Bangkok Stories (ยกเว้น “หมอชิต”)
เยาวราช (อภิญญา สกุลเจริญสุข)
เรียบๆ ธรรมดาๆ ไปหน่อยนึง
เหมือนหนังจะพยายามจำกัดกรอบอะไรบางอย่างให้ตัวเองมากเกินไปนิด
แต่ก็เห็นด้วยกับบางเสียง ที่บอกว่าจุดน่าสนใจของมัน คือ การเป็นหนังชื่อ “เยาวราช” ที่ไม่ได้พยายามมุ่งเน้นนำเสนอภาพ-เรื่องราวเกี่ยวกับ “ความเป็นจีน” ในสังคมไทย
ข้าวสาร (อโนชา สุวิชากรพงศ์)
จริงๆ ตัวพื้นที่ และลักษณะการใช้สอยพื้นที่ของหนังเรื่องนี้ มัน “คลิก” กับประสบการณ์ส่วนตัวของผมพอสมควร
ช่วงเรียนปริญญาตรี-โท ที่ธรรมศาสตร์ ผมวนเวียนอยู่แถวข้าวสารบ่อยๆ แต่ก็ไม่ได้ “เที่ยว-ดื่มตอนกลางคืน” ถี่นัก ขณะเดียวกัน วัดชนะสงคราม ก็เป็นที่ที่ผมใช้จอดรถ เลยได้โอกาสเดินเที่ยวในวัดแบบไม่มีจุดหมายอะไรชัดเจนนักอยู่เสมอๆ
แต่น่าเสียดาย ที่ตัวละครหลักในหนังมันมี “ความเป็นมนุษย์” ที่แปลกๆ แข็งๆ เป็นเครื่องยนต์กลไกพอสมควร คนดูเลยอาจอินกับเธอและเขาได้ไม่มากนัก ทั้งๆ ที่มันมีโมเมนต์สนุกๆ เหงาๆ ซึ้งๆ หวานๆ ปะปนอยู่บ้างประปราย
นอกจากนี้ ไม่รู้ว่าถ้าหนังลองพลิกเส้นเรื่องให้เดินไปตามคำทำนายของหมอดูหญิงแบบเต็มๆ มันจะทำให้หนังสนุก โดดเด่น หรือมีอะไรน่าจดจำกว่านี้หรือไม่
อย่างไรก็ดี ชอบที่หนังเลือกใช้เพลง “อ่องอ๊องเอ” ในช่วงท้ายเรื่อง เพราะนี่เป็นเพลงเดียวในอัลบั้มชุดที่สองของเป้ อารักษ์ ที่ผมชอบมากๆ
พาหุรัด (โสรยา นาคะสุวรรณ)
จริงๆ กลุ่มคน-วัฒนธรรมซิกข์ในย่านพาหุรัดเริ่มถูกเล่าถึงบ่อยครั้งขึ้นในสื่อภาพเคลื่อนไหว โดยเฉพาะพวกสารคดีหรือรายการท่องเที่ยว-ไลฟ์สไตล์ทางโทรทัศน์
ซึ่งมุ่งเน้นไปที่วัดซิกข์สีทองอร่าม และอาหารการกิน-สินค้าผ้าย่านหาพุรัด
แต่คนดูยังไม่เคยได้เห็นมิติการใช้ชีวิตประจำวันที่ลึกซึ้งหรือลงรายละเอียดของคนซิกข์ย่านพาหุรัดให้มากกว่านั้น
ดูเหมือน “พาหุรัด” ของโสรยา จะพยายามทำหน้าที่ดังกล่าว และทำได้ดีทีเดียว
เราได้เห็นแง่มุมชีวิตเล็กๆ ของเด็กหนุ่ม ม.ปลาย ที่นับถือศาสนาซิกข์ ภาระ-ทางแยก-ปัญหาที่ครอบครัวของเขากำลังเผชิญหน้า ตลอดจนความฝันของเด็กหนุ่มและเพื่อนหญิงคนสนิท
ซึ่งหนังถ่ายทอดออกมาได้กำลังดีและสวยงามในหลายช็อตหลายซีน
องค์ประกอบหนึ่งในหนังที่ผมชอบและรู้สึกติดตามากๆ ก็คือ ฉากถอดผ้าโพกศีรษะในห้องน้ำของตัวละครเด็กหนุ่ม (ซึ่งไม่ค่อยมีให้เห็นบ่อยนัก)
สีลม (วรกร ฤทัยวาณิชกุล)
โดยรวมแล้วน่ารักดี
แต่รู้สึกว่าแง่มุมเกี่ยวกับการเมือง ที่ถูก “ซ่อนแฝง” เอาไว้ในหนัง มันปรากฏขึ้นอย่างจงใจหรือค่อนทางทื่อตรงไปหน่อย
อีกส่วนที่ชอบ คือ การไปจีบกันในสวนงู สถานเสาวภา ซึ่งให้ความรู้สึกแปลกๆ ชวนพิศวง กึ่งสวยงามกึ่งสยดสยองดี
สุขุมวิท (อาทิตย์ อัสสรัตน์)
เป็นอีกเรื่องที่น่ารัก สนุกสนาน และขำขันดี ส่วนนักแสดงนำหญิงสองคนในเรื่องก็น่ารักมากๆ ทั้งคู่
ไม่ต้องเอ่ยถึง เบสท์ ณัฐสิทธิ์ นักแสดงนำชาย ที่พุ่งทะยานเป็นพลุแตกไปแล้วเรียบร้อย เข้าใจว่า หนังถ่ายทำกันก่อนที่เบสท์จะโด่งดังขึ้นมาอย่างฉับพลัน และนี่อาจเป็นหนังเรื่องท้ายๆ ที่เขาจะได้รับบทเป็นหนุ่มเนิร์ดๆ หรืออันเดอร์ด็อก
จุดที่ชอบ คือ ความเป็นไปได้ของความสัมพันธ์ระหว่างตัวละครสามรายนี้ ซึ่งเมื่อเดินทางมาถึงจุดท้ายสุดแล้ว มันสามารถออกได้ทุกหน้าเลย
ตรงนี้นับว่าหนังเล่นกับความกำกวมได้น่าสนใจ
ภาพรวม
ผมรู้สึกว่าโจทย์เรื่อง “ความรัก (ของหนุ่มสาว)” อาจกลายเป็นข้อจำกัดให้หนังพอสมควร
ขณะที่ “หมอชิต” และ “พาหุรัด” พยายามจะไปไกลกว่านั้น และได้ผลลัพธ์ที่น่าพอใจ
“สีลม” และ “สุขุมวิท” ก็พยายามเล่นกับกรอบดังกล่าว และ “เล่น” ออกมาได้สนุก
ผิดกับ “เยาวราช” และ “ข้าวสาร” ที่มีอาการเกร็งกับกรอบ จนไปได้ไม่สุดทาง
อย่างไรก็ดี แง่มุมเรื่อง “พื้นที่” กลับไม่ได้เป็นกรอบที่บีบบังคับหนังให้แน่นิ่งตายตัว
กระทั่ง “เยาวราช” ซึ่งเหมือนจะเป็นหนังที่อ่อนสุดในบรรดา 6 เรื่อง ก็ยังสามารถตีความ “พื้นที่เยาวราช” ออกมาได้น่าสนใจ
หรือ “สุขุมวิท” ก็เลือกตีความโจทย์อย่างผิดแผก ด้วยการฝังตัวเองลงไปในพื้นที่เฉพาะ ที่เล็กย่อย (ทว่าเบลอร์) ยิ่งกว่าย่านสุขุมวิทเสียอีก
ไม่รวมถึง “หมอชิต” ที่เดินทางออกไปไกลจาก “พื้นที่/สถานีขนส่งหมอชิต” มากมาย
นอกจากนั้น ผมรู้สึกติดกับ “กรอบเวลา” ของหนังแต่ละเรื่องนิดนึง
โอเค ด้วยความที่เป็นหนังสั้น ความยาวราวๆ แค่ 15 นาที การเล่าเรื่องผ่านกรอบเวลาหนึ่งวัน/หนึ่งคืน จึงน่าจะเป็นอะไรที่เหมาะสมลงตัวที่สุด
แต่ก็น่าตั้งคำถามเหมือนกันว่า ถ้าผู้กำกับพยายาม “เล่นกล” กับกรอบเวลา ผลลัพธ์ที่ได้จะเป็นอย่างไร?
ดังเช่นที่กรอบเวลาของ “หมอชิต” โดยวิชชานนท์ สมอุ่มจารย์ ถูกยืดขยายออกไปถึง 9 ปี จนส่งผลให้เรื่องราวในหนังมีมิติเหลี่ยมมุมสลับซับซ้อนขึ้น และมีพลวัตความเปลี่ยนแปลงเด่นชัดขึ้นตามไปด้วย