เทวดามีหาง, รากหญ้ามีฤทธิ์ : รำลึกถึงดาวตลกผู้ล่วงลับ “ดอน จมูกบาน”

ผมไม่แน่ใจว่าบท “เทวดาตลก” ในละครจักรๆ วงศ์ๆ เรื่อง “จันทร์ สุริยคาธ” เมื่อปี 2556 คือมาสเตอร์พีซทางการแสดงในช่วงบั้นปลายชีวิตของ “ดอน จมูกบาน” ดาวตลกอาวุโสผู้เพิ่งล่วงลับหรือไม่ (ถ้าพูดถึงเรื่องความนิยมในวงกว้าง บท “ฤษี” จากแก้วหน้าม้า ก็คล้ายจะเป็นที่รู้จักของมหาชนมากกว่า)

อย่างไรก็ตาม ตามความเห็นของผม นักแสดงชื่อ “ดอน” ได้ถูกจัดวางให้เข้าไปโลดแล่นอยู่ใน “โครงสร้าง” เรื่องราวที่แข็งแรงและดีมากๆ เรื่องหนึ่ง เมื่อเขารับบทเป็น “พระรำพัด” ใน “จันทร์ สุริยคาธ”

ครึ่งแรกของละครจักรๆ วงศ์ๆ เรื่องดังกล่าว ฉายภาพระบบระเบียบของความสัมพันธ์ทางอำนาจอันกลับหัวกลับหางจนอลหม่านวุ่นวายและน่าขำขันออกมาได้อย่างน่าสนใจ

มีตัวละครอีกกลุ่มหนึ่งใน “จันทร์ สุริยคาธ” ที่ฉายภาพปรากฏการณ์พลิกฟ้าคว่ำแผ่นดินออกมาได้อย่างน่าประทับใจ

ตัวละครกลุ่มนี้ก็คือ สองเทวดา “พระรำพัด” และ “พระรำเพย” กับสองรากหญ้า “เขียวขจี” และ “แดงรวี”

ในช่วงเกือบ 10 ตอนแรก ละครจักรๆ วงศ์ๆ “จันทร์ สุริยคาธ” คล้ายจะเดินตามรอยที่ปัญญาสชาดกและนิทานวัดเกาะปูทางเอาไว้อย่างเที่ยงตรง

ขณะที่เรื่องเล่าสองรูปแบบซึ่งมาก่อนหน้า กำหนดให้ “พระอินทร์” และ “พระวิษณุกรรม” เป็นสองเทวดาที่ลงมาช่วยเหลือสุริยคาธ-จันทคาธ ผ่านอุบายการแปลงกายเป็นงูเห่ากับพังพอน ซึ่งต่อสู้กันจนตัวตาย แต่สามารถฟื้นคืนชีพได้ด้วยต้นยา/หญ้าวิเศษ

สองพี่น้องจึงนำต้นยาวิเศษดังกล่าวตระเวนไปใช้ช่วยเหลือสรรพสัตว์บนโลกมนุษย์ เป็นการสั่งสมบุญญาบารมี

ในเรื่องเล่าร่วมสมัยที่เผยแพร่ทางโทรทัศน์ “พระอินทร์” ถูกยกฐานะจากการเป็น “ผู้ช่วยเหลือ” ขึ้นไปสู่การเป็นผู้ควบคุมบงการชะตากรรมของสุริยคาธและจันทคาธ

ความโกรธแค้นที่อดีตสองเทพบุตรทำแก้วทิพยเนตรตกหายจากสวรรค์ จนองค์เทวราชมองไม่เห็นความเป็นไปในสามโลก ก็ยิ่งส่งผลให้อาญาสิทธิ์ซึ่งพระองค์บังคับใช้กับสองพี่น้อง กอปรขึ้นมาจากความชิงชัง ตึงเครียด มิใช่ความเมตตา ปรานี รอยยิ้ม และอารมณ์ขัน

การเลื่อนสถานะของพระอินทร์ ทำให้ตัวละครเทวดาสององค์ที่แปลงกายมาเป็นพังพอนและงูเห่าซึ่งฟื้นคืนชีพได้ด้วยหญ้าวิเศษ ถูกดัดแปลงเป็น “พระวิษณุกรรม” กับ “พระรำพึง”

นั่นถือเป็นเพียงความเปลี่ยนแปลงในรายละเอียดเล็กๆ น้อยๆ

เพราะละคร “จันทร์ สุริยคาธ” มาเดินออกนอกลู่ทางเดิม (อย่างน่าตื่นตาตื่นใจ) จริงๆ ก็เมื่อมีการปรับเรื่องราวให้พระอินทร์ทรงพิโรธที่พระวิษณุกรรมและพระรำพึงคอยหมั่นช่วยเหลือสุริยคาธ-จันทคาธ ซึ่งสำหรับพระองค์ ถือเป็นการกระทำอันโอหัง จึงสาปส่งสองเทวดาให้ไปเกิดเป็นลา

สองเทวดาคู่ใหม่ซึ่งมาทำหน้าที่จับตา กลั่นแกล้ง และผลักดัน (ผ่านการลงทัณฑ์ทรมานต่างๆ นานา) ให้สองพี่น้องเร่งตามหาแก้ววิเศษ ก็คือ “พระรำพัด” กับ “พระรำเพย” (รับบทโดย ดอน จมูกบาน และ ธรรมศักดิ์ สุริยน)

ปัญหามีอยู่ว่าสองเทวดาคู่หลัง คล้ายจะตีความภารกิจของตนเอง ซึ่งรับบัญชามาจากพระอินทร์ ผิดพลาด ทำให้เรื่องราวต่างๆ เถลไถลเลยเถิดหนักขึ้นไปอีก

ตามโครงเรื่องของละครนั้น องค์เทวราชารู้สึกโมโหที่ยังไม่ได้แก้วทิพยเนตรคืนกลับมา จนพระองค์มิสามารถปฏิบัติหน้าที่ตามโครงสร้างอำนาจซึ่งดำรงอยู่ได้ จึงต้องการให้สองอดีตเทพบุตรรีบตามหาแก้ววิเศษโดยเร่งด่วน

แต่ไปๆ มาๆ การกลั่นแกล้งสุริยคาธ-จันทคาธ โดยพระรำพัด-พระรำเพย ได้กลับกลายเป็นอุปสรรคกีดขวางภารกิจตามหาแก้ว มากกว่าจะเป็นตัวเร่งที่ช่วยให้ภารกิจดังกล่าวประสบความสำเร็จโดยรวดเร็ว

สองเทวดาดลบันดาลให้เรื่องราวบนโลกมนุษย์วุ่นวายไปหมด กระทั่งพี่พลัดพรากน้อง ผัวผิดใจเมีย ต่างเมืองรบราฆ่าฟันกัน ผู้คนก็บาดเจ็บล้มตาย

นอกจากนั้น พระรำพัด-พระรำเพย ยังไปทาบทามเทวดาจิ๋วอีกสององค์บนสรวงสวรรค์ ให้ลงมาประกบติดและคอยป่วนสุริยคาธ-จันทคาธ ในฐานะ “เงาที่สอง”

การที่สองเทวดาใช้อำนาจแทรกแซงทำให้มนุษย์มีสองเงา ย่อมถือเป็นความพยายามในการฝ่าฝืนธรรมชาติอย่างไม่ต้องสงสัย

อย่างไรก็ดี สุริยคาธ-จันทคาธ ในละคร ก็มีผู้ช่วยของตนเองเช่นกัน ผู้ช่วยของพวกเขาไม่เคยปรากฏตัวมาก่อนในชาดกหรือนิทานวัดเกาะ แต่น่าจะถูกสรรค์สร้างขยายความเพิ่มเติมจากการดำรงอยู่ของต้นยาวิเศษในเรื่องเล่าสองชนิดแรก

ผู้ช่วยเหล่านี้เป็นตัวละครที่ถูกสร้างขึ้นมาจากเทคนิคคอมพิวเตอร์ กราฟิก (ซีจี) ซึ่งไม่ได้ประณีตละเอียดลออมากนัก ทว่า ก็ไม่แปลกแยกจากโครงสร้างโดยรวมของละคร

ตัวละครซีจีที่ว่า ไม่ใช่สัตว์ ยักษ์ อสูร แต่เป็น “หญ้า” หรือ “รากหญ้า” ซึ่งโผล่ขึ้นมาจากใต้ดิน ชื่อ “หญ้าเขียวขจี” และ “หญ้าแดงรวี”

หญ้าเขียว-หญ้าแดง ไม่ได้เป็นแค่ผู้ช่วยพระเอก ยามเมื่อประสบกับภาวะคับขันตกอยู่ในอันตราย แต่ยังมีสถานะเป็น “สองหญ้าแสบ” ที่รับบทบาทเป็นกันชนคอยปะทะตัดเกม และคอยเป็นคู่ปรับตัวฉกาจของพระรำพัด-พระรำเพย ผู้แสวงหาช่องทางรังแกสุริยคาธและจันทคาธอยู่ทุกเมื่อ

หน้าที่หลักของหญ้าเขียวขจีและหญ้าแดงรวี ซึ่งเป็นรากหญ้ามีฤทธิ์ เนื่องจากบำเพ็ญเพียรอยู่ใต้ดินมาเป็นเวลานาน จึงได้แก่ การด่าว่ากระแนะกระแหนและเนรมิตตนเองเป็นกำแพงขวางกั้นการเดินทางไปป่วนผู้คนของสองเทวดา การแปลงร่างเป็นหญิงสาวมาล่อลวงพระรำพัด-พระรำเพยให้เกิดกิเลสตัณหา รวมถึงการขึ้นไปบนสวรรค์ เพื่อปล่อยข่าวลือเสียหายเกี่ยวกับเทวดาทั้งคู่

ยิ่งเมื่อเทวดาทั้งสององค์ พยายามขัดขวางกลั่นแกล้งสุริยคาธ-จันทคาธ ทุกวิถีทาง กระทั่งพวกตนถลำลึก ไม่รู้ถูกรู้ผิด พระรำพัด-พระรำเพย ก็ยิ่งต้องพบกับจุดตกต่ำสุดของการเป็นเทพ เมื่อหญ้าเขียว-หญ้าแดง สาปให้สองเทวดามีหางงอกออกมาจากตูด

ยิ่งทำเรื่องผิดมากขึ้นเท่าใด หางของเทวดาคู่หูก็จะยิ่งยาวมากขึ้นเท่านั้น

การปะทะกันระหว่าง “เทวดา” กับ “รากหญ้า” กลายเป็น “ช่วงด้นสดสำคัญ” ในละครเรื่อง “จันทร์ สุริยคาธ”

โดยปกติแล้ว ละครจักรๆ วงศ์ๆ ทุกเรื่อง จะมีช่วงด้นสดประจำเรื่อง ซึ่งเริ่มจากการก่อตัวของพล็อตย่อยๆ ก่อนจะขยายกลายเป็นภาวะต่อเนื่องของการปล่อยมุข เพิ่มตอน และออกทะเลได้บ้างตามสมควร (หรือบางกรณี ก็ออกไปไกลสุดกู่ จนไม่เกี่ยวข้องกับเส้นเรื่องหลัก)

ถ้าการด้นสดครั้งไหนแป้ก ช่วงเวลาของการด้นก็ดำเนินไปได้ไม่นาน แต่หากการด้นสดคราวไหนเวิร์ก ช่วงเวลาแห่งการด้นก็จะถูกพัฒนาให้ครอบคลุมละครเป็นจำนวนหลายสิบตอน กระทั่งกลายเป็นอีกหนึ่งพล็อตหลักของละครเรื่องนั้นในท้ายที่สุด

ดูเหมือนว่า การด้นสดผ่านมุข “เทวดา” ทะเลาะกับ “รากหญ้า” ใน “จันทร์ สุริยคาธ” จะเวิร์กอยู่ไม่น้อย และดีไม่ดี นี่อาจเป็น “การด้นสด” ที่ดี (ไม่หลุดลอยจากเส้นเรื่องหลัก) และสนุกสนานมากๆ ครั้งหนึ่ง ของละครจักรๆ วงศ์ๆ ในช่วงทศวรรษที่ผ่านมา

อย่างไรก็ตาม พระรำพัด-พระรำเพย ไม่ได้ถูกดิสเครดิตและทำลายโดยฤทธิ์เดชของศัตรูคู่กัด คือ รากหญ้าเขียว-แดง เพียงเท่านั้น

เพราะถึงที่สุดแล้ว สองเทวดาที่ลงมาจากสวรรค์เพื่อปฏิบัติภารกิจบนโลกมนุษย์ ก็ค่อยๆ บ่อนเซาะตนเองไปสู่ความเสื่อม เมื่อทั้งคู่ต้องปรับประสานต่อรองเข้ากับสภาพแวดล้อมดีบ้างเลวบ้าง และกิเลสตัณหาอันสลับซับซ้อน เฉกเช่นที่มนุษย์โลกทั่วไปต้องเผชิญ

นานเข้า พระรำพัด-พระรำเพย จึงมิได้มีเพียงหางโผล่ออกมาจากตูด ทว่า พอไปดื่มเหล้ากับกลุ่มคนพาล คู่อริของสุริยคาธ-จันทคาธ จนเมาหยำเป แก้วทิพยเนตรที่ได้มาครอบครองโดยลักเขามาอีกทีก็หลุดมือไป แม้แต่มงกุฎและเครื่องทรงเทวดาก็ยังถูกลอบขโมย

พอเริ่มเป็นมนุษย์ที่เต็มไปด้วยกิเลส ตัณหา และราคะมากขึ้น เทวดาที่เคยเรืองฤทธิ์ ก็ถึงคราเหาะไม่ได้ หายตัวไม่เป็น

แต่จนเกือบค่อนเรื่อง เทวดาทั้งสองก็ยังเชื่อว่า ความถลำลึกเช่นนั้น คือ หน้าที่ที่พวกตนพึงปฏิบัติ

ดังที่ครั้งหนึ่ง พระรำเพยเคยเอ่ยถามคู่หูดูโอของตนว่า การที่เทวดาอย่างพวกเราพยายามหาทางรังแกมนุษย์ โดยไม่คำนึงถึงวิธีการว่ามันจะชั่วช้าแค่ไหนนั้น จะไม่กลายเป็นตัวอย่างไม่ดีให้แก่เด็กๆ ที่กำลังนั่งดูทีวีกันอยู่หรอกหรือ?

พระรำพัดตอบแบบฟันธงว่า พอโตขึ้น เด็กพวกนั้นก็จะไม่ดูละครประเภทนี้กันแล้ว และจะลืมเลือนการกระทำของพวกเราไปจนหมดสิ้น ดังนั้น สิ่งที่เทวดาอย่างพวกเราควรจะทำ จึงเป็นการทำหน้าที่ซึ่งได้รับมอบหมายมาจากองค์อินทร์ต่างหาก

สองเทวดาที่มีหางจึงกลายเป็นตัวตลก ซึ่งค่อยๆ หมดสิ้นความน่าเคารพน่ายำเกรงลงไปเรื่อยๆ ท่ามกลางเสียงหัวเราะชอบใจของสองรากหญ้าผู้มีฤทธิ์

อย่างไรก็ดี ในช่วงครึ่งหลังของละคร โครงเรื่องของ “จันทร์ สุริยคาธ” ได้ค่อยๆ บิดผัน จากโครงเรื่องที่มุ่งเน้นพฤติการณ์ยั่วล้อท้าทายอำนาจเทวดา/สวรรค์ โดยสามัญชน-รากหญ้า

ไปสู่โครงเรื่องว่าด้วย “เทวดาปราบยักษ์” ตามจารีต “นารายณ์สิบปาง”

ระบบระเบียบอำนาจอันศักดิ์สิทธิ์จึงจำเป็นต้องถูกฟื้นฟูขึ้นอย่างหนักแน่นจริงจัง

ในกระบวนการฟื้นฟูระบอบ/ระเบียบอำนาจดังกล่าว “เทวดาเกเร” จึงต้องกลับกลายมาเป็น “เทวดาฝ่ายดี” ผู้คอยช่วยเหลือพระเอก (หางที่งอกจากตูดจึงหดหายไป พร้อมๆ กับอิทธิฤทธิ์ที่หวนกลับคืนมา)

ขณะที่บทบาทของ “สองหญ้าแสบ” กลับค่อยๆ รางเลือน และต้องซ่อนเร้นกายลงไปอยู่ใต้ดินดังเดิม

ปรับปรุงจากเนื้อหาบางส่วนของบทความชุด “โลกของจันทคาธและสุริยคาธ” ทางมติชนสุดสัปดาห์

คลิกอ่านบทความฉบับเต็มได้ตามลิงก์ด้านล่าง

โลกของจันทคาธและสุริยคาธ (1)

โลกของจันทคาธและสุริยคาธ (2)

โลกของจันทคาธและสุริยคาธ (จบ)

1 Comment

Leave a Reply

Fill in your details below or click an icon to log in:

WordPress.com Logo

You are commenting using your WordPress.com account. Log Out /  Change )

Facebook photo

You are commenting using your Facebook account. Log Out /  Change )

Connecting to %s

This site uses Akismet to reduce spam. Learn how your comment data is processed.