(เปิดเผยเนื้อหาบางส่วนในภาพยนตร์)
หนึ่ง
โดยสรุปแล้ว หนังเรื่องนี้เป็นการพยายามทำความเข้าใจอารมณ์ความรู้สึกของคนวัยเกือบๆ หรือกว่า 60 โดยคนรุ่นประมาณ 30 ต้นๆ
ซึ่งถ้าหนังออกมาเร็วกว่านี้สักห้าปีเป็นอย่างน้อย ผมในวัยเพิ่งขึ้นต้นด้วยเลข 3 หรืออาจยังไม่ถึงเลข 3 คงจะไม่ค่อยชอบมันเท่าไหร่นัก
แต่พอหนังออกฉายในปีนี้ ปีที่ตัวเองอายุสามสิบกลางๆ แล้ว ผมกลับรู้สึก “อิน” กับ “Pop Aye” มากอยู่
เพราะระยะหลังๆ ในชีวิตประจำวันและชีวิตการทำงาน ผมมักต้องหัดพยายามมองโลกด้วยสายตาแบบเดียว/คล้ายๆ กับคนทำหนังเรื่องนี้ (ซึ่งคงมีอายุไล่เลี่ยกัน)
กล่าวคือ มันเป็นการพยายามทำความเข้าใจโลกจากที่ทางของคนที่ยังไม่แก่ชรา แต่ก็ไม่ใช่คนหนุ่มสาวผู้เปี่ยมพลังแห่งความเยาว์วัยอีกต่อไป
โดยด้านหนึ่งของเรา คือคนรุ่นอายุไม่เกิน 30 หรือเพิ่งเกิน 30 มาไม่นาน ซึ่งมีความเข้าใจ-เข้าถึงเทคนิควิธี เทคโนโลยี ตัวเลขสถิติ หรือองค์ความรู้สมัยใหม่มากมาย
ส่วนอีกด้าน คือ คนรุ่น 50-60-70 ที่บ่อยครั้ง พวกเขามักมองโลกผ่าน “คุณค่า” “ประสบการณ์” “ความฝังใจ” บางชุดจากอดีต ซึ่งหลายครั้ง มันก็ทาบไม่สนิทกับ “ข้อเท็จจริง” ณ ปัจจุบัน
และก็มีหลายครั้ง ที่คนสองกลุ่มนี้จะ “ชน” หรือ “ปะทะ” กัน ด้วยความไม่เข้าใจ หรือมุมมองต่อโลกที่ต่างกันจนยากประสาน
ถ้าตัวเองยังอายุแค่ 20 ปลายๆ ถึง 30 ต้นๆ ผมคงมีแนวโน้มจะเอนเอียงหรือพร้อมดีเฟนด์ให้แก่ฝ่ายคนหนุ่มสาวโดยไม่มีเงื่อนไข
แต่น่าแปลกที่ช่วง 1-2 ปีที่ผ่านมา ผมชักจะเริ่มเข้าใจพวกคนแก่มากขึ้น ว่าทำไมพวกเขาต้องยึดโยงตัวเองอยู่กับนามธรรมลอยๆ หรือข้อเท็จจริงที่ตกยุคไปแล้วบางอย่าง
และถ้าไม่ยึดติดกับชุดคุณค่าพวกนั้นหรือหันหลัง 180 องศาให้กับมัน ชีวิตของพวกเขาจะพังพินาศขนาดไหน
ไปๆ มาๆ ถ้าชีวิต-อารมณ์ความรู้สึกของพวกเขาพังย่อยยับ เราและคนรุ่นเด็กกว่าเราก็จะไม่ได้อะไรจากการพังทลายดังกล่าวเหมือนกัน
สอง
กลับมาพูดถึงตัวหนัง ผมรู้สึกเพลิดเพลินกับการเดินทางของตัวเอกอย่าง “ธนา” มากทีเดียว
โดยรู้สึกว่าตลอดรายทางของการเดินทางในหนังเรื่องนี้มีสีสันมากพอสมควร และมีรสชาติกลมกล่อมกำลังดี
(กระทั่งฉากที่ไม่น่าจะซ่อนนัยอะไร อย่างฉากช้างเดินผ่านซากงูตาย ก็ยังมีความน่าประทับใจบางอย่าง จนติดอยู่ในหัวผม หลังจากดูหนังจบมาแล้ว 2-3 วัน)
ตั้งแต่อาการประสาทกิน-ภาวะอ่อนแอทางร่างกายตามประสาคนชั้นกลางวัยกลางคนในเมืองใหญ่ของตัวละครนำ เมื่อเริ่มเดินเท้าออกเดินทาง
การเล่นกับสัญลักษณ์แตงโมเหลือง-แดง ที่ตกแตกเรี่ยราดกลางถนน ซึ่งคงมีความเชื่อมโยงอะไรบางอย่างกับสภาพการเมืองไทยในช่วงทศวรรษที่ผ่านมา
ชีวิตกับความใฝ่ฝันของหมอดูบุคลิกเพี้ยน ที่เริ่มต้นอย่างขัดเขินพอสมควร (ด้วยบทสนทนาแข็งๆ แปลกๆ) ก่อนจะคลี่คลายไปสู่ความโศกเศร้าระคนกับความงดงาม พร้อมปมปัญหาค้างคาบางประการ
เรื่องราวหลากมุมในร้านเหล้าบ้านๆ ตั้งแต่ปัจจุบันอันขมขื่นของกะเทยรุ่นใหญ่ มาจนถึงการตอกย้ำให้เห็นถึงภาวะเสื่อมทรุดของอำนาจเชิงกายภาพ กระทั่งมิอาจสำแดงพลังแห่งความเป็นชายของตัวละครนำ (เนื้อหาส่วนนี้อาจดูไม่ค่อยใหม่นัก จึงน่าดีใจ ที่หนังนำพาตัวเองให้ออกเดินทางไปไกลมากๆ จากจุดดังกล่าว)
และแน่นอนว่าประเด็นภาพชนบทที่ไม่เป็นดังความคาดหวัง/ความทรงจำครั้งอดีตของคนชั้นกลาง กทม. (ที่เติบโตมาจากการเป็นเด็กชนบทเข้ากรุง) ก็นับเป็นจุดไคลแม็กซ์ที่คล้ายจะราบเรียบ ทว่า ทรงพลังมากๆ ของหนังเรื่องนี้
สาม
บนเส้นทางอันระหกระเหินและอิ่มเอม เรื่องราวต่างๆ ใน “Pop Aye” ถูกจัดวางไว้ในกรอบโครงที่เป็นระบบระเบียบอย่างยิ่ง
อย่างน้อย พอดูหนังจบ คนดูน่าจะพอสัมผัสได้ว่าชีวิตของหมอดูซอมซ่อ, กะเทยขายบริการ และธนานั้น มีความเชื่อมโยงหรือสอดคล้องต้องตรงกันอยู่
เพราะพวกเขาเหล่านั้นต่างไขว่คว้า โหยหา คิดถึง “อดีต” บางอย่าง ซึ่งเอาเข้าจริง แต่ละคนต่างไม่รู้ว่า “ภาพฝันครั้งอดีต” ดังกล่าวยังดำรงคงอยู่หรือไม่ หรือเปลี่ยนแปลงไปมากน้อยเพียงไหน
“อดีต” บางชนิดอาจไม่มีตัวตนอยู่บนโลกมนุษย์แล้วด้วยซ้ำ แต่พวกเขาบางคนก็เชื่อมั่นว่าตนเองกำลังจะได้พบกับ “อดีต” ที่ว่านั้นอีกครั้งหนึ่งในไม่ช้า
พี่ชายบนสวรรค์, ผู้หญิงที่ตนแอบรักเมื่อกาลครั้งโน้น, ความรุ่งโรจน์ในทางวิชาชีพ ไม่ว่าจะเป็นการค้าบริการทางเพศหรือธุรกิจสถาปัตยกรรม, ช้างและบ้านเกิดที่เคยถูกเจ้าของทอดทิ้งและหนีเข้าเมืองหลวง จึงถูกมัดรวมให้เกี่ยวพันกันอย่างลึกซึ้ง
สี่
อย่างไรก็ตาม มีบางองค์ประกอบที่ผมรู้สึกติดขัดกับหนังเรื่องนี้อยู่บ้าง
ข้อแรก คือ ผมค่อนข้างจะรู้สึกสะดุดกับเส้นเรื่องเกี่ยวกับตำรวจและพระสงฆ์ที่แบนๆ หรือนำเสนอภาพเหมารวมในแง่มุมลบๆ ของคนสองกลุ่มนี้แบบ “ทื่อ” ไปหน่อยนึง
หรือพูดอีกอย่างคือ ผมรู้สึกว่าตำรวจกับพระเป็นตัวแทนอำนาจรัฐที่ถูกวิพากษ์วิจารณ์มาเยอะจนพรุนแล้วในสื่อบันเทิงต่างๆ ด้วยเหตุนี้ ถ้าการวิพากษ์วิจารณ์ครั้งหลังๆ ไม่มีอะไร “ใหม่” จริง จึงย่อมก่อให้เกิดความจำเจขึ้นเป็นธรรมดา
กับอีกส่วนที่เหมือนหนังเกือบจะทำได้เนียน แต่ก็ยังมีอะไรแปลกๆ หลุดออกมาบ้างนิดๆ หน่อยๆ นั่นคือ วิธีการพูดจาหรือบทสนทนาของตัวละคร ที่บางครั้ง คนดูยังพอจับได้อยู่ว่า “นี่ไม่ใช่หนังไทยที่คนไทยกำกับ”
แต่เอาเข้าจริง “Pop Aye” ก็ถือเป็นหนังของผู้กำกับต่างชาติที่กำกับนักแสดงไทย-เรื่องราวแบบไทยได้ดีมากๆ (เผลอๆ อาจดีที่สุดเรื่องหนึ่ง)
โดยส่วนตัว ผมชอบหนังสิงคโปร์-ไทยเรื่องนี้ พอๆ กับ “พี่ชาย My Hero” ของ “จอช คิม”
ที่ตลกร้าย คือ หนังลูกครึ่งไทยพวกนี้ดันเล่าเรื่องราวของสังคมไทยร่วมสมัยได้ดีและลึกกว่าหนังไทยแท้ๆ ส่วนใหญ่ในท้องตลาดยุคปัจจุบัน
ห้า
นอกจากนี้ หนังมีรายละเอียดบางอย่างที่น่าสนใจ เช่น การเล่นกับ “มรดกตกค้าง” จากยุคสงครามเย็น ผ่านบทเพลง “จดหมายจากเมียเช่า”
ระยะหลังๆ เวลาหนังหรือผลงานศิลปะร่วมสมัยแถบอาเซียนพูดถึงสถานการณ์การเมืองระดับภูมิภาคในยุค 60 หลายเรื่อง/ชิ้นมักพูดถึงประวัติศาสตร์ช่วงนั้นในฐานะ “บาดแผล” ของผู้ถูกกระทำ หรือ “บาปที่รอวันชำระ” ของผู้ที่ร่วมมือกับฝ่ายอเมริกัน
แต่ “Pop Aye” กลับเอาเพลงที่ตกค้างจากยุคนั้นมาใช้เป็นสื่อที่เชื่อมร้อยอารมณ์ความรู้สึกถวิลหา-เศร้าสร้อยของคนแก่ๆ หมดสภาพ 2-3 คน เข้าหากัน ซึ่งเป็นอะไรที่แปลกดี สำหรับงานศิลปะทางเลือกยุคปัจจุบัน
เพราะแทนที่เราจะก่นด่าประณามว่ารัฐไทยเคยร่วมมือกับรัฐบาลอเมริกันอย่างไร
หรือคนไทย/สังคมไทยได้ประโยชน์จากการร่วมมือดังกล่าว ขณะยืนอยู่บนความทุกข์ยากของประเทศเพื่อนบ้านหรือผู้คนบางส่วนในประเทศอย่างไรบ้าง
หนังกลับเลือกให้ตัวละครรุ่นอายุราวๆ 50-60 แสดงความรู้สึกซาบซึ้งตรึงใจในฐานะปัจเจกบุคคล กับผลงานทางวัฒนธรรมที่ตกทอดมาจากยุคสมัยของประวัติศาสตร์บาดแผล
คนแก่เหล่านี้ไม่ได้นึกคิด (แม้อาจจะพอตระหนักรู้อยู่บ้าง) ถึงความผุพังและรอยแตกร้าวจากยุคสงครามเย็น ทว่า พวกเขาโหยหาถึงแง่งามปนเศร้าของมัน ผ่านประสบการณ์แบบปัจเจก
เราอาจไม่เห็นด้วยกับท่าทีแบบนี้ หรือมองเห็นถึงความละเลยเพิกเฉยอันเกิดจากท่าทีดังกล่าว แต่เราก็ควรต้องทำความเข้าใจและยอมรับว่าคนจำนวนไม่น้อยในสังคมนั้นมีอารมณ์ความรู้สึก/ท่าทีแบบนี้อยู่จริงๆ
หก
น่าตีความเล่นๆ ว่า ความสัมพันธ์ระหว่างตัวละครนำกับเพลง “จดหมายจากเมียเช่า” และสายสัมพันธ์ของธนากับหมอดูจรจัดนั้นอาจมีลักษณะ “ล้อ” กันอยู่พอสมควร
อาการรำลึกความหลังถึงวันชื่นคืนสุขด้วยบทเพลงยุคสงครามเย็น โดยไม่คำนึงถึงบาดแผลของผู้คนอื่นๆ และสังคมในช่วงเวลาเดียวกัน
อาจคล้ายคลึงกับความพยายามของธนาที่จะสานฝันของหมอดูคนเพี้ยนให้เป็นความจริงหรือเข้าใกล้ความจริงมากที่สุด ณ เงื่อนไขปัจจุบัน
โดยในอีกด้านหนึ่ง ก็เป็นธนาเองนั่นแหละ ที่ฉุดกระชากหมอดูซอมซ่อผู้มองชีวิตในแง่บวกออกจากโลกความฝันส่วนตัวอันงดงามและปลอดภัย จนเขามิอาจจะสานฝันได้สำเร็จด้วยตัวเอง
ธนาจึงเป็นทั้งคนที่มีส่วนทำลายความฝันของหมอดู และคนที่พยายามสานต่อความฝันของเขาให้สำเร็จลุล่วง
หนักกว่านั้น ความสัมพันธ์สองแบบข้างต้นยังอาจส่องสะท้อนให้เห็นถึงสายสัมพันธ์สองเหลี่ยมมุมระหว่างธนากับช้างเพื่อนยาก
ซึ่งครั้งหนึ่ง ธนาเคยขายมันทิ้งเพื่อหาเงินเข้ากรุงเทพฯ กระทั่งเวลาผ่านเลยไปหลายปี เขาจึงซื้อเจ้า “ป๊อปอาย” กลับมา แล้วพยายามนำมันหวนคืนบ้านเกิด
เจ็ด
อีกจุดที่เป็นรายละเอียดซึ่งหนังไม่ได้ระบุไว้ชัดๆ แต่ผมทึกทักเอาเองว่าหนังบอกเป็นนัยๆ เอาไว้ ก็คือ ภูมิหลังในเมืองใหญ่ของธนา
เรารู้แค่ว่าธนาน่าจะเป็น “สถาปนิก” รุ่นเก๋า ที่กำลังถึงคราปลดระวาง เขาเป็นเด็กจากเมืองเลยผู้หันหลังให้ครอบครัวและบ้านเกิดอย่างเกือบจะสิ้นเชิง เพื่อเข้ามาแสวงหาโอกาสที่ดีกว่าในกรุงเทพฯ
แต่คนดูไม่รู้ว่าเส้นทางชีวิตในกรุงเทพฯ ของธนา ก่อนจะมารุ่งโรจน์ในบริษัทออกแบบชื่อดังนั้นเป็นอย่างไรบ้าง
มีเพียงคำพูดที่ธนาบอกกับตัวละครบางคนระหว่างเดินทางกลับคืนบ้านเกิดว่า เขาเคย “ทำงานก่อสร้าง” มาก่อน
นั่นทำให้ผมคิดต่อเล่นๆ ว่า ธนาคงไม่ได้เป็นเด็กประเภทเรียนดีมีเงิน แล้วเอ็นทรานซ์ติดคณะสถาปัตย์ ในมหาวิทยาลัยดังทันที เมื่อแรกเข้ากรุงเทพฯ
แต่เขาคงเข้ามาทำงานก่อสร้าง/รับเหมาฯ ในกทม. แล้วค่อยๆ เติบโตจากสายโฟร์แมน หรือเริ่มตั้งต้นเรียนรู้วิชาออกแบบจากการทำงานไป เรียนสายอาชีวะไป ก่อนจะ “ต่อยอด” คุณวุฒิของตนเอง ด้วยประสบการณ์และทุนทรัพย์ที่มีมากขึ้น
หากเป็นอย่างที่ผม “มโน” ก็เป็นไปได้ว่าความขัดแย้งไม่ลงรอยระหว่างธนากับลูกชายเจ้าของบริษัทนั้น อาจไม่ใช่แค่เรื่องความแตกต่างระหว่างวัย แต่มีประเด็นเรื่องความแตกต่างทางชนชั้นแฝงอยู่ด้วย (แม้ธนาจะอัพเกรดตัวเองขึ้นเป็นคนชั้นกลางระดับสูงมานานหลายปีแล้วก็ตาม)
แปด
องค์ประกอบและเรื่องราวปลีกย่อยต่างๆ ในหนัง ได้ค่อยๆ สั่งสมและถ่ายทอดพลังมายังบทสรุปสุดท้ายของ “Pop Aye”
เอาเข้าจริง บทสรุปดังกล่าวเกือบจะออกมา “เลี่ยน” และ “ห้วน” ด้วยซ้ำ
แต่พอเรานำบทสรุปที่ว่าไปประกบกับ “ความจริง” ที่ธนาเพิ่งตระหนักจากการเดินทางกลับบ้าน เราก็จะพบว่าตัวละครรุ่นเขานั้นเคว้งคว้างและน่าจะต้องการสิ่งยึดเหนี่ยวจิตใจมากมายขนาดไหน
อย่างที่เคยเกริ่นไปแล้วว่าธนาเป็นชายที่บกพร่องในแง่ความเป็นสามี (และรวมไปถึงการเป็นหัวหน้าครอบครัว)
เขาคือคนที่พยายามไขว่คว้าหาอดีตอันบริสุทธิ์งดงาม แต่อดีตก็คือ “อดีต” ซึ่งไม่มีทางแนบสนิทกับ “ปัจจุบัน”
เขาคือคนที่พยายามจะยึดกุมช่วงเวลาแห่งความรุ่งโรจน์ในทางวิชาชีพของตนเองเอาไว้ ทว่า กาลเวลาก็ผ่านเลยไปเรื่อยๆ หรือกัดกินตัวเองอยู่ทุกวัน พร้อมๆ กับคลื่นลูกใหม่ที่สาดซัดทับถมเข้ามา
สิ่งท้ายๆ ที่ธนาพยายามยึดเกาะไว้ จึงได้แก่ “อดีต” ที่จวนจะเสื่อมสลายในเมืองใหญ่ แต่ยังไม่สูญสลายหายไปเหมือน “อดีต” ในชนบท
อย่างไรก็ดี แม้แต่ซาก “อดีต” ที่เหลืออยู่อย่างร่อยหรอ ก็จะต้องถูกทุบทำลายทิ้งไปในไม่ช้า แล้วแทนที่ด้วยสิ่งใหม่ ซึ่งตอบโจทย์ผู้คนในสังคมร่วมสมัยได้มากกว่า
มันจึงไม่ใช่เรื่องแปลก หากธนาจะต้องกลับไปหาภรรยาคู่ชีวิตและช้างเพื่อนยาก แล้วยึดเหนี่ยวตนเองกับคนและสัตว์เหล่านั้นเอาไว้ให้แนบแน่นที่สุด ผ่านอารมณ์ความรู้สึก/สายสัมพันธ์ที่ทั้งโรแมนติก ชวนฝัน รำลึกความหลัง และอ้างว้างเดียวดายยิ่งขึ้นเรื่อยๆ
เพราะนั่นคือ “คุณค่าในชีวิต” สองลำดับสุดท้าย ที่หลงเหลืออยู่ของเขา
สรุป
โดยสรุปแล้ว ในภาวะที่สังคมต้องเผชิญหน้ากับปัญหาช่องว่างระหว่างเจเนอเรชั่นมากยิ่งขึ้นเรื่อยๆ ผมรู้สึกว่า “Pop Aye” พยายามจะสนทนากับปัญหาดังกล่าวและ “ตัวละครหลัก” ของปัญหา อย่าง “ผู้สูงอายุ” ผ่านท่าที, น้ำเสียง และกลวิธีที่อ่อนโยน-ละมุนละม่อม-พร้อมจะทำความเข้าใจในมุมมองที่แตกต่าง แต่ก็ทรงพลังไปพร้อมๆ กัน
ผมจึงเห็นว่าฉาก “ร่วมลงมือ-ออกแรงปิดกระบะท้ายรถบรรทุก/ปิกอัพ” โดยตัวละครสองราย (ธนาและคนอื่นๆ ซึ่งหมุนเวียนเปลี่ยนหน้ากันไป) ที่ถูกนำเสนอซ้ำแล้วซ้ำเล่าในหนัง นั้นมีนัยยะสำคัญอยู่ไม่น้อย