมาถ่ายรูปการแสดงอยู่เป็นระยะๆ

แต่ก็ต้องยอมรับว่าบรรยากาศหลายๆ อย่างภายในการแสดง มันดึงดูดใจให้คนดูหยิบกล้องหรือโทรศัพท์ขึ้นมาถ่ายรูปจริงๆ

ทั้งลีลาการเคลื่อนไหวร่างกายของนักแสดง, ปมขัดแย้งของเรื่องราว, การจัดวางแสงสีที่สวยงามมากๆ รวมถึงการเปิดโอกาสให้ผู้ชมได้เดินไปมา อันเป็นการเปิดทางให้พวกเขาได้ซอกแซกสืบค้นหาแง่มุมลึกลับของเรื่องราวต่างๆ หรือของผู้คนรายอื่นๆ

ถ้าเราไม่พยายามแยกขาดบทบาทของ “นักแสดง” และ “ผู้ชม” ออกจากกันอย่างสิ้นเชิง ผมรู้สึกว่าสภาวะโกลาหลทางการรับชมระดับย่อมๆ ที่เกิดขึ้นใน “Blissfully Blind” เป็นเรื่องยอมรับได้

เพราะในการแสดงนี้ “นักแสดง” ไม่ได้ขีดเส้นกำหนดบทบาทของตนเองไว้แค่บนเวที เช่นเดียวกับ “ผู้ชม” ที่ไม่ได้ถูกล่ามโซ่ไว้กับเก้าอี้นั่ง

แต่ “นักแสดง” ยังเดินมา “เล่น” กับคนดูอย่างใกล้ชิด ส่วน “ผู้ชม” ก็ปฏิบัติหน้าที่อื่นๆ ไปพร้อมๆ กัน เช่น การทำหน้าที่เป็นผู้บันทึกภาพการแสดงเพื่อนำไปเผยแพร่ซ้ำในฐานะ “เรื่องเล่า” ชนิดใหม่ๆ หรือการพลัดหลงเข้าไปเป็น “นักแสดง” อีกคนหนึ่ง จากมุมมอง/สายตาของคนดูอีกราย

ไปๆ มาๆ แทนที่จะตั้งเป้าว่า “นักแสดง” ควรมีบทบาท-พื้นที่แบบหนึ่ง “ผู้ชม” ควรมีบทบาท-พื้นที่อีกแบบ และ “การแสดง” ควรมีหน้าที่หลักบางอย่าง

“Blissfully Blind” คล้ายกำลังชี้แนะให้เรามองเห็นถึงความเป็นไปได้ที่ “นักแสดง” “ผู้ชม” และ “การแสดง” จะสามารถเข้ามามีปฏิสัมพันธ์ต่อกันอย่างยืดหยุ่นไม่ตายตัว

บทบาทอันพร่าเลือนตรงจุดนี้ ทำให้ผมย้อนนึกไปถึงบรรยากาศร้อนแรงหรือจุดพีคสุดของ “การเมืองแบบมวลชน” ตั้งแต่ปลายทศวรรษ 2540 ถึงปี 2557

สภาวะดังกล่าวเปิดโอกาสให้ผู้คนธรรมดาเป็นทั้ง “ผู้ชมเกมการเมือง” และเข้าไปเป็น “ผู้เล่นการเมือง” ด้วยตัวเอง ความชุลมุนวุ่นวายเช่นนั้นอาจนำไปสู่ความเข้าใจที่ผิด การกระทำที่พลาด หรือคลี่ให้เรามองเห็นความไม่รู้-ความน่ารำคาญ-ความน่ารังเกียจหลายอย่างของผู้คนธรรมดาสามัญใกล้ตัวเรา

แต่ก็เพราะสภาพการณ์จำเพาะแบบนั้นมิใช่หรือ? ที่ทำให้เราสามารถมองเห็นความบกพร่อง-ความน่าขยะแขยงต่างๆ ได้อย่างชัดเจนมากที่สุด เท่าที่เราพอจะมองเห็นมันได้ (จากตำแหน่งที่เรายืนอยู่/เคลื่อนที่ไปมาภายใต้ข้อจำกัดบางประการ)

ในระดับที่เราไม่เคยตระหนักถึงมันอย่างแจ่มชัดขนาดนี้มาก่อน

สี่

04

ถ้าวิเคราะห์ตีความอย่างง่ายๆ และมองโลกในแง่ดีหน่อย นิทานเรื่อง “Blissfully Blind” ก็คงสอนให้เรารู้ว่าไม่มีใครสามารถมองเห็นหรือเข้าถึง “ความจริง” ได้อย่างครบถ้วนรอบด้านไปหมด สิ่งที่มนุษย์อย่างเราๆ จะสามารถทำได้ดีที่สุด ก็คือ การทดลองขับเคลื่อน/ปรับเปลี่ยนตำแหน่งแห่งที่ของตัวเองให้หันไปมองโลกในแง่มุมอื่นๆ ดูบ้าง

แต่ถ้ามองในมุมดาร์คขึ้นอีกหน่อย การแสดงภายใต้การควบคุมดูแลของดุจดาวก็อาจกำลังบอกเราว่า อย่างไรเสีย มนุษย์ก็หลีกหนีสภาวะมืดบอดหรือข้อจำกัดในการมองเห็น/รับรู้สภาวการณ์ต่างๆ ไปได้ไม่พ้น ทีนี้ก็ขึ้นอยู่กับว่า คุณจะเลือกใช้ชีวิตยังไงต่อไป? จะลองมองโลกแบบอื่นๆ บ้าง (เท่าที่จะเปลี่ยนแปลงตัวเองได้) หรือจะเลือกหยัดยืนปักหลักอยู่ตรงพื้นที่ที่ตนเองรู้สึกคุ้นเคย ปลอดภัย และสบายใจ ณ ปัจจุบัน

ห้า

05

ขณะเดินไปมาท่ามกลางคนดูท่านอื่นๆ ระหว่างโซนการแสดงด้านนอกและพื้นที่รอยต่อตรงกึ่งกลาง และขณะกำลังเดินเท้าออกมายังปากซอยสาทร 1 ก่อนไปขึ้นรถไฟฟ้าใต้ดิน หลังดูการแสดงจบ

ผมนึกถึงบทกวีชิ้นหนึ่งจากหนังสือรวมบทกวีเล่มที่สองของ “ไม้หนึ่ง ก. กุนที” อยู่บ่อยครั้งมากๆ (2-3 หนเห็นจะได้)

นี่เป็นงานที่อาจถูกจัดจำแนกให้อยู่ในกลุ่ม “ก่อน-การเมือง” ของไม้หนึ่ง (เข้าใจว่าได้รับการตีพิมพ์ครั้งแรกเมื่อปี 2543)

เนื้อหาสาระของมันอาจไม่เกี่ยวข้องกับสารหลักๆ ของ “Blissfully Blind” เลย

ทว่า การแสดงอันน่าประทับใจโดยดุจดาวและเพื่อนๆ กลับทำให้ผมหวนนึกไปถึงบทกวีชิ้นนี้

อภิวัฒนะ

ดวงดาวส่องแสง
นักสู้รินเลือดสีแดงสด
นวลจันทร์ปลอบขวัญอันรันทด
ภูตพรายขบถไม่รู้แพ้
กี่คนล่ะ หล่นไปในลำน้ำ
ไม่ถูกฉุดไหลตามกรากกระแส
ว่ายแหวกเองไม่หวังพึ่งเรือแพ
เป็นพลังงานงอมสุกแก่แล้วปลิดกรอบ
ท่านคุ้นเคยกับการอยู่เป็นหมู่ใหญ่
ปลอดภัยในพรมแดนและชายขอบ
แม้บางครั้งเคยข้ามแบบลักลอบ
ก็เพียงธุรกิจและเรื่องสนุก
ลองลืมตามองในตน
จะเห็นสองผลไม้สุก
เม็ดมีศักดิ์เท่าเทียมสมควรปลูก
ทั้งอนุรักษ์และปฏิวัติ

Leave a Reply

Fill in your details below or click an icon to log in:

WordPress.com Logo

You are commenting using your WordPress.com account. Log Out /  Change )

Facebook photo

You are commenting using your Facebook account. Log Out /  Change )

Connecting to %s

This site uses Akismet to reduce spam. Learn how your comment data is processed.