(มติชนสุดสัปดาห์ 27 พ.ย.-3 ธ.ค. 2558)
ก่อนหน้าจะเดินทางไปร่วมงานเทศกาลภาพยนตร์นานาชาติโตเกียว 2015 ผมตั้งคำถามเอาไว้ในใจเหมือนกัน ว่าเทศกาลภาพยนตร์แห่งนี้จะมีความแตกต่างจากเทศกาลภาพยนตร์อื่นๆ อย่างไร?
จากประสบการณ์อันจำกัดจำเขี่ย ข้อดีเด่นชัดของเทศกาลภาพยนตร์นานาชาติส่วนใหญ่ ตามความเห็นของผม ก็ได้แก่ การเป็นแหล่งรวบรวมจัดฉายหนังแปลกใหม่จากทั่วทุกมุมโลก ซึ่งหาดูได้ไม่ง่ายนักในโรงภาพยนตร์เชิงพาณิชย์ทั่วไป
เมื่อไปถึงเทศกาลภาพยนตร์โตเกียวจริงๆ ผมก็ได้พบถึง “ความแตกต่าง” บางอย่าง ซึ่งไม่เคยพบมาก่อนในเทศกาลหนัง 2-3 แห่ง ที่ตนเองเคยเข้าร่วมในฐานะคนดูธรรมดา
ในการพบปะพูดคุยระหว่างประธานคัดเลือกหนังสายประกวดของเทศกาลภาพยนตร์โตเกียวกับสื่อมวลชนนานาชาติ มีนักข่าวคนหนึ่งเอ่ยถามขึ้นว่าอะไรคือความแตกต่างระหว่างเทศกาลหนังโตเกียวกับเทศกาลภาพยนตร์นานาชาติปูซานของเกาหลีใต้ ที่ว่ากันว่าเป็น “เบอร์หนึ่งของเอเชีย” ยุคปัจจุบัน
ตัวแทนของเทศกาลโตเกียว ตอบว่า เทศกาลหนังทั้งสองไม่ได้เป็น “คู่แข่ง” กัน ทว่า เปรียบได้เป็น “พี่น้อง” ซึ่งทำงานร่วมกันอย่างใกล้ชิด เพื่อช่วยยกระดับให้วงการภาพยนตร์เอเชียมีเสน่ห์ดึงดูดใจมากยิ่งขึ้น
ก่อนที่เขาจะกล่าวถึงบุคลิกลักษณะเด่นๆ สองข้อ ของเทศกาลภาพยนตร์นานาชาติโตเกียว ตามความเข้าใจของตนเอง
คือ หนึ่ง เทศกาลจะมุ่งทำหน้าที่แนะนำภาพยนตร์นานาชาติคุณภาพดีให้แก่คนดูชาวญี่ปุ่น
และสอง นี่เป็นเทศกาลที่จะคัดเลือกภาพยนตร์ โดยพิจารณาจากความโดดเด่นของตัวผลงาน และไม่สนใจอายุ ประสบการณ์ ชื่อเสียง ของตัวคนทำหนัง
เมื่อพิจารณาจากความเห็นของตัวแทนผู้จัดงาน เทศกาลภาพยนตร์โตเกียวจึงน่าจะมีจุดเด่นคล้ายๆ กับเทศกาลภาพยนตร์อีกหลายแห่งทั่วโลก นั่นคือ การเป็นแหล่งเผยแพร่วัฒนธรรมภาพยนตร์อันหลากหลายให้แก่คนดูท้องถิ่น
ประเด็นดังกล่าวถูกขยายให้มีความชัดเจนขึ้น โดยคณะกรรมการตัดสินรางวัลในสายการประกวดหลักประจำปีนี้
ในการแถลงข่าวกับสื่อมวลชน เมื่อผู้สื่อข่าวถามว่าเทศกาลภาพยนตร์นานาชาติที่ดีในทัศนะของคุณควรมีลักษณะอย่างไร?
ไบรอัน ซิงเกอร์ ประธานคณะกรรมการ และผู้กำกับฯ-โปรดิวเซอร์ชื่อดังจากฮอลลีวู้ด ตอบคำถามดังกล่าวว่า เทศกาลหนังที่ดี ไม่น่าเบื่อ ควรจะเป็นเทศกาลที่ประกอบด้วยภาพยนตร์คุณภาพดี หลากหลายแนว
ความสำคัญของความหลากหลายยิ่งถูกขับเน้นขึ้นไปอีก เมื่อมีผู้สื่อข่าวถามว่า ประเด็นสำคัญทางสังคม-การเมืองร่วมสมัย นอกโรงภาพยนตร์ จะมีผลต่อการตัดสินเลือกภาพยนตร์ยอดเยี่ยมประจำเทศกาลหรือไม่?
กรรมการรายแรกๆ ที่ตอบคำถามนี้ ดูเหมือนจะไม่กล้าสวนกระแส “ความถูกต้องทางการเมือง” จึงพากันกล่าวว่า บริบททางสังคม-การเมืองนั้น เป็นปัจจัยสำคัญที่คณะกรรมการต้องนำมาพิจารณาอย่างแน่นอน
กระทั่งถึงคิวของ ตราน อันห์ หุง ผู้กำกับฯ เชื้อสายเวียดนาม ที่ยืนหยัดอย่างชัดเจนว่า สำหรับเขา สิ่งสำคัญที่สุด คือ “ภาษาหนัง” เพราะ “ภาพยนตร์ที่ดี” คือหนังที่เลือกใช้ภาษาหนัง/ไวยากรณ์แบบใดแบบหนึ่ง เพื่อสื่อสารถึงประเด็นหลักที่อยู่ในหนังได้อย่างลงตัว
เขาจึงไม่มีทางตัดสินรางวัล โดยพิจารณาว่าหนังเรื่องไหนพูดเรื่องการเมืองมากหรือชัดกว่าหนังเรื่องอื่นๆ หรือหนังแนวไหนมีคุณค่ากว่าหนังแนวอื่นๆ
คำตอบของตราน ได้รับการสนับสนุนจากประธานคณะกรรมการอย่างซิงเกอร์ ที่กล่าวว่า ประเด็นทางสังคม-การเมืองอาจมีความสำคัญอยู่บ้าง แต่ถึงที่สุด หนังการเมืองย่อมไม่ใช่ “หนังดี” หากตัวคนทำไม่สามารถเลือกวิธีการถ่ายทอดประเด็นหลักของหนังออกมาได้อย่างเหมาะสม
อย่างไรก็ตาม ในสายตาของทีมงานคัดเลือกหนังของเทศกาล ที่เป็นผู้เชี่ยวชาญชาวญี่ปุ่น และคนดูอีกจำนวนหนึ่ง ดูเหมือนประเด็นทางสังคม-การเมืองร่วมสมัยของประเทศแหล่งกำเนิดภาพยนตร์เรื่องต่างๆ จะเป็นปัจจัยสำคัญในการพิจารณาถึงผลงานชิ้นนั้นๆ อยู่ไม่น้อย
กรณีที่ชัดเจน ก็เห็นจะเป็นภาพยนตร์ไทยสองเรื่องที่ได้เข้าฉายในสายการประกวดหลักและสายการประกวดรองประจำปีนี้
สำหรับ “สแน็ป” ที่ได้ฉายในสายการประกวดหลักนั้น ถูกกล่าวถึงอย่างชัดแจ้งจากประธานคัดเลือกหนังสายดังกล่าว ว่าเป็นหนังรักวัยรุ่น ซึ่งพูดถึงประเด็นการเมืองไทยร่วมสมัย อย่างน่าสนใจ
คล้ายกันกับที่ประธานคัดเลือกหนังสายเอเชี่ยน ฟิวเจอร์ กล่าวถึง “มหาสมุทรและสุสาน” ว่า เป็นหนังโรด มูฟวี่ ที่เผยให้เห็นถึงประเด็นลึกซึ้งว่าด้วยความขัดแย้งทางศาสนาและชาติพันธุ์
หลัง “สแน็ป” ฉายรอบสื่อมวลชนจบ มีสื่อจากเกาหลีใต้ ที่สามารถตีความหนังเรื่องนี้ได้อย่างแหลมคม โดยระบุว่าการต่อสู้กับความทรงจำเรื่องความรักของนางเอกภายในหนัง ก็คงไม่ต่างอะไรกับการต่อสู้และสภาวะขัดแย้งทางการเมืองไทย ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา
น่าเสียดายที่ผมไม่มีโอกาสได้ดู “มหาสมุทรและสุสาน” จึงไม่ทราบว่า มีผู้ชมและสื่อมวลชนพูดถึงหนังเรื่องนี้ว่าอย่างไรบ้าง
เมื่อพูดถึงหนังไทยแล้ว ก็อดไม่ได้ที่จะกล่าวถึงหนังของประเทศเพื่อนบ้านอย่าง “ฟิลิปปินส์”
ในปีนี้ เทศกาลภาพยนตร์นานาชาติโตเกียว ร่วมกับ เจแปน ฟาวเดชั่น เอเชีย เซ็นเตอร์ จัดโปรแกรมพิเศษ “ครอสคัต เอเชีย” เป็นปีที่สอง
เมื่อปีที่แล้ว ทางผู้จัดได้แนะนำภาพยนตร์ไทยหลากหลายแนวให้คนดูชาวญี่ปุ่นได้รับชม ขณะที่ในเทศกาลครั้งล่าสุด โปรแกรมดังกล่าวได้มุ่งความสนใจไปยังวงการภาพยนตร์ฟิลิปปินส์
มีทั้งการจัดโปรแกรมเรโทรสเป็กทีฟให้แก่ บริลลันเต้ เมนโดซ่า ผู้กำกับคนสำคัญของวงการหนังฟิลิปปินส์ มีการฉายหนังใหม่ของคนทำหนังรุ่นเก๋าอย่าง คิดลัท ทาฮิมิก ตลอดจนมีการฉายผลงานของคนทำหนังรุ่นใหม่ๆ อีกหลายราย
แต่จุดน่าสนใจจริงๆ ก็ได้แก่ การเสวนาถึงวงการหนังฟิลิปปินส์ร่วมสมัย ที่เต็มไปด้วยผลงานต้นทุนไม่สูง แต่คุณภาพดี ของผู้กำกับฯ อายุน้อย ซึ่งได้รับการยอมรับจากเทศกาลหนังนานาชาติ และบางเรื่องก็ได้รับการตอบรับเป็นอย่างดีจากกลุ่มคนดูภายในประเทศ
จนมีการบัญญัติศัพท์คำว่า “เมนดี้ส์” อันเกิดจากการผสมคำระหว่าง “เมนสตรีม” กับ “อินดี้” ขึ้นมาใช้อธิบายหนังกลุ่มนี้
ในปัจจุบัน ประเทศฟิลิปปินส์มีเทศกาลหนังสำคัญ ทั้งที่จัดโดยหน่วยงานของรัฐบาล และจัดโดยเอกชน (เป็นความร่วมมือระหว่าง บริลลันเต้ เมนโดซ่า กับบริษัทจัดจำหน่ายภาพยนตร์เจ้าใหญ่) เทศกาลภาพยนตร์เหล่านี้ ไม่ได้ทำหน้าที่เพียงแค่จัดฉายหนังแปลกๆ ทั่วทุกมุมโลก หรือหนังอินดี้ของผู้กำกับฯ ภายในประเทศเท่านั้น
ทว่า ยังมีหน้าที่มอบทุนสนับสนุนให้แก่คนทำหนัง/โปรเจ็กต์หนังที่น่าสนใจ โดยในส่วนของเทศกาลเกิดใหม่ที่จัดโดยฝ่ายเอกชน ก็ถึงกับมีข้อบังคับว่าหนังที่ได้รับทุน จะต้องมีตัวละครที่เป็นคนในชนบท ขณะที่ฝ่ายผู้พิจารณามอบทุน ก็พยายามจะกระจายทุนให้แก่คนทำหนัง/เรื่องราวจากทุกภูมิภาคทั่วประเทศ
นี่ส่งผลให้ฟิลิปปินส์สามารถผลิตคนทำหนังรุ่นใหม่ ที่เต็มไปด้วยฝีไม้ลายมือ ออกมาได้อย่างต่อเนื่อง
นอกจากนั้น น่าสังเกตว่า การมุ่งปั้นคนทำหนังในประเทศ ได้กลายเป็นจุดเด่นสำคัญของเทศกาลภาพยนตร์ในฟิลิปปินส์ และเป็นจุดเด่นที่แม้แต่ประเทศเพื่อนบ้านอย่างไทยก็ยังไม่มี
กลับมาที่เทศกาลภาพยนตร์นานาชาติโตเกียวกันต่อ จุดเด่นข้อสุดท้าย ที่ทำให้เทศกาลนี้เป็นมากกว่าเทศกาลหนัง ก็คือ การจัดกิจกรรมอื่นๆ เพื่อพยายามเชื่อมโยงโลกของภาพยนตร์ ออกไปสู่พื้นที่นอกจอ/นอกโรงภาพยนตร์
ที่เห็นได้ชัดก็คือ การจัดกิจกรรมมอบรางวัลเกียรติยศซามูไร อวอร์ดส ให้แก่ โยจิ ยามาดะ และจอห์น วู ณ โรงละครคาบุกิซะ ผนวกด้วยการแสดงคาบุกิ และการจัดฉายภาพยนตร์เก่าของ อากิระ คุโรซาว่า ที่ดัดแปลงจากบทละครคาบุกิ เช่นกัน
นี่จึงเป็นการเชื่อมสื่อในยุคใหม่อย่างภาพยนตร์ เข้ากับสื่อการแสดงแบบประเพณี (น่าเสียดาย ที่ผมต้องพลาดกิจกรรมนี้ เพราะไม่ได้พกเสื้อสูทติดกระเป๋าเดินทางไปด้วย)
ไม่ใช่แค่เชื่อมศิลปะภาพยนตร์เข้ากับศิลปะการแสดงประเภทอื่น แต่ผู้จัดเทศกาลยังพยายามเชื่อมโยงการจัดฉายภาพยนตร์เข้ากับกิจกรรมการรับประทานอาหาร
ด้วยการแปรพื้นที่ลานด้านล่างบางส่วนของรปปงหงิ ฮิลล์ส อันเป็นสถานที่จัดเทศกาล ให้กลายเป็นลานอาหาร โดยมีเชฟระดับติดดาวมิชลิน มาคิดค้นเมนูประยุกต์ราคาไม่แพง เพื่อรองรับผู้เข้ามาชมภาพยนตร์
คนดูหนังจึงมีโอกาสได้ทานอาหารญี่ปุ่น, ฟิวชั่น, ยุโรป รสชาติดีๆ ในราคาที่คิดเป็นเงินไทยเพียงหลักร้อยบาท
คล้ายกับว่าลานอาหารแห่งนี้จะไม่มีความข้องเกี่ยวกับโลกของภาพยนตร์โดยตรง แต่ไม่อาจปฏิเสธได้ว่านี่เป็นพื้นที่ทางวัฒนธรรมอีกชนิดหนึ่งของเทศกาลภาพยนตร์นานาชาติโตเกียว ซึ่งแยกไม่ขาดจากตัวเทศกาล แถมยังมีนักดูหนัง ตลอดจนสื่อมวลชน ให้ความสนใจ มาใช้บริการกันค่อนข้างเยอะ
ปิดท้ายด้วยกิจกรรมดนตรี “ซีเนม่า มิวสิก แจม” ซึ่งเป็นเวทีที่ตั้งอยู่ไม่ห่างจากลานอาหารมากนัก และมีโปรแกรมการแสดงช่วงหัวค่ำ ในครึ่งหลังของเทศกาล
กิจกรรมนี้จะมีกลุ่มนักดนตรีสากลฝีมือดีของญี่ปุ่นมาเป็นศิลปินหลักประจำเวที เพื่อขับกล่อมบรรเลงคนดูหนังหรือผู้คนที่เดินผ่านไปมาในย่านนั้น ด้วยเพลงดังๆ จากภาพยนตร์หลากหลายแนว โดยในแต่ละวัน ก็จะมีนักร้องรับเชิญหมุนเวียนสับเปลี่ยนมาร่วมแสดงกับกลุ่มนักดนตรีหลัก
ผมมีโอกาสได้เข้าไปชมและฟังการแสดงในวันที่ 26 ตุลาคม ซึ่งมีนักร้องรับเชิญเป็น “คริส ฮาร์ต” ศิลปินผิวสีชาวอเมริกันวัย 31 ปี ที่มีความสนใจในดนตรี ภาษา และวัฒนธรรมญี่ปุ่น ตั้งแต่ยังเป็นวัยรุ่น
ปัจจุบัน ฮาร์ต เดินทางข้ามน้ำข้ามทะเลมาเป็นศิลปินออกอัลบั้มเพลงภาษาญี่ปุ่น ในประเทศญี่ปุ่น และการขึ้นแสดงบนเวทีซีเนม่า มิวสิก แจม ก็ตอกย้ำให้คนดูเห็นว่า เขาสามารถร้องเพลงภาษาญี่ปุ่นได้ดี ดุจเดียวกันกับเจ้าของภาษาเลยทีเดียว
โดยสรุป ถ้าจะถามผมว่าอะไรคือจุดเด่นของเทศกาลภาพยนตร์นานาชาติโตเกียว คำตอบแรกที่คิดออกทันที ก็คงจะเป็น “ความหลากหลาย”
หลากหลายทั้งในเรื่องแนวทางของหนังที่ถูกคัดเลือกมาฉาย
หลากหลายทั้งในเรื่องกิจกรรมทางวัฒนธรรม ที่ครอบคลุมตั้งแต่ภาพยนตร์, การแสดงคาบูกิ เรื่อยมาจนถึงกิจกรรมลานอาหารและเวทีดนตรีนานาชาติ
เทศกาลภาพยนตร์นานาชาติโตเกียวจึงกอปรขึ้นจากความหลากหลาย ที่หลุดพ้นออกจากกรอบแคบๆ ของโลกแห่งภาพยนตร์ แต่ยังเป็นเวทีของศิลปะ/ศิลปินหลากแขนง ซึ่งสามารถเชื่อมโยงความแตกต่างทางภาษา-ชาติพันธุ์ ให้มาโลดแล่นเคียงคู่กันได้อย่างมีเสน่ห์