ธงชัย วินิจจะกูล ว่าด้วย “ประวัติศาสตร์-ความต่อเนื่อง-การแทนที่-ฟิล์มภาพยนตร์”

ต้นเรื่อง

“…อาจารย์สายชล (สัตยานุรักษ์ – บล็อกคนมองหนัง) เข้าใจว่าการแทนที่หมายถึงกระบวนการเปลี่ยนแปลงที่สิ่งใหม่เข้าแทนที่สิ่งเก่าอย่างรวดเร็วฉับพลัน ส่วนความต่อเนื่องหมายถึงเกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างช้า ๆ ขยับปรับตัวเป็นวิวัฒนาการในสังคมนั้นเอง อาจารย์สายชลยังเห็นว่าลักษณะแรกเกิดกับสังคมฝรั่ง ลักษณะหลังเกิดกับสังคมไทย อย่างแรกคือพวกที่เน้นว่าการเปลี่ยนแปลงเป็นผลจากปัจจัยภายนอก ส่วนอย่างหลังเป็นผลของการคลี่คลายภายใน อาจารย์สายชลจึงวิพากษ์ผมว่า เอาทฤษฎีวิธีการฝรั่งมาใช้กับสังคมไทย…”

ประวัติศาสตร์-ความต่อเนื่อง-การแทนที่-ฟิล์มภาพยนตร์

“…ขอยกตัวอย่างที่ไม่เกี่ยวกับประวัติศาสตร์ไทยเลย แต่เพื่อเป็นอุปมาว่าความต่อเนื่องกับการแทนที่นั้นบางกรณีอาจเป็นกระบวนการเดียวกันสนิท แยกไม่มีทางได้ ความต่างกลับอยู่ที่แง่มุมและวิธีการของตัวผู้ศึกษาเอง

“ผู้อ่านทุกท่านเคยดูภาพยนตร์จอใหญ่มาแล้วทั้งนั้น คงไม่มีใครเถียงว่าความเคลื่อนไหวบนจอภาพยนตร์มีลักษณะต่อเนื่องราบเรียบ แต่ผู้พอมีความรู้พื้น ๆ ย่อมรู้ดีว่าความต่อเนื่องบนจอนั้น แท้ที่จริงแล้วเป็นผลของการที่ภาพนิ่งในกรอบต่าง ๆ กันบนแผ่นฟิล์มภาพยนตร์เข้ามาแทนที่กรอบก่อนหน้าในอัตราเร็วเกินกว่าสายตามนุษย์จะจับการเข้าแทนที่นั้นได้

“คิดในทางกลับกัน การเคลื่อนไหวของเวลาซึ่งดูเหมือนต่อเนื่องราบเรียบไปเรื่อย ๆ ครั้นถูกบันทึกด้วยฟิล์มภาพยนตร์เพื่อจะนำกลับมา ‘ถ่ายทอด’ (represent) อีกทีในภายหลัง กลับต้องบันทึกด้วยการทำให้ความต่อเนื่องนั้นแตกออกเป็นภาพนิ่งจำนวนมากบนสายฟิล์มยาวเหยียด

“ความต่อเนื่องหรือการแทนที่ในเวลาต่อมาจึงมีอีกปัจจัยมาเกี่ยวข้อง ได้แก่ เครื่องฉายภาพยนตร์ หรือเครื่องมือที่มาทำหน้าที่ถ่ายทอดความสัมพันธ์ระหว่างความจริงต่าง ๆ กับการถ่ายทอดต่าง ๆ วิธี และเครื่อง/ผู้สังเกตการณ์หลายชนิด

“จากตัวอย่างนี้อาจจัดสัมมนาได้เต็มวัน ในที่นี้ผมต้องการชี้ให้เห็นประเด็นเดียวว่า (สิ่งที่เรียกว่า) การแทนที่และความต่อเนื่องบางทีเป็นเรื่องเดียวกันก็มี ถ้าคิดว่าอุปมานี้ไม่มีอะไรเกี่ยวข้องกับกระบวนท่าการเปลี่ยนแปลงของประวัติศาสตร์เลย ก็ต้องขอให้คิดให้ดี ๆ ก่อน…”

ส่วนหนึ่งของบทความ “อย่าดูเบาวิธีวิทยา : ตอบอาจารย์สายชล” ในหนังสือ “โฉมหน้าราชาชาตินิยม : ว่าด้วยประวัติศาสตร์ไทย” โดย ธงชัย วินิจจะกูล (สำนักพิมพ์ฟ้าเดียวกัน)

Leave a Reply

Fill in your details below or click an icon to log in:

WordPress.com Logo

You are commenting using your WordPress.com account. Log Out /  Change )

Twitter picture

You are commenting using your Twitter account. Log Out /  Change )

Facebook photo

You are commenting using your Facebook account. Log Out /  Change )

Connecting to %s

This site uses Akismet to reduce spam. Learn how your comment data is processed.