ขออนุญาตรำลึกถึง “คุณอดุลย์ ดุลยรัตน์” และ “คุณประจวบ ฤกษ์ยามดี” สองดาราอาวุโสที่เพิ่งล่วงลับ ผ่านมุมมองของคนดูหนังคนหนึ่ง ซึ่งไม่ได้ติดตามผลงานของทั้งสองท่านมามากนัก
ผมคงเช่นเดียวกับแฟนหนังรุ่นหลังหลายๆ คน ที่จดจำคุณอดุลย์ได้จากบทบาท “ท่านครู” ใน “โหมโรง”
ตามความเห็นส่วนตัว ผมคิดว่า ตัวละคร “ท่านครู” ในภาพยนตร์เรื่องดังกล่าว มี “นัยยะความหมายทางสังคม-วัฒนธรรม” อันสำคัญยิ่ง
จนสำคัญยิ่งกว่าเรื่องราวในจอภาพยนตร์ ทว่า เป็นความสำคัญที่หลุดลอยออกมาสู่บริบทการต่อสู้ในทางสังคม-การเมือง นับแต่ก่อนเดือนกันยายน 2549 จนถึงปัจจุบัน
ท่านครูในโหมโรง มิใช่ตัวแทนของ “ความเป็นไทยแท้บริสุทธิ์” ที่ไม่ยอมเจือปนกับองค์ประกอบแปลกปลอมใดๆ ที่ “ไม่เป็นไทย” เสียทีเดียว
ถ้าจำกันได้ ฉากคลาสสิคหนึ่งของโหมโรง ก็คือ ฉากท่านครูตีระนาด ผสานการบรรเลงเปียโนของลูกชาย อันแสดงให้เห็นถึงกระบวนการปรับประสานต่อรองซึ่งกันและกัน ระหว่าง “ดนตรีไทย” กับ “ดนตรีฝรั่ง”
จุดยืนของโหมโรง ก็ไม่ต่างกับ “ทวิภพ” ฉบับ “สุรพงษ์ พินิจค้า” ที่ออกฉายไล่เลี่ยกัน
กล่าวคือ ชนชั้นนำสยามมิได้ปฏิเสธฝรั่งอย่างเด็ดขาด หรือตั้งเป้าจะยอมพลีชีพในการรบกับฝรั่ง
หากชนชั้นนำสยามพร้อมจะปรับประสานต่อรองทางอำนาจกับชาติตะวันตก และยินดีจะแสวงหา-สั่งสมองค์ความรู้ใหม่ๆ ในแบบฉบับของฝรั่ง
โหมโรงและทวิภพ จึงมิได้ปฏิเสธหรือต่อต้านอิทธิพลในทางความคิด-วัฒนธรรมของ “ต่างชาติ/ฝรั่ง/ตะวันตก”
แต่คำถามสำคัญที่หนังตั้งขึ้น ก็คือ คนไทยกลุ่มไหน? ควรจะเป็นผู้รับเอาแนวคิด-วัฒนธรรมเหล่านั้นเข้ามา แล้วแปร/แปลเป็น “ไทย” ให้ซึมซาบลงสู่วิธีคิด-พฤติกรรมของคนไทยส่วนใหญ่
คำตอบที่มีอยู่ในตัวหนัง ก็คือ ชนชั้นนำจารีต อันมี ท่านครู, ขุนอัครเทพวรากร และหลวงราชไมตรี เป็นภาพแทนขั้นเบื้องต้นที่สุด
ไม่ต่างจากกรณีคุณอดุลย์ ผมได้ดูหนังที่คุณประจวบแสดงอยู่ไม่กี่เรื่อง
ถ้าจำไม่ผิด ก็มีแค่ “โรงแรมนรก” และ “ชั่วฟ้าดินสลาย”
หากวัดเอาจากความตลกและความมีเสน่ห์ ผมคงชอบบทบาทของคุณประจวบในโรงแรมนรกมากกว่าในชั่วฟ้าดินสลาย
อย่างไรก็ตาม บทบาทและไดอะล็อกสั้นๆ ในชั่วฟ้าดินสลาย ของคุณประจวบ กลับสร้างแรงสั่นสะเทือนบางอย่างในใจผมได้มากกว่า
ไดอะล็อกที่ว่า เกิดขึ้นหลังจากมีคนงานขนไม้เดินตัดหน้าจนแทบจะชน “ทิพย์” ผู้จัดการปางไม้ ซึ่งรับบทโดยคุณประจวบ
ทิพย์จึงด่าคนงานกลับไปว่า “เฮ้ย เดินดูตาม้าตาเรือซะบ้างสิ ไอ้นี่มีความรู้สึกจองหองในใจนี่”
(ขอบคุณสเตตัสเฟซบุ๊กของคุณเบียร์ มนทกานติ บรรณาธิการบริหารนิตยสารมาดามฟิกาโร ที่ชวนให้นึกถึงเหตุการณ์และไดอะล็อกนี้ครับ)
ก่อนหน้าจะได้ดู “ชั่วฟ้าดินสลาย” เวอร์ชั่นดังกล่าว (เอาเข้าจริง คือ เวอร์ชั่นแรกที่ผมได้ดู) ผมเข้าใจมาตลอดว่า เรื่องราวในหนัง/นิยาย คือ เรื่องราวการแสดงอำนาจสัมบูรณ์ของ “พะโป้” ที่สามารถควบคุมและลงทัณฑ์หนุ่มสาวผู้ฝ่าฝืนกฎเกณฑ์ของเขาได้อย่างอยู่หมัด
ทว่า พอได้ดู “ชั่วฟ้าดินสลาย ปี 2498” ไปเรื่อยๆ ผมกลับพบว่า ตนเองเข้าใจอะไรผิดไปเยอะแยะ
เพราะท่ามกลางการจัดการกับขบถอย่าง “ส่างหม่อง” และ “ยุพดี” พะโป้และปางไม้ของเขา กลับประสบกับปัญหาภาวะความชอบธรรมทางอำนาจที่ตกต่ำลดลงเรื่อยๆ
ไดอะล็อกของทิพย์ (คุณประจวบ) ก็เป็นอาการบ่งชี้ข้อหนึ่ง ที่แสดงให้เห็นว่า พะโป้และระบอบอำนาจของเขากำลัง “คุมสถานการณ์เอาไว้ไม่อยู่”
ก่อนที่อะไรต่อมิอะไรจะชัดเจนขึ้น ในตอนจบของภาพยนตร์