บันทึกหลังดูหนัง “[นิรโทษกรรม จำเลยคดี ๖ ตุลา]”

 

หนึ่ง ที่มาของหนังน่าสนใจดี คือ มาจาก “วีซีดี” แผ่นหนึ่ง จากหลายแผ่น ที่แจกมาพร้อมกับหนังสืองานศพของ “พล.อ.เกรียงศักดิ์ ชมะนันทน์” เมื่อคุณศักดินา ฉัตรกุล ณ อยุธยา ไปค้นพบ เลยนำมาให้หอภาพยนตร์ ก่อนที่ตัวหนังจะได้รับการขึ้นทะเบียนเป็น “มรดกภาพยนตร์ของชาติ ประจำปี 2559” ส่วนชื่อ [นิรโทษกรรม จำเลยคดี ๖ ตุลา] นั้น หอภาพยนตร์ตั้งขึ้นมาเอง เนื่องจากวีซีดีไม่ได้ระบุชื่อ/หัวข้อของ “หนังข่าว” เรื่องนี้เอาไว้

สอง หนังยาวประมาณหนึ่งชั่วโมง ดูได้เพลิดเพลินตามสมควร (แต่มีปัญหาเรื่องเสียงที่ไม่ค่อยชัดเจน)

ประเด็นหนึ่งที่มีการพูดคุยกันมากหลังหนังฉายจบ คือ จะเห็นได้ว่าคำพูดของ พล.อ.เกรียงศักดิ์ ในหนัง มีลักษณะวกวนซ้ำไปซ้ำมา ซึ่งน่าจะเป็นผลจากกระบวนการลำดับภาพ

“คุณสุธรรม แสงประทุม” ที่เป็นหนึ่งใน “ตัวละครหลัก” ของหนังเรื่องนี้ ก็ตั้งข้อสังเกตประมาณว่า ภาพเคลื่อนไหวทั้งหมดที่ยาวถึง 60 นาทีของหนัง โดยเฉพาะช่วง “พล.อ.เกรียงศักดิ์เล็คเชอร์นักศึกษา” ด้วยเนื้อหาซ้ำไปซ้ำมานั้น ไม่น่าจะเป็นเหตุการณ์แบบ real time แต่น่าจะเป็นผลของการตัดต่อมากกว่า

จากการประมวลความเห็นของวงสนทนา ดูเหมือน “การพูดซ้ำๆ” ของ พล.อ.เกรียงศักดิ์ อาจเกิดขึ้นจาก

(1) การตัดต่ออย่างตั้งใจ เพื่อเน้นย้ำ “สาร” บางประการ ที่รัฐบาลยุคนั้นต้องการสื่อ ไม่ใช่ไปถึงเพียงนักศึกษาหรือฝ่ายตรงข้ามทางการเมือง แต่ยังรวมถึงเครือข่ายชนชั้นนำ-กลุ่มการเมืองฝ่ายขวาอีกด้วย

(2) แต่ก็มีคนพูดถึงความเป็นได้ว่า “หนังข่าว” ชุดนี้ อาจเกิดจากการเก็บรวบรวมฟุตเทจจากแหล่งต่างๆ แล้วนำมา “คัทชน” เรียงต่อๆ กันไปแบบไม่ตั้งใจ/มีเป้าหมาย จึงนำไปสู่การฉายซ้ำ “ซีนเดิม” แต่ต่างมุมมอง/จากต่างกล้อง

แต่โดยส่วนตัว ขอสารภาพว่าขณะดูหนัง ผมดันเชื่อซะสนิทว่า พล.อ.เกรียงศักดิ์ แกพูดซ้ำไปซ้ำมาแบบนั้นจริงๆ (โดยไม่ได้เป็นผลของกระบวนการลำดับภาพ) 555

เพราะผมย้อนนึกไปถึงงานชิ้นหนึ่งของ “อ.ธงชัย วินิจจะกูล” ที่แกไปพูดคุยกับแกนนำที่จัดตั้งกลุ่มมวลชนขวาจัดสมัย 6 ตุลา ปรากฏว่าแกนนำคนหนึ่งพยายามพูดประโยคเดิมๆ กับ อ.ธงชัย ซ้ำไปซ้ำมาอยู่หลายรอบ เพื่อเน้นย้ำให้ถึง “สารสำคัญ” บางข้อ

ผมเลยคิดเองเออเองไปว่า สงสัย พล.อ.เกรียงศักดิ์ ก็คงจงใจพูดซ้ำเพื่อจะส่งสารบางอย่างเช่นกัน

แต่โอเค พอได้ฟังการสนทนาหลังหนังจบ ประเด็น “พูดซ้ำ” เพราะกระบวนการตัดต่อ นี่ก็ฟังดูสมเหตุสมผลน่ะนะ

02

สาม “สาร” ที่ พล.อ.เกรียงศักดิ์ ส่งมาซ้ำๆ ก็มีอาทิเช่น การนิรโทษกรรมครั้งนั้น มิได้มีจุดประสงค์ทางการเมืองหรือไม่ได้เกิดจากการต้องการเสียงสนับสนุนทางการเมือง แต่รัฐบาลตัดสินใจผลักดันเพราะเห็นว่าเป็นสิ่งถูกต้อง และที่สำคัญ คือ เป็นการปฏิบัติตาม “พระราชปรารภ”

การนิรโทษกรรมครั้งนั้นถือเป็นการตัดสินใจทางการเมืองที่ “เสี่ยง” เพราะด้านหนึ่ง รัฐบาลก็ต้องการปกป้องสถาบันหลัก ชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ แต่อีกด้าน รัฐบาลก็ทำการปล่อยตัวผู้ถูกกล่าวหาว่าคิดร้ายต่อสถาบันหลักให้เป็นอิสระ (ซึ่งย่อมสร้างแรงกระเพื่อมในกลุ่มขวาจัด)

นอกจากนี้ ยังมีการสอนนักศึกษาเรื่องการวางตัว ว่าสังคมไทยชอบคนที่ humble (อ่อนน้อมถ่อมตน) สอนเรื่องแนวทางการให้สัมภาษณ์สื่อ สอนเรื่องภาวะสมดุลระหว่าง theory กับ fact

อีกประเด็น ที่ พล.อ.เกรียงศักดิ์ กล่าวซ้ำกับผู้ได้รับการนิรโทษกรรมบ่อยครั้งมาก คือ เรื่องที่ผ่านมาแล้วให้ถือว่าเป็น “ฝันร้าย” และขอให้ลบมันทิ้งไป (ระหว่างดู นึกถึงเพลง “ฝันร้าย” ของ “คาราวาน” อยู่พอสมควร)

สี่ แม้จะเคยได้อ่านได้ยินเรื่องราวของ พล.อ.เกรียงศักดิ์ มาบ้าง ในฐานะ “ขุนศึก” ที่มี “ความพิเศษ” บางอย่าง แต่นี่เป็นครั้งแรกที่ได้เห็น “ภาพเคลื่อนไหว” “น้ำเสียงการพูดจา” และ “วิธีคิด” ของแก

หนังฉายภาพการทำ “ข้าวผัดผงกะหรี่ไก่” ของ พล.อ.เกรียงศักดิ์ ซึ่งขึ้นชื่ออยู่แล้วเรื่องการชอบทำอาหาร (อดเสียดาย นึกว่าหนังจะโชว์การทำแกงเขียวหวานเนื้อใส่บรั่นดี)

ที่สำคัญ หนังทำให้เราเห็น “ลักษณะที่โน้มเอียงไปในทางปัญญาชน” ของอดีตนายกฯ-ขุนทหารรายนี้ ทั้งการพูดไทยคำอังกฤษคำ (สำเนียงไม่เลวเลย) อาทิ television, humble และ theory เป็นต้น (อ่านจากประวัติจึงเห็นว่าแกเคยไปเรียนโรงเรียนเสนาธิการทหารบกแห่งสหรัฐอเมริกา)

อีกข้อ คือ แม้ พล.อ.เกรียงศักดิ์ ยังมีบุคลิกเป็นทหารใหญ่ เป็นข้าราชการอาวุโส เป็นสายอนุรักษ์นิยม เป็น “คุณพ่อรู้ดี” แต่ความคิดหลายอย่างของแกก็จัดว่า “ก้าวหน้า” ไม่น้อย เช่น ความเห็นที่ว่าการต่อสู้ไม่ควรใช้ความรุนแรง แต่ควรสู้กันผ่านการคิด เขียน และพูด หรือการยอมรับว่าอำนาจรัฐเองก็ไม่สามารถเข้าไปปรับเปลี่ยนความคิดจิตใจของใครได้หรอก

นี่เชื่อมโยงกับช่วงต้นๆ ของหนัง ที่มีการ “บลั๊ฟ” รัฐบาลอนุรักษ์นิยมขวาจัดของนายกฯ พลเรือน “ธานินทร์ กรัยวิเชียร” ว่ารัฐบาลชุดดังกล่าวจำเป็นจะต้องถูกรัฐประหารซ้อน  และมีการแต่งตั้งรัฐบาลชุดใหม่ที่นำโดยทหารขึ้นมาแทน เพื่อเร่งให้ประเทศกลับคืนสู่ระบอบประชาธิปไตย

ห้า สำหรับคนที่มักบ่นว่า “นักข่าวเดี๋ยวนี้” สนใจแค่ประเด็นข่าวเบาหวิว ไร้สาระ ไม่เข้าใจหลักใหญ่ใจความอันลึกซึ้งของปรากฏการณ์สำคัญ แต่หยิบจับได้เพียง “กิมมิก” ยิบย่อยฉาบฉวย-เอาไว้ขายพาดหัว ที่เป็นเพียงองค์ประกอบเล็กๆ ของปรากฏการณ์

อยากให้ลองมาชมหนังเรื่องนี้ แล้วคุณจะรู้ว่าพวก “นักข่าวการเมือง” ต้นทศวรรษ 2520 นี่ก็ชอบถามอะไรที่มันจุ๊กจิ๊กจุบจิบและไม่ใช่สาระสำคัญเยอะแยะมากมายไปหมด 555

04
สุธรรม แสงประทุม ผู้ร่วมเสวนา

หก ตัวแทนนักโทษ/นักศึกษาที่โดดเด่นสุดในหนังคงเป็น “สุธรรม แสงประทุม” ดูลักษณะการวางตัว-พูดจาของแกตอนหนุ่มๆ ก็ไม่แปลกใจที่หลังจากนั้น แกจะผันตัวมาเป็น “นักการเมือง”

คนที่สนใจ “การเมืองไทยยุคปัจจุบัน” ตั้งแต่หลังปี 2549 เป็นต้นมา คงอยากเข้าไปดู “อ.สมศักดิ์ เจียมธีรสกุล” “อ.ธงชัย วินิจจะกูล” หรือกระทั่ง “อ.วิโรจน์ ตั้งวาณิชย์” ในหนังเรื่องนี้

อย่างไรก็ตาม คนเหล่านั้นกลับปรากฏตัวในหนังแบบพอให้เห็นแวบๆ พวกเขาไม่อยู่ในจุดโฟกัส แต่เป็นเพียง “ตัวละครสมทบ” ที่ถูกเอ่ยขานชื่ออยู่บ้าง หากไร้บทบาทเด่นใดๆ

แน่นอน สิ่งที่ปรากฏหรือถูกเน้นย้ำในหนัง คือ “เรื่องเล่า” แบบหนึ่ง ในยุคสมัยหนึ่ง

แต่คนอย่างสมศักดิ์ ธงชัย หรือวิโรจน์ ก็อาจถูกกล่าวถึงในฐานะตัวละครเอกของ “เรื่องเล่า” อีกหลายแบบ ในอีกยุคสมัย

เจ็ด ถ้าให้เทียบกันแล้ว คนดูจะเห็นสีหน้าอารมณ์ความรู้สึกของธงชัยมากกว่าสมศักดิ์

ในหนังเรื่องนี้ อ.ธงชัยดูจะมีบุคลิกเป็นเด็กเรียนมากๆ มีรอยยิ้ม เปล่งหัวเราะ แล้วก็พยักหน้า (คล้าย) ขานรับคำสอนของนายกฯ เกรียงศักดิ์

แต่ยังไม่ถึงขั้นสุธรรม ที่มีลักษณะ “พริ้ว” ตามภาษาของ “คุณศิโรตม์ คล้ามไพบูลย์” (แต่ถ้าภาษาผม คงต้องบอกว่า “แกค่อนข้างจะลิเกอยู่พอสมควร” 555)

น่าสนใจว่า mood and tone ของหนัง มาในแนว “สมานฉันท์-ปรองดอง-คืนดี” มีรอยยิ้ม เสียงหัวเราะในหมู่นักศึกษาที่เพิ่งถูกปล่อยตัว มีการชูไม้ชูมือ มีการถ่ายรูปคู่กับนายกฯ ที่มาจากการรัฐประหารซ้อน (ซึ่งเข้าใจว่า ก่อนหน้านั้น คงมีการซักซ้อมทำความเข้าใจกันอยู่ไม่น้อย)

น่าคิดต่อว่า หากไม่พิจารณาถึงสถานการณ์ทางการเมืองที่แตกต่างกันระหว่างช่วงต้น 2520 กับปัจจุบัน

แต่ถ้าช่วงต้นทศวรรษ 2520 มีโซเชียลมีเดียอย่างเฟซบุ๊ก ซึ่งส่งผลให้เกิดการแบ่งกลุ่มก้อนผู้คนตามความเชื่อทางการเมืองอย่างชัดเจน ท่าที “ปรองดอง-คืนดี” เช่นนั้นคงเกิดได้ยากขึ้น และถึงเกิด ก็คงถูกแรงกระแทกกลับอย่างรวดเร็ว (จากพวกเดียวกันเองของแต่ละฝ่าย) ผ่านทางโลกออนไลน์

03
สุรชาติ บำรุงสุข ผู้ร่วมเสวนา

แปด เอาเข้าจริง ยังมีตัวละครสำคัญๆ ที่ทำงานให้ “รัฐบาลเกรียงศักดิ์” ซึ่งอยู่นอกเฟรมของหนังเรื่องนี้

อาทิ “คุณพิชัย วาศนาส่ง” ที่คุณสุธรรมและ “อ.สุรชาติ บำรุงสุข” เห็นตรงกัน ว่าคือผู้อยู่เบื้องหลังการจัดทำหนังเรื่องนี้ และเป็นผู้ช่วยประสานทำความเข้าใจระหว่างนักศึกษาที่ถูกคุมขังกับ พล.อ.เกรียงศักดิ์ เนื่องจากคุณพิชัยเคยมีโอกาสได้สานสัมพันธ์กับนักศึกษาบางส่วน ขณะติดคุกในฐานะ “กบฏ 26 มีนา” ก่อนจะได้รับการนิรโทษกรรมไปก่อน และเข้าไปช่วยงานรัฐบาลเกรียงศักดิ์

อีกคนที่ อ.สุรชาติ บอกว่าอยู่ในเหตุการณ์วันนั้นด้วย (แต่ไม่ถูกจับภาพ) แถมยังเป็นคนคอยเซ็ตที่นั่งและตระเตรียมคำถามป้อน พล.อ.เกรียงศักดิ์  ก็คือ “พี่ลอง” หรือ “พล.ต.จำลอง ศรีเมือง”

ตามความเห็นของ อ.สุรชาติ และคุณสุธรรม “จำลอง” และ “จปร.7” นั้นมีบทบาท “แอคทีฟ” แน่ๆ ในช่วงการปลุกระดมกลุ่มมวลชนฝ่ายขวา จนนำไปสู่เหตุการณ์ “6 ตุลา” แต่ต่อมา เขาก็เล่นบท “สายพิราบ” และช่วยเหลือนักศึกษาที่ถูกคุมขังเช่นกัน

อ.สุรชาติและคุณสุธรรมเชื่อว่า ท่าทีที่เปลี่ยนแปลงไปของ พล.ต.จำลอง นั้น เกิดจาก “ความรู้สึกผิด” (แต่แน่นอน หากเราเคยอ่านงานวิชาการของ อ.สมศักดิ์ หรือ อ.ธงชัย ก็ย่อมได้พบการตีความอันผิดแผกออกไป)

โดยส่วนตัว คำอธิบายทำนองนี้ช่วยทำให้ผมเข้าใจมากขึ้นว่า ทำไมยุคหนึ่ง คุณสุธรรมถึงเคยลงสมัคร ส.ส. ในนามพรรคพลังธรรม ที่มี พล.ต.จำลอง เป็นหัวหน้า

เก้า ข้อสังเกตหนึ่งซึ่งน่าสนใจของ อ.สุรชาติ ก็คือ ภาวะสงครามเย็นระดับโลกที่เปลี่ยนบริบทไป (ทั้งสหรัฐและจีนเริ่ม “เปลี่ยนบท” ของตัวเอง) คู่ขนานไปกับความสูญเสียจากสงครามประชาชนระหว่างรัฐไทยกับ พคท. ซึ่งมีแนวโน้มจะขยายตัวเป็นสงครามกลางเมือง ได้กลายเป็นแรงบีบหนัก ซึ่งทำให้ “ชนชั้นนำไทย” ต้องแสวงหาฉันทามติร่วมกัน เพื่อผลักดันการนิรโทษกรรม การสร้างบรรยากาศปรองดอง และการพาประเทศกลับคืนสู่การปกครองระบอบ “ประชาธิปไตย (ครึ่งใบ)”

แต่ความขัดแย้งทางการเมืองไทยในช่วงทศวรรษที่ผ่านมา ไม่ได้ถูกขนาบด้วย “สงคราม” หรือ “แรงบีบ” จากทั้งระดับโลกและระดับประเทศอีกแล้ว

นี่ส่งผลให้สภาวะการเมืองช่วงต้น 2520 กับยุคปัจจุบัน มีความแตกต่างกันอย่างสำคัญ (และย่อมมีจุดคลี่คลายสถานการณ์ไม่เหมือนกันตามไปด้วย)

05
รัศมี เผ่าเหลืองทอง ผู้ร่วมเสวนา

สิบ หลังดูหนัง-ฟังเสวนาจบ ผมขับรถจากหอภาพยนตร์ ศาลายา ไปวัดญาณเวศกวัน แถวพุทธมณฑล เพื่อเดินเล่น-ถ่ายรูป

เดินเที่ยวที่วัดอยู่สักพัก ก็สังเกตเห็นว่าพระกำลังจะลงโบสถ์กัน ก่อนจะได้ทราบจากคุณลุงที่ทำงานให้วัดว่า เดี๋ยวจะมีการปิดโบสถ์สวดปาฏิโมกข์ โดย “สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (ประยุทธ์ ปยุตฺโต)” จะมาร่วมลงโบสถ์ด้วย

ระหว่างพระท่านปิดโบสถ์สวดปาฏิโมกข์ ก็จะมีลูกศิษย์ลูกหากลุ่มหนึ่งหยิบเอากล้องวิดีโอไปสอดส่องถ่ายพิธีกรรม และสมเด็จฯ ตามช่องหน้าต่าง

สวดเสร็จ จึงมีการเปิดโบสถ์ แล้วสมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ก็บรรยายธรรมสั้นๆ แก่พระภิกษุในวัด ตลอดจนญาติโยมจำนวนประมาณสิบกว่าคน

dsc00545

น่าสนใจว่า เมื่อเปิดประตูโบสถ์ ญาติโยมหลายรายต่างนำกล้องวิดีโอ (ตั้งแต่แฮนดี้แคมเล็กๆ กล้องระดับงานทีวี รวมถึงกล้องดีเอสแอลอาร์) ทั้งที่เป็นสมบัติของวัดและเป็นของส่วนตัว พร้อมด้วยขาตั้ง เข้าไปบันทึกภาพการแสดงธรรมในโบสถ์

นี่แสดงให้เห็นว่า “หนังบ้าน/หนังข่าว” ที่บันทึกกิจกรรมต่างๆ ของ “ชนชั้นนำ” และ “บุคคลสำคัญ” นั้น ย่อมถูกถ่ายทำกันอยู่เรื่อยๆ ในแต่ละวัน จนมีจำนวนรวมมหาศาล

(ไม่นับว่าในยุคปัจจุบัน เรามี “คลิปบ้านๆ” จำนวนมากมาย ที่ถูกบันทึกไว้โดยเครื่องไม้เครื่องมือที่สามัญชนคนธรรมดาเข้าถึงได้ง่ายขึ้น ทั้งคลิปที่มีเนื้อหาเกี่ยวกับวิถีชีวิต/เหตุการณ์ใกล้ตัวของคนเล็กคนน้อย เรื่อยไปจนถึงภาพเหตุการณ์สำคัญๆ ระดับใหญ่ๆ จากมุมมองของคนเล็กๆ)

01

Leave a Reply

Fill in your details below or click an icon to log in:

WordPress.com Logo

You are commenting using your WordPress.com account. Log Out /  Change )

Facebook photo

You are commenting using your Facebook account. Log Out /  Change )

Connecting to %s

This site uses Akismet to reduce spam. Learn how your comment data is processed.