ปฏิกิริยาต่อ “ดาวคะนอง” จากนักวิจารณ์หนังต่างชาติ
(มติชนสุดสัปดาห์ 19-25 สิงหาคม 2559)
ผ่านพ้นไปแล้วสำหรับเทศกาลภาพยนตร์โลคาร์โน 2016 ที่ประเทศสวิตเซอร์แลนด์
ในเทศกาลประจำปีนี้ มีภาพยนตร์ไทยเรื่อง “ดาวคะนอง” โดย “อโนชา สุวิชากรพงศ์” ถูกคัดเลือกเข้าฉายในสายการประกวดนานาชาติด้วย
แม้ไม่ได้รางวัลอะไรติดไม้ติดมือกลับมา แต่หลายเสียงก็ชื่นชมในความแปลกแหวกแนวและรูปแบบการเล่าเรื่องที่หลุดพ้นออกจาก “ขนบมาตรฐาน” ของหนังเรื่องนี้
“ออเรลี โกเดต์” เขียนวิจารณ์ “ดาวคะนอง” ในเว็บไซต์ทางการของเทศกาลภาพยนตร์โลคาร์โนว่า ภาพยนตร์เรื่องนี้รับมรดกตกทอดมาจาก “เจ้านกกระจอก” หนังยาวเรื่องแรกของอโนชา
ที่ไม่ได้เล่าเรื่องราวอันข้องเกี่ยวกับประวัติศาสตร์ความทรงจำออกมาในรูปของการเรียงลำดับเหตุการณ์ แต่หนังทำตัวเสมือนยานพาหนะ ซึ่งกำลังนำพาผู้ชมท่องไปบนท้องถนน โดยคาดเดาหนทางข้างหน้าไม่ได้
โกเดต์ตีความว่ากระแสสำนึกที่เป็นแกนกลางในการเล่าเรื่องของ “ดาวคะนอง” น่าจะเป็นกระบวนการทางความคิดของตัวละครหลักชื่อ “แอน” ผู้กำกับภาพยนตร์หญิงที่เสาะแสวงหาเรื่องราวดีๆ เปี่ยมคุณค่าความหมาย มาสรรค์สร้างเป็นภาพเคลื่อนไหว
ในที่สุด แอนก็ได้ไปสัมภาษณ์ผู้หญิงที่เป็นแรงบันดาลใจให้เธอ สตรีคนนี้ประกอบอาชีพเป็นนักเขียน และมีอดีตเป็นนักศึกษา-นักกิจกรรมในช่วงเหตุการณ์ 6 ตุลาคม 2519
จากจุดนั้น ความทรงจำต่างๆ จึงถูกรื้อฟื้นให้ปรากฏขึ้น ผ่านภาพฝันซึ่งมีลักษณะดังราวบทกวีที่เอื้อนเอ่ยรำพึงรำพันถึงอดีต
โกเดต์เห็นว่า ไม่ว่าภาพฝันเหล่านั้นจะเป็นความพยายายามในการรื้อฟื้นเหตุการณ์ทางประวัติศาสตร์ ที่ถูกรัฐบีบบังคับให้หลงลืม หรือมีสถานะเป็นส่วนเสี้ยวที่ขาดหายไปจากบทบันทึกการเดินทางส่วนบุคคล
แต่ภาพทั้งหมดก็ถูกเรียงร้อยและสร้างความหมายใหม่ขึ้นมา ในทิศทางการเล่าเรื่องอันผิดแผก แตกต่าง และยากคาดเดา
อย่างไรก็ตาม นักวิจารณ์ต่างชาติผู้นี้เตือนว่า อาจเป็นไปได้เช่นกัน ที่กระแสสำนึกซึ่งผู้ชมหนังเรื่องนี้เข้าถึงนั้น เป็นวิธีการมองโลกและทำความเข้าใจอดีตของตัวละครผู้กำกับภาพยนตร์ ที่กำลังนำเสนอให้คนดูเห็นถึง “ความเป็นไปได้แบบหนึ่ง” ซึ่งเธอสามารถบังคับควบคุมมันด้วยฐานะผู้ทรงอำนาจสูงสุด (ในการผลิตเรื่องเล่า)
โกเดต์เสนออีกว่า การนำเสนอภาวะไหลเลื่อนของเรื่องราวผ่านห่วงโซ่สถานการณ์ ที่ตัวละครหลายกลุ่มใน “ดาวคะนอง” ต้องเผชิญหน้า ได้ส่งผลให้คนดูมีโอกาสมองเห็นสถานการณ์ต่างๆ จากมุมสูง (ประหนึ่ง “พระเจ้า” บนสรวงสวรรค์ หรือนกบนฟ้า) ทั้งยังเป็นการขับเคลื่อนประเด็นปริศนาอันหลากหลายในภาพยนตร์ ให้มีความสอดคล้องเป็นองค์รวมหนึ่งเดียวกัน
เธอตั้งคำถามส่งท้ายว่า บางทีการเล่าเรื่องราวบางอย่างให้วกวนงงงวยเข้าไว้ อาจถือเป็นวิธีการเล่าเรื่องที่ซื่อสัตย์ต่อชีวิตของมนุษย์มากที่สุด เพราะแม้แต่ดีเอ็นเอ ซึ่งสามารถตัดต่อ-กำหนดคุณสมบัติได้ล่วงหน้า ก็ยังต้องมีปัจจัยเรื่องความบังเอิญและความไม่แน่นอนเข้ามาเกี่ยวข้อง
ด้วยเหตุนี้ มนุษย์ทุกคนจึงอาจใช้ชีวิตอยู่ภายในความฝัน อันเป็นความฝันถึงชีวิตของพวกเขานั่นเอง
ขณะเดียวกัน “จูเซปเป้ ดิ ซัลวาตอเร” ก็ได้เขียนถึง “ดาวคะนอง” ลงในเว็บไซต์ http://www.filmexplorer.ch
เขาเห็นว่าการเล่าเรื่องที่มีพัฒนาการเป็น “เส้นตรง” ของ “ดาวคะนอง” ถูกทำลายลง เมื่อตัวละครผู้กำกับหญิงและอดีตนักศึกษา-นักกิจกรรม ได้เริ่มแลกเปลี่ยนทัศนะมุมมองซึ่งกันและกัน
หลังจากนั้น หนังก็เต็มไปด้วยภาวะการ “กระโดดข้าม” จากเรื่องเล่าหนึ่งไปยังเรื่องเล่าอื่น จากมุมมองหนึ่งไปยังอีกมุมมอง และจากภาพยนตร์เรื่องหนึ่งไปถึงหนังเรื่องใหม่ (ซึ่งนับเป็นลักษณะโดดเด่น)
อย่างไรก็ดี ดิ ซัลวาตอเร มองว่าอโนชามิได้พยายามล้มล้างรูปแบบการเล่าเรื่องในลักษณะ “เส้นตรง” โดยสิ้นเชิง แต่เธอกำลัง “เล่น” กับมัน
ท้ายที่สุด “เส้นเรื่อง” ของ “ดาวคะนอง” จึงมิได้เป็นเพียงเส้นทางให้ใครๆ เดินตามโดยง่าย หากมันเป็นหนทางที่เปิดกว้างต่อการครุ่นคิดจินตนาการของผู้ชม โดยเฉพาะเมื่อคนดูได้เริ่มตระหนักว่าตนเองกำลัง “หลงทาง” อยู่
นักวิจารณ์รายดังกล่าวยังตั้งข้อสังเกตว่า เส้นเรื่องอันกระจัดกระจายของ “ดาวคะนอง” ได้ถูกเชื่อมโยงเข้าหากันด้วยองค์ประกอบเล็กๆ น้อยๆ จำนวนหนึ่ง ไม่ว่าจะเป็นดอกเห็ด, ดวงจันทร์, เศษขยะ และรายละเอียดปลีกย่อยในการดำเนินชีวิตประจำวัน
สายสัมพันธ์สอดคล้องระหว่างสิ่งต่างๆ ในโลกนี้จึงยังคงดำรงอยู่อย่างเงียบๆ และห่างๆ จากจุดสนใจและเจตจำนงของพวกเราส่วนใหญ่
ดิ ซัลวาตอเร ระบุว่าตัวละครเล็กๆ รายหนึ่ง ซึ่งทำหน้าที่เป็นตัวแทนของ “ความต่อเนื่องเชื่อมโยง” ก็คือ พนักงานทำความสะอาดหญิง ซึ่งเป็นตัวละครเพียงรายเดียว ที่มีชีวิตโลดแล่นอยู่ทั้งใน “หนัง” ซึ่งกำลังถูกถ่ายทำ ของตัวละครผู้กำกับสาว และใน “โลกความเป็นจริง” ของภาพยนตร์
หากมองอีกมุมหนึ่ง ตัวละครรายนี้จึงมีสถานะเป็นเหมือน “ผู้ชำระล้างความฝัน” หรือเป็นผู้มีบทบาทต่อต้านการสร้าง “ภาพแทน” ในโลกภาพยนตร์นั่นเอง
เท่าที่ตามอ่านบทวิจารณ์ต่างประเทศ ดูคล้าย “ดาวคะนอง” จะเป็นหนังที่พูดถึง “ประวัติศาสตร์การเมืองไทยร่วมสมัย” ผ่านปมเงื่อน-กลวิธีอันสลับซับซ้อน และเต็มไปด้วยนัยยะความหมายยอกย้อนหลากหลายชั้น
ซึ่งนั่นคงเป็นยุทธวิธีที่ “เวิร์ก” ที่สุด ในการบอกเล่าเรื่องราวดังกล่าวผ่านสื่อบันเทิงอย่างภาพยนตร์
http://www.filmexplorer.ch/detail/dao-khanong/
ของแถม
ล่าสุด เว็บไซต์ indiewire ก็เพิ่งเผยแพร่บทความของ “เคลลี่ ตง” ที่มีเนื้อหาส่วนหนึ่งเขียนถึง “ดาวคะนอง”
ตงระบุว่า หนังเรื่องนี้ได้ท้าทายวิธีคิดเรื่องการประกอบสร้างประวัติศาสตร์ รวมทั้งได้มอบวิถีทางใหม่ๆ ในการรับรู้ประวัติศาสตร์ ที่อยู่นอกเหนือจากอำนาจนำในการสร้างภาพเคลื่อนไหวแบบเดิมๆ ให้แก่ผู้ชม
นักวิจารณ์ผู้นี้เห็นว่า ผลงานหนังยาวเรื่องล่าสุดของอโนชาเป็นทั้งการวิพากษ์ การเฉลิมฉลอง และการสำรวจตรวจสอบเส้นแบ่งอันพร่าเลือนระหว่าง “ภาพยนตร์” กับ “ความจริง” ไปพร้อมๆ กัน
โดยหนังได้ทิ้งคำถามไว้ให้คนดูขบคิดต่อว่า เรื่องราวในจอภาพด้านหน้าตนเองนั้น คือ เรื่องราวของชีวิตจริง หรือ เรื่องราวของชีวิตในภาพยนตร์ หรือ ยิ่งกว่านั้น มันยังอาจเป็นเรื่องราวของภาพยนตร์ที่ดำรงอยู่ในภาพยนตร์อีกเรื่องหนึ่ง (หนังซ้อนหนัง)
กระทั่งอาจเป็นภาพยนตร์ที่ดำรงอยู่ในภาพยนตร์อีกเรื่องหนึ่ง ซึ่งก็ดำรงอยู่ในภาพยนตร์อีกหนึ่งเรื่อง (หนังซ้อนหนังซ้อนหนัง)
ตงชี้ว่า แม้เรื่องราวของ “ดาวคะนอง” จะผูกโยงอยู่กับเหตุการณ์ 6 ตุลาคม 2519 โศกนาฏกรรมระดับชาติ ซึ่งนำไปสู่การมีอำนาจทางการเมืองเพิ่มสูงขึ้นของรัฐบาลทหาร อย่างไรก็ตาม อโนชากลับโฟกัสหนังของตนเองไปที่กลุ่มตัวละคร ซึ่งความสัมพันธ์ระหว่างพวกเขากับเหตุการณ์สังหารหมู่ทางการเมือง ได้ถูกทิ้งค้างไว้ให้เป็นปริศนา
จากนั้น เรื่องราวต่างๆ ของหนัง ก็ดำเนินไป ผ่านการประกอบสร้างตัวเองขึ้นมาใหม่ซ้ำแล้วซ้ำเล่า ซึ่งนี่อาจเป็นภาพเปรียบเทียบของสภาวะที่ “ความทรงจำร่วม” มักถูกตีความใหม่และถูกรื้อฟื้นขึ้นเพื่อจดจำ ด้วยวิถีทางอันหลากหลาย อย่างต่อเนื่องสม่ำเสมอ
สำหรับเคลลี่ ตง “ดาวคะนอง” เป็นหนังว่าด้วยประวัติศาสตร์ ที่มิได้อ้างอิงกลับไปยังเหตุการณ์ทางประวัติศาสตร์ ซึ่งหนังกำลังกล่าวถึง โดยตรง แต่หนังกลับเลือกที่จะนำเสนอประวัติศาสตร์จากแง่มุมตรงชายขอบ
ในภาพยนตร์เรื่องนี้ แนวความคิดเกี่ยวกับ “ประวัติศาสตร์” จึงถูกรื้อสร้างให้มีสถานะเป็นอะไรบางอย่างที่ถูกจำกัดอยู่ในอดีต ทว่า ไม่มีที่ทางในปัจจุบันและอนาคต
นอกจากนั้น อโนชา ยังสร้างสายสัมพันธ์อันสลับซับซ้อนระหว่าง “เวลา” กับ “พื้นที่” ได้อย่างแพรวพราว
เหตุการณ์ในหนัง ที่เป็นมุมมองของตัวละครรายหนึ่ง สามารถถูกสลับโยกจนกลายเป็นมุมมองของตัวละครอีกรายได้ตามใจปรารถนา โดยคนทำหนังไม่มีอาการพะวักพะวง หรือมีห่วงว่าจะต้องอธิบายถึงความสัมพันธ์ระหว่างตัวละครเหล่านั้นให้เด่นชัด
กลุ่มตัวละครในภาพยนตร์เรื่องนี้ก็มีสถานภาพอันหลากหลาย ตั้งแต่อดีตแกนนำกลุ่มเคลื่อนไหวทางการเมือง, นักศึกษามหาวิทยาลัย, คนทำหนัง, ป๊อปสตาร์ชื่อดัง และวัยรุ่นสาวที่กำลังหางานทำ
“ดาวคะนอง” ได้เชื้อเชิญคนดูให้ปะติดปะต่อเรื่องเล่าของตัวละครแต่ละคน/กลุ่มเหล่านั้นด้วยตัวเอง โดยทิ้งไว้ให้เพียงรหัสยนัยอันกระจัดกระจายจำนวนหนึ่ง ซึ่งทำหน้าที่เชื่อมร้อยเรื่องราวแต่ละส่วนเข้าหากัน
ท้ายสุด ตงสรุปคล้ายๆ กับนักวิจารณ์อีกหลายคนว่า ภาวะประหนึ่งฝันที่ดำเนินไปอย่างเลื่อนไหลใน “ดาวคะนอง” ส่งผลให้ประวัติศาสตร์ถูกนำเสนออย่างไม่เป็นเส้นตรง หากคือการเดินทางหมุนวนเป็นวงจรไม่รู้จบ
ลักษณะการดำเนินเรื่องเช่นนี้ได้ช่วยเน้นย้ำให้เห็นความพยายามที่จะอภิปรายถกเถียงถึง “มุมมืด” ในประวัติศาสตร์ไทย ของ “ดาวคะนอง”
ซึ่งอโนชาได้อธิบายเอาไว้ระหว่างการแถลงข่าวที่เทศกาลภาพยนตร์โลคาร์โน ว่า ประวัติศาสตร์หน้าดังกล่าวถูกภาครัฐระบุถึงน้อยครั้งมาก
แม้ว่าอิทธิพลของเหตุการณ์ครั้งนั้นจะส่งผลกระทบต่อประชาชนคนไทย จนสามารถรู้สึกถึงมันได้อย่างชัดเจนก็ตามที