ผู้แปลกแยก
“หนังเรื่องนี้นำเสนอภาพแทนของส่วนเสี้ยวความขัดแย้งหนึ่งในสังคมไทย และวิถีทางที่พวกเรามีปฏิกิริยาโต้ตอบต่อปัญหาเหล่านั้น ถึงแม้ว่าตัวละครนำในหนังคล้ายจะมีจุดเชื่อมโยงกับสังคมชายแดนภาคใต้ ตรงสถานะความเป็นมุสลิม แต่ในความเป็นจริงแล้ว พวกเขากลับมีความแปลกแยกระหว่างกัน … ทหารก็ยิ่งเป็นผู้แปลกแยกหนักยิ่งขึ้นไปอีก พวกเขาไม่รู้อะไรเลยเกี่ยวกับพื้นที่จังหวัดชายแดนใต้ แต่พวกเขาต้องลงไปที่นั่น เพื่อปฏิบัติภารกิจ”
“เราไม่ควรมองว่าปัญหาเป็นเรื่องอะไรบางอย่างที่อยู่ไกลตัวออกไป เหมือนกับความห่างไกลระหว่างจังหวัด … เราไม่สามารถใช้อุดมการณ์และวิธีการมองโลกชนิดเดียวกัน ไปแก้ไขปัญหาทุกๆ อย่างได้ อันที่จริงแล้ว เราควรปล่อยให้คนท้องถิ่นเข้ามามีส่วนร่วมในกระบวนการแก้ไขปัญหาด้วย”
“แม้ว่าหนังเรื่องนี้จะปิดกล้องไปเรียบร้อยแล้ว แต่ความไม่สงบในพื้นที่สามจังหวัดยังดำรงอยู่ หรือนี่หมายความว่าปัญหาที่เกิดขึ้นยังมิได้ถูกแก้ไขอย่างถูกต้อง?”
พิมพกา โตวิระ ผู้กำกับ
“มหาสมุทรและสุสานไม่ได้สะท้อนให้เห็นถึงแต่เพียงปัญหาที่เกิดขึ้นในประเทศไทย แต่ยังสะท้อนถึงปัญหาในทุกประเทศทั่วโลก … ความขัดแย้งต่างๆ ถือเป็นเรื่องสากล เราไม่ควรไปตัดสินคนอื่นหรือพยายามจะเข้าไปแก้ไขปัญหาของคนอื่น ชนกลุ่มน้อยไม่ได้ผิดแผกแตกต่างจากคนกลุ่มที่เหลือ วิธีแก้ปัญหาที่ดีที่สุด จึงได้แก่การเรียนรู้ที่จะยอมรับคนอื่น และเรียนรู้ที่จะใช้ชีวิตอยู่ร่วมกัน”
ศศิธร พานิชนก นักแสดงนำ
ที่มา HUMAN HEARTS SINGED BY SOUTHERN CONFLICT, SEEN THROUGH FEMALE DIRECTOR’S LENS IN ‘ISLAND FUNERAL’
Kaewta Ketbungkan
การก่อสร้างโลกอุดมคติ ไม่สามารถแก้ไขปัญหาใดๆ ได้
“ดิฉันรู้สึกว่าหนังเรื่องนี้มิได้พูดถึงเพียงปัญหาที่เกิดขึ้นในชายแดนภาคใต้ แต่กำลังพูดถึงทุกๆ ปัญหาที่เกิดขึ้นในสังคม เราไม่อาจทำได้แค่สร้างโลกใบหนึ่งแยกออกไป แล้วก็ทำการแก้ไขปัญหาในโลกใบนั้น การทำแค่นี้ มันไม่เพียงพอ
“ถ้าอยากจะแก้ปัญหาให้ได้ เราต้องออกเดินทางไปสัมผัสกับวิธีการแก้ไขปัญหาที่ ‘สมจริง’ และแสวงหาวิถีทางที่จะทำให้เกิดความเห็นพ้องต้องกันในสังคม อันจะนำไปสู่หนทางในการแก้ปัญหาได้อย่างแท้จริง
“เราไม่สามารถสร้างโลกแห่งอุดมคติขึ้นมา เพื่อจะได้แก้ไขปัญหาอย่างสมบูรณ์แบบหมดจด เพราะว่าโลกที่เราสร้างขึ้น มันไม่เคยดำรงอยู่ในความเป็นจริง วิธีแก้ปัญหาอย่างนี้ จึงเป็นเพียงความคิดโรแมนติกของคนที่เชื่อว่าโลกจะมีภาวะสันติสุข ถ้าสรรพสิ่งต่างๆ ถูกจัดวางตามอุดมคติดังกล่าว
“อย่างไรก็ตาม ในความเป็นจริง ผู้คนต่างไม่สามารถเข้าถึงใจกลางอันแท้จริงของปัญหาต่างๆ ได้ ยกตัวอย่างเช่น กรณีความไม่สงบในชายแดนใต้ พวกเราต่างตระหนักว่าเรา ในฐานะ ‘คนนอกพื้นที่’ ไม่มีความสามารถเพียงพอจะแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นในพื้นที่ดังกล่าว
“เช่นเดียวกับที่เราสร้างหนังเรื่องนี้ขึ้นมาด้วยมุมมองแบบ ‘คนนอก’ พวกเราไม่ได้สร้างมันขึ้นมาในฐานะ ‘คนใน’ ที่จะสามารถบอกคนอื่นได้ว่า ควรแก้ปัญหาอย่างไร และต้องทำอย่างไร สังคมแห่งการอยู่ร่วมกันโดยสันติจึงจะเกิดขึ้น ทั้งนี้ ก็เพราะพวกเราไม่ได้เข้าใจปัญหาของพื้นที่ชายแดนใต้อย่างครอบคลุมถ่องแท้
“พวกเราเป็นแค่ ‘คนนอก’ ผู้เดินทางไปยังพื้นที่ดังกล่าว และไม่เข้าใจในสถานการณ์ของพื้นที่ โดยส่วนตัว ดิฉันคิดว่าหนังเรื่องนี้ กำลังพยายามที่จะส่งสารข้อนี้ออกไป
“ดังนั้น ถ้าพวกเราต้องการให้ทุกๆ ปัญหา ได้รับการแก้ไข เราก็ต้องตระหนักถึงปัญหาที่เกิดขึ้นจริง ด้วยวิธีคิดที่ ‘สมจริง’ ไม่ใช่ทึกทักเอาว่า เราควรแก้ปัญหาด้วยวิธีการอย่างนั้นหรืออย่างนี้”
พิมพกา โตวิระ ผู้กำกับ
ที่มา Interview with Pimpaka Towira, the winning director of TIFF Asian Future
Interviewer:Suphawat Laohachaiboon / The Japan Foundation, Bangkok
http://jfac.jp/en/culture/features/tiff2015-interview-160602/