สะใภ้บรื๋อ..อ์อ์ : “หน้าที่” ของหนังผีตลกในสังคมไทย

ตีพิมพ์ครั้งแรกในนิตยสารไบโอสโคปเมื่อ 7-8 ปีก่อน

นำมาเผยแพร่อีกครั้งเนื่องในวาระที่ “ธนิตย์ จิตนุกูล” มีอายุครบ 60 ปี เมื่อวันที่ 24 พฤศจิกายน 2559

นักดูหนังจำนวนหนึ่งในสังคมไทย อาจจะรู้สึกยี้กับบรรดาหนังผี ตลก กะเทย ซึ่งถูกผลิตขึ้นอย่างต่อเนื่องในช่วงหลายปีที่ผ่านมา ว่าเป็นความบันเทิงอันซ้ำซากและไร้คุณค่าทางศิลปะ เพราะหนังเหล่านั้นไม่ต้องตรงกับรสนิยม โลกทัศน์และชีวทัศน์ของพวกตน

ในวันแห่งความรักที่เพิ่งผ่านมา หนังผีตลกอีกเรื่องหนึ่งก็มีโอกาสได้ลงโรงฉายอย่างเงียบๆ หนังเรื่องดังกล่าวคือ “สะใภ้บรื๋อ..อ์อ์” ผลงานร่วมกำกับของธนิตย์ จิตนุกูล และ เสรี พงศ์นิธิ

หนังผีตลกเรื่องนี้อาจไม่ประสบความสำเร็จทางด้านรายได้ ขณะเดียวกัน ก็มีสถานะอยู่นอกสายตาของนักดูหนังหลายคน ทว่าหนังที่ดูเหมือนจะไม่มีอะไรเรื่องนี้ กลับมีอะไรบางอย่างที่น่าสนใจซ่อนอยู่ และคงน่าเสียดายมิใช่น้อย หากบรรดานักดูหนังจะพากันเพิกเฉย โดยไม่ได้คิดพิจารณาถึง “สะใภ้บรื๋อ..อ์อ์” อย่างจริงจังเท่าที่ควร

เมื่อพิจารณาอย่างคร่าวๆ “สะใภ้บรื๋อ..อ์อ์” ถือเป็นหนังที่พยายามจะยำใหญ่มหรสพความบันเทิงแบบประชานิยมเข้าด้วยกัน ตั้งแต่ความเป็นหนังวิ่งหนีผี (ที่มี “บ้านผีปอบ” เป็นแม่แบบสำคัญ) ความเป็นละครน้ำเน่าที่เน้นประเด็นความขัดแย้งระหว่างแม่ผัวกับลูกสะใภ้ (ซึ่งเป็นเรื่องราวแพร่หลายในละครโทรทัศน์ที่เข้าถึงผู้คนจำนวนมาก แม้แต่นิทานพื้นบ้านส่วนใหญ่ก็มักบอกเล่าเรื่องราวเหล่านี้ ทว่าอาจกลับขั้วความขัดแย้งเป็นพ่อตากับลูกเขย ตามขนบธรรมเนียมประเพณีสมัยก่อน ที่เมื่อแต่งงานกันแล้วฝ่ายชายต้องย้ายเข้าไปอยู่ในบ้านของฝ่ายหญิง) และความเป็นหนังตลก (ซึ่งอาจถือเป็นประเภทของหนังที่มีอำนาจนำสูงสุดในตลาดหนังไทย)

หลายคนที่มีโอกาสได้ชมหนังเรื่องนี้คงจะเห็นว่า “สะใภ้บรื๋อ..อ์อ์” ถือเป็นยำใหญ่ใส่สารพัดที่มีรสชาติกลมกล่อม ขณะเดียวกัน ก็มีมุขใหม่ๆ จำนวนหนึ่งที่ถูกนำมาผสมผสานกับความเป็นหนังวิ่งหนีผีและความเป็นหนังตลกได้อย่างลงตัว

ที่สำคัญไปกว่านั้นก็คือ ท่ามกลางมุขตลกจำนวนมากที่ทำงานอย่างได้ผล กลับไม่มีดาราตลกคาเฟ่คนใดปรากฏกายในหนัง ซึ่งสิ่งเหล่านี้ล้วนแสดงให้เห็นถึงการทำงานอย่างหนักของผู้กำกับทั้งสองคนและทีมงานเขียนบท

อย่างไรก็ตาม นอกเหนือไปจากความลงตัวดังกล่าว เรายังสามารถพบเห็นประเด็นทางสังคมประเด็นหนึ่งที่ปรากฏอย่างชัดเจนในหนังเรื่องนี้ นั่นก็คือ ประเด็นเรื่องชนชั้น

ภาพครอบครัวของพระเอกในหนัง โดยเฉพาะคุณหญิงแม่และน้องสาวของพระเอก ผู้ใช้ชีวิตอย่างหรูหราฟุ่มเฟือยไม่พอเพียง จนทรัพย์สินของตระกูลเริ่มไม่เพียงพอ กระทั่งต้องประกาศขายคฤหาสน์ประจำตระกูลทิ้ง อาจไม่ได้ขัดแย้งแตกต่างอย่างสิ้นเชิงกับภาพนางพยาบาลหน้าตาสวยบุคลิกดีของนางเอก แม้นางเอกจะโดนดูถูกดูแคลนจากแม่ผัวและน้องสะใภ้ ตลอดจนบรรดาไฮโซที่จะมาซื้อคฤหาสน์ว่า เธอมีสถานะทางสังคมที่ต่ำต้อยและเป็นชนชั้นต่ำก็ตาม

ทว่าสิ่งบ่งชี้ถึงประเด็นเรื่องชนชั้นในหนังอย่างชัดเจน กลับเป็นบรรดาตัวละครคนรับใช้ภายในคฤหาสน์ของครอบครัวพระเอก หรือ ตัวละครที่เป็นคนขับรถของ ส.ส. จากอีสาน (ซึ่งเป็นหนึ่งในบรรดาเศรษฐีที่จะมาซื้อคฤหาสน์จากคุณหญิงแม่ของพระเอก) ผู้มีสถานะแตกต่างต่ำต้อยกว่าเหล่าเจ้านายอย่างเห็นได้ชัด

ครั้นเมื่อนางเอกต้องตายลงและกลายเป็นผีจากฝีมือของแก๊งอันธพาลที่ถูกจ้างวานโดยคุณหญิงแม่และน้องสาวของพระเอก สถานะความเป็น “ผี” ของนางเอกกลับทำให้ความแตกต่างทางชนชั้นระหว่างบรรดาตัวละครมีความกำกวมขึ้นมา

ความกลัวผีที่ไม่แตกต่างกันระหว่างชนชั้นสูงกับชนชั้นล่าง ส่งผลให้บรรดาคนรับใช้หรือคนขับรถที่เป็นชนชั้นล่างสามารถต่อรองสร้างเงื่อนไข (หรือสร้างปัญหากวนใจ) กับเจ้านายที่เป็นชนชั้นสูงได้ตามสมควร เพราะต่างฝ่ายต่างหลีกเลี่ยงที่จะเผชิญหน้ากับผีนางเอก

และตัวละครทุกชนชั้นก็มีความเท่าเทียมกันมากขึ้นผ่านการวิ่งหนีผีพร้อมกันอย่างชุลมุนวุ่นวาย ดังที่ทุกคนได้เอ่ยปากอย่างสอดคล้องกันว่า ตัวเองต่างก็เป็น “ประชาชน” (ที่เป็นเจ้าของอำนาจอธิปไตยอย่างเท่าเทียมและเป็นหนึ่งเดียวกัน) ทั้งนั้น เมื่อท่าน ส.ส. จากอีสานพยายามจะหลีกเลี่ยงภารกิจสะกดศพผี ด้วยการอ้างว่า ตนยังมีภาระต้องไปช่วยเหลือ “ประชาชน”

เมื่อการวิ่งหนีผีดำเนินไปอย่างสนุกสนานจนสมควรแก่เวลา เรื่องราวของหนังก็ต้องจบลงที่การหยุดหลอกหลอนของผีนางเอก โดยการปิดฉากของ “สะใภ้บรื๋อ..อ์อ์” ก็ไม่ได้ดำเนินไปตามแบบแผนดั้งเดิมของหนังผีไทยเสียทีเดียว เพราะผีนางเอกไม่ได้หยุดหลอกหลอนเนื่องจากอิทธิฤทธิ์ของผู้วิเศษ หรือ หลักธรรมคำสั่งสอนทางศาสนาใดๆ

แต่ผีนางเอกยอมยุติภารกิจหลอกหลอนก็ต่อเมื่อคุณหญิงแม่ของพระเอกยอมรับผิดในสิ่งที่ตนกระทำขึ้น (การหลอกหลอนของผีนางเอก ยังส่งผลให้ตัวละครหลายคนต้องยอมรับในสิ่งที่ตนเคยทำผิด เช่น ส.ส.อีสาน ที่ยอมรับกรณีผลประโยชน์ทับซ้อนของตนเอง เพื่อจะได้เข้าไปซ่อนตัวอยู่ในห้องที่เขาเชื่อว่าปลอดจากผี)

การจบหนังลงอย่างแฮปปี้ เอนดิ้งเช่นนี้ ได้ทำให้เรามองเห็นถึง “หน้าที่” สำคัญของหนังผีตลกอย่าง “สะใภ้บรื๋อ..อ์อ์” กล่าวคือ แม้ประเด็นเรื่องชนชั้นจะปรากฏอยู่ในหนัง แต่จุดมุ่งหมายสำคัญของหนังก็ไม่ใช่การปลุกเร้าให้เกิดการเปลี่ยนแปลงสังคมโดยชนชั้นล่าง

ทว่า “หน้าที่” ที่หนังผีตลกเรื่องนี้พยายามทำก็ได้แก่การหยอกล้อเสียดสีข้ามชนชั้นผ่านภาพยนตร์ เพื่อผ่อนคลายความตึงเครียดหรือความขัดแย้งจริงๆ ที่ดำรงอยู่ในสังคม มากกว่าจะกระตุ้นให้เกิดการเปลี่ยนแปลงสังคมขึ้นอย่างแท้จริง

เห็นได้จากกรณีของผีนางเอก ซึ่ง “หน้าที่” ของเธอก็คือ การหลอกหลอนผู้คนในคฤหาสน์ทั้งที่เป็นชนชั้นสูงและชนชั้นล่าง จนทำให้พวกเขาเหล่านั้นกลับกลายเป็นผู้คนที่มีสถานะเท่าเทียมหรือเหลื่อมซ้อนกันในสภาวะเฉพาะ/ยกเว้น ที่เกิดขึ้นชั่วครั้งคราวในโลกภาพยนตร์

ฉากจบของหนังก็ยิ่งตอกย้ำ “หน้าที่” ดังกล่าวของผีนางเอกให้เด่นชัดขึ้น เมื่อเธอได้ปรากฏกายหลอกหลอนผู้คนอีกครั้งหนึ่ง แต่คราวนี้เธอไม่ได้หลอกหลอนผู้คนในคฤหาสน์ หากเธอกลับหลอกหลอนบรรดา “แขก” (ซิกข์) ที่เป็นเจ้าหนี้ผู้จะมายึดคฤหาสน์ประจำตระกูลจากคุณหญิงแม่

นั่นเท่ากับว่า ผีนางเอกมีหน้าที่สำคัญในการปกป้องคฤหาสน์อันเป็นสมบัติประจำตระกูลของชนชั้นสูงจาก “คนนอก” ที่เป็นเจ้าหนี้อย่าง “แขก” และความเหลื่อมล้ำทางชนชั้นในคฤหาสน์ก็ยังจะดำเนินต่อไป โดยอาจเกิดสภาวะผ่อนคลายให้มีความเท่าเทียมขึ้นในบางครั้ง เมื่อผีนางเอกปรากฏกายออกมาหลอกหลอนผู้คนในคฤหาสน์ดังกล่าว

(เช่นเดียวกันกับการล้างแค้นของผีนางเอก ที่เธอลงมือฆ่าเหล่าอันธพาลชนชั้นล่างซึ่งเป็นฆาตกรสังหารตัวเองอย่างโหดเหี้ยม แต่สำหรับผู้จ้างวานอย่างคุณหญิงแม่และน้องสาวของพระเอกที่เป็นชนชั้นสูง ในท้ายที่สุด ผีนางเอกก็ต้องการเพียงแค่การยอมรับผิดจากพวกเขาเท่านั้น)

นอกจากนี้ หากเราพิจารณาอย่างจริงจังแล้ว กลุ่มตัวละครเจ้าหนี้ “แขก” น่าจะเป็นฝ่ายที่สามารถสร้างความสั่นสะเทือนทางชนชั้นให้เกิดขึ้นได้จริงๆ เพราะพวกเขาเป็น “แขก” โพกหัวตัวเป็นๆ ที่สามารถขี่มอเตอร์ไซค์เข้ามาทวงหนี้ปลดทรัพย์จากคุณหญิงชนชั้นสูงผู้เป็นลูกหนี้ ซึ่งมีรถโรลสรอยส์จอดอยู่ในบ้านได้ ไม่ใช่เป็นแค่ “ผี” ที่มาหลอกหลอนให้บรรดาชนชั้นสูงและชนชั้นล่างต้องรวมตัวอย่างเท่าเทียมกันเฉพาะในเวลากลางคืนเท่านั้น

ด้วยเหตุนี้ “หน้าที่” สำคัญของหนังผีตลกอย่าง “สะใภ้บรื๋อ..อ์อ์” และผีนางเอกในเรื่อง จึงเป็นการหลอกหลอนยั่วล้อเสียดสีประเด็นเรื่องชนชั้นในสังคม ผ่านความบันเทิง ความสนุกสนาน และความตลกขบขันอันกลมกล่อม เพื่อผ่อนคลายความตึงเครียดหรือความขัดแย้งดังกล่าวชั่วครั้งคราว และเพื่อค้ำจุน “โครงสร้าง” สังคมที่ก่อให้เกิดหรือเสริมส่งความไม่เท่าเทียมกันของผู้คนให้ดำรงอยู่และดำเนินต่อไป

โดยที่ “ชนชั้นสูง” และ “ชนชั้นกลาง” จำนวนมากต่างก็ได้รับผลประโยชน์ ความมั่นคง และความสุขจากโครงสร้างสังคมเช่นนี้ ส่วนนักดูหนังจำนวนหนึ่งที่แสดงอาการรังเกียจหนังผี ตลก กะเทย ก็จะยังมีโอกาสแสวงหา “หนังดีๆ” มาดูอยู่เรื่อยไป ภายในโครงสร้างสังคมแบบเดิม

Leave a Reply

Fill in your details below or click an icon to log in:

WordPress.com Logo

You are commenting using your WordPress.com account. Log Out /  Change )

Twitter picture

You are commenting using your Twitter account. Log Out /  Change )

Facebook photo

You are commenting using your Facebook account. Log Out /  Change )

Connecting to %s

This site uses Akismet to reduce spam. Learn how your comment data is processed.