ประเด็นเล็กๆ จากหนัง 4 เรื่อง ที่ได้ดูช่วงปลาย เม.ย. 60

หมายเหตุ นี่ไม่ใช่การรีวิวหรือบทความที่วิเคราะห์-วิจารณ์หนังอย่างรอบด้านจริงจังนะครับ เพียงแต่ระหว่างวันที่ 22-29 เมษายน มีโอกาสได้ดูหนังอยู่สี่เรื่อง และพบว่าแต่ละเรื่องมี “จุดเล็กๆ” บางอย่าง ที่ตัวเองสนใจและติดใจเป็นพิเศษ ทว่า ยังไม่สามารถขยาย “จุดเล็กๆ” เหล่านั้น ให้กลายเป็นบทความที่เขียนถึงหนังแต่ละเรื่องโดยมีเนื้อหาขนาดยาวๆ ได้เหมือนงานชิ้นก่อนๆ

เลยตัดสินใจ มาเขียนถึงหนังทั้งสี่เรื่องรวมกัน ณ ที่นี้

Apprentice (บูจุนเฟิง)

Apprentice-Poster.ai

ข้อนึงที่รู้สึกว่าน่าสนใจดี คือ มันเป็นหนังที่ไม่วอกแวกเลย เหมือนจะเล่าประเด็นหลักอะไรก็มุ่งหน้าไปสู่ประเด็นนั้น ไม่แวะข้างทางให้วุ่นวายออกนอกเรื่อง (เราเลยไม่เห็นชีวิตด้านอื่นๆ ของตัวละคร เช่น ชีวิตรัก/ครอบครัวของพระเอกและลุงเพชฌฆาต รวมถึงชีวิตย่าพระเอก ที่ถูกกล่าวถึงผ่านบทสนทนา)

อีกข้อที่มาคิดต่อเอาเองหลังจากได้ดูหนังสิงคโปร์เรื่องนี้ ก็คือ ประเด็นหลักที่หนังต้องการพูดน่าจะเป็นเรื่องที่ “รัฐ” มันค่อยๆ ตบ/เกลา “พลเมือง” ในสังคม ให้ดำเนินชีวิตไปในรูปรอยของ “วินัย” ที่รัฐอยากให้เป็น

พระเอกไม่ได้ถูกขังในคุก ซึ่งเป็นสถานที่ที่เข้มงวดกวดขันทางด้านวินัยอย่างสูงสุด แต่ความคิด/การดำรงชีวิตของเขาก็ถูกตีกรอบโดยรัฐ พระเอก่จึงพยายามทุกทางที่จะไม่เผลอผลักให้ชีวิตของตนเองตกลงไปในหลุมดำแบบเดียวกับพ่อของเขา ที่กลายเป็น “พลเมืองแย่ๆ” ผู้สมควรถูกกำจัดทิ้ง จนในที่สุด เขาเลยกลายเป็น “อีกด้าน” ของพ่อตัวเองอย่างสิ้นเชิง ทั้งในแง่ที่เคยเป็นทหาร ก่อนมาเป็นผู้คุม และเป็นเพชฌฆาตในช่วงท้าย

การที่พระเอกอยู่ในขั้วตรงข้ามกับพ่อบังเกิดเกล้าได้ขนาดนี้ มันชี้ให้เห็นว่าอำนาจของรัฐ (ครอบครัวแห่งชาติ) ที่ทำงานในหัวคน ที่กำหนดรูปแบบวินัยในชีวิตคน นั้นทรงประสิทธิภาพเพียงใด

In the Flesh (ก้อง พาหุรักษ์)

intheflesh

โอเค คงคล้ายๆ กับหลายคนที่รู้สึกว่าหนังมันยัง “ไม่ถึงพร้อม” ทั้งๆ ที่ “สาร” หรือ “ประเด็น” ที่มันอยากสื่อออกมานั้นน่าสนใจมากๆ อยู่

ผมไม่แน่ใจด้วยว่าปัญหาของหนังมาจากเรื่องโปรดักชั่น/งบประมาณจริงหรือไม่? แต่เหมือนมันมี “ม่านบางๆ” บางอย่าง ที่กั้นคนดูเอาไว้ไม่ให้ “อิน” กับโลกเฉพาะ/สังคมจำลองของหนังถึงขีดสุด

หนังสั้นไทยจำนวนมากก็มีโปรดักชั่นหรือเลือกใช้สถานที่ถ่ายทำบ้านๆ แบบ In the Flesh แต่ก็มีหลายเรื่องที่สามารถชักจูงคนดูให้หลุดเข้าไปในโลกเฉพาะที่หนังสร้างขึ้นมาได้

ไปๆ มาๆ ผมรู้สึกว่าไอ้พวกกฎเกณฑ์ ระบบตรรกะ หรือรูปแบบความสัมพันธ์ทางอำนาจในโลกเฉพาะ/สังคมจำลองใน In the Flesh ต่างหาก ที่อาจเป็นอีกหนึ่งจุดอ่อนของหนัง เนื่องจากมัน “ง่าย” “ทื่อ” และ “ซับซ้อน” น้อยเกินไป (“ทหาร” เหมือนเป็น “กระสอบทราย” ให้คนทำหนังมาวิพากษ์เล่นไปหัวเราะใส่หน้าไป) ซึ่งพอรู้ว่าหนังเริ่มกระบวนการสร้างและถ่ายทำไปแล้วประมาณ 60 เปอร์เซ็นต์ ตั้งแต่เมื่อราวห้าปีก่อน เลยพอเข้าใจที่มาของ “ความง่าย” และ “การลดทอนความซับซ้อน” เหล่านั้น (ลองนึกถึงพวกงานศิลปะแขนงต่างๆ ที่โปรประชาธิปไตยหลังปี 2553-54 ดูก็ได้)

แน่นอนว่า สภาพการณ์ปัจจุบันของโลกข้างนอกหนัง มัน “พัฒนา?” ไปไกล มันน่าเศร้า มันสู้ด้วยยากขึ้น และมันเต็มไปด้วยเหลี่ยมมุมมากกว่านั้นเยอะ

หรือปัญหาจะเกิดจากเรื่องการแสดง? อันนี้ไม่แน่ใจเหมือนกัน

อีกประเด็นที่นึกแว้บๆ ขึ้นมาขณะดูหนังเรื่องนี้ คือ ถ้าเอานิยายของ “ทินกร หุตางกูร” มาทำหนัง มันน่าจะเป็นแนวๆ In the Flesh นี่แหละ และบางที มันอาจพบเจอปัญหาคล้ายๆ กัน

อย่างไรก็ตาม ผมชอบบางองค์ประกอบของหนัง เช่น ชอบวิธีการฆ่าตัวละครหลักๆ ช่วงท้ายเรื่อง หรือชอบประเด็นซ่อนๆ ที่เหมือนหนังจะพยายามนำเสนอว่าไม่ว่าคุณจะมาจากชนชั้นไหน (คนชั้นกลางระดับบนๆ หน่อยหรือคนชั้นกลางระดับล่าง) ถ้าคุณไม่ใช่อีลิทจริงๆ คุณก็โดนรัฐกดทับข่มขู่ทั้งนั้นแหละ

แล้วก็มีจุดหนึ่งซึ่งน่าสนใจดี และเหมือนจะเป็น “ข้อเสนอด้านกลับ” ที่ถกเถียงกับ Apprentice

กล่าวคือ ขณะที่หนังสิงคโปร์มันเสนอว่าอำนาจของรัฐนั้นทรงพลังและแยบคายถึงขนาดเปลี่ยนปัจเจกบุคคล ให้กลายเป็น “ลูกที่ดีของรัฐ” แต่ไม่ใช่ “ลูกที่เดินตามรอยพ่อแท้ๆ ของตัวเอง”

หนังของก้องกลับตั้งข้อสังเกตอีกแบบ ถึงลูกสาวที่ค่อยๆ กลายสภาพเปลี่ยนเป็น “แม่ของตัวเอง” โดยทั้งเธอและแม่ต่างก็ตกอยู่ภายใต้อำนาจอิทธิพลของรัฐในโลกเฉพาะ และไม่มีทางจะหนีหายไปสู่โลกอื่นที่ดีกว่า หรือกล่าวอีกอย่าง คือ พวกเธอต่างเป็น “ลูกที่ดีของรัฐ” ด้วยกันทั้งคู่

I Am Not Madame Bovary (เฝิงเสี่ยวกัง)

Bovary_Poster_1200x750

เรื่องเฟรมภาพแปลกตา ภาพชนบทในเฟรมวงกลม ภาพเมืองในเฟรมสี่เหลี่ยมจัตุรัส และสัดส่วนภาพ 16:9 ในตอนท้าย คิดว่าคนที่อธิบายได้ดีมากๆ คือ คุณรัชฏ์ภูมิ บุญบัญชาโชค (อ่านได้ที่นี่)

แต่มีประเด็นหนึ่งในหนังที่ผมรู้สึกเอะใจเป็นพิเศษ (เป็นเรื่องปลีกย่อยจากการวิพากษ์ระบบราชการของจีนอีกที) ก็คือ สถานะของ “ศาล” ในการเมืองจีน

ถ้าดูจากหนังเราจะพบว่า “ศาล” หรือ “ผู้พิพากษา” คล้ายจะอยู่อันเดอร์ (หรือเป็นเพียงองค์ประกอบหนึ่งของ) ฝ่ายการเมือง/ข้าราชการประจำ ดังจะเห็นได้ว่าตั้งแต่นายกเทศมนตรีไล่ไปถึงนายอำเภอ สามารถสั่งหรือขู่ “ศาล” ได้หมด (ในแง่นี้ มันเลยดันไปคล้ายกับศาลไคฟง 555)

ซึ่งเอาเข้าจริง นี่เป็นโครงสร้างที่แปลกอยู่ เพราะเรามักจะคุ้นเคยกับอำนาจสามเส้าที่แบ่งแยกกันระหว่าง “บริหาร-นิติบัญญัติ-ตุลาการ” (จะมีจริงหรือเปล่า -สำหรับในบางประเทศ- เป็นอีกเรื่องหนึ่ง)

มันเลยจะมีภาพแปลกตา เช่น ผู้พิพากษารุ่นเด็กขี่มอเตอร์ไซค์ไปสอพลอนายอำเภออะไรอย่างงี้ ซึ่งในสังคมที่เรียกผู้พิพากษาว่า “ท่าน” นั้น มันจะนึกถึงกระบวนการแบบนี้ไม่ค่อยออก

Ho Chi Minh in Siam (Bui Tuan Dung)

hoinsiam

จริงๆ นี่เป็นหนังที่อยากดูมานาน แต่พอไปดูจริงๆ กลับไม่สนุกกับมัน มีวูบหลับอีกต่างหาก (เป็นหนังโรงเรื่องแรกของปีนี้เลยมั้ง ที่ผมเผลอหลับขณะดู)

ปัญหาหลักคงมาจากวัฒนธรรมทางการเมืองชนิดหนึ่ง ที่พอต้องพูดถึงตัวละครทางการเมือง/ประวัุติศาสตร์ในระดับ “บิดาประเทศ” แล้ว มันต้องผ่านกระบวนการที่จะส่งผลให้คนเหล่านั้นบริสุทธิ์ ผุดผ่อง ดีงาม วิเศษ แต่แบนและไม่เป็นมนุษย์

แล้วความน่าเบื่อตรงนั้น และภาษาภาพยนตร์อย่างการนำ “ดินจากบ้านเกิด” มาต่างแดนเพื่อรำลึกถึงมาตุภูมิ ผนวกกับฉากบู๊และฉากตลกที่ “ไม่ดี” ก็ทำให้หนังมีภาพรวมที่แย่หนักขึ้น

แต่มี “จุดเล็กๆ” ที่น่าสนใจอยู่ คือ การนำเสนอท่าทีของรัฐบาลสยามต่อพรรคคอมมิวนิสต์เวียดนามในหนัง ซึ่งเป็นอะไรที่ “บวก” เอามากๆ

เช่น ตัวละครนายอำเภอที่พิจิตร ซึ่งพูดกับสายลับของรัฐบาลฝรั่งเศสที่เป็นคนเวียดนามว่า สยามเปิดกว้างและให้เสรีภาพต่อความเชื่อทางการเมืองทุกประเภท

นอกจากนี้ มีประเด็นหนึ่งซึ่งหนังยกขึ้นมา คือ รัฐบาลสยามค่อนข้างเปิดให้พรรคคอมมิวนิสต์เวียดนามเข้ามาเคลื่อนไหวในประเทศได้ ส่วนหนึ่งเพราะสยามเองก็ขัดแย้งกันกับฝรั่งเศส

ผมไม่รู้ประวัติศาสตร์ส่วนนี้เท่าไหร่นัก เลยไม่แน่ใจว่า ยุคนั้น รัฐบาลสยามประเมินพรรคคอมมิวนิสต์เวียดนามอย่างไรกันแน่? ประเมินแบบที่หนังเรื่องนี้บอก หรือประเมินเป็นอย่างอื่น?

และอะไรบ้างคือปัจจัยที่ผลักดันให้สยาม “เปิดโอกาส” ให้สมาชิกพรรคคอมมิวนิสต์เวียดนามเข้ามาเคลื่อนไหวในเขตแดนของตนเอง?

Leave a Reply

Fill in your details below or click an icon to log in:

WordPress.com Logo

You are commenting using your WordPress.com account. Log Out /  Change )

Twitter picture

You are commenting using your Twitter account. Log Out /  Change )

Facebook photo

You are commenting using your Facebook account. Log Out /  Change )

Connecting to %s

This site uses Akismet to reduce spam. Learn how your comment data is processed.