หนึ่ง โชคดีที่มีโอกาสได้ดูผลงานสองเรื่องล่าสุดของ “โคจิ ฟุกาดะ” คือ “Sayonara” แล้วต่อด้วย “Harmonium” ซึ่งเรื่องหลังนี้ เพิ่งอำลาโรงฉายในบ้านเราไป
เลยได้มองเห็น “ข้อเปรียบเทียบ” จำนวนหนึ่ง
ฟุกาดะ (เพิ่งรู้ว่าเขามีอายุพอๆ กับผมเลย – ถือว่ายังหนุ่มอยู่ 555) ทำ Sayonara อย่างทะเยอทะยาน หนังพูดประเด็นระดับชาติ, ระดับมนุษยชาติ/ชาติพันธุ์ มีนักแสดงต่างชาติ และ “แอนดรอยด์” มารับบทนำ
แต่ “ความใหญ่” ของมัน กลับไม่สนุก ไม่ลึกซึ้ง ไม่กินใจเท่าไหร่นัก
พอมาถึง Harmonium ความรู้สึกแรกๆ ของผมที่เกิดขึ้นเมื่อหนังผ่านไปราวครึ่งทาง คือ “เออ! ฟุกาดะ นี่มันทำหนังเก่งขึ้นเยอะเลยว่ะ”
ทั้งๆ ที่หนังเรื่องล่าสุดของเขา มีขนาดเล็กลง และหันกลับมาเล่าเรื่องราวในระดับจุลภาค
แต่ถ้าถามว่า มันมี “จุดเชื่อมโยงกัน” ระหว่างหนังสองเรื่องนี้บ้างไหม?
สำหรับผม หนังทั้งสองเรื่องมีตัวละครที่เป็น “คนป่วยกระเสาะกระแสะ” (ทั้งกายและใจ) เหมือนๆ กัน
นอกจากนั้น หนังคู่นี้ยังถ่ายทอดปมชีวิตอันตรอมตรมของตัวละครกลุ่มเล็กๆ ที่เหมือนกำลังโดดเดี่ยวตนเองออกจากสังคม จนราวกับว่าพวกเขาเป็นมนุษย์กลุ่มท้ายๆ ของโลกหรือจักรวาล
(หนังของฟุกาดะเหมือนจะมี “จุดต่าง” กับ “Creepy” ของ “คิโยชิ คุโรซาวะ” อยู่แน่ๆ ประเด็นหนึ่ง กล่าวคือ ในขณะที่ Harmonium มีลักษณะตัดทอน/ผลักดัน “ตัวละครอื่นๆ” ที่ไม่เกี่ยวข้องออกไปไกลๆ แต่ Creepy กลับมีลักษณะเชื้อเชิญ “ตัวละครรายอื่นๆ” ให้เข้ามามีส่วนร่วมใกล้ชิดในชะตากรรมอันน่าตระหนกตกใจ หรือกล่าวได้ว่า ตัวละครหลักๆ ของฟุกาดะ มันตัดขาดตัวเองออกจากสังคมอย่างเด็ดขาดมากกว่า)
สอง จริงๆ Harmonium อาจถูกแบ่งออกเป็นหนังยาวๆ ประมาณสามเรื่องได้ด้วยซ้ำไป
ครึ่งแรกของหนังมีศักยภาพจะเป็นภาพยนตร์ขนาดยาวเรื่องหนึ่ง ที่สามารถลงลึกในประเด็นการล้างแค้น “เชิงเดี่ยว” ได้อย่างถึงรากถึงโคน
แต่ฟุกาดะก็เลือกจะเล่าเรื่องราว “องก์แรก” ให้กระชับลง แล้วต่อด้วย “องก์ที่สอง” ของหนัง ซึ่งจริงๆ ก็สามารถนำไปสู่จุดจบ ที่มีทางเลือกอย่างน้อยๆ สามทาง คือ [1] ไม่เป็นการ “ล้างแค้นกลับอย่างสาสม” ก็กลายเป็น [2] ปมหลอนๆ ประเภท “พวกเราอยู่ใกล้คุณ เกินกว่าที่คุณคาดคิด” สไตล์ “Hidden” หรืออาจเป็น [3] การสารภาพบาปในแนว “นรกคือตัวเราเอง/มึงก็เลวกูก็เลว”
โดยทางเลือกทั้งสามต่างซ่อนประเด็น “ความโดดเดี่ยว-แปลกแยก” ระหว่างผู้คนในสังคมยุคใหม่/ครอบครัวสมัยใหม่เอาไว้อย่างเนียนๆ
ทว่า ฟุกาดะ แกร้ายกาจกว่านั้น ด้วยการพาหนังเรื่องนี้ให้เดินทางไกลขึ้นอีกนิด ไปสู่จุดคลี่คลายใน “องก์ที่สาม” ที่ไม่ดราม่าข้นคลั่ก ไม่หักมุมจนเหวอ ไม่ถึงกับต้องหลั่งเลือด ไม่เผชิญหน้าจังๆ หากรวดร้าวหัวใจอย่างยิ่ง
สาม หนังจึงมีเงื่อนปมที่ซับซ้อน และสร้างภาวะกลืนไม่เข้าคายไม่ออกให้แก่คนดูมากพอสมควร
ด้านหนึ่ง หนังอาจพลิกภาพลักษณ์ของ “ฆาตกร/คนร้าย” ให้กลายเป็น “ผู้ถูกกระทำ” ที่มีความชอบธรรมในการล้างแค้น ซึ่งก็เป็นสิ่งที่เรื่องเล่าร่วมสมัยหลายๆ เรื่อง/ประเภท ทำกันจนเกร่อแล้ว
แต่หนังขยับประเด็นไปไกลกว่านั้น ด้วยการฉายภาพว่า “ไอ้คนที่ถูกกระทำอย่างไม่เป็นธรรม” แล้วกลับมาล้างแค้น “เพื่อนเก่า” โดย “ชอบธรรม” นั้น ก็เคยไปปู้ยี่ปูยำ “คนบริสุทธิ์” รายอื่นๆ ให้ประสบชะตาชีวิตน่าเศร้าเช่นกัน
ในแง่นี้ “ผู้กระทำ” (ความผิด) และ “ผู้ถูกกระทำ” (อย่างอยุติธรรม) จึงมิได้กลายเป็นคนคนเดียวกัน จาก “ผลต่อเนื่องของเหตุการณ์หนึ่งชุด” (เพราะ [1] เขา “ถูก” กลั่นแกล้ง [2] เขาจึงกลับมา “ลงมือ” ล้างแค้นคนที่เคยกลั่นแกล้งเขา) เพียงเท่านั้น
ทว่า สถานะอันกำกวมระหว่างการเป็น “ผู้กระทำ” และ “ผู้ถูกกระทำ” มันดันเกิดขึ้น “ซ้อนกัน” อย่างต่างกรรมต่างวาระ ([1] เขา “ถูก” กลั่นแกล้ง [3] เขาจึงกลับมา “ลงมือ” ล้างแค้นคนที่เคยกลั่นแกล้งเขา แต่ก่อนหน้าจะเริ่มแก้แค้น [2] เขาก็ไป “กระทำ” ย่ำยีคนอื่นๆ ในสถานการณ์ชุดอื่นๆ มาด้วย)
สี่ อีกข้อที่น่าสนใจ คือ หนังแสดงให้เห็นว่า การผลัดกัน “กระทำ” และ “ถูกกระทำ” การผลัดกัน “ล้างแค้น” หรือการผลัดกัน “ทำเรื่องผิดบาป” ของคนรุ่นพ่อแม่นั้น กลับส่งผลร้ายแรงเกินคาดต่อคนรุ่นลูก
และบรรดาคนรุ่นหลังต่างหากที่ต้องแบกรับ “ผลกรรม” ดังกล่าว โดยไม่รู้อิโหน่อิเหน่ ในระดับเลวร้ายถึงขีดสุด
ไปๆ มาๆ “การล้างแค้น” ในหนังมันจึงมีลักษณะ “เชิงซ้อน” และก่อผลลัพธ์ “สลับซับซ้อน” หลายทอด จนน่าพรั่นพรึง
ห้า รายละเอียดหนึ่งที่ผมชอบมาก คือ กระบวนการสร้างบุคลิกหลากมิติให้แก่ตัวละคร “ยาซากะ” ที่รับบทโดย “ทาดาโนบุ อาซาโนะ”
ตอนที่หนังค่อยๆ เผยให้เห็นความสามารถทางด้านดนตรี (เล่นออร์แกน) ของหมอนี่ ไปพร้อมๆ กับพฤติกรรมไม่ชอบมาพากลอื่นๆ ของเขา ผมยังไม่ค่อยรู้สึกฉงนสนเท่ห์มากนัก
แต่ซีนก่อนหน้าที่หนัง “องค์แรก” จะเดินทางไปสู่จุดไคลแมกซ์สำคัญ ซึ่งยาซากะค่อยๆ เปลื้องยูนิฟอร์มขาวบริสุทธิ์ออก เพื่อเผยให้เห็นเสื้อยืดสีแดงสด แล้วร้องเพลง (จริงๆ เป็นเสียงวอยซ์โอเวอร์) ที่มีเนื้อหา-ทำนองแสนน่ารักและสวยงามนี่แหละ ที่ทำเอาผมเริ่มเกิดคำถามในใจว่า “เอ ตกลง หมอนี่ มันจะเป็นคนยังไงกันแน่วะ?”
และไอ้ซีนที่ว่านี่ก็ทรงพลังมากพอ จนแม้กระทั่งเมื่อไอ้ยาซากะมันลงมือทำ “เรื่องเหี้ย” ไปแล้ว ผมกลับยังมีข้อลังเลสงสัยในใจว่า “ตกลง ยาซากะมันชั่วร้ายขนาดนั้นจริงไหม?”
หก อีกองค์ประกอบที่ “ร้าย” มากๆ ในหนังเรื่องนี้ ก็คือ ยาซากะ เป็นตัวละครที่โผล่มามีบทบาทแค่ประมาณครึ่งเรื่อง หรือ 1 ใน 3 องก์ แต่พลังคุกคาม/รัศมีทำลายล้างของตัวละครรายนี้กลับสามารถแผ่ปกคลุมหนังทั้งเรื่องเอาไว้ได้
อาจกล่าวได้ว่า ในอีกแง่หนึ่ง ยาซากะ ก็มีสถานะเป็นดัง “ภูตผีปีศาจ” ในภาพยนตร์ที่ไม่ใช่ “หนังผี” เรื่องนี้