“ศัตรู” อันเป็นอนันต์

ปรับปรุงจากบทความในมติชนสุดสัปดาห์ 3-9 กุมภาพันธ์ 2555

“The Wind that Shakes the Barley” กำกับโดย “เคน โลช” เป็นหนังรางวัลปาล์มทองคำประจำปี 2006 จากเทศกาลภาพยนตร์เมืองคานส์ ซึ่งเข้าฉายในเมืองไทยช่วงปลายเดือนสิงหาคม พ.ศ.2549 ก่อนหน้ารัฐประหาร 19 กันยาฯ ราว 3 สัปดาห์

หนังเล่าเรื่องราวของ “เท็ดดี้-เดเมี่ยน โอซุลลิแวน” สองพี่น้องชาวไอริช ที่ต่อสู้เรียกร้องเอกราชจากสหราชอาณาจักรในช่วงต้นคริสต์ศตวรรษที่ 20

“ศัตรูแรกเริ่ม” ของเท็ดดี้และเดเมี่ยน คือ ทหารอังกฤษ ซึ่งมีพฤติกรรมกดขี่ข่มเหงรังแกคนเล็กคนน้อยในไอร์แลนด์

จาก “ผู้หญิง” ถึง “คนแก่” จาก “เด็กหนุ่ม” ถึง “พนักงานการรถไฟ”

เช่น “มิฮอย” เด็กหนุ่มวัย 17 ผู้ไม่ยอมเรียกชื่อตนเองเป็นภาษาอังกฤษ ที่ถึงกับถูกทหารของเจ้าอาณานิคมรุมซ้อมจนตายต่อหน้าครอบครัว

ที่สุด เท็ดดี้กับเดเมี่ยนจึงตัดสินใจจับปืนสู้รบกับอังกฤษ

โดยพี่ชายมีลักษณะเป็นขาบู๊ นักรบ ขณะที่น้องชายซึ่งเป็นหมอ มีลักษณะของปัญญาชนผู้เห็นใจคนตกทุกข์ได้ยาก

รบไปรบมา “จุดเปลี่ยน” สำคัญพลันบังเกิดขึ้น เมื่อเท็ดดี้ถูกจับตัวและนำไปทรมานด้วยวิธีการถอดเล็บ

แม้เดเมี่ยนจะสามารถช่วยพี่ชายและพรรคพวกบางส่วนให้หนีออกจากสถานคุมขังได้สำเร็จ แต่เขากลับต้องละทิ้งเพื่อนร่วมรบอีก 3 คนเอาไว้ในห้องขัง กระทั่งผู้ถูกทอดทิ้งถูกตัดสินประหารชีวิตในเวลาต่อมา

ความสูญเสียครั้งนั้นส่งผลให้หมอหนุ่มอย่างเดเมี่ยนเริ่มต้นลั่นไกปืนสังหารคนเป็นครั้งแรกในชีวิต เมื่อเขาต้องรับบทเพชฌฆาตประหารเด็กชายร่วมชาติ ซึ่งนำความลับของขบวนการกู้ชาติไอริชไปเปิดเผยกับเจ้าหน้าที่อังกฤษ

“ความเปลี่ยนแปลง” ในวิถีความคิดและตัวตนของสองพี่น้อง เกิดขึ้นพร้อมกันกับสนธิสัญญาสงบศึกระหว่างสหราชอาณาจักรกับไอร์แลนด์

อย่างไรก็ตาม ชาวไอริชยังไม่ได้รับเอกราช เพราะสนธิสัญญาดังกล่าวระบุให้ไอร์แลนด์มีสถานะเป็นรัฐอิสระอยู่ในสหราชอาณาจักร และต้องภักดีต่อราชวงศ์อังกฤษ

หลังผู้นำสองฝ่ายลงนามในสนธิสัญญา เท็ดดี้ผู้เคยฮาร์ดคอร์ ได้กลับกลายเป็นนักการเมืองที่เลือกประนีประนอมกับอังกฤษ

ผิดกับเดเมี่ยนที่ตัดสินใจไม่ประนีประนอม ด้วยความเชื่อว่าหากยินยอมให้การต่อสู้ยุติลงด้วยสนธิสัญญาฉบับนี้ อังกฤษก็จะยังคงมีอำนาจครอบงำเหนือไอร์แลนด์ โดยใช้ชนชั้นนำ-คนรวยชาวไอริช ซึ่งได้รับประโยชน์จากการยอมประนีประนอม มาแสดงบทบาทเป็น “รัฐบาลหุ่น” ส่วนชาวไอริชที่ทุกข์ยากอับจนก็คงต้องลำบากลำบนต่อไป

เดเมี่ยนจึงต้องรบกับเท็ดดี้

เมื่อ “ศัตรู” ได้เปลี่ยนรูปจาก “ทหารอังกฤษ” มาเป็น “คนไอริช” ด้วยกันเอง

เมื่อครึ่งหนึ่งของ “มิตรร่วมรบ/พี่น้องร่วมท้องเดียวกัน” ได้แปลงร่างจาก “กองกำลังต่อต้านรัฐ” ไปเป็น “ผู้ถือครองอำนาจรัฐ” เสียเอง

เท็ดดี้อาจจะประนีประนอมกับอังกฤษและน้องชาย ที่เขาแนะนำอย่างหวังดีให้กลับไปสอนหนังสือและรักษาอาการเจ็บไข้ได้ป่วยของผู้คน แต่เขาไม่สามารถประนีประนอมกับเพื่อนร่วมชาติชาวไอริชที่ต่อต้านสนธิสัญญาสงบศึก

เช่นเดียวกันกับปัญญาชนผู้ผันตนมาเป็นนักรบอย่างเดเมี่ยน ซึ่งเดินทางมาไกลเกินกว่าจะย้อนกลับไปยังมุมสงบของชีวิตอัน “ปลอดการเมือง”

เดเมี่ยนและพวกตัดสินใจบุกปล้นคลังแสงอาวุธของรัฐบาล บางคนถูกฆ่า บางคนถูกจับ

หมอหนุ่มเป็นหนึ่งในกลุ่มคนประเภทหลัง

ในคุกแห่งเดิมที่พวกเขาเคยถูกทหารอังกฤษนำมาจับขังไว้รวมกัน เท็ดดี้ภายใต้เครื่องแบบเจ้าหน้าที่รัฐ พยายามอ้อนวอนขอให้ผู้เป็นน้องชายยอมสารภาพบอกที่ซ่อนของปืนที่ถูกปล้น ตลอดจนคนปล้นซึ่งหนีรอดไปได้

เดเมี่ยนไม่ยอมปริปากเรื่องนั้น เขากล่าวแต่เพียงว่าตนเองสังหารคนเป็นครั้งแรกในชีวิต ก็เพราะเด็กชายร่วมชาติทรยศต่อเพื่อน

ด้วยเหตุนี้ ตัวเขาเองจะไม่ยอมทรยศมิตรสหายเป็นอันขาด

สุดท้าย เดเมี่ยนจึงถูกปลิดชีวิตด้วยการยิงเป้า โดยมีพี่ชายแท้ๆ ทำหน้าที่บัญชาการประหาร

เรื่องเล่าใน “The Wind that Shakes the Barley” อาจพูดถึง “ศัตรู” ของ “ชาติ” ที่เปลี่ยนรูปแปลงร่างไป จาก “ศัตรูภายนอก” สู่ “ศัตรูภายใน”

แต่ “ศัตรู” ก็ยังคงเป็น “ศัตรู” ที่ต้องดำรงอยู่เสมอไม่เคยขาดตอน ราวกับ “ชาติ” ต้องการ “ศัตรู” ตลอดเวลา

ประวัติศาสตร์ว่าด้วย “ชาติ” และ “ศัตรูของชาติ” จึงเดินทางเป็น “วงกลม”

เฉกเช่นชะตากรรมของหลากหลายตัวละครในหนังเรื่องนี้

ทั้งคนไอริชที่เข่นฆ่ากันเองซ้ำแล้วซ้ำเล่า, คนเล็กคนน้อยอย่างผู้หญิงและคนแก่ที่ถูกบุกเข้ามาเผาบ้าน-ค้นบ้าน ทั้งโดยกองกำลังติดอาวุธของอังกฤษและไอร์แลนด์

ตลอดจนหญิงสาวคนหนึ่งที่ต้องช็อกสุดขีดสองครั้ง ครั้งแรก เมื่อเธอสูญเสียน้องชาย, บ้าน และถูกจับกล้อนผมโดยทหารอังกฤษ กับครั้งหลัง เมื่อเธอสูญเสียชายคนรัก จากกระสุนปืนของทหารไอริช

หลายครั้ง เราต้องอาศัยระยะเวลายาวนานในการเฝ้ารอให้ “วงจร” ดังกล่าวถูก “ตัดขาด” เพื่อนำไปสู่ความเปลี่ยนแปลงอย่างแท้จริง

ทว่า หลายครา “การเดินทางมาถึงของอิสรภาพก็ยาวนานเกินกว่าที่ผู้ต่อสู้เพื่อมันเคยคาดหวังเอาไว้” ดังเนื้อหาในจดหมายที่เดเมี่ยนเขียนถึงคนรัก ก่อนถูกประหารชีวิต

ความเปลี่ยนแปลงแท้จริงก็คงเดินทางมาถึงจุดหมายช้ากว่าที่ผู้หวังจะมองเห็นมันเคยคาดคิดเอาไว้เช่นกัน

และระหว่างทาง “เรา” อาจต้อง “ทำร้าย” กันเองครั้งแล้วครั้งเล่า

 

Leave a Reply

Fill in your details below or click an icon to log in:

WordPress.com Logo

You are commenting using your WordPress.com account. Log Out /  Change )

Facebook photo

You are commenting using your Facebook account. Log Out /  Change )

Connecting to %s

This site uses Akismet to reduce spam. Learn how your comment data is processed.