เก็บตก “โมเดิร์นด็อก 22”

(ปรับปรุงจากบทความในมติชนสุดสัปดาห์ ฉบับประจำวันที่ 24-30 มีนาคม 2560)

“โมเดิร์นด็อก 22” เป็นคอนเสิร์ตครบรอบ 22 ปี ของวงดนตรีคณะ “โมเดิร์นด็อก” ซึ่งจัดขึ้นเมื่อวันที่ 18 มีนาคมที่ผ่านมา ณ อิมแพ็ค อารีน่า เมืองทองธานี

หลังชมคอนเสิร์ตใหญ่ครั้งล่าสุดของวงดนตรีผู้ร่วมบุกเบิกกระแส “อัลเทอร์เนทีฟไทย” เมื่อปี 2537 จบลง ในระยะเวลาร่วม 3 ชั่วโมง พร้อมกับจำนวนเพลง 30 เพลง

ผมบันทึกความคิดเห็นออกมาเป็นข้อๆ ดังนี้  

IMG_1635

หนึ่ง นี่เป็นคอนเสิร์ต (ไทย) ที่น่าประทับใจมาก เพราะความกลมกล่อมลงตัวของแทบทุกองค์ประกอบ

ทั้งการแสดงดนตรีบนเวทีที่ “ดี” การเลือกเพลงมาเล่นได้ “เจ๋ง” รวมไปถึงงานวิช่วล กราฟิก อันเป็นฉากหลัง ที่แพรวพราวน่าสนใจ โดย “ไม่ทำตัวรกรุงรังรบกวนโชว์หลัก” หรือ “ไม่ทำตัวราบเรียบจำเจ” จนผู้ชมรู้สึกว่าจะมีหรือไม่มีก็ได้

ขณะเดียวกัน อารมณ์ตอบสนองของคนดูเรือนหมื่น ก็ส่งผลให้คอนเสิร์ตมีบรรยากาศสนุกสนานกินใจ ถึงแม้จำนวนผู้ชมอาจไม่เต็มความจุของฮอลล์เสียทีเดียว (มีที่ว่างตรงโซนนั่ง) แต่คนที่ตีตั๋วเข้ามาชม (โดยเฉพาะในโซนยืน) ก็สามารถรับ-ส่ง “พลัง” กับ “โมเดิร์นด็อก” บนเวทีได้เป็นอย่างดี

บางคนอาจเห็นว่า “โมเดิร์นด็อก 22” เป็น “คอนเสิร์ตที่ดี” เพราะนี่คือการแสดงสดที่ย้อนกลับไปให้ความสำคัญกับเรื่อง “เพลง/ดนตรี” เป็นหลัก

อย่างไรก็ดี ผมกลับไม่ค่อยเห็นด้วยกับความเห็นทำนองนั้นเสียทีเดียว เพราะส่วนตัวรู้สึกว่า “โมเดิร์นด็อก” และทีมงานของพวกเขา คิดคำนึงถึงรายละเอียดอะไรหลายอย่าง ที่มากกว่าเรื่อง “เพลง/ดนตรี”

อาทิ ประเด็นเรื่องแสง วิช่วล กราฟิก และโปรดักชั่นประกอบดนตรี ซึ่งคอนเสิร์ตครั้งนี้เปิดฉากบรรเลงเพลงแรกในบรรยากาศสว่างแจ้ง โดยที่จอภาพสีขาวด้านหลังนั้นปราศจากฟังก์ชั่นใดๆ

ในเพลงต่อมา ฮอลล์จึงค่อยๆ มืดลง ภาพประกอบด้านหลังเริ่มทำงานผ่านจอหนังกลางแปลง ก่อนที่งานภาพประกอบด้วยเทคนิคขั้นสูง และโปรดักชั่นแวดล้อมต่างๆ ที่ไม่เกี่ยวข้องกับดนตรีโดยตรง จะถูกประเคนออกมาแบบจัดเต็ม

หรืองานขายสินค้าที่ระลึกหน้าฮอลล์คอนเสิร์ต ก็ถูกจัดระบบระเบียบไว้อย่างละเอียดลออมิใช่น้อย เพื่อรองรับผู้บริโภคหลักพันหลักหมื่นคน

จนต้องยอมรับว่า “โมเดิร์นด็อก” และทีมงาน ทำงานในเรื่องนี้หนักพอสมควร เมื่อพิจารณาว่าตัววงดนตรีซึ่งกำลังจะเปิดโชว์ ไม่ได้สังกัดค่ายใหญ่ใดๆ และไม่มีหน่วยงานองค์กรมารับผิดชอบงานขายสินค้าเชิงพาณิชย์ดังกล่าวอย่างจริงจัง

ดังนั้น เราคงไม่สามารถพูดได้เต็มปากเต็มคำนักว่า “โมเดิร์นด็อก 22” คือ คอนเสิร์ตที่เน้นเรื่องดนตรีแบบ “เพียวๆ”

IMG_1637

สอง อย่างไรก็ตาม ต้องยอมรับว่างานด้านดนตรี คือ จุดเด่นสุดของคอนเสิร์ตครั้งนี้ โดยเฉพาะการคัดเลือกเพลงมาโชว์บนเวที

ตลอดเวลาเกินกว่าสองทศวรรษที่ผ่านมา “โมเดิร์นด็อก” ผลิตสตูดิโออัลบั้มรวมทั้งหมด 6 ชุด บวกด้วยซิงเกิลอื่นๆ อีกพอสมควร เท่ากับว่าพวกเขามีเพลงของตนเองประมาณ 70 เพลง

การคัดเลือกเพลงมาโชว์ในคอนเสิร์ตใหญ่ฉลอง 22 ปี เพียง 30 เพลง จึงนับเป็นภารกิจท้าทายมิใช่น้อย แต่ “โมเดิร์นด็อก” ก็ทำงานดังกล่าวได้เป็นอย่างดี

คอนเสิร์ตเปิดตัวด้วย “บางสิ่ง” (ถ้าไม่นับช่วงอินโทรที่เล่นเพลง “Very Good”) หนึ่งในเพลงดีจากอัลบั้มชุดแรกของ “โมเดิร์นด็อก” นี่เป็นเพลงเท่ๆ ที่มีคนฟังหลงรักอยู่มิใช่น้อย แต่หลายคนก็คาดไม่ถึงว่าพวกเขาจะเลือกเปิดฉากโชว์ใหญ่ด้วยผลงานที่ไม่จัดเป็น “เพลงเอกระดับเอบวก” เพลงนี้

เก้าเพลงแรกของคอนเสิร์ตจัดเป็น “เพลย์ลิสต์ในฝัน” ของ “เหล่าแฟนพันธุ์แท้โมเดิร์นด็อก” ที่ประกอบด้วยเพลงดีๆ (แต่ไม่ดังถึงขีดสุด) จากแทบทุกอัลบั้ม

ที่สำคัญ ยังรวมถึงเพลงบรรเลงอย่าง “Happiness is …” และเพลงที่ไม่ค่อยถูกนำมาแสดงสดอย่าง “อีสานคลาสสิค” ที่ได้เครื่องดนตรี “ฆ้องมอญ” มาร่วมแจม ด้วยโทนอารมณ์แบบมันๆ ไม่ใช่ซีเรียสจริงจังกับ “ของสูง” หรือ “จารีตประเพณี” อะไรทำนองนั้น

หรือช่วงที่ ธนชัย อุชชิน เมธี น้อยจินดา และ ปวิณ สุวรรณชีพ ข้ามมาเล่นดนตรีแนวอะคูสติกสี่เพลงบนเวทีเล็กใจกลางฮอลล์ก็สามารถสร้างความน่าประทับใจได้ไม่น้อย และอาจทำให้หลายคนย้อนนึกไปถึงคอนเสิร์ต “The Very Common of Moderndog” เมื่อปี 2545

การที่วงดนตรีวงหนึ่งมีอายุยืนยาวกว่าสองทศวรรษ โดยสมาชิกชุดแรกเริ่มเกือบทั้งหมดยังคงเกาะกลุ่มกันได้อย่างเหนียวแน่น และเคยลองผิด ลองถูก หรือทำงานทดลองแนวทางต่างๆ มาด้วยกัน

ย่อมส่งผลให้ “เพลย์ลิสต์” ในคอนเสิร์ต “โมเดิร์นด็อก 22” มีเฉดสีอันหลากหลายและเต็มไปด้วยพลวัต

นี่คือ “คุณสมบัติ” ที่วงดนตรีซึ่งมีเวลารวมตัวกันน้อยกว่านี้ไม่สามารถเทียบเคียงได้

ขณะเดียวกัน แม้วงดนตรีบางคณะอาจมีอายุยืนยาวในหลักหลายทศวรรษ แต่หากพวกเขามุ่งทำงานที่ซ้ำรอยทางเดิมๆ อยู่เรื่อยๆ “เพลย์ลิสต์” บนเวทีคอนเสิร์ตใหญ่ของวงดนตรีเหล่านั้น ก็คงไม่เปี่ยมสีสันเท่ากับของ “โมเดิร์นด็อก”

สาม โดยส่วนตัว มี 2-3 จุดที่ “น่าเสียดาย” ในคอนเสิร์ตหนนี้

“เสียดายแรก” ได้แก่ การไม่มีบางเพลงที่ตัวเองชอบและเชียร์อยู่ใน “เพลย์ลิสต์” ในกรณีของผม มีอยู่ 3 เพลง คือ “คล้าย” (จากอีพี “รูปไม่หล่อ”) “ผ่าน” (จากอัลบั้ม “แดดส่อง”) และ “ดอกไม้บ้าน” (จากอัลบั้ม “ป๊อด/โป้ง/เมธี”)

“เสียดายที่สอง” คือ การไม่มีมือเบสยุคบุกเบิก (ที่ร่วมทำงานในอัลบั้มชุดแรกและชุดที่สาม) ของวงอย่าง “สมอัตถ์ บุณยะรัตเวช” บนเวทีคอนเสิร์ต โดยภาพของสมอัตถ์เพียงปรากฏอยู่ในบางสไลด์โชว์ตรงฉากหลังของเวทีเท่านั้น

“เสียดายสุดท้าย” คือ การที่คอนเสิร์ตมีภาวะ “เสียงหาย” อยู่สองครั้ง ครั้งแรก ตอนบรรเลงเปียโนเพลง “ลึกซึ้ง” ในช่วงที่สามสมาชิกหลักกำลังเดินทางจากเวทีใหญ่ไปยังเวทีอะคูสติก และครั้งที่สอง ตอนที่ธนชัยร้องเนื้อท่อนแรกของเพลง “รูปไม่หล่อ” หลังจากสามสมาชิกหลักเพิ่งเดินทางจากเวทีอะคูสติกกลับมายังเวทีใหญ่

เข้าใจว่าข้อบกพร่องทั้งหมดน่าจะเกิดจากปัญหาทางด้านเทคนิคบางอย่างในช่วง “เปลี่ยนผ่าน” เวที

(ส่วนการที่พี่ป๊อดร้องเพลง “ที่จริงในใจ” ผิด จนต้องเล่นใหม่อีกรอบ ยังถือเป็น “ข้อบกพร่อง” ซึ่งได้รับการแก้ไข จนพออนุโลมให้ได้)

IMG_1644

สี่ ช่วงที่ “ซาบซึ้งสุด” ของคอนเสิร์ตครั้งนี้ ย่อมได้แก่การปรากฏตัวขึ้นของ “แขกรับเชิญ” เพียงรายเดียว นั่นคือ “พราย ปฐมพร ปฐมพร” ผู้เขียนเพลง “…ก่อน” ผลงานสร้างชื่อของ “โมเดิร์นด็อก” ซึ่งเป็นเพลงที่มีส่วนขับเคลื่อนผลักดันความเปลี่ยนแปลงของอุตสาหกรรมเพลงสากลไทยในช่วงปลายทศวรรษ 2530-ก่อนวิกฤตเศรษฐกิจ 2540 อย่างสำคัญ

ตรงกันข้ามกับความโด่งดังในวงกว้างของเพลง “…ก่อน” “พราย ปฐมพร ปฐมพร” กลับเป็นศิลปินที่ได้รับการยอมรับอยู่ในหมู่แฟนเพลง-เพื่อนร่วมวงการเฉพาะกลุ่ม

การออกมาร่ำร้องบทเพลงและกระโดดโลดเต้นต่อหน้าผู้ชมนับหมื่นของ “พราย” เมื่อวันที่ 18 มีนาคม จึงน่าจะเป็นการทำงานที่ “แมส” ที่สุดครั้งหนึ่งในชีวิตของเขา (นอกจากการแต่งเพลง “…ก่อน”)

และการ “กล่าวคำขอบคุณสามเส้า” เมื่อ “โมเดิร์นด็อก” ขอบคุณ “พราย” “พราย” ขอบคุณ “โมเดิร์นด็อก” ก่อนที่ทั้งสองฝ่ายจะขอบคุณ “แฟนเพลง/คนดู” ร่วมกัน ก็ก่อให้เกิดคลื่นพลังมหาศาลในอิมแพ็ค อารีน่า

นอกจากนี้ ถ้าเรานับว่า “การ (ลงสี) คาดหน้า” อันเป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัวของ “พราย” นั้นคือ “การสวมใส่หน้ากาก” ประเภทหนึ่ง “พราย ปฐมพร ปฐมพร” ก็อาจถือเป็น “The Mask Singer/Songwriter” ผู้มาก่อนกาล

น่าสนใจว่าด้วยเงื่อนไขอะไรหลายๆ อย่าง (รวมทั้งความพึงพอใจของเจ้าตัวเอง) “พราย” ได้เลือกที่จะดำรงตนอยู่ “ภายใต้หน้ากาก” มาจนถึงปัจจุบัน

วิถีแห่งการ “ปลีกตัวเอง” หรือชะตากรรมอัน “แปลกประหลาด” ในแวดวงดนตรีของ “พราย” ก็ไม่ต่างอะไรกับสถานะ “ที่น่าพิศวง” ในยุคเมืองไทย 4.0 ของเพลง “…ก่อน”

เพราะใครจะไปคาดคิดว่า เพลงที่ฮิตที่สุดของ “โมเดิร์นด็อก” เพลงนี้ กลับเป็นเพลงที่ “ไม่มีตัวตน” อยู่ในระบบสตรีมมิ่งใดๆ

ห้า คอนเสิร์ต “โมเดิร์นด็อก 22” ยังมีบรรยากาศแบบเป็นกันเอง ซึ่งช่วยเฉลยคำตอบให้คนดูได้รับรู้ในบางสิ่งที่พวกเขาไม่เคยรู้มาก่อน

ยกตัวอย่างเช่น ที่มาของเพลง “มา” ซิงเกิลที่ไม่ถูกบรรจุอยู่ในอัลบั้มเต็มชุดไหน ซึ่งหลายคนรวมทั้งผมเคยเข้าใจว่าธนชัยน่าจะเขียนเพลงนี้ เพื่อสื่อถึงแง่มุมงดงามของการ “มีลูก” หรือ “มีครอบครัว”

แต่ในคอนเสิร์ต เจ้าตัวกลับแจงว่าเขาเขียนเพลงนี้ให้ “พระพุทธเจ้า” โดยไม่ได้อธิบายเหตุผลเพิ่มเติมมากกว่านั้น

หรือเพลง “โอน้อยออก” ในอัลบั้มเต็มชุดล่าสุด ซึ่งหลายคนงุนงงกับเนื้อหาที่ค่อนข้างเป็นรูปธรรมเปิดกว้างแก่การตีความ เช่น “โปรดบอกกันให้รู้ความจริง บอกมาได้เลยทุกสิ่ง ถ้าเธอมองเห็นมันตำตา ถ้าหากสิ่งที่ฉันเคี้ยวลงไป มองเห็นสีเขียวภายใน ที่มันยังค้างคา…”

บางคนพากันขบคิดอย่างยุ่งเหยิงว่า “สีเขียวภายใน” นั้นหมายถึงอะไรกันแน่? แต่คำอธิบายของธนชัยบนเวทีคอนเสิร์ตใหญ่กลับเรียบง่ายกว่านั้น เพราะสำหรับผู้แต่ง นี่คือเพลงที่พูดเรื่องธรรมดาๆ ว่า “ถ้าเราเป็นคนรักกัน เมื่อเห็นผักติดฟันคู่รัก ก็ต้องช่วยบอกกัน”

แค่นั้นเอง

อีกเรื่องเล็กๆ ที่คนดูคอนเสิร์ตหลายรายรู้สึกทึ่งกันมาก ก็คือการได้เห็น “เรี่ยวแรง” ของพี่ป๊อด ธนชัย นักร้องนำแห่ง “โมเดิร์นด็อก”

เป็นที่รับรู้กันตลอดมาว่าพี่ป๊อดคือคนมีพลังเหลือเฟือ เห็นได้จากการร้อง การเต้น และการทำงานสร้างสรรค์อื่นๆ

แต่น้อยคนนักที่จะเคยมีโอกาสเห็นว่าคนรูปร่างเล็กกะทัดรัด ออกแนวค่อนข้างบอบบางอย่างพี่ป๊อดนั้น มีเรี่ยวแรงมหาศาลขนาดไหน?

กระทั่งเมื่อช่วงค่ำวันที่ 18 มีนาคม 2560 ซึ่งแฟนเพลงหลายคนได้ร่วมเป็นประจักษ์พยานในเหตุการณ์ที่พี่ป๊อดขว้างเสื้อยืดที่ระลึกจากเวทีไปยังกลุ่มผู้ชมบนอัฒจันทร์ชั้นสองโน่น

โดยส่วนตัว ผมยังไม่เคยเห็นนักร้องหรือศิลปินคนไหน ซึ่งสามารถขว้างเสื้อยืดแจกแฟนเพลงในระยะทางที่ไกลขนาดนี้มาก่อน!

moderndog 22

Leave a Reply

Fill in your details below or click an icon to log in:

WordPress.com Logo

You are commenting using your WordPress.com account. Log Out /  Change )

Twitter picture

You are commenting using your Twitter account. Log Out /  Change )

Facebook photo

You are commenting using your Facebook account. Log Out /  Change )

Connecting to %s

This site uses Akismet to reduce spam. Learn how your comment data is processed.