(ปรับปรุงจากรายงานในมติชนสุดสัปดาห์ 5-11 กุมภาพันธ์ 2559)
หลังจากเคยทำหนังสั้น เมื่อครั้งกลับมาใช้ชีวิตในเมืองไทยใหม่ๆ และเพิ่งเริ่มต้นเข้าสู่วงการวรรณกรรม ตลอดจนเคยเขียนบทภาพยนตร์เรื่อง “เรื่องรัก น้อยนิด มหาศาล” และ “คำพิพากษาของมหาสมุทร” ให้แก่ เป็นเอก รัตนเรือง
นักเขียนดีกรีรางวัลซีไรต์ วัย 42 ปี อย่าง “ปราบดา หยุ่น” ก็ได้ฤกษ์กำกับภาพยนตร์ขนาดยาวเรื่องแรกของตนเอง
หนังเรื่องนี้มีชื่อว่า “โรงแรมต่างดาว” หรือ “Motel Mist” ซึ่งอยู่ภายใต้การอำนวยการผลิตของทรูวิชันส์
“โรงแรมต่างดาว” เป็นภาพยนตร์หนึ่งในแปดเรื่อง ที่ถูกคัดเลือกเข้าฉายในสายการประกวดหลักเพื่อชิงรางวัลอิโวส์ ไทเกอร์ อวอร์ดส์ จากเทศกาลภาพยนตร์นานาชาติร็อตเตอร์ดัม ประเทศเนเธอร์แลนด์ ประจำปี 2016 ซึ่งจัดขึ้นระหว่างวันที่ 27 มกราคม ถึง 7 กุมภาพันธ์
แม้จะพลาดรางวัลไป แต่หนังเรื่องนี้ยังมีประเด็นให้พูดถึงอยู่มิใช่น้อย
จากข้อมูลที่เผยแพร่กับสื่อต่างชาติ “โรงแรมต่างดาว” เป็นหนังแนวอีโรติก-แฟนตาซี ที่สถานการณ์ทั้งหมดของเรื่องเกิดขึ้นภายในโรงแรมม่านรูดแห่งหนึ่ง โดยการมีเพศสัมพันธ์ในสถานที่ดังกล่าว จะถูกแทรกแซงด้วยการหายสาบสูญอันน่าแปลกประหลาด, การล้างแค้น และมนุษย์ต่างดาว
เพื่อขับเน้นถึงประเด็นหลักของภาพยนตร์ อันได้แก่ “ความโดดเดี่ยวแปลกแยก”
ปราบดาให้สัมภาษณ์กับ อุศนา สุวรรณวงค์ และ คุณหนูกินข้าวด้วยมือเปล่า จากหนังสือพิมพ์ประชาชาติธุรกิจ ว่าเขามีความสนใจในสถาปัตยกรรมของโรงแรมม่านรูดมาแต่เดิม
เนื่องจากเขาเห็นว่าลักษณะอาคารรูปกล่องที่ถูกซอยแบ่งออกเป็นซองๆ แล้วมีผ้าม่านกั้น จนผู้เข้าพักไม่เห็นหน้ากัน ส่วนเจ้าของและพนักงานโรงแรมก็ไม่อาจทราบได้ว่าอะไรเกิดขึ้นในนั้น ถือเป็นวัฒนธรรมหรือเอกลักษณ์เฉพาะของสังคมไทย
นักเขียนดังจึงเขียนบทภาพยนตร์ กำหนดให้ตัวละครหลายคนที่ไม่ได้มีความข้องเกี่ยวกัน ต้องมาเผชิญเหตุการณ์ชีวิตซึ่งเชื่อมโยงกัน ในช่วงเวลาเดียวกัน และในสถานที่เดียวกัน คือ โรงแรมม่านรูด
ปราบดาบอกว่าหนังยาวเรื่องแรกของเขา เป็นหนังทริลเลอร์ที่มีอารมณ์ดราม่า แถมยังมีความเป็นไซไฟปะปนอยู่ด้วย
ตัวละครหลักของ “โรงแรมต่างดาว” มีอยู่ 5 คน ประกอบด้วย เด็กสาววัยเรียนสองราย, พนักงานโรงแรม, ชายผู้หลงใหลคลั่งไคล้ในวัตถุทางเพศ และอดีตดาราเด็ก ผู้เชื่อว่าตนเองกำลังถูกไล่ล่าโดยมนุษย์ต่างดาว ทั้งหมดต้องมามีชะตากรรมเกี่ยวพันกันอย่างคาดไม่ถึงในโรงแรมม่านรูด มิหนำซ้ำ ยังต้องพัวพันกับอำนาจลี้ลับเหนือธรรมชาติอีกต่างหาก
องค์ประกอบอย่างมนุษย์ต่างดาวและอำนาจเหนือธรรมชาตินี่เอง ที่ทำให้ภาพยนตร์เรื่องนี้ถูกจัดเป็นหนังแนวทริลเลอร์-ไซไฟ
นัยยะแห่งการดำรงอยู่ของ “มนุษย์ต่างดาว” ในหนังของปราบดา มีความหมายสื่อแสดงถึงอะไร?
เจ้าของรางวัลซีไรต์ให้สัมภาษณ์กับ ชญานิศ อิทธิพงศ์เมธี จากเว็บไซต์ข่าวสดอิงลิช เอาไว้ว่า มนุษย์ต่างดาว หรือ aliens ในภาษาอังกฤษนั้น ในแง่หนึ่ง ก็ช่วยบ่งชี้ถึงภาวะโดดเดี่ยวแปลกแยก (alienation) ในหลายๆ รูปแบบ
อาจเป็นความแปลกแยกอันเกิดจากประเด็นเรื่องเพศ, อายุ, ชนชั้น กระทั่ง อุดมการณ์
และความแปลกแยกนี่เอง ที่เป็นประเด็นหลักจริงๆ ของหนังเรื่องนี้
“เมื่อผมอาศัยอยู่ในสังคมที่ผู้คนมีทัศนคติผิดแผกแตกต่างกัน บางครั้ง มันก็นำไปสู่การมีภาวะแปลกแยกในทางอุดมการณ์ จนทำให้ผมรู้สึกอึดอัด และบางหน ผมก็รู้สึกว่าตัวเองเป็นเหมือนมนุษย์ต่างดาว ที่ควรออกไปอยู่อาศัยบนโลกใบอื่น
“ผมคิดอยู่เสมอมาว่า ประเทศไทยไม่ได้ขาดแคลนบุคคลที่มีคุณภาพหรอก จริงๆ แล้ว เรามีคนเก่งๆ เป็นจำนวนมาก แต่พวกเขามักถูกบังคับควบคุมโดยผู้มีอำนาจ จนถึงจุดหนึ่ง คนเก่งๆ ก็จะยอมแพ้ หุบปาก หรือไม่ก็ถูกบีบให้เดินทางออกนอกประเทศ
“ผมเลยเชื่อว่า มีพวกเขาเหล่านั้นจำนวนไม่น้อยที่รู้สึกคล้ายกันกับผม นั่นคือ รู้สึกว่าตัวเองเป็นดังมนุษย์ต่างดาว ผู้กำลังนึกสงสัยว่าเราควรไปอาศัยอยู่ที่ไหนดี?” ปราบดา เปิดใจกับข่าวสดอิงลิช
นัยยะของ “มนุษย์ต่างดาว” ได้ถูกขยายความให้มีความชัดเจนแหลมคมยิ่งขึ้นไปอีก เมื่อปราบดาให้สัมภาษณ์กับเว็บไซต์ต่างประเทศ อย่าง สกรีนเดลี่
“ในประเทศที่ความยุติธรรมและสิทธิมนุษยชนขั้นพื้นฐานช่างเปราะบาง และสามารถถูกล่วงละเมิดได้อย่างง่ายๆ ด้วย ‘อำนาจระดับสูง’ ซึ่งไร้สาระและมักใช้ตรรกะเหตุผลแบบการ์ตูนๆ
“มันก็ย่อมกลายเป็นสิ่งชอบธรรม หากบางคนในประเทศดังกล่าวปรารถนาที่จะเห็นมนุษย์ต่างดาวเดินทางมาสู่โลก และนำพาพวกเขาออกไปยังสถานที่ที่ห่างไกล เพราะการดำรงชีวิตภายใต้เงื่อนไขข้อจำกัดของ ประเทศนี้ มันทำให้เราตระหนักได้ถึงความโง่เง่าอันสุดแสนจะเจ็บปวด” นักเขียนที่เพิ่งผันตนเองมาเป็นคนทำหนัง กล่าว
หมายเหตุ : ภาพประกอบจากเพจเฟซบุ๊ก Motel Mist