“วัตถุแห่งการขัดขืน” เมื่อสัญลักษณ์การประท้วงทั่วโลกถูกรวบรวมจัดแสดงในพิพิธภัณฑ์

(มติชนสุดสัปดาห์ 1-7 สิงหาคม 2557)

ตั้งแต่วันที่ 26 กรกฎาคม 2557 ถึง 1 กุมภาพันธ์ 2558 พิพิธภัณฑ์ “เดอะ วิคตอเรีย แอนด์ อัลเบิร์ต” ที่กรุงลอนดอน จะจัดแสดงนิทรรศการศิลปะที่น่าสนใจอย่างยิ่งนิทรรศการหนึ่ง

นิทรรศการดังกล่าวมีชื่อว่า “Disobedient Objects” หรือ “วัตถุแห่งการขัดขืน”

โดยนิทรรศการศิลปะครั้งนี้ จะเก็บรวบรวมวัตถุสิ่งของที่ถูกนำไปใช้เป็นสัญลักษณ์ในการเคลื่อนไหว เพื่อท้าทาย หรือกระทั่งโค่นล้มระบอบระเบียบดั้งเดิม จากหลายประเทศทั่วโลก

ตั้งแต่การรณรงค์เรียกร้องให้ผู้หญิงมีสิทธิ์ลงคะแนนเสียงเลือกตั้ง ในช่วงปลายศตวรรษที่ 19 – ต้นศตวรรษที่ 20 เรื่อยมาจนถึงขบวนการ “ออคคิวพาย” ที่มีเป้าหมายหลักในการต่อต้านความไม่เป็นธรรมของระบบเศรษฐกิจแบบทุนนิยมในโลกตะวันตก

เกวิน กรินดอน นักวิชาการที่สนใจประเด็นการสร้างสรรค์งานศิลปะของนักกิจกรรมทางสังคม และศิลปกรรมของขบวนการเคลื่อนไหวต่างๆ ในศตวรรษที่ 20 ซึ่งเป็นภัณฑารักษ์ร่วมของนิทรรศการ “วัตถุแห่งการขัดขืน” ชี้ว่า สิ่งของที่ถูกผู้คนนำมาใช้เป็นเครื่องมือในการต่อสู้นั้น มักถูกมองข้ามจากพิพิธภัณฑ์ต่างๆ

“แนวคิดของการจัดนิทรรศการนี้ ก็คือ การรวบรวมผลงานศิลปกรรมต่างๆ จากขบวนการเคลื่อนไหวทางสังคมในรอบ 30 ปีที่ผ่านมา” กรินดอนกล่าวและว่า “นี่เป็นส่วนหนึ่งของพื้นที่การศึกษาที่สำคัญ ที่พวกเราควรให้ความสนใจ”

หมวดหมู่การจัดแสดงของนิทรรศการ “วัตถุแห่งการขัดขืน” ถูกแบ่งออกเป็น 4 หมวด ตาม “ยุทธวิธี” การเปลี่ยนแปลงสังคมอันแตกต่างของขบวนการเคลื่อนไหวในแต่ละช่วงเวลา ได้แก่ “การท้าทายซึ่งหน้า”, “การลงมือสร้างโลก”, “ความสมัครสมานสามัคคี” และ “การเปล่งเสียงสู่สังคม”

“วัตถุแห่งการขัดขืน” เหล่านี้ เคยช่วยให้กลุ่มคนบางกลุ่มได้รับสิทธิ์ที่พวกตนพึงได้ เคยเปลี่ยนแปลงกฎหมายบางฉบับ กระทั่งเคยมีส่วนในการโค่นล้มรัฐบาลมาแล้วหลายชุด

กรินดอน ให้สัมภาษณ์เอาไว้ว่า สิ่งของหลายๆ ชนิด ที่ถูกขบวนการเคลื่อนไหวเปลี่ยนแปลงสังคมนำไปใช้เป็นสัญลักษณ์ในการต่อสู้นั้น เป็นวัตถุที่ใช้สอยได้ในชีวิตประจำวันหรือในความเป็นจริง แต่ขณะเดียวกัน พวกมันก็สื่อแสดงถึงความใฝ่ฝันในสังคมแห่งอุดมคติด้วย

นี่คือตัวอย่างบางส่วนของ “วัตถุแห่งการขัดขืน” ที่ถูกนำมาจัดแสดงในนิทรรศการครั้งนี้

หนึ่งในวัตถุที่ถูกนำมาจัดแสดง ก็คือ ถ้วยน้ำชาเซรามิกที่คล้ายจะมีโลโก้กาแฟสตาร์บัคส์ประทับอยู่ แต่แท้จริงแล้ว โลโก้ดังกล่าวกลับกลายเป็นสัญลักษณ์ของขบวนการรณรงค์เพื่อสิทธิเลือกตั้งของสตรี เมื่อราว 200 ปีก่อน

สาเหตุที่สัญลักษณ์เช่นนั้นถูกประทับลงไปบนถ้วยน้ำชา ก็เพื่อว่า เนื้อหาของการรณรงค์จะได้มีโอกาสเดินทางไปถึงความรับรู้ของบรรดาชนชั้นสูงในสังคม

เมื่อปี ค.ศ.2001 เครื่องครัวจำนวนมาก ก็ถูกนำมาใช้เป็นสัญลักษณ์ในการเคลื่อนไหวของชาวอาร์เจนตินา ที่กำลังประท้วงต่อต้านรัฐบาล ซึ่งออกคำสั่งอายัดบัญชีเงินฝากธนาคารของประชาชนจำนวน 18 ล้านคน

ว่ากันว่า นี่ถือเป็นจุดเริ่มต้นของการปฏิวัติต่อต้านลัทธิทุนนิยม-เสรีนิยมใหม่ ที่ดำเนินมาจนถึงปัจจุบัน

“เราต้องการแสดงให้เห็นถึง ‘พลังร่วม’ ที่ซ่อนอยู่ในข้าวของเครื่องใช้ภายในบ้าน เมื่อวัตถุเหล่านั้นถูกผนวกรวมเข้ากับเป้าประสงค์ทางการเมือง” กรินดอน อธิบาย

สอดคล้องกับภัณฑารักษ์ร่วมอีกหนึ่งราย อย่าง แคทเธอรีน ฟลัด ที่เห็นว่า ความหมายของวัตถุสิ่งของหลายต่อหลายชิ้น ได้หลุดลอยออกจากเป้าประสงค์ดั้งเดิมของผู้ออกแบบรายแรกเริ่ม ก่อนที่พลังอันชัดแจ้งมีชีวิตชีวาของสิ่งของทั้งหลายจะเกิดขึ้นอีกครั้ง เมื่อมีผู้สร้างเป้าหมายเฉพาะในประเด็นใหม่ๆ ใส่ลงไปในวัตถุเหล่านั้น

อีกหนึ่งวัตถุจัดแสดงที่สนใจ ก็คือ หน้ากากป้องกันแก๊สน้ำตาแบบทำมือ ซึ่งถูกประดิษฐ์โดยกลุ่มผู้ประท้วงต่อต้านรัฐบาลในประเทศตุรกี

ภัณฑารักษ์ของนิทรรศการแสดงทัศนะว่า หน้ากากชนิดนี้แสดงให้เห็นถึง “วิธีการที่เรียบง่าย” ทว่านำไปสู่ “ปลายทางอันรุ่มรวย” เป็นอย่างยิ่ง

หน้ากากป้องกันแก๊สน้ำตาเหล่านี้ถูกสร้างขึ้นมาจากวัตถุดิบอย่างขวดน้ำพลาสติกและหน้ากากหมอผ่าตัด ที่มีผู้นำมาบริจาคให้แก่ผู้ชุมนุมประท้วง หลังจากทุกคนเริ่มเห็นแนวโน้มว่า เจ้าหน้าที่รัฐพยายามจะสลายการชุมนุมด้วยแก๊สน้ำตา

“ดังนั้น ผู้ประท้วงจึงต้องเริ่มใช้ปฏิภาณไหวพริบในการแสวงหาวิธีการต่อสู้รูปแบบใหม่ๆ ทั้งเพื่อการต่อต้านอำนาจ และการช่วยเหลือเกื้อกูลมิตรสหายผู้ร่วมเคลื่อนไหวรายอื่นๆ” กรินดอน อธิบาย

วัตถุจัดแสดงอีกหนึ่งชิ้นที่ดึงดูดความสนใจของหลายคน ก็ได้แก่ “หินกรวดเป่าลมขนาดยักษ์” ที่ถูกสร้างสรรค์ขึ้นโดยกลุ่มผู้เคลื่อนไหวด้านแรงงาน ในเบอร์ลินและบาร์เซโลนา เมื่อปี ค.ศ.2012

ภัณฑารักษ์อย่างกรินดอน กล่าวถึงคุณูปการของ “วัตถุแห่งการขัดขืนชนิดนี้” ว่า เมื่อต้องเผชิญหน้ากับมัน เจ้าหน้าที่ตำรวจก็จะรู้สึกงุนงง และไม่รู้ว่าจะจัดการอย่างไรดี

ถ้าตำรวจเขวี้ยงลูกโป่งเป่าลมนี้กลับไปยังผู้ประท้วง พวกเขาจะกลายเป็นส่วนหนึ่งในกิจกรรมการแสดงที่แปลกประหลาดของกลุ่มผู้ชุมนุมด้วยหรือไม่?

หรือว่า ตำรวจต้องจับกุมหินกรวดเป่าลมดังกล่าว แล้วพยายามยัดมันเข้าไปในรถแวนของตนเอง?

หรือ ตำรวจจะต้องจู่โจมเข้าหามัน แล้วปล่อยลมออกมาให้สิ้นเรื่องสิ้นราวไป?

แต่ไม่ว่าเรื่องราวจะคลี่คลายไปในทิศทางไหน เมื่อคลิปเหตุการณ์การเผชิญหน้าระหว่างตำรวจกับ “หินกรวดเป่าลมขนาดยักษ์” ถูกแพร่กระจายออกไป เจ้าหน้าที่ก็คล้ายจะเป็นฝ่ายเสียท่าและเสียหน้ามากกว่า

เมื่ออำนาจรัฐต้องถูกกร่อนเซาะลงโดยสิ่งของบ้านๆ ที่ถูกผู้ประท้วงบนท้องถนน นำมาประยุกต์ใช้ในการเคลื่อนไหวได้อย่างชาญฉลาด

ขณะที่ “หินกรวดเป่าลม” ถูกนำมาใช้ในการก่อความสับสนงงงวย และล้อเลียนเจ้าหน้าที่ “วัตถุแห่งการขัดขืน” อีกหลายอย่าง ก็ถูกออกแบบมาเพื่อเป้าหมายในการเตะตาสื่อมวลชนโดยเฉพาะ

“ผมคิดว่า คนสมัยนี้จำนวนมากต่างใช้ทวิตเตอร์เป็นเครื่องมือสื่อสาร ดังนั้น พวกเขาล้วนตระหนักดีว่าสิ่งของที่ตนเองนำมาใช้ในการเคลื่อนไหว จะต้องถูกบันทึกภาพเอาไว้ แล้วนำไปทวีตต่อในโลกออนไลน์” กรินดอนวิเคราะห์ และว่า

“ดังนั้น ด้านหนึ่ง วัตถุพวกนี้จึงเป็นสิ่งของทำมืออย่างซื่อๆ ง่ายๆ แต่ในอีกด้าน สิ่งของเหล่านี้ก็ถูกสร้างขึ้นมาด้วยความตระหนักรู้ว่า พวกมันจะต้องมีปฏิสัมพันธ์กับเทคโนโลยีการติดต่อสื่อสารยุคใหม่”

จึงเห็นได้ว่า จากที่แต่ก่อน สิ่งของที่ถูกนำมาใช้ในการประท้วง มักมีสถานะเป็น “สัญลักษณ์ร่วม” ซึ่งแสดงถึงความสมัครสมานสามัคคีเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันของผู้คนจำนวนมาก ในฐานะมวลชนกลุ่มหนึ่ง

ทว่า ราวครึ่งทศวรรษที่ผ่านมา แนวโน้มความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น ก็คือสัญลักษณ์ในเหตุการณ์ประท้วงหนึ่งๆ มักเต็มไปด้วยความแตกต่างหลากหลาย และสื่อให้เห็นถึงการดำรงอยู่ของปัจเจกบุคคลมากกว่า

น่าภูมิใจ (?) ว่า มี “วัตถุแห่งการขัดขืน” บางชิ้น ในนิทรรศการครั้งนี้ ที่เกี่ยวข้องกับความขัดแย้งทางการเมืองในประเทศเพื่อนบ้านของเรา

สิ่งของชิ้นนั้น ได้แก่ แบงก์กาโม่ของนักกิจกรรมฝ่ายประชาธิปไตยในประเทศพม่า ที่ถูกพิมพ์เผยแพร่เมื่อปี ค.ศ.1989

หากมองเผินๆ แผ่นกระดาษใบดังกล่าวมีรูปลักษณ์เป็นธนบัตรปลอมมูลค่า 1 จัต ซึ่งมีภาพของ นายพลออง ซาน ปรากฏอยู่

สาเหตุที่ฝ่ายประชาธิปไตยต้องหันไปใช้รูป นายพลออง ซาน มาเป็นสัญลักษณ์ ก็เพราะพวกเขาไม่สามารถตีพิมพ์เผยแพร่ภาพของ ออง ซาน ซูจี ต่อสาธารณะได้ เนื่องจากถือเป็นการกระทำที่ผิดกฎหมายในช่วงเวลาดังกล่าว

ทว่าที่ลึกซึ้งกว่านั้น ก็คือ ศิลปินผู้ออกแบบแบงก์กาโม่ชุดนี้ ได้ซ่อนลายน้ำของรูปบุคคลอีกหนึ่งคนไว้ใต้ภาพ นายพลออง ซาน บนธนบัตร

ด้วยเหตุนี้ เมื่อผู้คนลองส่องดูธนบัตรปลอมที่ว่าผ่านแสงสว่าง พวกเขาก็จะได้พบภาพของ ออง ซาน ซูจี ปรากฏขึ้นมา

ในนิทรรศการ “วัตถุแห่งการขัดขืน” มีศิลปกรรมแห่งการประท้วงรวมทั้งหมด 99 ชิ้น ถูกนำมาจัดแสดง ทั้งนี้ ภัณฑารักษ์ผู้จัดงาน ได้ท้าทายผู้เข้าชมและนักกิจกรรมเคลื่อนไหวร่วมสมัย ด้วยการทิ้งพื้นที่ว่างเอาไว้ สำหรับ “วัตถุแห่งการขัดขืนชิ้นที่ 100” ซึ่งจะถูกประดิษฐ์คิดค้นขึ้นในอนาคต

ส่วนจะเกิดขึ้นที่มุมไหนของโลกนั้น ก็ต้องติดตามดูกันต่อไป

Leave a Reply

Fill in your details below or click an icon to log in:

WordPress.com Logo

You are commenting using your WordPress.com account. Log Out /  Change )

Twitter picture

You are commenting using your Twitter account. Log Out /  Change )

Facebook photo

You are commenting using your Facebook account. Log Out /  Change )

Connecting to %s

This site uses Akismet to reduce spam. Learn how your comment data is processed.