วันเสาร์ที่ 19 มีนาคมนี้ หอภาพยนตร์ (องค์การมหาชน) ขอเชิญทุกท่าน มาร่วมเป็นสักขีพยานกับ “รอน บรรจงสร้าง” ที่จะเดินทางมาประทับรอยมือรอยเท้าบนลานดารา เป็นดาวดวงที่ 165 เพื่อให้เป็นอมตนุสรณ์ในฐานะนักแสดงภาพยนตร์คนสำคัญ และร่วมบอกเล่าประสบการณ์การทำงานในวงการภาพยนตร์ ณ โรงภาพยนตร์ศรีศาลายา หอภาพยนตร์ (องค์การมหาชน)
โดยจะมีการฉายผลงานการแสดงภาพยนตร์เรื่องแรกของรอน คือ “สะพานรักสารสิน” (2530) ตั้งแต่เวลา 13.00 น. เป็นต้นไป ทั้งนี้ ไม่เสียค่าใช้จ่ายในการเข้าร่วมกิจกรรมแต่อย่างใด สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ 02 482 2013-14 ต่อ 111 หรือเว็บไซต์ หอภาพยนตร์.com
ประวัติและผลงานการแสดงภาพยนตร์ของ รอน บรรจงสร้าง
รอน บรรจงสร้าง มีชื่อจริงว่า ถิรยุทธ ตันติพิพัฒน์ เกิดเมื่อวันที่ ๒๑ เมษายน พ.ศ. ๒๕๐๗ ในครอบครัวที่มีคุณพ่อเป็นนายทหาร ซึ่งเป็นแบบอย่างให้เขาคิดฝันอยากเจริญรอยตาม แต่เมื่อไม่สมหวัง เขาได้หันเหไปเรียนแผนกไฟฟ้าที่โรงเรียนช่างกล ขส.ทบ. ในระดับ ปวช. และเรียนต่อที่วิทยาลัยเทคโนโลยีและอาชีวะศึกษา วิทยาเขตเทคนิคนนทบุรี จนจบระดับ ปวส. ตามลำดับ รวมทั้งเริ่มเข้าสู่วงการบันเทิงด้วยการถ่ายแบบลงนิตยสารและมีผลงานแสดงมิวสิกวิดีโอ
ในระหว่างที่กำลังวางแผนเรียนต่อระดับปริญญาตรี รูปลักษณ์ของนายแบบหนุ่มคนนี้ได้ไปเตะตา เปี๊ยก โปสเตอร์ ผู้กำกับภาพยนตร์ผู้มีชื่อในเรื่องการปั้นนักแสดงหน้าใหม่ จึงทาบทามให้เขามารับบทพระเอกประกบคู่กับนางเอกชื่อดัง จินตหรา สุขพัฒน์ ในภาพยนตร์เรื่อง สะพานรักสารสิน ซึ่งดัดแปลงมาจากโศกนาฏกรรมในชีวิตจริงของคู่รักหนุ่มสาวชาวภูเก็ตที่ถูกกีดกันเรื่องความรัก จนตัดสินใจกระโดดจากสะพานสารสินลงทะเลเพื่อฆ่าตัวตายด้วยกัน และกลายเป็นข่าวโด่งดังในอดีต
สะพานรักสารสิน ออกฉายในปี พ.ศ. ๒๕๓๐ ความโด่งดังของภาพยนตร์เป็นจุดเริ่มต้นให้พระเอกหน้าใหม่ที่ใช้ชื่อในการแสดงว่า “รอน บรรจงสร้าง” เป็นที่รู้จักแก่สาธารณชนอย่างรวดเร็ว และเป็นจุดเปลี่ยนให้เขาเข้ามาสู่วงการมายาอย่างเต็มตัว โดยเฉพาะในช่วงทศวรรษ ๒๕๓๐ เขามีผลงานการแสดงภาพยนตร์ในบทบาทที่หลากหลายออกมามากมายร่วม ๒๐ เรื่อง เช่น กลิ่นสีและกาวแป้ง (๒๕๓๑) เพชรลุยเพลิง (๒๕๓๑) มีหัวใจไว้บอกรัก (๒๕๓๑) กลิ่นสี 2 ตอน จีบสาวจิ๊จ๊ะ (๒๕๓๒) เรือนแพ (๒๕๓๒) กองร้อยสบาย สบาย (๒๕๓๒) วิวาห์พาฝัน (๒๕๓๓) กามเทพท่าจะบ๊องส์ (๒๕๓๓) แรงรักแรงพยาบาท (๒๕๓๕) แม่นาคพระโขนง (๒๕๓๗) ฯลฯ
นอกจากภาพยนตร์ เขายังมีผลงานละครโทรทัศน์อีกจำนวนมาก และเคยคว้ารางวัลโทรทัศน์ทองคำ สาขานักแสดงสนับสนุนชายดีเด่นมาครองได้ถึง ๒ ครั้ง นับเป็นหนึ่งในดารายอดนิยมที่ได้รับการยอมรับในฝีมือการแสดงและอยู่ในวงการมาอย่างต่อเนื่องยาวนาน
ผลงานภาพยนตร์ในระยะหลังของ รอน บรรจงสร้าง ได้แก่ ยุวชนทหาร เปิดเทอมไปรบ (๒๕๔๓) โรงแรมผี (๒๕๔๕) ตำนานสมเด็จพระนเรศวรมหาราช (๒๕๕๐) และ 2538 อัลเทอร์มาจีบ (๒๕๕๘) แม้จะเริ่มมีบทบาททางจอเงินน้อยลง แต่ รอน บรรจงสร้าง ยังคงมีผลงานทางจอแก้วออกมาให้เห็นอย่างสม่ำเสมอในปัจจุบัน นอกจากนี้ เขายังได้ผันตัวมาเป็นผู้กำกับและผู้จัดละครโทรทัศน์ ร่วมกับ ปรารถนา สัชฌุกร คู่ชีวิตซึ่งเป็นนักแสดงที่มีชื่อเสียงเช่นเดียวกัน
หมายเหตุ โดย คนมองหนัง
หากพูดถึงรอน บรรจงสร้าง ผมมักนึกถึงละครโทรทัศน์อิงประวัติศาสตร์ที่เขามีบทบาทร่วมแสดงเมื่อปี 2531 เรื่อง “สงครามเก้าทัพ”
ละครเรื่องนั้น ที่กำกับโดย วรยุทธ พิชัยศรทัต มีส่วนก่อรูปความคิดให้คนดูอย่างผมตระหนักว่า หนัง/ละครอิงประวัติศาสตร์ ไม่ว่าจะ “เอียงขวา” สักเพียงไร ก็สามารถมีความสนุกได้อยู่ ตราบใด ที่มันยังมุ่งนำเสนอชีวิตชีวาของเหล่าตัวละคร ผู้เป็นมนุษย์ธรรมดาสามัญ
โอกาสนี้ จึงขอนำเอาเนื้อหาบางส่วน จากบทความที่ผมเคยเขียนถึงละครเรื่อง “สงครามเก้าทัพ” ลงในนิตยสารไบโอสโคป เมื่อปี 2552 มาเผยแพร่อีกครั้ง เพื่อเป็นเกียรติแก่รอน
—–
สงครามเก้าทัพอาจมีจุดหมายสำคัญในการเชิดชูเจ้านาย เพื่อให้คนดูเกิดความรู้สึกจงรักภักดีต่อบุรพกษัตริย์และพระบรมวงศานุวงศ์ในยุคก่อตั้งกรุงรัตนโกสินทร์ อย่างไรก็ตาม ละครเรื่องนี้ยังพูดถึงชีวิตของตัวละครไพร่กลุ่มหนึ่งอย่างคู่ขนานกับชีวิตของบรรดาเจ้านายไปตลอดทั้งเรื่อง ไพร่ที่มีชีวิตจิตใจ มีความเป็นมนุษย์ ตลอดจนได้รับการบาดเจ็บล้มตายจากสงคราม
และหากมองจากมุมของไพร่ พระเอกของสงครามเก้าทัพก็คือตัวละครชื่อ “ไอ้สุก” (รอน บรรจงสร้าง)
ไอ้สุกเป็นคนรับใช้ประจำวังหน้า เขาเป็นหนุ่มเจ้าสำราญชอบเล่นเพลงเรือ อ่อนแอ ขี้ขลาด ไม่อยากเป็นนักรบ สุกไปหลงรัก “อีพะยอม” นางกำนัลของวังหลัง แต่พะยอมแสดงอาการดูแคลนและท้าทายให้สุกไปออกรบอย่างชายชาตรี ไอ้สุกจึงตัดสินใจออกศึกเพื่อหวังทำความดีความชอบและนำยศฐาบรรดาศักดิ์มาเอาชนะใจเธอ
กว่าสุกจะตัดสินใจร่วมรบ กรมพระราชวังบวรมหาสุรสิงหนาทเจ้านายของเขาก็ยกทัพไปรบกับอังวะที่ลาดหญ้าแล้ว เขาจึงตัดสินใจสมัครเข้าร่วมกับกองทัพของกรมพระราชวังบวรสถานพิมุข เพื่อขึ้นไปรบกับตองอูที่หัวเมืองเหนือ แต่ไอ้สุกอ่อนแอเกินไปจนไม่สามารถผ่านการคัดเลือกเข้าเป็นทหารประจำทัพวังหลัง
ทว่าสุดท้ายแล้วสุกก็ได้เข้าร่วมกับกองโจรของพระองค์เจ้าขุนเณร ซึ่งมีหน้าที่ดักปล้นเสบียงและสรรพาวุธของกองทัพอังวะในป่าแถบกาญจนบุรี
เมื่อผ่านการสู้รบและได้พบเห็นเพื่อนสนิทบาดเจ็บล้มตายไปต่อหน้า ไอ้สุกก็มีจิตใจและร่างกายที่เข้มแข็งขึ้นจนกลายเป็นทหารกล้ามีฝีมือ กระทั่งได้เข้าร่วมในกองทัพวังหน้าซึ่งตั้งค่ายอยู่ที่ลาดหญ้า รวมทั้งได้รับการแต่งตั้งเป็นหัวหมู่
หลังจากทัพวังหน้าได้ชัยชนะที่ลาดหญ้า เหล่าทหารก็เดินทางกลับมาที่กรุงเทพฯ แต่แล้วนายทหารคนหนึ่งคือ “พันเทพฤทธิ์” กลับถูกนักเลงจีนรุมฆ่า ขณะเข้าไปเล่นพนันที่บ่อนแถวสำเพ็ง ไอ้สุกจึงได้รับการแต่งตั้งให้เป็น “พันเทพฤทธิ์” แทน
แม้ยศฐาบรรดาศักดิ์ของเขาจะก้าวหน้าอย่างรวดเร็วสมใจปรารถนา แต่สุกกลับผิดหวังในความรัก เมื่อพะยอมถูกหลวงศรีสมบัติ ข้าราชการเชื้อสายจีน หัวหน้านักเลงสำเพ็ง และหลานชายของพระยาราชาเศรษฐี มารับตัวไปเป็นนางละครประจำคณะละคร ทั้งยังหวังจะได้เธอเป็นเมีย
ในเบื้องต้น ภาพลักษณ์ของหลวงศรีสมบัติ พระยาราชาเศรษฐี ตลอดจนบรรดานักเลงสำเพ็ง ล้วนแสดงให้เห็นถึงความเป็นคนจีนที่กักขฬะหยาบคาย เข่นฆ่าทหารไทยที่ออกรบเพื่อ “ชาติ” และเอาแต่ค้าขายหาประโยชน์ใส่ตัว
ยิ่งกว่านั้น เมื่ออีพะยอมไม่ยอมเป็นเมียของหลวงศรีสมบัติ เธอจึงหนีกลับมาหาพระชายาของกรมพระราชวังบวรสถานพิมุขที่วังหลังขณะที่เจ้าของวังไปออกรบที่เมืองเหนือ พระยาราชาเศรษฐีก็ถึงกับพานักเลงมาล้อมวังเพื่อบีบคั้นเอาตัวพะยอมกลับคืน
จนตัวละครเจ้านายบางคน เช่น พระชายาของวังหลังและกรมหลวงจักรเจษฎา เคยพูดเอาไว้ว่าเมื่อเสร็จศึกพม่าแล้วก็เห็นจะต้องกลับมากวาดล้างพวกนักเลงจีนที่สำเพ็ง เช่นกันกับกรมพระราชวังหลังที่กล่าวว่าระบบระเบียบของกรุงรัตนโกสินทร์นั้นยังไม่เรียบร้อย เพราะคนยังละเลยในขนบธรรมเนียมเก่าๆ จนไม่เคารพเจ้านายอย่างแต่ก่อน
ไอ้สุกได้ออกศึกอีกครั้งกับทัพหลวงที่นำโดยรัชกาลที่ 1 กรมหลวงจักรเจษฎา และกรมหลวงเทพหริรักษ์ ซึ่งยกขึ้นไปช่วยทัพของวังหลังที่หัวเมืองเหนือ เช่นเดียวกับหลวงศรีสมบัติที่นำทหารจีนอาสาไปร่วมรบในศึกครั้งนี้ด้วย สุกกับหลวงศรีฯ เกลียดขี้หน้ากัน เพราะความขัดแย้งกรณีการตายของพันเทพฤทธิ์คนเก่าและเรื่องอีพะยอม (หลวงศรีฯ ไม่ทราบว่าสุกรักพะยอม ทว่าสุกรู้ว่าหลวงศรีฯ มาเอาตัวพะยอมไป)
แต่เจ้านายที่นำทัพก็ตัดสินใจมอบหมายให้ทั้งสองไปสอดแนมกองทัพตองอูร่วมกัน แม้ในช่วงแรกขุนนางจีนจะพยายามหักหลังทหารไทย ทว่าเมื่อพม่าคือศัตรูหลัก ทั้งจีนและไทยจึงร่วมแรงร่วมใจกันจัดการพม่า กระทั่งสามารถนำข่าวศึกมาแจ้งแก่กองทัพไทยจนเป็นฝ่ายรบชนะ ส่งผลให้ไอ้สุกและหลวงศรีสมบัติต่างรู้สึกเคารพนับถือซึ่งกันและกันในที่สุด
นับจากนั้นเป็นต้นมา หลวงศรีสมบัติก็กลายเป็นคนดี เป็นเพื่อนรักของไอ้สุก ไม่กดขี่ข่มเหงอีพะยอม และขับไล่นักเลงลูกน้องที่เกเรออกไป ดังนั้นตัวละครขุนนางจีนที่ดูเหมือนจะมีแต่ความร้ายกาจในตอนต้น จึงสามารถเข้ามามีตำแหน่งแห่งที่อยู่ใน “ชุมชนชาติไทย” ได้อย่างเต็มภาคภูมิ
เมื่อเสร็จศึกที่หัวเมืองเหนือ ไอ้สุกได้เลื่อนตำแหน่งเป็นหมื่นพิชิตสงคราม ส่วนหลวงศรีสมบัติได้เลื่อนเป็นพระศรีสมบัติ อย่างไรก็ตาม ไอ้สุกกลับต้องตรอมใจในความรักหนักขึ้น เพราะอีพะยอมตัดสินใจลอบหนีออกจากวังหลังในคราวที่พระยาราชาเศรษฐีนำนักเลงมาล้อมวัง แต่เธอกลับไปเจอกับพระศรีสมบัติเข้าโดยบังเอิญ จนถูกรับตัวกลับไปยังคณะละครของขุนนางจีนอีกครั้ง
ไอ้สุกจึงเข้าไปกินเหล้าเมาอาละวาดในเขตวังหลัง จนเผลอแสดงกริยาไม่ดีต่อหน้ากรมพระราชวังบวรสถานพิมุข กระทั่งถูกลงโทษจับเข้าคุก จริงๆ แล้วกรมพระราชวังหลังรวมทั้งพระชายาของวังหน้าพร้อมจะอภัยโทษและให้สุกกลับมารับราชการตามเดิม แต่เขากลับรู้สึกสำนึกผิดและต้องการพิสูจน์ว่าตนเองไปรบเพื่อ “ชาติ” ไม่ใช่เพราะหวังจะได้ยศฐาบรรดาศักดิ์มาเอาชนะใจหญิงสาวอย่างที่ปรารถนาในตอนต้น
เมื่อคิดเช่นนั้นไอ้สุกจึงตัดสินใจหันหลังให้กับการรับราชการเป็นทหาร และกลับไปเป็นไพร่รับใช้ประจำวังหน้าตามเดิม
แต่ไอ้สุกก็ได้ออกรบอีกครั้งในตอนจบของละคร เมื่อกรมพระราชวังบวรสถานมงคลยกทัพไปรบกับพม่าที่สามสบและเขาได้ติดตามไปรับใช้พระองค์ด้วย
ครั้นทัพไทยจวนพลาดท่าเสียที สุกก็ตัดสินใจวิ่งฝ่ากระสุนปืนเพื่อนำเอาดินปืนไประเบิดประตูค่ายอันแข็งแกร่งของอังวะ จนสามารถนำชัยชนะเด็ดขาดมาสู่กองทัพไทย นอกจากนี้เมื่อกลับมากรุงเทพฯ เขายังได้ครองรักกับอีพะยอมที่ได้รับอิสระจากพระศรีสมบัติเช่นกัน
ชีวิตของไอ้สุกและอีพะยอมจึงมีขึ้นลง มีดีเลว มีถูกผิด และมีแง่มุมด้านอื่นๆ นอกเหนือไปจากการทำทุกอย่างเพื่อบ้านเมืองหรือการออกรบกับอริราชศัตรูเพียงเท่านั้น
มิหนำซ้ำ ท้ายที่สุดแล้วไพร่อย่างสุกก็กลายเป็นวีรบุรุษสงคราม โดยไม่ต้องมีสถานะเป็นเจ้านายหรือเป็นทหารมียศศักดิ์แต่อย่างใด ราวกับจะเป็นการบอกว่าไพร่ก็มีส่วนสำคัญในการสร้าง “ชาติ” ไม่ยิ่งหย่อนไปกว่าชนชั้นนำ
แม้สงครามเก้าทัพจะมีสถานะเป็นละครเทิดพระเกียรติโดยมีกองทัพบกเป็นผู้ให้การสนับสนุน ทว่าประเด็นชีวิตไพร่ที่แฝงในละครก็ชวนให้นึกถึงนวนิยายของนักเขียนฝ่ายซ้ายอย่าง “คนดีศรีอยุธยา” ของเสนีย์ เสาวพงศ์ หรือ “ผู้อยู่เหนือเงื่อนไข” ของสุภา ศิริมานนท์ (แน่นอน ว่ารวมถึงบทประพันธ์ต่างๆ ของหลวงวิจิตรวาทการด้วย) อยู่ไม่น้อย