ภาพยนตร์เรื่อง “Pop Aye” ผลงานการกำกับฯ ของ “เคอร์สเทน ตัน” เป็นหนังร่วมสร้างระหว่าง “Giraffe Pictures” ของสิงคโปร์ ที่รับผิดชอบด้านการหาเงินทุน และ “185 Films Company” ของไทย ที่รับผิดชอบงานด้านการผลิต
หนังของผู้กำกับภาพยนตร์หญิงชาวสิงคโปร์ ที่เล่าเรื่องราวเกี่ยวกับตัวละครไทย ช้างไทย และมีท้องเรื่องเกิดขึ้นในประเทศไทย (นำแสดงโดย ธเนศ วรากุลนุเคราะห์ และ เพ็ญพักตร์ ศิริกุล) เพิ่งถูกคัดเลือกเข้าฉายในสายการประกวดของเทศกาลภาพยนตร์ซันแดนซ์ 2017
จนถือเป็นหนังสิงคโปร์และหนังไทยเรื่องแรก ซึ่งได้เข้าประกวดในเทศกาลภาพยนตร์อินดี้ที่ใหญ่สุดของสหรัฐ
นักวิจารณ์ของซันแดนซ์พูดถึงภาพยนตร์อาเซียนเรื่องนี้ว่าเป็นบทกวีเปี่ยมมนุษยธรรม ที่เล่าถึงพลังของการกระทำอันเกิดจากความเมตตากรุณาแสนธรรมดา ในโลกซึ่งสูญเสียความไร้เดียงสาและสูญสิ้นโอกาสดีๆ ไปมากมาย โดยบทกวีดังกล่าวยังถูกคั่นจังหวะด้วยมุขตลกหน้าตายที่สะท้อนถึงความไร้สาระของชีวิต ซึ่งแสดงบทบาทออกมาได้อย่างถูกที่ถูกเวลา
นักวิจารณ์ยังระบุด้วยว่า ผู้กำกับฯ ที่เพิ่งมีผลงานหนังยาวเป็นเรื่องแรกอย่าง เคอร์สเทน ตัน สามารถถักทอความโศกเศร้าและอารมณ์ขันในเรื่องราวเข้ากับการเดินทางของตัวละครนำได้อย่างประณีต ผ่านงานถ่ายภาพอันงดงามยากลบเลือน ที่ปรากฏขึ้นโดยต่อเนื่องในจอภาพยนตร์
เมื่อปลายเดือนธันวาคม 2559 เว็บไซต์ http://sg.asia-city.com/ เพิ่งจะเผยแพร่บทสัมภาษณ์ เคอร์สเทน ตัน ที่เรียบเรียงและซักถามโดย “อดัม เคอร์”
ผู้กำกับฯ หญิงชาวสิงคโปร์ ที่เคยได้รับรางวัลจากการทำหนังสั้นมาแล้วหลายครั้ง จะพูดถึงหนังยาวเรื่องแรกของตนเอง ซึ่งเป็นภาพยนตร์ “โร้ดมูฟวี่” ที่ใช้ “ช้าง” แทน “รถ” ไว้ว่าอย่างไรบ้าง
ติดตามอ่านได้จากคำถาม-คำตอบบางส่วน ในบทสนทนาดังกล่าว
“ช้าง” ในหนังเรื่องนี้ มีสถานะเป็นสัญลักษณ์เปรียบเทียบที่สื่อถึงอะไรอย่างอื่นหรือเปล่า?
ฉันตระหนักดีว่า “ช้าง” ในหนัง อาจถูกตีความในเชิงสัญลักษณ์ได้อย่างหลากหลาย แต่ในส่วนของตัวฉันเอง เมื่อต้องลงมากำกับช้างให้แสดงบทบาทในภาพยนตร์ ฉันกลับพยายามไม่ใส่ใจกับการตีความเชิงสัญลักษณ์ใดๆ มากนัก
หน้าที่สำคัญประการแรกของฉันในฐานะผู้กำกับภาพยนตร์ก็คือ การต้องทำให้ช้างในหนังมีบุคลิกพฤติกรรมที่เป็นช้างจริงๆ และมีความน่าเชื่อถือ
ฉันต้องใช้เวลาประมาณหนึ่งเดือน ในการเดินทางไปศึกษาพฤติกรรมของช้างที่ประเทศไทย จนตัวเองสามารถทำความเข้าใจสัตว์ชนิดนี้ได้ดียิ่งขึ้น และสามารถถ่ายทอดพฤติกรรมของพวกมันออกมาได้อย่างสมจริงมากขึ้น
ฉันไม่ต้องการให้ช้างในหนังเรื่องนี้ กลายเป็น “ช้างดิสนีย์น่ารักๆ” ที่เป็นผลลัพธ์ของการลอกเลียนแบบอย่างเลื่อนลอยไร้ซึ่งความรู้ ถ้าฉันต้องการใช้ “ช้าง” เป็นเพียง “สัญลักษณ์” ในหนัง ฉันก็คงไม่ต้องทำงานหนักขนาดนี้ รวมทั้งไม่ต้องไปเข้มงวดกวดขันว่าบุคลิกลักษณะของเขาที่ถูกถ่ายทอดออกมาบนจอภาพยนตร์จะมีความสมจริงหรือไม่
ฉันเชื่อว่าถ้าตนเองในฐานะผู้กำกับฯ สามารถถ่ายทอดลักษณะพฤติกรรมของช้างออกมาได้อย่างสมจริงแล้ว หลังจากนั้น ก็จะเป็นเรื่องของผู้ชม ว่าพวกเขาจะตีความถึง “ช้างตัวนี้” อย่างไรในเชิงสัญลักษณ์
นี่อาจเป็นคำถามที่คุณต้องคอยตอบอยู่บ่อยครั้ง คุณคิดว่าตัวเองเป็นคนทำหนัง “ชาวสิงคโปร์” หรือไม่?
แน่นอน ฉันคิดเสมอว่าตัวเองเป็นคนทำหนัง “สิงคโปร์” และฉันก็รู้สึกภาคภูมิใจที่ผลงานหลายเรื่องของตนเอง มีสถานะเป็นตัวแทนของประเทศสิงคโปร์ในเทศกาลภาพยนตร์นานาชาติ
ทว่า ฉันก็ไม่ได้คิดจะจำกัดตนเองให้ต้องทำหนังที่เล่าแต่เรื่องราวของคนสิงคโปร์ เพราะฉันรู้สึกว่าบทบาทของศิลปิน ควรจะถูกขยับขยายให้กว้างขวางเกินกว่าขอบเขตของความเป็นชาติ
ยิ่งกว่านั้น การไปกำหนดตั้งเป้าว่าการทำงานศิลปะหรือกระบวนการสร้างภาพยนตร์ คืออะไรบางอย่างที่ต้องถูกจำกัดไว้ด้วยขอบเขตของความเป็นชาติ ก็ควรจะเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นให้น้อยที่สุด
หรืออาจพูดให้ตรงขึ้นได้ว่า ฉันให้ความสำคัญกับความเป็นมนุษย์ มากกว่าพรมแดนที่ถูกมนุษย์สร้างขึ้นมา
ติดตามอ่านเวอร์ชั่นละเอียดได้ในนิตยสารมติชนสุดสัปดาห์ ฉบับประจำวันที่ 13-19 มกราคม 2560 หรือในเว็บไซต์ www.matichonweekly.com