เคน โลช ผู้กำกับภาพยนตร์อาวุโสชาวอังกฤษ นำหนังเรื่อง “I, Daniel Blake” ขึ้นคว้ารางวัลปาล์มทองคำ จากเทศกาลภาพยนตร์นานาชาติเมืองคานส์ครั้งล่าสุด ที่เพิ่งปิดฉากลง
นี่เป็นครั้งที่สอง ที่โลช นักรณรงค์ทางสังคมและนักทำหนังเจ้าของผลงานกว่า 50 เรื่อง วัยย่าง 80 ปี สามารถคว้ารางวัลเกียรติยศดังกล่าวมาครอบครอง หลังจาก “The Wind That Shakes the Barley” หนังที่เล่าเรื่องราวว่าด้วยขบวนการปฏิวัติไอริชของเขา เคยได้รับรางวัลปาล์มทองคำเมื่อปี 2006
“I, Daniel Blake” เป็นผลงานลำดับที่ 13 ของโลช ที่ได้ร่วมประกวดในเทศกาลภาพยนตร์เมืองคานส์
หนังเล่าเรื่องราวของชายวัยกลางคนชาวเมืองนิวคาสเซิล ผู้ล้มป่วยด้วยอาการหัวใจวายเฉียบพลัน จนไม่สามารถประกอบอาชีพการงานได้ตามปกติอีกต่อไป
อย่างไรก็ตาม ผลการทดสอบของภาครัฐกลับระบุว่าเขายังสามารถทำงานได้ตามปกติ ชายผู้นี้จึงไม่ได้รับสวัสดิการสังคม ซึ่งตนควรจะได้รับ จนนำไปสู่ภาวะตกทุกข์ได้ยากในที่สุด
คณะกรรมการตัดสินรางวัลยังได้ยกย่องการแสดงของเดฟ จอห์นส์ นักแสดงนำในเรื่องว่า สามารถเปิดเผยให้เห็นถึงชะตากรรมของตัวละคร ที่ตกอยู่ในสภาพสิ้นไร้ไม้ตอก และถูกแวดล้อมด้วยรั้วรวดหนามของระบบรัฐสวัสดิการอังกฤษอันพิกลพิการ
โลชกล่าวขณะขึ้นรับรางวัลว่า “เราจำเป็นต้องส่งสารแห่งความหวัง เราจำเป็นต้องบอกกล่าวออกไปถึงความเป็นไปได้ ในการมีระบบสังคมแบบอื่นๆ”
“โลกปัจจุบันของพวกเรากำลังตกอยู่ในภาวะอันตราย เรากำลังถูกโอบรัดด้วยโครงการรัดเข็มขัดทางเศรษฐกิจอันน่าสะพรึงกลัว ซึ่งถูกผลักดันโดยแนวคิดที่เราเรียกกันว่าลัทธิเสรีนิยมใหม่ ภาวะเช่นนี้ กำลังนำพาพวกเราไปสู่หายนะ”
โลชให้สัมภาษณ์ด้วยว่า เขาต้องการใช้หนังเรื่องนี้เปิดโปงระบบรัฐสวัสดิการของสหราชอาณาจักร
“ผมต้องการทำให้ผู้ชมภาพยนตร์เรื่องนี้หัวใจสลาย และรู้สึกโกรธแค้น”
รู้ไว้ใช่ว่า
ภายหลังการเสียชีวิตของมาร์กาเร็ต แธตเชอร์ อดีตนายกรัฐมนตรีจากพรรคอนุรักษ์นิยม เมื่อปี 2013 โลชได้ออกแถลงการณ์ระบุว่า แธตเชอร์ คือ นายกรัฐมนตรีที่ก่อให้เกิดการแบ่งแยกและการทำลายล้างมากที่สุด ในประวัติศาสตร์อังกฤษยุดใหม่
“มรดกที่เธอให้ไว้ คือ ภาวะว่างงานของมวลชน, การปิดตัวลงของโรงงานอุตสาหกรรรม, และการถูกทำลายลงของชุมชนต่างๆ แธตเชอร์เป็นนักสู้ ทว่า ศัตรูของเธอกลับกลายเป็นชนชั้นแรงงานอังกฤษ ชัยชนะของเธอได้รับการสนับสนุนจากบรรดาผู้นำพรรคแรงงานและสหภาพแรงงาน ที่มีความฉ้อฉลในทางการเมือง มันก็เป็นเพราะนโยบายหลายอย่างที่เธอเริ่มต้นขึ้นนั่นแหละ พวกเราถึงได้ชุลมุนวุ่นวายกันอยู่ในทุกวันนี้”
“จำได้ไหม? ว่าแธตเชอร์เคยบอกว่า (เนลสัน) แมนเดล่า เป็นผู้ก่อการร้าย มิหนำซ้ำ เธอยังไปนั่งดื่มชากับอาชญากรและนักละเมิดสิทธิมนุษยชนชื่อปิโนเชต์ เราควรให้เกียรติเธออย่างไรดีล่ะ? อ้อ มา ‘แปรรูป’ งานศพเธอกันดีไหม ด้วยการเปิดโอกาสให้มีผู้เข้ามาแข่งขันเพื่อประมูลจัดงานศพ ใครเสนอราคาถูกสุด คนนั้นก็ได้จัดงาน นี่น่าจะเป็นสิ่งที่แธตเชอร์ต้องการนะ”