Absent without Leave (Lau Kek-Huat)
หนังสารคดีเกี่ยวกับครอบครัวคนจีนในประเทศมาเลเซียเรื่องนี้ เริ่มต้นด้วยปมง่ายๆ ที่พวกเราคุ้นเคย คือ ความห่างเหินระหว่างพ่อกับลูกชาย (ตัวผู้กำกับเอง)
แต่แล้วผู้กำกับกลับค่อยๆ ขยับขยายความสงสัยใคร่รู้ส่วนตัวและพรมแดนเนื้อหาของหนังให้แผ่คลี่ออกไปกว้างไกลกว่านั้น
พร้อมๆ กับการไม่รู้จัก “พ่อ” เขาก็พบว่าตนเองและสมาชิกครอบครัว ตั้งแต่ “ย่า” ลงมา แทบไม่พูดถึง “ปู่” เลย
แล้วเขาก็ได้ค้นพบว่า “ปู่” ออกไปร่วมต่อสู้กับพรรคคอมมิวนิสต์มลายา และถูกเจ้าหน้าที่รัฐยิงเสียชีวิตตั้งแต่เมื่อวัยยังไม่ถึง 30 ปี
เท่านั้น ยังไม่พอ เพราะคุณผู้กำกับไม่ได้หยุดเรื่องราวของหนังไว้ที่เรื่องราวเกี่ยวกับปู่ของตนเอง
แต่เขากลับพาหนังออกเดินทางไกล เพื่อไปทำความรู้จักกับครอบครัวของชาวจีนคนอื่นๆ ในมลายา/มาเลเซีย อีกหลากหลายรุ่น ที่ต้องประสบชะตากรรมพลัดพรากระหว่างสมาชิกในบ้าน หรือพลัดพรากจาก “แผ่นดิน” อันเป็นที่รัก หลังตัดสินใจเข้าร่วมต่อสู้กับพรรคคอมมิวนิสต์
จากการตั้งต้นด้วย “เรื่องเล่าเล็กๆ ว่าด้วยครอบครัว” ครอบครัวหนึ่ง หนังได้เปลี่ยนทิศทางของตนเองไปสู่การมุ่งสำรวจ “ประวัติศาสตร์/ความทรงจำร่วม” อันเป็น “บาดแผล” ของคนจีนหลายเจเนอเรชั่นในประเทศมาเลเซีย
จากความสนใจในตัว “ปู่” ของผู้กำกับ ซึ่งหายสาบสูญจากครอบครัว หนังค่อยๆ ถ่ายเทความสนใจไปยัง “พรรคคอมมิวนิสต์มลายา” ที่ปลาสนาการจากประวัติศาสตร์มาเลเซีย
ตามความเข้าใจส่วนตัว (ซึ่งไม่แม่นยำหรือแทบไม่รู้ประวัติศาสตร์ส่วนนี้เอาเลย – จึงต้องเสิร์ชหาข้อมูลแบบผิวเผินเอาจากอินเตอร์เน็ต) เราอาจแบ่งกลุ่มคนจีนที่หนังพูดถึงหรือพยายามไปทำความรู้จักออกได้เป็นสองกลุ่มหลักๆ
กลุ่มแรก คือ คนจีนที่เข้าร่วมต่อสู้กับพรรคคอมมิวนิสต์มลายา เพื่อต่อต้านจักรวรรดินิยมอังกฤษ แล้วต่อมาก็ต่อต้านการรุกรานของญี่ปุ่น (โดยร่วมมือกับอังกฤษ) ด้วยอารมณ์ความรู้สึกปนเปทั้ง “ชาตินิยมจีน” (หลัง “จีนแผ่นดินใหญ่” ถูกกองทัพญี่ปุ่นบดขยี้) และ “ชาตินิยมมลายา” (ที่ถูกญี่ปุ่นบุกเช่นกัน) ก่อนจะเปลี่ยนเป้าหมายเป็นการเรียกร้องเอกราชหลังสงครามโลกครั้งที่สอง
คนกลุ่มนี้มีบทบาททางการเมืองช่วงก่อน-ระหว่าง-หลังสงครามโลกครั้งที่สอง
ก่อนที่ต่อมา บางส่วนจะถูกเนรเทศกลับจีน (พอกลับจีน ก็มีบางคนที่ต้องเสียชีวิตลงในช่วงปฏิวัติวัฒนธรรม) บางส่วนต้องโทษ แล้วพอพ้นโทษก็ย้ายไปอยู่ประเทศอื่นๆ เช่น ฮ่องกง หรือมีบางส่วนข้ามแดนไปที่ไทย แถบอำเภอเบตง เพื่อปักหลักสู้ต่อ
“ปู่” ของผู้กำกับ คือ คนจีนที่เข้าร่วมกับพรรคคอมมิวนิสต์มลายาในเจเนอเรชั่นนี้
คนอีกกลุ่ม คือ พวกที่เข้าร่วมต่อสู้กับพรรคคอมมิวนิสต์มลายาหลังทศวรรษ 2490 ที่ทางพรรคกับรัฐบาลมาเลเซียหาข้อตกลงทางการเมืองร่วมกันไม่ได้ แล้วสถานการณ์ความขัดแย้งก็ลากยาว (คู่ขนานกับ “สงครามเย็น”) มาถึงยุค 1960-1970-1980 ก่อนจะมีสนธิสัญญาสันติภาพในปี 1989
คนกลุ่มนี้ คือ ชายหญิงวัยประมาณ 60 กว่าปี ที่ปรากฏตัวในหนัง ซึ่งเคยมีฐานที่มั่นการต่อสู้อยู่ที่ อ.เบตง จ.ยะลา
(รวมถึงตัวละครคู่ที่มีความรักและมีลูกระหว่างการสู้รบในเขตป่า แต่ต้องส่งลูกออกไปให้คนอื่นเลี้ยง จนความสัมพันธ์พ่อแม่ลูกถูกตัดขาดในเวลาต่อมา – ผมเข้าใจว่ากรณีของไทย ก็มีอะไรแบบนี้อยู่ไม่น้อย เช่น “เสกสรรค์-จิระนันท์” ที่ให้กำเนิด “แทนไท” ในป่า แล้วต้องส่งลูกออกมาในเมือง ทว่า หลายๆ กรณีของไทย ครอบครัวแบบพ่อ-แม่-ลูกยังสามารถกลับมารวมตัวกันใหม่ได้ หลังพ่อแม่หวนคืนสู่เมือง)
เอาเข้าจริง ผมรู้สึกว่าเจเนอเรชั่นของคนจีนในมาเลเซียที่เข้าร่วมกับพรรคคอมมิวนิสต์มลายานั้น คล้ายคลึงกับประวัติศาสตร์ช่วงเดียวกันในสยาม/ไทยอยู่ไม่น้อย ซึ่งบทบาทของคนเชื้อสายจีนและการเคลื่อนไหวของพรรคคอมมิวนิสต์จะเริ่มต้นตั้งแต่ก่อนหน้า 2475 แล้วค่อยๆ ลากยาวมาถึงขบวนการ “ฝ่ายซ้าย” ก่อน 2500 แล้วตัดไปที่ช่วงกำเนิด “สงครามประชาชน” ปลายทศวรรษ 2500 และช่วงที่นักศึกษา-ปัญญาชน-คนหนุ่มสาวกลุ่มใหญ่เดินทางเข้าป่าในช่วงปลายทศวรรษ 2510
ถ้าจะมีจุดต่างอยู่บ้าง ก็เห็นจะเป็น หนึ่ง ในกรณีของไทย ไม่ได้มีเรื่องเรียกร้องเอกราชแบบชัดๆ แรงๆ ด้วยบริบทเฉพาะที่แตกต่างจากประเทศเพื่อนบ้านอื่นๆ กับ สอง อัตลักษณ์เรื่องการเป็น “ลูกจีน” และการเข้าร่วมต่อสู้กับพรรคคอมมิวนิสต์ในไทยยุคหลัง 2500 (โดยเฉพาะในทศวรรษ 2510) อาจไม่ได้ผูกพันกันอย่างแนบแน่นเป็น “เนื้อเดียว” หรือเป็น “สองด้านของเหรียญ” แบบกรณีของมาเลเซีย
จุดที่ผมชอบสุดๆ ในหนังเรื่องนี้ คือ การที่ผู้กำกับสามารถขยับขยายพรมแดนของหนังไปได้กว้างไกลมากๆ จากเรื่องความสัมพันธ์ในครอบครัว ไปสู่เรื่องชาติพันธุ์และการเมือง จากการเมืองระดับชาติ ก็ค่อยๆ เพิ่มขอบเขตไปถึงโครงข่ายความสัมพันธ์ที่มีลักษณะข้ามชาติ/ประเทศ
การบุกไปตามหาและพูดคุยกับอดีตสมาชิกพรรคคอมมิวนิสต์มลายา (หรือลูกหลานของพวกเขา) ถึงในจีนแผ่นดินใหญ่ ในฮ่องกง และในไทย จึงทรงพลังอย่างมาก และทำให้หนังเต็มไปด้วยเหลี่ยมมุมสลับซับซ้อน ที่คาดเดาไม่ค่อยได้ว่าผู้กำกับจะพาเราไปพบกับใคร ที่ไหนอีก
อีกข้อที่อาจไม่ใช่เรื่องใหม่นัก แต่หนังก็นำเสนอออกมาได้ดีมากๆ คือ การแสดงให้เห็นว่า “ผู้ปราชัยทางการเมือง” มักเก่งกาจเสมอ ในการฉวยใช้ “เครื่องมือทางวัฒนธรรม” บางอย่าง มาเยียวยารักษาแผลใจของตนเอง
ฉากกิจกรรมพบปะสังสรรค์ของบรรดาอดีตแนวร่วมพรรคคอมมิวนิสต์ที่เบตงอาจ “ไม่ใหม่” นักสำหรับคนที่เคยดูหนังสารคดีเรื่อง “The Last Communist” และ “Village People Radio Show” ของ “อามีร์ มูฮัมหมัด” ทว่า ฉากร้องเพลงอย่างอินและซาบซึ้งสุดๆ ของบรรดาคุณย่าคุณยายที่เมืองจีนใน “Absent without Leave” นั้น สามารถสร้างแรงสั่นสะเทือนทางอารมณ์ได้สูงยิ่งทีเดียว
นอกจากนี้ บรรดา subjects ที่จีนแผ่นดินใหญ่ ยังแสดงอารมณ์ความรู้สึกที่น่าสนใจออกมา คือ ในสมัยหนึ่ง พวกเขาและเธออาจเคยเข้าร่วมการต่อสู้ในมลายา โดยมีอารมณ์ความรู้สึก “ชาตินิยมจีน” เป็นองค์ประกอบสำคัญ แต่เมื่อพวกเขาและเธอต้องถูก “บีบบังคับ” ให้โยกย้ายกลับมาใช้ชีวิตที่จีนแผ่นดินใหญ่อย่างถาวร สิ่งที่หลายคนโหยหา (อย่างหลบๆ ซ่อนๆ) ในอีกหลายทศวรรษต่อมา กลับกลายเป็นวิถีชีวิต/วัฒนธรรมท้องถิ่นแบบมาเลย์หรือเปอรานากัน (ลูกผสมจีน-มาเลย์)
ถ้าจะกล่าวให้งงหนักขึ้น ด้านหนึ่ง คนชราเหล่านี้ก็เป็นทั้ง “คนจีน (แผ่นดินใหญ่)” และ “คนมาเลเซีย” แต่อีกด้าน พวกเขาก็อาจไม่ได้เป็นทั้ง “คนจีน (แผ่นดินใหญ่)” และ “คนมาเลเซีย” เช่นเดียวกัน
หากจะให้หา (เรื่อง) จุดบกพร่องเล็กๆ น้อยๆ ผมเห็นว่าการพยายามดึงหรือตบหนังกลับมาสู่บทสรุปเกี่ยวกับประเด็น “ครอบครัว” ซึ้งๆ ของปัจเจกบุคคลต้นเรื่องในตอนท้าย อาจไม่ค่อยมีความจำเป็นเท่าไหร่นัก
เพราะในระหว่างทาง หนังได้พูดถึงชะตากรรมของ “ครอบครัวขยาย” ที่มิได้ผูกพันกันทางสายเลือด แต่กลับมีขอบข่ายความสัมพันธ์กว้างขวางใหญ่โตมากกว่านั้น ไปเรียบร้อยแล้ว แถมยังเล่าได้อย่างจับใจและน่าสนใจมากๆ อีกด้วย
หมายเหตุ “Absent without Leave” เพิ่งได้รับรางวัลภาพยนตร์สารคดีอาเซียนยอดเยี่ยม จากเทศกาลภาพยนตร์สารคดีนานาชาติศาลายาครั้งที่ 7 ในการประกาศผลรางวัลเมื่อช่วงค่ำวันที่ 26 มีนาคม 2560