ห้าแสนปี (ชัยศิริ จิวะรังสรรค์)
ชอบที่หนังไม่ “พูด” อะไรแยะ แต่ปล่อยให้ “บรรยากาศหลัก” และ “บรรยากาศรายล้อม” เป็นตัวผลักดันเรื่องราว (ที่มี “เนื้อหา” เยอะอยู่) ไปเรื่อยๆ
เช่น คนดูอาจไม่จำเป็นต้องรู้ชัดเลยก็ได้ว่าอนุสาวรีย์มนุษย์โบราณนั้นอยู่ที่ไหน มีชื่อเรียกว่าอะไร หนังกลางแปลงที่ฉายเป็นเรื่องอะไรบ้าง ใครคือคนกำกับ แต่ประเด็นที่ภาพยนตร์ต้องการบอกเล่า เช่น “ภาวะตกค้าง-กำกวม-การเป็นสิ่งเก่าในความหมายใหม่” ของ “มนุษย์โบราณ” และ “หนังกลางแปลง” กลับดำรงอยู่ค่อนข้างชัดเจน แถมยังหยอกล้อ-สนทนา-ส่องสะท้อนกันไปมา
โดยส่วนตัวรู้สึกว่า ถ้าหนังเรื่องนี้ถูกพัฒนาให้กลายเป็นภาพยนตร์ขนาดยาว มันก็ยังจะน่าสนใจและน่าดูอยู่
เพราะมีหลายๆ องค์ประกอบในหนังสั้นที่น่านำไปขยายความเพิ่มเติมได้ ไม่ว่าจะเป็นภาวะเหงาๆ จ่อมจมกับอารมณ์ส่วนตัวของเด็กหนุ่มในคณะฉายหนัง กระทั่งพฤติกรรม (ต่อเนื่อง) ของบุคคลภายใต้หน้ากาก ซึ่งปรากฏตัวขึ้นในช่วงท้ายๆ เรื่อง
Snakeskin (Daniel Hui)
ดูแล้วคิดถึง “ดาวคะนอง” เพียงแต่ยังแอบรู้สึกว่า ความสลับซับซ้อนเป็นชั้นๆ ของ “ดาวคะนอง” มันมีระบบระเบียบมากกว่า
ขณะเดียวกัน ก็เห็นด้วยกับหลายคนที่ชี้ว่า “ดาวคะนอง” ก็ดี “Snakeskin” ก็ดี คือตัวอย่างของหนังยุคปัจจุบันที่พยายามตั้งคำถามกับ “ประวัติศาสตร์ทางการ” หรือ “ประวัติศาสตร์แห่งชาติ” ผ่านวิธีการและการมองโลกแบบใหม่ๆ
ภาระหน้าที่ของหนังเหล่านี้ ไม่ใช่เพียงแค่การเลือกสรรหยิบใช้ “ประวัติศาสตร์กระแสรอง” บางประเด็น และเลือกบันทึก “เสียง” ของ “คนเล็กคนน้อย” จำนวนหนึ่ง เพื่อนำเอา “เรื่องเล่าที่ไม่อยู่ในกระแสหลัก” ดังกล่าว มามัดรวมเป็นธีมเดียวกัน ภายใต้โฉมหน้าของ “อภิมหาบรรยาย” บทใหม่/ทางเลือก
แต่สิ่งที่หนังรุ่นใหม่หลายๆ เรื่องกำลังทำกัน คือ การทุบทิ้ง เผาทำลาย หรือฉีก “ประวัติศาสตร์” ออกเป็นส่วนเสี้ยวเล็กน้อยอันกระจัดกระจายไม่ปะติดปะต่อเลยต่างหาก
ส่วนวิธีการและการมองโลกเช่นนี้จะนำไปสู่อะไร? จะมีพลังในการต่อสู้มากน้อยแค่ไหน? จะมีอิทธิพลเปลี่ยนแปลงวิธีคิดของคนรุ่นใหม่จำนวนมากได้จริงหรือไม่? หรือจะเป็นได้แค่ “ตัวป่วนระบบระเบียบ” ชั่วครู่ชั่วคราวในจอภาพยนตร์
คงต้องปล่อยให้เวลาเป็นเครื่องพิสูจน์
Elle (Paul Verhoeven)
หนังสนุกดูไม่ยาก แต่ก็มีประเด็นคมคายชวนคิดตามสไตล์ยุโรปภาคพื้นทวีป
สารหลักของมันก็อาจเป็นท่าทีแบบ “โพสต์-เฟมินิสต์” ที่ถ่ายทอดภาพผู้หญิง ซึ่งเป็นทั้งผู้ถูกกระทำและผู้กระทำ (กลับ) ผู้หญิงที่ดีลกับผู้ชายอย่างมีชั้นเชิง-เขี้ยวลากดิน แถมบางคราวยังกดขี่เหยียดหยามกลั่นแกล้งผู้ชายด้วยซ้ำ และผู้หญิงที่ “สมคบ” กันผลัก/กำจัดผู้ชายออกไปจากชีวิตทีละคนๆ
ตรงข้ามกับภาพของบรรดาผู้ชายในหนัง ที่เต็มไปด้วยคนแหยๆ ไม่ประสบความสำเร็จ โง่เง่า เป็นแมงดาเกาะผู้หญิงแก่ หรือต้องอำพรางปมลับความผิดบาปของตนเองเอาไว้
ขณะเดียวกัน บทบาทที่ Paul Verhoeven ส่งมอบให้ Isabelle Huppert รับไปและถ่ายทอดออกมา ก็ชวนให้นึกถึงหนังของผู้กำกับอื่นอีกหลายคน บางเสี้ยวที่เธอมีอาการประสาทแดกบ้าบอนิสัยไม่ดี ผมก็นึกถึงหนังของ Woody Allen บางส่วนที่เขย่าขวัญ-เลือดเย็น (โดยผสมผสานกับประเด็นทางสังคมหรือสายสัมพันธ์ลึกซึ้งระหว่างมนุษย์) ก็ชวนให้นึกถึงงานของ Michael Haneke
ประเด็นจิกกัดพวกเคร่งศาสนาของหนังอาจทื่อๆ ไปนิด แต่ผมชอบฉากบอกลากันระหว่างเพื่อนบ้านหญิงสาวผู้เคร่งศาสนากับคุณป้าตัวเอกจอมเขี้ยวผู้เปี่ยมตัณหาราคะ ซึ่งฝ่ายแรกแสดงให้เห็นเป็นนัยๆ อย่างเรียบร้อยว่า “เฮ้ย! กูก็รู้ทันมึงนะ อีแก่”
เท่ากับหนังได้ตอกย้ำน้ำหนักความสำคัญลงไปยังเหล่าตัวละครหญิงให้ชัดเจนเด่นชัดขึ้นอีก
อีกข้อหนึ่งที่ผมว่าน่าสนใจ ก็คือ บ่อยครั้งเวลาเราดู “หนังฝรั่งเศส” เรามักจะเห็นบริบทของความเป็นปัญญาชน หรือ “วัฒนธรรมชั้นสูง” บางอย่าง แต่ในหนังเรื่องนี้ กลับมีฉากหลังสำคัญเป็นบริษัทผลิต “วิดีโอเกม/เกมคอมพิวเตอร์” ของเจ๊ตัวละครนำ
แถมมีตัวละครปัญญาชนที่พยายามหันมาเอาดีในอุตสาหกรรมเกมคอมพิวเตอร์อีกต่างหาก
จึงแลดูแปลกดี ที่เราได้เห็นตัวละครนำในหนังฝรั่งเศสประกอบอาชีพหรือใช้ชีวิตเกี่ยวกับอะไรที่เป็น “ป๊อปคัลเจอร์” สมัยใหม่มากๆ