(หมายเหตุ นี่เป็นการตั้งข้อสังเกตนู่นนิดนี่หน่อยแบบฟุ้งๆ ไปเรื่อยนะครับ)
หนึ่ง โอเค ในภาพรวม นี่คือหนังที่พูดถึง “ภาวะแปลกแยก” จากกันของมนุษย์ในสังคมสมัยใหม่ ที่น่าสนใจ คือ “ความแปลกแยก” ใน Creepy มันร้าวลึกไปถึงระดับหน่วยครอบครัวเลยทีเดียว
เพราะ “ความแปลกแยก” ไม่ได้หมายถึงความแปลกหน้า-ไม่คบหากันของเพื่อนบ้านหรือสมาชิกในสถาบันต่างๆ ของสังคม แต่มันไปไกลถึงขั้นการตั้งคำถามว่า “ผู้ชายคนนี้กับพ่อของฉันคือคนคนเดียวกันหรือเปล่า?” โน่นเลย
สอง อีกแก่นแกนหนึ่งของหนัง คือ การพูดถึงความพยายามในการแสวงหาจุด “สมดุล” ระหว่าง “ภาคทฤษฎี” กับ “ภาคปฏิบัติ”
ซึ่งน่าดีใจว่าสุดท้าย จุดสมดุลดังกล่าวคล้ายจะไม่มีอยู่จริง
หนังเริ่มต้นด้วยการวาดภาพของพระเอกที่เป็นตำรวจนักทฤษฎี (ด้านจิตวิทยา) แต่ความเชื่อในทฤษฎี ก็ส่งผลให้ชีวิตตำรวจของเขาเกิด “บาดแผล” จนเจ้าตัวต้องหันไปทำงานเป็นอาจารย์มหาวิทยาลัย
แต่เมื่อต้องเผชิญปมปัญหา/คดีสำคัญครั้งใหม่ แม้เขาจะตั้งหลักในการเผชิญหน้ากับเรื่องนี้ผ่านจุดยืนทางด้านทฤษฎีอีกครั้ง แต่ท้ายสุด เขาก็มีแนวโน้มที่จะต้องแก้ปัญหาด้วยท่าทีแบบ “ตำรวจ” มากกว่า “นักวิชาการ” หรือเป็น “เหยี่ยว” มากกว่า “พิราบ”
กล่าวอีกแบบได้ว่าพระเอกได้ลงมือทำในสิ่งที่เพื่อนๆ ร่วมสังคมตำรวจ คิดว่าเขา “ควรจะลงมือทำ” ตั้งแต่ตอนต้นของหนัง
สาม อีกจุดหนึ่งที่น่าสนใจ คือ หนังพูดถึง “ความไม่เป็นมนุษย์” (คุณมันไม่ใช่มนุษย์! คุณยังมีความเป็นมนุษย์อยู่รึเปล่า!?) อยู่หลายครั้ง
ที่ตลกร้าย ก็คือ ตัวละครฆาตกรที่วิปริตสุดแทบไม่เคยโดนด่าประณามด้วยข้อกล่าวหานี้ แต่คนที่โดนกลับกลายเป็นพระเอกที่พยายามคลี่คลายปมคดีจน “อินจัด” และ “หนักมือ” กับพยานเกินไปหน่อย
คำถามที่หนังโยนกลับมายังคนดูจึงได้แก่ ใครกันแน่ที่มี “ความเป็นมนุษย์” น้อยกว่ากัน? หรือพวกเราต่างไม่ค่อยมี “ความเป็นมนุษย์” ด้วยกันทั้งนั้น ทั้ง “คนร้าย” หรือ “คนดี” ทั้ง “ฆาตกร” หรือ “ผู้ผดุงความยุติธรรม” (ซึ่งก็จะย้อนกลับไปสู่ปัญหาเรื่อง “ภาวะแปลกแยก” ในข้อหนึ่ง)
สี่ ระหว่างดูหนัง ผมรู้สึกเอะใจอยู่ประเด็นหนึ่ง คือ แม้แต่ตัวละครตำรวจญี่ปุ่นเอง นี่เขาก็ทำงานกันแบบ “ปัจเจก” มากๆ เลย ชนิดที่เราคงนึกภาพไม่ออกว่าจะมีตำรวจไทย (หรือตัวละครตำรวจไทย) คนไหนที่กล้าเดินดุ่มๆ เข้าไปในบ้านของ “ผู้ต้องสงสัย” ก่อคดีร้ายแรง ด้วยตัวคนเดียว โดยไม่มีกำลังสนับสนุนอะไรทั้งสิ้น
แต่ก็อาจเป็นไปได้ว่ากระบวนการทำงานของตำรวจใน Creepy นี่มันยังอยู่ในขั้นสืบสวน-สอบสวน และยังไปไม่ถึงการระดมกำลังเข้าปราบปราม
(จริงๆ การเปรียบเทียบภาพของ “ตำรวจ” ในสื่อภาพยนตร์/ซีรีส์/ละครทีวี อาจแสดงให้เห็นถึงลักษณะที่แตกต่างกันระหว่าง “รัฐราชการแบบไทยๆ” กับกลไกระบบราชการของพวกญี่ปุ่นหรือฮ่องกงได้มากพอสมควร เพราะ “ตำรวจ” ในหนัง/ละครไทย มักจะอยู่ในสังคมเพื่อนฝูง หรือพี่-เพื่อน-น้องแบบไทยๆ มากกว่าจะมีสถานะเป็นปัจเจกบุคคลผู้โดดเดี่ยว เปลี่ยวเหงา ตัวใครตัวมัน แปลกแยกจากคนรอบข้าง เหมือนตำรวจใน Chungking Express, Infernal Affairs หรือ Creepy)
ห้า อีกข้อที่ผมชอบคือหนังถ่ายทอดกระบวนการที่ควร “ปิดลับ” ผ่านลักษณะ/สภาพแวดล้อมที่ “โปร่งใส” เป็นอย่างยิ่ง
แน่นอน ฉากพีคสุด คือการสอบสวนพยานปากสำคัญของคดีสะเทือนขวัญใน “ห้องกระจก” ที่คนข้างนอกมองเห็นคนข้างใน และคนข้างในมองเห็นคนข้างนอก
(พอพูดถึงประเด็นสภาพแวดล้อม อีกจุดเด่นหนึ่งของ Creepy ก็ได้แก่การเล่นกับ “ลม” อย่างร้ายกาจ คือมันเหมือนจะเกี่ยวพันกับอำนาจเร้นลับบางประการ แต่ก็ไม่ใช่)
หก ตัวละครเล็กๆ อีกรายที่ผมชอบอย่างไม่ค่อยมีเหตุผล คือ อาจารย์ที่วิจัยเรื่องสถิติคดีความ ซึ่งเป็นต้นเหตุให้พระเอกหันมาสนใจคดีสำคัญในหนัง
เพราะเหมือนอีตาคนนี้จะมีความสำคัญในช่วงแรก ทั้งการกระตือรือร้นชวนพระเอกไปที่เกิดเหตุ การช่วยอัดเสียงพยานที่เหลือรอด
แต่แล้วบทบาทของแกก็หายไปซะเฉยๆ จนพอหนังจบ ผมก็เริ่มคิดถึงแกขึ้นมาเหมือนกัน 555
(แต่ก็นั่นแหละ นี่อาจช่วยยืนยันว่า “นักวิชาการ” ก็ควร “เนิร์ด” อยู่บนหอคอยไป อย่ามายุ่งเกี่ยวกับชีวิตนอก “โลกทฤษฎี” ที่โคตรอันตราย 555)
เจ็ด ผมไม่แน่ใจว่าระหว่างคุณน้องที่เป็นพยานผู้เหลือรอดจากคดีเมื่อหลายปีก่อน กับคุณน้องเด็กผู้หญิงเพื่อนบ้านพระเอก นี่จะมีบาดแผลชีวิตที่ “สมมาตร” กันขนาดไหน?
หรือเรื่องราวที่เกิดกับคุณน้องคนหลัง คือภาพสะท้อนของสิ่งที่เคยเกิดขึ้นกับคุณน้องคนแรก ซึ่งเธอไม่ยอมบอกเล่ามันออกมาหรือไม่?
แม้ผมจะรู้สึกว่าหนังเชิญชวนให้เราคิดไปในทำนองนั้น
แปด ระยะหลังเวลาดูหนังญี่ปุ่นที่ชอบ ก็มักเจอ Yūko Takeuchi อยู่ในจอด้วยเสมอ (จนจำตำแหน่งไฝต่างๆ ของเธอได้ขึ้นใจ 555)
หนังญี่ปุ่นเรื่องก่อนหน้านี้ที่ผมชอบมากๆ และ Yūko ร่วมแสดงนำด้วยก็คือ “The Inerasable”
นอกจากนี้ ผมยังพบว่าเธอร่วมแสดงในหนังเรื่อง “The Magnificent Nine” ที่กำกับโดย Yoshihiro Nakamura (ผู้กำกับ The Inerasable) เลยคิดว่าตัวเองต้องหาทางดู The Magnificent Nine ให้ได้
เก้า ผมไม่ค่อย “ซื้อ” บทสรุปจบของหนังที่ค่อนข้างแฮปปี้เอนดิ้ง และช่วยยืนยันถึงคุณค่าในเรื่องสถาบันครอบครัวสักเท่าไหร่
อย่างไรก็ดี ผมกลับชอบ “บทลงเอย” ของเจ้าสุนัขชื่อ Max ซึ่งจะว่าไปมันก็แยกไม่ออกกับบทสรุปจบของโครงเรื่องในภาพใหญ่
(เพราะหนังมันจบแบบนี้ บทสรุปเรื่อง Max ถึงเป็นเช่นนี้ แต่ถ้าหนังเลือกจบในแบบอื่นๆ บทลงเอยของ Max ก็ย่อมมีความแตกต่างออกไป)
สิบ เอาเข้าจริง ผมรู้สึกกึ่งแปลกกึ่งไม่ค่อยเชื่อถือประเด็นเรื่อง “เข็มฉีดยา” และพลานุภาพอันรุนแรงของมันในช่วงครึ่งหลังของ Creepy มากนัก กระทั่งมาเจอข่าวพี่ชายคิม จอง อึน (อาจ) ถูกลอบสังหารที่มาเลเซียด้วย “เข็มอาบยาพิษ” (จากกระแสข่าวในช่วงต้นๆ)
เลยรู้สึกสยอดสยองกับไอ้ “เข็มฉีดยา” ใน Creepy ขึ้นมาซะอย่างงั้น!!!