บันทึกถึง Afterimage, Toni Erdmann และ Nocturama

Afterimage (Andrzej Wajda)

Afterimage1

หนังเปิดเทศกาล European Union Film Festival 2017

จะว่าไปแล้ว หนังไม่ได้อยู่ในระดับ “ดีมาก” นอกจากนี้ ไม่แน่ใจด้วยว่าเรื่องราวของหนังที่อิงมาจากชีวิตของคนจริงๆ มันสอดคล้องต้องตรงกับ “เรื่องจริง” ขนาดไหน?

แต่ประเด็นหลักของหนังนั้น “ทรงพลัง” อย่างมาก

หนังเล่าเรื่องราวชีวิตของ Władysław Strzemiński จิตรกรเอกแนวอาวองการ์ด ที่ช่วงชีวิตของเขาดำเนินไปท่ามกลางการปฏิวัติรัสเซีย-สงครามโลก-สงครามเย็น

หนังแสดงให้เห็นวิธีคิดที่เปลี่ยนแปลงของ Strzemiński จากการเป็นศิลปินที่เลือกทำงานรับใช้ระบอบการเมือง (สหภาพโซเวียต) มาสู่การเป็นครูสอนศิลปะที่เชื่อว่าศิลปะกับการเมืองควรมีระยะห่างจากกัน

แต่ความเชื่อแบบหลังซึ่งดูเหมือนเป็นความพยายามที่จะไม่ยุ่งเกี่ยวกับเรื่องการเมืองของเขา กลับนำไปสู่ความขัดแย้งในทางการเมือง เพราะต่อมารัฐบาลคอมมิวนิสต์โปแลนด์ต้องการให้ศิลปินและโรงเรียนศิลปะผลิตงานที่รับใช้ระบอบการเมืองของตน

เมื่อ Strzemiński และกลุ่มลูกศิษย์เห็นค้านกับนโยบายดังกล่าว พวกเขาจึงโดนกลั่นแกล้งต่างๆ นานา

afterimage_01

ผมชอบที่หนังฉายภาพให้เห็นว่าเมื่อรัฐต้องการจะกลั่นแกล้งคน (ที่ต่อต้าน/มีความเชื่อต่างจากรัฐ) อย่างหนักหน่วงไปจนสุดทาง (โดยไม่ต้องลงมือฆ่าเขาตรงๆ) รัฐจะลงมือทำเรื่องดังกล่าวด้วยวิธีการแบบไหนได้บ้าง

หนังค่อยๆ เปิดเผยภาวะที่ Strzemiński ถูกกระทำจากรัฐอย่างหนักข้อขึ้นเรื่อยๆ ก่อนที่เรื่องราวทั้งหมดจะปิดฉากลงอย่างไร้ซึ่งความหวัง

อย่างไรก็ดี อีกจุดหนึ่ง ซึ่งผมชอบในหนังเรื่องนี้ คือ หนังไม่ได้นำเสนอแต่ภาพลักษณ์ความเป็น “ขบถทางการเมือง” (ด้านบวก) ของ Strzemiński เพียงองค์ประกอบเดียว

แต่หนังยังฉายภาพความเป็นพ่อและผัวที่ไม่ค่อยได้เรื่องนัก (ด้านลบ) ของเขา

น่าคิดว่าถ้ารัฐที่เข้มแข็ง (หรืออาจรวมถึงรัฐเผด็จการ) มีความหมายเชื่อมโยงกับการมีผู้นำเป็นมหาบุรุษผู้แข็งแกร่ง การดำเนินชีวิตในฐานะ “ผู้ (ไม่) นำครอบครัว” ของตัวละคร Strzemiński ในหนัง ก็นับเป็นการปฏิเสธคุณลักษณะดังกล่าวของรัฐอย่างถึงขีดสุดเช่นกัน

Toni Erdmann (Maren Ade)

Toni-Erdmann-Banner

เป็นหนังที่โด่งดังมากๆ ตามเทศกาลภาพยนตร์ทั่วโลกเมื่อปี 2016 แต่เพิ่งมาได้ดูจากสัปดาห์ภาพยนตร์เยอรมัน 2017

หนังสนุกสนานและตลกมากๆ สมคำร่ำลือจริงๆ

ระหว่างดูหนังเรื่องนี้ ผมดันไปนึกถึงไอเดียเรื่อง carnivalesque ของ Mikhail Bakhtin

โอเคไอเดียหลักๆ มันก็คงเป็นเรื่องการสร้างโลกของการมีเสียงหัวเราะ/อารมณ์ขันขึ้นมา เพื่อท้าทาย/ผ่อนคลายอำนาจของโลกที่ซีเรียสจริงจัง (ตั้งแต่ยุคศาสนจักรเรืองอำนาจมาถึงยุคทุนนิยมโลกาภิวัตน์)

แต่จริงๆ ถ้าใครได้อ่านหนังสือ “Rabelais and His World” (ผมอ่านไปแบบงูๆ ปลาๆ) ก็จะพบว่ามันมีอีกหลายองค์ประกอบใน Toni Erdmann ที่สอดคล้องลงรอยกันได้ดีกับสิ่งที่ Bakhtin เสนอ

แน่นอนว่าจุดที่พีคสุดในหนัง คือ ฉาก “ปาร์ตี้เปลือย” ที่ด้านหนึ่ง มันแสดงให้เห็นว่าพอปลดเปลื้องอะไรออกหมดเหลือเพียงร่างกายเปลือยเปล่า ทั้งบอสและลูกน้องในองค์กรธุรกิจทุนนิยมมันก็มีสถานะเท่ากัน

แต่ในมุมของ Bakhtin การโป๊เปลือยในเทศกาลรื่นเริง ซึ่งแลดูเป็นการโชว์ของ “ต่ำ” ยังหมายถึงการ “เปิด” และ “เชื่อมโยง” ชีวิต/ชุมชน (พื้นบ้านอันรื่นเริงสนุกสนาน) ของสามัญชนเข้าหากัน รวมถึงเป็นการเชื่อมโยงมนุษย์เข้ากับโลก

เช่นเดียวกับแนวคิดเรื่อง “grotesque body” (ซึ่งผมคิดว่าการปลอมตัวเป็นสัตว์ประหลาดยักษ์ที่เต็มไปด้วยขนของลุง Toni นั้นเข้าข่ายนี้) ที่ซ่อนนัยยะความหมายทำนองเดียวกันกับการเผยร่างกายอันเปล่าเปลือย

การเปิดเปลือยเรือนร่างของมนุษย์ก็ดี การแสดงให้เห็นถึง “ร่างกายอันแปลกประหลาดใหญ่โตเกินธรรมชาติ” ก็ดี ล้วนบ่งชี้ถึงศักยภาพและโอกาส (ในการสร้างเสียงหัวเราะล้อเลียน) ของสามัญชน ที่สามารถขยายขอบเขตและเชื่อมโยงต่อเนื่องกันไปได้เรื่อยๆ โดยไร้จุดสิ้นสุด

toni-erdmann-2

ที่สำคัญ ภาวะไร้ขอบเขตหรือไร้จุดสิ้นสุดเช่นนั้นยังผูกโยงอยู่กับวงจรชีวิตของมนุษย์ที่มีทั้งเกิดและดับ เสื่อมสูญและรุ่งโรจน์ เป็นนิรันดร์ จะเห็นได้ว่าหนัง Toni Erdmann ก็พูดถึงประเด็นทำนองนี้เอาไว้ ผ่านการตายของคุณย่าและสุนัขชรา และการเริ่มต้นชีวิตเฟสใหม่ของอิเนส

อย่างไรก็ดี ต้องยอมรับว่าในอีกมุมหนึ่ง ศักยภาพอันไร้ขีดจำกัด (และก้าวข้ามการเกิด-ดับของชีวิต) ในการสร้างเสียงหัวเราะหรืออารมณ์ขันให้แก่มนุษย์ธรรมดาสามัญ นั้นก็มีสถานะเป็นโลกเฉพาะ โลกของภาวะกลับหัวกลับหาง ที่ไม่ได้ดำรงอยู่ตลอดเวลา

แต่มันเป็นภาวะชั่วครั้งชั่วครู่ (ในแต่ละปี) ที่เปิดโอกาสให้เราได้ท้าทายอำนาจอันซีเรียสจริงจัง หรือเป็นช่องทางผ่อนคลาย/รูระบายความตึงเครียดจากภาวะความสัมพันธ์ทางอำนาจดังกล่าว

หรือในทางกลับกัน มันอาจกลายเป็นแหล่งชาร์จพลังให้เราสามารถหวนกลับไปเคร่งเครียดในโลกของความเป็นทางการ (อันไร้เสียงหัวเราะ) ได้อีกครั้งหนึ่ง อย่างกระปรี้กระเปร่า

อย่างไรก็ตาม ต้องยอมรับว่าหนังเยอรมันเรื่องนี้ไม่ได้พูดแค่เรื่องการสร้างอารมณ์ขัน/เสียงหัวเราะขึ้นมาต่อสู้คัดง้างหรือประคับประคองโลกของการทำงานอันเคร่งเครียดจริงจัง แต่มันกล่าวถึงอารมณ์ความรู้สึกในแง่อื่นๆ ด้วย

เช่น ฉากอิเนสกอดพ่อในร่างตัวประหลาดกลางสวนสาธารณะ ที่ทำเอาคนดูจำนวนมากถึงกับร้องห่มร้องไห้หรือน้ำตารื้นกันเลยทีเดียว

Nocturama (Bertrand Bonello)

nocturama-paris-is-happening-poster

ได้ดูจาก European Union Film Festival 2017 เช่นกัน

หนังสนุกมาก โดยเฉพาะตอนช่วงท้ายๆ ที่ทำเอาลุ้นถึงขีดสุด (เพราะความโหดเหี้ยมและเลือดเย็นมากๆ ของมัน) แม้จะรู้ว่าถึงจะลุ้นจะเอาใจช่วยกลุ่มตัวละครหลักแค่ไหน มันก็คงไม่ค่อยมีความหวัง

แต่จริงๆ โดยส่วนตัว ผมยังรู้สึกมีปัญหากับการตัดสินใจและวิถีชีวิตหลังก่อการของกลุ่มตัวละครในหนังเรื่องนี้อยู่พอสมควร เพราะรู้สึกว่าการเลือกไปอยู่ตรงมุมอับอย่างนั้น มันอาจทรงพลังในแง่สัญลักษณ์ หรือน่าสนใจในเชิงโครงสร้างของเรื่องเล่า แต่มนุษย์ปกติควรตัดสินใจอย่างนั้นไหม? อันนี้เป็นคำถามที่ไม่แน่ใจในคำตอบมากนัก

อย่างไรก็ดี ในแง่ความหมายที่ซ่อนนัยให้ตีความต่อ การท้าทายรัฐ/ระบบทุนนิยมอย่างสุดขั้ว แล้วหลบเข้าไปซ่อนตัวในห้างสรรพสินค้า นี่มันเวิร์ค/ตรงเป้าเลย

ด้านหนึ่ง นี่อาจแสดงให้เห็นถึงอำนาจ/พื้นที่ของระบบเศรษฐกิจการเมืองอันไพศาล ที่อย่างไรเสีย เราก็หลีกหนีมันไม่พ้น

อีกด้าน ทำให้นึกถึงงานของ Henri Lefebrve นักสังคมวิทยาชาวฝรั่งเศสอยู่รางๆ

จำได้ว่า Lefebrve เคยเสนอไว้ทำนองว่า ระบบทุนนิยมได้แผ่อำนาจเข้ามาครอบงำวิถีชีวิตประจำวันของมนุษย์ทุกกลุ่มทุกชนชั้น (อันนี้ทำให้นึกถึงบรรดาตัวละครหลักใน Nocturama ที่มีตั้งแต่พนักงานออฟฟิศ หนุ่มสาวนักศึกษา รปภ.หนุ่ม หนุ่มสาวเชื้อสายอาหรับ เด็กวัยรุ่นผิวดำ เรื่อยไปจนถึงลุงป้าคนไร้บ้าน) ให้กลายเป็นพื้นที่แห่งการบริโภค

พื้นที่ของการใช้ชีวิตประจำวันแบบนี้ได้ช่วยหล่อเลี้ยงและผลิตซ้ำระบบทุนนิยมให้ดำเนินต่อไปได้เรื่อยๆ จนกว่าจะมีผู้ลุกขึ้นมากระทำการปฏิวัติต่อวิถีชีวิตประจำวันดังกล่าว

Nocturama

แต่กลุ่มคนหนุ่มสาวใน Nocturama ก็คล้ายจะไม่ได้มุ่งปฏิวัติวิถีชีวิตประจำวันอย่างถอนรากถอนโคนเสียทีเดียว เพราะพวกเขาไม่ได้เข้ามาทำลายล้างห้างสรรพสินค้าที่พวกตนใช้หลบซ่อนตัว มิหนำซ้ำ ยังมีความสุขเพลิดเพลินกับสินค้าหรูหราในห้างเสียด้วย

อีกจุดหนึ่ง ซึ่งทำให้ผมคิดต่อจาก Lefebrve คือเขาเคยเสนอไอเดียเรื่อง The Bureaucratic Society of Controlled Consumption ที่ว่าวิถีชีวิตประจำวันและ “ความต้องการ” ของมนุษย์ยุคใหม่จะถูกควบคุมกำหนดโดยอำนาจเบ็ดเสร็จของสังคมแบบอุตสาหกรรม

จากไอเดียของ Lefebrve คล้ายกับว่าระบบทุนนิยม/การผลิตสินค้าแบบอุตสาหกรรม จะสามารถกลายสภาพเป็นอำนาจเผด็จการเบ็ดเสร็จได้ด้วยตัวเอง แต่เราจะมองไม่เห็นภาพว่าระบบเศรษฐกิจ/การผลิต/การบริโภคดังกล่าว จะทำงานสอดคล้องกับอำนาจรัฐราชการอันเด็ดขาดได้อย่างไร?

ผมรู้สึกว่าช่วงสุดท้ายของ Nocturama สามารถแสดงภาพความร่วมมือที่ว่าได้เป็นอย่างดี

อีกส่วนหนึ่งที่ผมชอบมากในหนัง ก็คือ บรรดาฉาก “เหลื่อม” เวลาช่วงเดียวกัน ภายใต้สถานการณ์ที่แตกต่างกัน ซึ่งปรากฏตรงช่วงต้นกับท้ายเรื่อง

นี่เป็นเหมือนการท้าทายแนวคิดเรื่อง “สุญกาลสหมิติ” อยู่พอสมควร

Leave a Reply

Fill in your details below or click an icon to log in:

WordPress.com Logo

You are commenting using your WordPress.com account. Log Out /  Change )

Facebook photo

You are commenting using your Facebook account. Log Out /  Change )

Connecting to %s

This site uses Akismet to reduce spam. Learn how your comment data is processed.