หนังฟิลิปปินส์ยาว 8.30 ชม. เปิดตัวชิงรางวัลหลักเทศกาลเบอร์ลิน คนหลายร้อยร่วมชมจนจบ

คนรักหนังหลายร้อยราย ได้เข้าร่วมเป็นสักขีพยานในการฉายภาพยนตร์ที่มีขนาดยาวที่สุด ซึ่งมีโอกาสได้ชิงรางวัลหลักของเทศกาลภาพยนตร์นานาชาติเบอร์ลิน นับแต่เทศกาลหนังแห่งนี้ดำเนินการจัดงานมาเป็นเวลา 66 ปี

ภาพยนตร์เรื่องดังกล่าว เป็นหนังฟิลิปปินส์มีชื่อว่า “A Lullaby to the Sorrowful Mystery” ผลงานการกำกับของลาฟ ดิแอซ (ผลงานของเขาหลายเรื่องเคยเข้ามาฉายที่เมืองไทย) ซึ่งมีความยาว 8.30 ชั่วโมง โดยมีการพักเบรกระหว่างฉายหนึ่งหน

หนังมีเนื้อหาว่าด้วยประวัติศาสตร์การปฏิวัติ และตำนานเล่าขานเกี่ยวกับประเทศที่เสื่อมโทรมยากจนอย่างฟิลิปปินส์

หลังฉายหนังจบ ปรากฏว่าโรงภาพยนตร์ซึ่งจุคนดูได้ 1,600 ที่นั่ง ยังมีผู้ชมเหลืออยู่เกินครึ่ง และคนดูเหล่านั้นก็ตอบแทนหนังด้วยเสียงปรบมือ และเสียงร้องคำว่า “บราโว่” (ไชโย)

หนังเรื่องล่าสุดของดิแอซ เป็นภาพยนตร์ 1 ใน 18 เรื่อง ที่ได้เข้าชิงรางวัล “หมีทองคำ” ซึ่งเป็นรางวัลสูงสุดของเทศกาลเบอร์ลิน โดยในปีนี้ มีนักแสดงหญิงมากความสามารถอย่าง เมอรีล สตรีพ มาเป็นประธานคณะกรรมการตัดสิน

ดิแอซ

© Bradley Liew

แกร์ฮาร์ด เรดา นักทำหนังสมัครเล่นชาวเยอรมัน ซึ่งปกติดูภาพยนตร์ 10 ถึง 15 เรื่อง ต่อสัปดาห์ เรียกการฉายหนังของดิแอซว่า เป็น “บททดสอบความกล้าหาญส่วนตัว”

เรดาบอกว่าตนเองเริ่มต้นดูหนังขนาดยาวมากๆ เรื่องอื่นๆ ของดิแอซ เมื่อปีที่แล้ว แต่ก็ต้องยอมแพ้ หลังหนังเหล่านั้นฉายไปได้ราว 1 ชั่วโมง

“เขา (ดิแอซ) สามารถสร้างซีนความยาว 45 นาที โดยทั้งซีนมีแค่ผู้คนพูดคุยกันหรือผู้คนเดินผ่านท้องทุ่ง”

 

“บางคนจึงรักเขา ขณะที่บางคนก็เกลียดเขา แต่เขามักท้าทายคนดูเสมอ”

เมื่อ “A Lullaby to the Sorrowful Mystery” ฉายไปได้ราวหนึ่งชั่วโมง เรดาก็ค่อยๆ ลงมือมวนบุหรี่ ขณะนั่งชมหนัง ก่อนจะออกมาพักสูบบุหรี่ข้างนอกโรงภาพยนตร์

ส่วนนักวิจารณ์ภาพยนตร์จากไต้หวัน เฉิน ยุ่นหัว บอกว่า เธอรู้สึกโอเคมากๆ กับหนัง

“นี่คือประสบการณ์การดูหนังที่มหัศจรรย์สุดๆ และควรค่าแก่การดูในโรงภาพยนตร์”

 

“หนังจำเป็นต้องมีขนาดยาวอย่างนี้จริงๆ เพื่อคนดูจะได้สามารถจมดิ่งลงไปในเรื่องราวของภาพยนตร์”

เอ็นริโก้ เซโฮวิน ชาวอิตาเลียนวัย 27 ปี เปรียบเทียบประสบการณ์การดูหนังของดิแอซ ซึ่งเขาบอกว่า “เหมาะสมกับเฉพาะกลุ่มคนรักหนัง” เข้ากับการบ้าเล่นวิดีโอเกมแบบข้ามวันข้ามคืน

“เราต้องใช้เวลา 8-10 ชั่วโมง ในการเล่นเกมบางเกม และคุณก็ไม่สามารถเข้าใจได้เลยว่า ตัวเองสละเวลาเหล่านั้นไปเพื่ออะไร? มันก็คงเหมือนกับการดูหนังขนาดยาวๆ นี่แหละ”

 

“อย่างไรก็ตาม การดูหนังเรื่องนี้นับเป็นประสบการณ์ ที่ผมอาจจะไม่ได้พบเจออีกแล้วในอนาคต”

คาร์ลา เชอร์เมล ผู้ปฏิบัติงานด้านการพัฒนา วัย 36 ปี ยอมรับว่า เธอไม่รู้เรื่องการปฏิวัติของฟิลิปปินส์ ซึ่งปรากฏในภาพยนตร์มากนัก

“แม้ว่าหนังจะยาวมาก แต่ฉันคิดว่าตนเองยังต้องเรียนรู้อีกมาก”

คำกล่าวของเชอร์เมลบ่งชี้ว่า คนดูบางกลุ่มอาจเข้าถึงเรื่องราวในหนังของดิแอซได้ไม่มากนัก

สวนทางกับฮูเบิร์ท สไปช์ นักวิจารณ์จากสถานีโทรทัศน์สาธารณะของเยอรมนี ที่บอกว่าหนังของดิแอซ “ยอดเยี่ยมมาก”

“ดิแอซมีรูปแบบการเล่าเรื่องในลักษณะบทกวีที่เป็นลายเซ็นของตัวเอง ส่วนภาพในหนังก็ถูกถ่ายทอดออกมาได้อย่างล้ำเลิศ”

 

“เขาต้องการ ‘ผืนผ้าใบ’ ขนาดนี้ เพื่อจะเล่าเรื่องราวที่เขาต้องการเล่า โดยลงลึกถึงทุกๆ รายละเอียดอันซับซ้อน ในขอบเขตประวัติศาสตร์อันกว้างขวาง มันจึงไม่มีแม้แต่ช็อตเดียวที่เป็นส่วนเกินของหนัง”

 

“ดิแอซแสดงให้เห็นว่าสื่อภาพยนตร์นั้นมีศักยภาพถึงระดับไหน”

ที่มา รายงานข่าวเอเอฟพี โดย เดโบราห์ โคล

http://news.yahoo.com/weary-crowd-cheers-eight-hour-epic-berlin-film-200723119.html

ภาพประกอบ © Bradley Liew

Leave a Reply

Fill in your details below or click an icon to log in:

WordPress.com Logo

You are commenting using your WordPress.com account. Log Out /  Change )

Twitter picture

You are commenting using your Twitter account. Log Out /  Change )

Facebook photo

You are commenting using your Facebook account. Log Out /  Change )

Connecting to %s

This site uses Akismet to reduce spam. Learn how your comment data is processed.