ผมฟังรายการ “แซทแอนด์ซัน” ครั้งแรก ตอน ม.4 (ปี 2540) แล้วก็ติดหนึบอยู่หลายปี จากที่รายการตอนนั้น จัดวันอาทิตย์ ครั้งละ 3 ชั่วโมง มีช่วงหนึ่งก็เปลี่ยนเป็นเสาร์-อาทิตย์ วันละ 2 ชั่วโมง (มีพี่ผู้หญิงอีกท่านหนึ่งมาช่วยจัดรายการด้วย) ก่อนจะมาลงเอยที่วันอาทิตย์ ครั้งละ 2 ชั่วโมง ในกว่าสิบปีให้หลัง
ติดแซทแอนด์ซันได้สักพัก “แฟท เรดิโอ” ก็ถือกำเนิดขึ้น ทำให้ผมหันไปฟัง “หนังหน้าไมค์” เพราะ “นรา” นักวิจารณ์หนังที่ตนเองชื่นชอบ เป็นหนึ่งในผู้ดำเนินรายการดังกล่าว แล้วผมก็เริ่มฟังแซทแอนด์ซันน้อยลง
อย่างไรก็ดี ภาวะผลุบๆ โผล่ๆ ตลอดจนความไม่แน่นอนหลายๆ อย่างของหนังหน้าไมค์ ส่งผลให้ผมหันกลับมาฟังน้าณรงค์ น้านัท น้ามาลี อีกเป็นระยะๆ (และสุดท้าย หนังหน้าไมค์ก็อำลาจาก “หน้าปัดวิทยุ” ไปก่อนแซทแอนด์ซัน)
สองสามปีหลัง ผมยังติดตามฟังแซทแอนด์ซันเป็นครั้งคราว ตามแต่โอกาสจะเอื้ออำนวย เช่น เวลาออกนอกบ้านตอนวันอาทิตย์ และกำลังขับรถกลับบ้าน พร้อมเปิดวิทยุฟังไปด้วย ช่วง 3-4 ทุ่มพอดี
แถมยังเก็บเอาเกร็ดสนุกๆ มาเล่าในเฟซบุ๊กส่วนตัวอยู่เป็นระยะ เช่น ตอนที่น้าๆ จะชวนคนฟังให้เขียนอีเมล์มาหา เพราะตัดสินใจปิดตู้ ปณ. ที่ใช้บริการมาเนิ่นนาน แต่น้านัทดันลืมชื่ออีเมล์ของรายการ หรือตอนที่น้าๆ ออกอาการเดดแอร์ เพราะนึกข้อมูลของหนังเก่าๆ ที่ต้องการจะกล่าวถึง ไม่ออก
ไม่กี่เดือนก่อน ผมยังเชื่อว่า แซทแอนด์ซันเป็นโมเดลของการทำกิจกรรมเล็กๆ ด้วยใจ ที่พอจะอยู่รอดได้ในเชิงพาณิชย์ ท่ามกลางลมหายใจอันแผ่วเบาของ “สื่อเก่า”
แต่สุดท้าย แซทแอนด์ซันก็ได้ฤกษ์อำลาหน้าปัดวิทยุ โดยวันที่ 26 มิ.ย. 2559 ถือเป็นวันจัดรายการครั้งสุดท้าย ของรายการวิทยุที่มีอายุเกินสามทศวรรษมาหนึ่งปีรายการนี้
จึงอยากจะขอบอกเล่าเกร็ดความทรงจำเล็กๆ น้อยๆ ที่ทำให้ผมรู้สึกผูกพันกับ “แซทแอนด์ซัน” เป็นการส่วนตัวครับ
หนึ่ง ผมเผลอหมุนหน้าปัดเจอและฟังแซทแอนด์ซันครั้งแรก ตอนอ่านหนังสือสอบ ม.ปลาย
วันนั้น เป็นคืนวันอาทิตย์ ผมกำลังนอนอ่านหนังสือวิชาพุทธศาสนา หรือสังคมเสริมอะไรสักอย่างไปพลาง นอนฟังวิทยุจากซาวด์เบาท์ไปพลาง เพราะวันจันทร์ จะมีสอบหลายวิชา หลังจากทบทวนวิชาหลักๆ ครบแล้ว ก็ได้เวลามาอ่านหนังสือวิชารองๆ บ้างล่ะ
ผมหมุนคลื่นวิทยุไปเรื่อยๆ แล้วก็เจอรายการของคลื่นหนึ่ง มีคน “ค่อนข้างแก่” สามคน มาคุยกันเรื่องหนังอย่างเจื้อยแจ้ว (นั่นเป็นช่วงเวลาที่ผมกำลังเริ่มสนใจ “หนังไทย” พอดี จากอิทธิพลของ “2499 อันธพาลครองเมือง” และ “ฝัน บ้า คาราโอเกะ”) ที่ผมรู้สึกสะดุดใจเป็นพิเศษในวันนั้น ก็คือ คุณผู้หญิงผู้ดำเนินรายการ พูดจิกกัดว่า “อนันดา เอเวอร์ริ่งแฮม” นักแสดงหนุ่มน้อย ที่แสดงนำในหนัง “อันดากับฟ้าใส” ซึ่งเพิ่งลงโรงฉาย มีหน้าตาเหมือน “มนุษย์หมาป่า”
ผมฟังไปก็หัวเราะไป และเริ่มทุ่มเทสมาธิให้มาจดจ่อกับรายการวิทยุนี้ แทนที่จะอ่านหนังสือตามความตั้งใจเดิม
ผมฟังวิทยุไปจนจบรายการ กระทั่งทราบว่า นี่คือ “รายการแซทแอนด์ซัน” ออกอากาศทางคลื่น 90.5
รุ่งขึ้น ก่อนหน้าการสอบวิชาพุทธศาสนา/สังคมเสริม ผมก็ยังไม่อ่านหนังสือ แต่ไปนั่งคุยกับเพื่อนสนิทชื่อ “ทรัพย์” แล้วแนะนำให้มันลองไปฟังรายการวิทยุรายการนี้ เพราะผู้ดำเนินรายการเจ๋งมาก ที่กล้าด่าอนันดาว่า หน้าเหมือน “มนุษย์หมาป่า”
(เข้าใจว่า ในระยะหลังๆ “น้ามาลี” ก็กรี๊ดอนันดาเช่นเดียวกับสตรีรายอื่นๆ เผลอๆ แกอาจลืมไปแล้วว่า ตนเองเคยบอกว่าดาราชายเบอร์ต้นๆ คนนี้ หน้าตาเหมือนมนุษย์หมาป่า 555)
สอง สมัยยังตามซื้อตามอ่าน “สีสัน” ทุกฉบับ ผมจะชอบอ่านเจอชื่อ-นามสกุลของน้ามาลี จากบทบรรณาธิการของน้าทิวา ในนิตยสารฉบับที่มีการประกาศรายชื่อผู้ได้รับรางวัลสีสัน อวอร์ดส์
โดยน้าทิวามักจะเขียนขอบคุณน้ามาลี ที่มีส่วนในการช่วยจัดงานสีสัน อวอร์ดส์ แต่ละครั้ง ให้ลุล่วงไปได้ด้วยดี (ถ้าจำไม่ผิด ส่วนใหญ่ น้ามาลีจะช่วยประสานจัดหาเครื่องดื่มมาให้บริการผู้เข้าร่วมงานประกาศรางวัลสีสันฯ)
สาม ช่วงที่ผมบ้าฟังแซทแอนด์ซันมากๆ ตอน ม.ปลาย ถึงมหาวิทยาลัยปีแรกๆ บางครั้ง แม่ผมจะมาอาบน้ำที่ห้องใกล้ๆ กัน หรือมาจัดข้าวของ จนได้ฟังรายการตามไปด้วย
แม่มักบ่นเสียงน้าณรงค์ ว่าไม่เหมือน “ผู้ชาย” แต่ใครจะรู้ว่า ในยุคหนึ่ง แม่ผมถือเป็นลูกค้าขาประจำของร้านอาหารที่น้าณรงค์และครอบครัวทำอยู่
เข้าใจว่า จนถึงตอนนี้ แม่ก็ยังไม่รู้ ว่าร้านอาหารร้านนั้น เป็นร้านของดีเจที่แกไม่ชอบเสียงนั่นเอง
สี่ พูดถึงน้าณรงค์ ก็อดไม่ได้ที่จะกล่าวถึง “แป้งโกะ” ลูกสาวแก
ช่วงเรียนมหาวิทยาลัยปีแรกๆ ผมเคยได้ยินน้าณรงค์พูดในรายการว่า แกมีลูกสาวเรียนมัธยมฯ อยู่นิวซีแลนด์
แล้วผมก็ฝังใจมาตลอดว่า น้าณรงค์มีลูกสาวเป็นเด็กนักเรียนนอกวัยยังไม่ถึงยี่สิบ
กระทั่ง “แป้งโกะ” ลูกสาวน้าณรงค์ มาโด่งดัง เมื่อไม่กี่ปีที่ผ่านมา ทั้งในฐานะดารา และเซเล็บที่ชอบถ่ายรูป ผมก็ยังไปติดว่า เธอคงเพิ่งกลับมาจากนิวซีแลนด์ และน่าจะอายุยี่สิบนิดๆ
จนเมื่อมานั่งเช็คข้อมูลจากอินเตอร์เน็ตเมื่อช่วงต้นปี จึงพบว่า “แป้งโกะ” อายุใกล้สามสิบแล้ว (ส่วนผมก็กำลังจะ 35)
กล่าวอีกอย่าง คือ ผมรู้จัก “แป้งโกะ” จากรายการแซทแอนด์ซัน เมื่อกว่าสิบปีก่อน แล้วก็ “หลงเวลา” คิดว่าเธอยังเป็นเด็กอยู่ตลอด
ทั้งที่ในความเป็นจริง วันเวลามันล่วงผ่านไปเรื่อยๆ มาเนิ่นนานหลายปี
ห้า น้านัท เป็น “รุ่นพี่” โรงเรียนมัธยมฯ ของผม ถ้าจำไม่ผิด ผมเคยเห็นชื่อแกถูกจารึกบนแผ่นป้ายอะไรสักอย่าง ในฐานะนักเรียนอันดับที่หนึ่งของสายศิลป์
อย่างไรก็ดี สิ่งที่ผมชอบถามตัวเองแบบขำๆ ในช่วงเวลาหนึ่ง ก็คือ น้านัท (อุดม โพธิ์ทอง) นี่เป็นอะไรกับตลกอาวุโส “ไก่ โพธิ์ทอง” วะ?
หก อีกหนึ่งความทรงจำที่ผมมีเกี่ยวกับน้านัท นั้นผูกอยู่กับหนังสือเล่มหนึ่ง ที่เป็นเหมือนคู่มือสำคัญ ตอนผมเริ่มต้นสนใจดูหนัง นั่นคือ นิตยสาร “สารคดี” ฉบับ 100 ปี ภาพยนตร์ในประเทศไทย ซึ่งออกวางจำหน่ายเมื่อเดือนสิงหาคม 2540
การได้พบกับสารคดีเล่มนั้น เกิดขึ้นใกล้เคียงกับการเพิ่งได้ทำความรู้จักกับรายการแซทแอนด์ซันพอดี แถมในนิตยสารฉบับดังกล่าวยังมีบทสัมภาษณ์น้านัทอีกด้วย
เด็ก ม.4 อย่างผม จึงรู้สึกมั่นใจมากขึ้นว่า ตนเองตัดสินใจไม่ผิด ที่เริ่มมุ่งมั่นติดตามฟังรายการวิทยุแซทแอนด์ซัน
เจ็ด ตอนฟังแซทแอนด์ซันช่วงแรกๆ น้าๆ จะชอบอ่านจดหมายของ “คุณอินทิรา” แฟนรายการรุ่นอาวุโส
แต่พอผมกลับมาฟังรายการบ่อยๆ ช่วง 2-3 ปีหลัง ก็สังเกตว่า คุณอินทิราไม่ได้เขียนจดหมายมาถึงรายการอีกแล้ว ฟังไปก็คิดไปว่า แกคงแก่มากแล้ว หรือสุขภาพไม่เอื้ออำนวย
กระทั่งมาพบเห็นข้อมูลจากเพจเฟซบุ๊ก SatnSun (ซึ่งเพิ่งรู้ว่ามี ในวันอำลารายการ) ว่า คุณอินทิราได้เสียชีวิตไปแล้วเมื่อกว่าหนึ่งปีก่อน
แปด จริงๆ ช่วงหลังๆ ผมไม่ค่อย “คอนเน็คท์” กับข้อมูลที่น้าๆ นำเสนอในรายการมากนัก แต่ข้อมูลหนึ่งที่ผมต่อติดกับแซทแอนด์ซัน ก็คือ เมื่อปลายปีก่อน น้ามาลีอ่านข่าวประชาสัมพันธ์คอนเสิร์ต “รักนิรันดร์” ของพนเทพ สุวรรณะบุณย์ ก่อนจะเล่าเรื่องราวสั้นๆ เมื่อครั้งที่แกเคยเป็นทีมพีอาร์คู่กายปั่น ไพบูลย์เกียรติ
เมื่อฟังวิทยุวันนั้น ผมก็ตัดสินใจจองตั๋วคอนเสิร์ตพนเทพทางอินเตอร์เน็ตทันที หลังจากลังเลอยู่พักใหญ่ เวลาได้เห็นโปสเตอร์คอนเสิร์ตที่หน้าร้านบูมเมอแรง
นั่นทำให้ ผมกลายเป็น “แฟน” ดึกดำบรรพ์ บอยแบนด์ มาจนถึงปัจจุบัน
เก้า น้าๆ เป็นสมาชิกชมรมวิจารณ์บันเทิง และเข้าใจว่ายังมีส่วนร่วมลงคะแนนเลือกหนังไทยที่ได้รับรางวัลสาขาต่างๆ ของชมรมฯ มาจนถึงปัจจุบัน
ผมเพิ่งมาสังเกต หลังรายการแซทแอนด์ซันอำลาวิทยุไปนี่เอง ว่า ขณะที่สมาชิกชมรมวิจารณ์บันเทิง ทั้งในยุคก่อตั้ง เรื่อยมาจนถึงสมาชิกรุ่นใหม่ๆ ในยุคปัจจุบัน มักเป็นนักวิจารณ์ที่ “ทำงานเขียน” ในหน้ากระดาษ (รวมถึงออนไลน์) แต่น้าๆ สามคน กลับเป็นนักวิจารณ์ ที่ทำงานด้วย “การพูด” ผ่านสถานีวิทยุ
นี่จึงเป็น “จุดแตกต่าง” ประการสำคัญ ระหว่างสามน้า และนักวิจารณ์บันเทิงส่วนใหญ่ของเมืองไทย
สิบ เชื่อว่าหลายคนรู้สึกไม่ค่อยชอบ ที่น้าๆ พูดเรื่องการเมืองอย่าง “เลือกข้าง” ชัดๆ (อย่างน้อยก็) ในช่วงปี 2548
ต้องยอมรับว่า ผมเองก็ไม่ชอบท่าทีดังกล่าว (ซึ่งเป็นลักษณะเชียร์นักการเมืองและพรรคการเมือง) ณ ช่วงเวลานั้น
แต่ในระยะยาว ต้องยอมรับเช่นกันว่า ท่าทีทางการเมืองของน้าๆ ไม่ใช่เรื่อง “ผิด” แถมยังค่อนข้างสอดคล้องต้องตรงกับการตัดสินใจเลือกโดย “คนส่วนใหญ่” ของประเทศอีกด้วย
ช่วงหลังๆ จะสังเกตเห็นได้ว่า น้าๆ ไม่พยายามพูดแตะประเด็นการเมืองอย่างเด่นชัดโจ่งแจ้งนัก
ซึ่งผมก็เห็นว่า เป็นทางเลือกที่ “ลงตัว” ที่สุดแล้ว สำหรับคนทำธุรกิจสื่อรายย่อยๆ ในบ้านเมืองนี้
ขอบคุณภาพประกอบจาก SatnSun และ Vaewvaew Lam
ดีใจที่ได้อ่านค่ะ ระลึกถึงรายการ Sat&Sun เสมอ
จากโอเลี้ยง
LikeLike