ระหว่างนั่งดู “สายโลหิต 2538” เมื่อคืนวันพฤหัสบดีที่ 17 พ.ย. ซึ่งนำเสนอฉากรบที่อ่าวหว้าขาว ผมรู้สึกตงิดใจอยู่นิดๆ ว่ามันมีอะไรบางอย่างขาดหายไป
จากความทรงจำส่วนตัว ฉากหนึ่งในละครเรื่องนี้ที่ติดตาผมมากๆ คือ ฉากทหารพม่ารุมฆ่า “ขุนรองปลัดชู” (รับบทโดยธนา สินประสาธน์) ที่อ่าวหว้าขาว
คาแรคเตอร์ของขุนรองปลัดชูในละครเรื่องนี้ เป็นคนหนังเหนียวมีคาถาอาคม ฟันแทงด้วยอาวุธไม่เข้า ดังนั้น ตัวละครทหารพม่าหลายคนจึงต้องมารุมอัดรุมทุบขุนรองฯ แล้วอุ้มแกไปกดน้ำให้ขาดอากาศหายใจในทะเล
(ดาราวิดีโอมัก “เก่ง?” ในเรื่องอย่างนี้ ตอนละคร “ฟ้าใหม่” เมื่อปี 2547 เขาก็ทำฉาก “จมื่นศรีสรรักษ์” รับบทโดยบิณฑ์ บรรลือฤทธิ์ ถูกทหารพม่าฟันร่างขาดเป็นสองท่อนอย่างน่าสยดสยอง จนกลายเป็นภาพติดตาอีกภาพหนึ่งในความจำของผม)
ปัญหา คือ ระหว่างนั่งดูสายโลหิตฉบับรีรัน ตอนที่มีการรบ ณ อ่าวหว้าขาว หน้าจอทีวีเมื่อคืนวาน
ฉากขุนรองปลัดชูถูกรุมฆ่ากลับหายไปอย่างไร้ร่องรอย
โดยในฉากรบดังกล่าว จะมีแค่การตายของหลวงเสนาสุรภาค การคล้ายๆ จะตายของขุนไกรและพันสิงห์ ส่วนตัวละครขุนรองฯ จะมีฉากที่แกเริ่มต่อยตีกับทหารพม่า แล้วก็โดนตัดหายไปซะเฉยๆ
ก่อนที่ละครจะตัดไปภาพมุมกว้างที่มีทหารกองทัพอยุธยานอนตายเกลื่อน แล้วหมื่นทิพย์ (ที่แอบซุ่มไม่กล้าออกไปรบ) ก็รีบเดินทางกลับกรุงศรีอยุธยา เพื่อแจ้งข่าวการตายของหลวงเสนาฯ และขุนไกร ให้ญาติพี่น้องรับทราบ
สามารถดูฉากรบที่อ่าวหว้าขาวในสายโลหิตเวอร์ชั่นรีรัน ที่เพิ่งออกอากาศไปเมือคืนวันที่ 17 พ.ย. ได้ที่ลิงก์ด้านล่าง (จุดไคลแม็กซ์จะอยู่ช่วงนาทีที่ 12 ไปจนจบคลิป)
ซึ่งเมื่อลองเปรียบเทียบกับคลิปยูทูบที่บันทึกมาจากตัวละครเวอร์ชั่นดั้งเดิม (ไคลแม็กซ์อยู่ตรงช่วงนาทีที่ 15.00-18.30)
จะเห็นได้ชัดว่าฉากตัวละครทหารพม่ารุมฆ่าขุนรองปลัดชู แถมยังแสดงอาการดีใจเมื่อฆ่าได้สำเร็จ นั้นถูกตัดออกไปจากสายโลหิตเวอร์ชั่นรีรัน
และน่าสังเกตด้วยว่าพวกฉากความรุนแรงจากการใช้อาวุธต่างๆ (ระดับน้องๆ หลานๆ “แซม เพกคินพาห์”) ก็ถูกตัดซอยให้สั้นลงพอสมควรในเวอร์ชั่นรีรัน
นี่อาจเป็น “แนวโน้มที่ดี” ในการพยายามรักษาสายสัมพันธ์กับประเทศเพื่อนบ้านร่วมประชาคมอาเซียน และการลดทอนอารมณ์ความรู้สึกชาตินิยมแบบแบ่งมิตรแยกศัตรูชนิดสุดขั้วในประวัติศาสตร์กระแสหลัก?
หรืออาจเป็นตัดทอนเนื้อหาโหดร้ายรุนแรงของละครโทรทัศน์ยุคปลายทศวรรษ 2530 ที่เข้ากันไม่ได้กับจริตของคน (ชั้นกลางที่) ดูทีวียุคปัจจุบัน?
หรืออาจเป็นกลยุทธที่จะทำให้ละครได้รับเรตอายุคนดู ซึ่งไม่สูงและแคบจนเกินไป?