เมื่อหนังความยาวกว่า 8 ชั่วโมงจากฟิลิปปินส์ คว้ารางวัล “หมีเงิน” ที่เบอร์ลิน

(มติชนสุดสัปดาห์ 26 ก.พ.-3 มี.ค. 2559)

คนรักหนังกลุ่มไม่ใหญ่ในเมืองไทย คงคุ้นเคยกับชื่อของ “ลาฟ ดิแอซ” ผู้กำกับภาพยนตร์วัย 57 ปีอยู่บ้าง

เพราะแม้หนังของเขาจะไม่เคยเข้าฉายเชิงพาณิชย์ในบ้านเราเลย แต่หลายๆ เรื่อง ก็เคยถูกนำมาจัดฉายให้บรรดาคอหนังฮาร์ดคอร์ชาวไทยได้รับชม

ภาพยนตร์ของดิแอซมักมีความยาวมากกว่าหนังโรงทั่วๆ ไป และมุ่งวิพากษ์สังคมฟิลิปปินส์อย่างเข้มข้นจริงจัง ผ่านจังหวะท่วงทำนองราวบทกวี อย่างไรก็ดี เมื่อคนทำหนังชาวฟิลิปปินส์รายนี้เริ่มมีชื่อเสียงในระดับนานาชาติมากขึ้น คุณภาพงานโปรดักชั่นในหนังของเขาก็ถูกยกระดับให้สูงขึ้น และมีดาราดังๆ ของประเทศบ้านเกิด เข้ามาร่วมงานด้วยเยอะขึ้น

หนังเรื่องล่าสุดของดิแอซที่ชื่อ “A Lullaby to the Sorrowful Mystery” เพิ่งถูกคัดเลือกเข้าฉายในสายการประกวดหลักของเทศกาลภาพยนตร์นานาชาติเบอร์ลินครั้งที่ 66

หนังเรื่องนี้ถูกจับตามองจากสื่อต่างชาติ เพราะความยาว 485 นาที (8 ชั่วโมง 5 นาที) ของมัน จนต้องมีการพักครึ่งการฉายเป็นเวลาหนึ่งชั่วโมง

และกลายเป็นภาพยนตร์ในสายการประกวดหลักที่มีขนาดยาวที่สุด ในประวัติศาสตร์ของเทศกาลภาพยนตร์นานาชาติเบอร์ลิน

เว็บไซต์ของเทศกาลภาพยนตร์เบอร์ลิน ระบุว่า “A Lullaby to the Sorrowful Mystery” บอกเล่าเรื่องราวว่าด้วย “อันเดรส โบนีฟาซีโอ อี เด กัสโตร” หนึ่งในวีรบุรุษผู้ทรงอิทธิพล ซึ่งนำชาวฟิลิปปินส์ลุกฮือขึ้นต่อสู้ต่อต้านเจ้าอาณานิคมอย่างสเปน ในช่วงปลายศตวรรษที่ 19 กระทั่งเขาถูกขนานนามให้เป็น “บิดาแห่งการปฏิวัติของฟิลิปปินส์” ในการรับรู้ของผู้คนยุคปัจจุบัน

ในหนังเรื่องล่าสุด ดิแอซได้มุ่งสำรวจตรวจสอบตำนาน/เรื่องเล่า/มายาคติเกี่ยวกับ “บิดาแห่งการปฏิวัติ” ทั้งยังสร้างสรรค์คณะตัวละครกลุ่มหนึ่งขึ้นมา (รวมทั้งหยิบยืมตัวละครบางรายมาจากเรื่องเล่าของผู้อื่น) แล้วสอดแทรกพวกเขาลงไปในเหตุการณ์ทางประวัติศาสตร์ของประเทศฟิลิปปินส์

เรื่องราวย่อยๆ ที่สานทอเข้าหากันอย่างหลวมๆ ในหนังเรื่องนี้ ถูกผนวกรวมเป็นหนึ่งเดียว ผ่านประเด็นหลัก คือ การสำรวจบทบาทของปัจเจกชนในช่วงเวลาทางประวัติศาสตร์ ตลอดจนความเกี่ยวข้องกับพัฒนาการทางการเมืองและสังคมของปัจเจกบุคคลเหล่านั้น

อาทิ ภรรยาหม้ายของโบนีฟาซีโอซึ่งพยายามค้นหาศพที่สูญหายของสามี อย่างไรก็ตาม เมื่อเธอและผู้ติดตามเดินหลงทางโซซัดโซเซเข้าไปยังป่าลึก ทั้งหมดกลับต้องเผชิญหน้ากับความผิดบาปและภาระความรับผิดชอบของพวกตน ซึ่งพัวพันกันอย่างยุ่งเหยิง

ทางด้านผู้ปกครองชาวสเปนก็ต้องสรรหาวิธีในการวางหมากให้กลุ่มกบฏพื้นเมืองอันหลากหลาย (ซึ่งแต่ละกลุ่มก็มีวิสัยทัศน์ถึงอุตมรัฐอย่างแตกต่างและขัดแย้งกันเอง) ต้องมาชน ปะทะ หรือฟาดฟันกัน

ขณะเดียวกัน สหายร่วมอุดมการณ์ของโบนีฟาซีโอที่ได้รับบาดเจ็บสาหัสก็กำลังไตร่ตรองสะท้อนคิดถึง “บรรดาเหยื่อ” ซึ่งถือกำเนิดขึ้นในฐานะผลพวงอันหลีกเลี่ยงไม่ได้ของการปฏิวัติ

เว็บไซต์ของเทศกาลหนังเบอร์ลินบอกอีกว่า การบันทึกภาพในหนังเป็นสีขาว-ดำที่ตัดกันอย่างเด่นชัด ได้ช่วยทำให้การเดินทางกลับคืนสู่อดีตมีความเป็นนามธรรมมากยิ่งขึ้น

กระทั่งตำนาน, ข้อเท็จจริง และอารมณ์ความรู้สึกที่มีชีวิตชีวาของประวัติศาสตร์ ถูกหลอมรวมเป็นเนื้อเดียวกัน

ดิแอซกล่าวปฏิเสธกับสื่อมวลชนนานาชาติที่เบอร์ลินว่า ตนเองไม่ใช่นักทำหนังในแนว “สโลว์ ซีเนมา” (หนังที่มีขนาดยาวกว่าปกติ, เต็มไปด้วยฉากลองเทก, ถูกถ่ายทำผ่านสายตาที่มุ่งจับจ้องเหตุการณ์อยู่ห่างๆ ในฐานะผู้สังเกตการณ์ระยะไกล และไม่มีหรือแทบไม่มีเรื่องเล่าที่จับต้องได้ใดๆ ปรากฏอยู่บนจอภาพยนตร์) ดังที่หลายคนเข้าใจ

“เรา (ดิแอซและผู้กำกับฯ ที่สร้างงานในลักษณะคล้ายๆ กันรายอื่นๆ) มักถูกตีตราว่าเป็นพวกคนทำหนังแนว ‘สโลว์ ซีเนมา’ แต่หนังของผมไม่ใช่หนังสโลว์ มันเป็นหนังปกตินี่แหละ”

 

“ผมไม่เข้าใจว่า ทำไม ในทุกๆ ครั้งที่เราพยายามนิยามหรือให้คำจำกัดความเกี่ยวกับภาพยนตร์ เราจึงมักมุ่งความสนใจไปที่ความยาวของมัน”

 

“หนังเรื่องนี้เป็นภาพยนตร์ปกติทั่วไป ซึ่งก็เหมือนกับงานศิลปะแขนงอื่นๆ เช่น บทกวี, เพลง และภาพวาด ที่ถูกสร้างสรรค์ขึ้นมาอย่างอิสระเสรี ไม่ว่าจะบนผ้าใบผืนเล็ก หรือผืนผ้าใบขนาดมหึมา ดังนั้น ศิลปะภาพยนตร์จึงไม่ควรถูกกำหนดด้วยกรอบกฎเกณฑ์ใดๆ เช่นเดียวกัน” ดิแอซกล่าวกับผู้สื่อข่าวในเทศกาล

ภายหลังการฉาย “A Lullaby to the Sorrowful Mystery” รอบแรกที่เบอร์ลิน ปิดฉากลง ปรากฏว่าโรงภาพยนตร์ซึ่งจุคนดูได้ 1,600 ที่นั่ง ยังมีผู้ชมเหลืออยู่เกินครึ่ง และ “ผู้รอดชีวิต” หลายร้อยรายก็ตอบแทนดิแอซ ทีมงาน และนักแสดง ด้วยเสียงปรบมือ และเสียงกู่ร้องว่า “บราโว่” (ไชโย)

แกร์ฮาร์ด เรดา นักทำหนังสมัครเล่นชาวเยอรมัน ซึ่งปกติดูภาพยนตร์ 10 ถึง 15 เรื่องต่อสัปดาห์ นิยามการฉายหนังของดิแอซว่าเป็น “บททดสอบความกล้าหาญส่วนบุคคล”

เรดาบอกว่าตนเองเริ่มต้นดูหนังขนาดยาวมากๆ เรื่องอื่นๆ ของดิแอซ เมื่อปีที่แล้ว แต่ก็ต้องยอมแพ้ หลังหนังเหล่านั้นฉายไปได้ราว 1 ชั่วโมง

“เขา (ดิแอซ) สามารถสร้างซีนความยาว 45 นาที โดยทั้งซีนมีแค่ผู้คนพูดคุยกัน หรือผู้คนเดินผ่านท้องทุ่ง”

 

“บางคนจึงรักเขา ขณะที่บางคนก็เกลียดเขา แต่เขามักท้าทายคนดูอยู่เสมอ”

เมื่อ “A Lullaby to the Sorrowful Mystery” ฉายไปได้ราวหนึ่งชั่วโมง เรดาก็ค่อยๆ ลงมือมวนบุหรี่ ขณะนั่งชมหนัง ก่อนจะออกมาพักสูบบุหรี่ข้างนอกโรงภาพยนตร์ชั่วครู่คราว

ส่วนนักวิจารณ์ภาพยนตร์จากไต้หวัน เฉิน ยุ่นหัว บอกว่า เธอรู้สึกโอเคมากๆ กับหนัง

“นี่คือประสบการณ์การดูหนังที่มหัศจรรย์สุดๆ และควรค่าแก่การไปดูในโรงภาพยนตร์”

 

“หนังจำเป็นต้องมีขนาดยาวอย่างนี้จริงๆ เพื่อคนดูจะได้สามารถจมดิ่งลงไปในเรื่องราวของภาพยนตร์”

เอ็นริโก้ เซโฮวิน ชาวอิตาเลียนวัย 27 ปี เปรียบเทียบประสบการณ์การดูหนังของดิแอซ (ซึ่งเขาบอกว่า “เหมาะสมกับคนรักหนังเฉพาะกลุ่ม”) เข้ากับการบ้าเล่นวิดีโอเกมแบบข้ามวันข้ามคืน

“เราต้องใช้เวลา 8-10 ชั่วโมง ในการเล่นเกมบางเกม และคุณก็ไม่สามารถเข้าใจได้เลยว่า ตัวเองสละเวลาเหล่านั้นไปเพื่ออะไร? มันก็คงเหมือนกับการดูหนังขนาดยาวๆ นี่แหละ”

 

“อย่างไรก็ตาม การดูหนังเรื่องนี้นับเป็นประสบการณ์ที่ผมอาจจะไม่ได้พบเจออีกแล้วในอนาคต”

คาร์ลา เชอร์เมล นักพัฒนา วัย 36 ปี ยอมรับว่า เธอไม่รู้เรื่องประวัติศาสตร์การปฏิวัติของประเทศฟิลิปปินส์ ซึ่งปรากฏในภาพยนตร์มากนัก

“แม้หนังจะยาวมาก แต่ฉันคิดว่าตัวเองยังต้องเรียนรู้อีกเยอะ”

คำกล่าวของเชอร์เมลบ่งชี้ว่า คนดูบางกลุ่มอาจเข้าถึงเรื่องราวในหนังของดิแอซได้ยากลำบากพอสมควร

สวนทางกับ ฮูเบิร์ต สไปช์ นักวิจารณ์จากสถานีโทรทัศน์สาธารณะของเยอรมนี ที่บอกว่าหนังของดิแอซ “ยอดเยี่ยมมาก”

“ดิแอซมีรูปแบบการเล่าเรื่องในลักษณะบทกวีที่เป็นลายเซ็นของตัวเอง ส่วนภาพในหนังก็ถูกถ่ายทอดออกมาได้อย่างล้ำเลิศวิจิตรบรรจง”

 

“เขาต้องการ ‘ผืนผ้าใบ’ ขนาดนี้ เพื่อจะเล่าเรื่องราวที่เขาต้องการเล่า โดยลงลึกถึงทุกๆ รายละเอียดอันซับซ้อน ในขอบเขตประวัติศาสตร์อันกว้างขวาง มันจึงไม่มีแม้แต่ช็อตเดียวที่เป็นส่วนเกินของหนัง”

 

“ดิแอซแสดงให้พวกเราเห็นว่าสื่อภาพยนตร์นั้นมีศักยภาพเพียงใด”

ท้ายที่สุด คณะกรรมการพิจารณารางวัลก็ตัดสินให้ “A Lullaby to the Sorrowful Mystery” ได้รับรางวัลหมีเงิน สาขา “อัลเฟรด บาวเออร์ ไพรซ์” ในฐานะที่เป็นภาพยนตร์ซึ่งช่วยเปิดโลกทัศน์มุมมองใหม่ๆ ให้แก่ผู้ชม

“เมอรีล สตรีป” นักแสดงยอดฝีมือชาวอเมริกัน ผู้ดำรงตำแหน่งประธานคณะกรรมการตัดสินรางวัลของเทศกาลภาพยนตร์เบอร์ลินประจำปีนี้ กล่าวถึงดิแอซและหนังที่มีความยาวเกิน 8 ชั่วโมงของเขาว่า

“หนังเรื่องนี้ คนทำหนังคนนี้ ได้เข้ามาเปลี่ยนแปลงระบบโมเลกุลภายในร่างกายของดิฉัน”

Leave a Reply

Fill in your details below or click an icon to log in:

WordPress.com Logo

You are commenting using your WordPress.com account. Log Out /  Change )

Twitter picture

You are commenting using your Twitter account. Log Out /  Change )

Facebook photo

You are commenting using your Facebook account. Log Out /  Change )

Connecting to %s

This site uses Akismet to reduce spam. Learn how your comment data is processed.