(มติชนสุดสัปดาห์ 25-31 ธันวาคม 2558)
ผมไม่ใช่ “แฟนพันธุ์แท้” ของภาพยนตร์ชุด “สตาร์วอร์ส”
กล่าวคือ ไม่แน่ใจว่าเคยดูหนังภาค 4-5-6 (อันเป็นไตรภาคแรก) ครบทุกเรื่องหรือไม่ จำได้รางๆ แค่เพียงว่า สมัยเรียนมัธยม เคยเดินเข้าไปดูหนังภาคใดภาคหนึ่งของไตรภาคนี้ในโรงภาพยนตร์ เมื่อกลางทศวรรษ 1990 แล้วก็หลับยาวเกือบตลอดทั้งเรื่อง
อีกหลายปีต่อมา แม้จะหาซื้อดีวีดีของไตรภาคชุดดังกล่าวมาครอบครอง แต่ก็อาจไม่ได้เปิดดูดีวีดีครบหมดทุกแผ่น
ผิดกับหนังภาค 1-2-3 (ไตรภาคชุดที่สอง) ซึ่งออกฉายครั้งแรกในช่วงที่ผมเรียนมหาวิทยาลัยแล้ว แถมกำลังบ้าดูหนัง ผมจึงเก็บไตรภาคชุดนี้ครบทุกเรื่อง แต่ก็ไม่ได้ประทับใจหนังภาคใดเป็นพิเศษ โดยออกจะผิดหวังหนังสองภาคแรกเสียด้วยซ้ำ
สาเหตุสำคัญประการหนึ่ง ที่ทำให้ผมไม่ค่อย “อิน” กับสตาร์วอร์ส ก็อาจเป็นเพราะ โดยส่วนตัว ผมไม่ “อิน” กับความรู้ทางวิทยาศาสตร์ ดาราศาสตร์ ฯลฯ มาตั้งแต่เด็ก (ซึ่งไม่น่าจะใช่เรื่องดี)
เนื่องจากผมรู้สึกว่าจักรวาลหรือโลกรายรอบตัว ไม่น่าจะมีความสอดคล้องกับจักรวาลวิทยาที่วางฐานอยู่บนความรู้แบบวิทยาศาสตร์-ดาราศาสตร์ สักเท่าไหร่
และดูเหมือนว่าจักรวาลในพวกละครจักรๆ วงศ์ๆ หรือละคร/นิยายกำลังภายในจีน น่าจะมีศักยภาพในการใช้อธิบายจักรวาลรอบๆ ตัวเอง ได้ดีกว่าจักรวาลแบบสตาร์วอร์ส มากพอสมควร
แม้จริงๆ แล้ว แก่นแกนหลักของเนื้อหาในหนังสตาร์วอร์ส จะไม่แตกต่างกับเรื่องราวจักรๆ วงศ์ๆ หรือกำลังภายในมากนัก แต่มันก็ถูกห่อคลุมไว้โดย “เปลือก” ที่ไม่น่าเชื่อ สำหรับผม
ดังนั้น ผมจึงไม่รู้สึก “อิน” กับ “ไลต์ เซเบอร์” เหมือนที่รู้สึก “อิน” กับดาบเจ็ดสี, เกราะกายสิทธิ์, เกราะเพชรเจ็ดสี, ไม้เท้าตีสุนัข เรื่อยไปถึงกระบี่อิงฟ้า-ดาบฆ่ามังกร
ขณะที่หุ่นยนต์พูดได้รูปทรงต่างๆ และ “ชิวแบคคา” ก็ดูไม่น่าคบหาเท่าน้าผีโครงกระดูก, ตุ๊บเท่ง, จั๊กกะแหล่น, หิ่งห้อยยักษ์, ต้นหญ้ามีฤทธิ์, อีโต้วิเศษ ตลอดจนพี่อินทรี พี่ลิงยักษ์ ผู้เฝ้ารักษาเคล็ดวิชา/ตำราวิทยายุทธ์ทั้งหลาย
อย่างไรก็ดี เมื่อได้ดู “สตาร์วอร์ส ภาค 7 : อุบัติการณ์แห่งพลัง (The Force Awakens)” ผลงานการกำกับฯ ของ เจ.เจ. แอบรัมส์ ภายใต้การอำนวยการสร้างของวอลต์ ดิสนีย์ สตูดิโอส์ ที่เพิ่งออกฉาย ผมกลับรู้สึกว่าหนังภาคนี้ดูเพลินและสนุกดี
ที่สำคัญ เหมือนผมสามารถต่อกับหนังติด จนคิดอะไรต่อมิอะไรได้มากพอสมควร หลังออกจากโรงภาพยนตร์
แต่คงต้องเตือนไว้ก่อนว่า งานเขียนชิ้นนี้อิงอยู่กับเรื่องราวในหนังสตาร์วอร์ส ภาคล่าสุด เพียงภาคเดียว และถูกเขียนขึ้นโดยผู้เขียนที่ปราศจากความรู้ลึกซึ้งใดๆ เกี่ยวกับจักรวาล “สตาร์วอร์ส” ในภาพรวม
เมื่อผลิตเป็นหนังไตรภาคได้หลายชุด ก็ย่อมหมายความว่า “สตาร์วอร์ส” มีสถานะเป็น “สงครามสืบเนื่อง” เป็นการต่อสู้อันยาวนานระหว่าง “พลังด้านสว่าง” กับ “พลังด้านมืด” หรือ “ความดี” กับ “ความชั่ว”
แม้พลังด้านมืดจะเปลี่ยนรูปแปลงร่างไปเรื่อยๆ จาก “ซิธ” สู่ “จักรวรรดิ” สู่ “ปฐมภาคี” (first order) ก็ตาม ดังคำอธิบายของ “แมซ คานาตา” ตัวละครผู้มีอายุยืนยาวในหนังภาค 7
ด้วยเหตุนี้ ถึงตัวร้ายจะเปลี่ยนหน้า หรือสภาพความขัดแย้งทางการเมืองจะแปรรูปไป แต่ท้ายสุด ธีมหลักของหนังชุดสตาร์วอร์ส ก็ยังวนเวียนอยู่รอบๆ ประเด็นใจกลาง ว่าด้วยการปะทะต่อสู้กันระหว่าง “ด้านสว่าง” กับ “ด้านมืด”
ความสืบเนื่องไม่ได้ปรากฏผ่านการเกิดขึ้นของสงครามหลายระลอกที่กินระยะเวลายาวนาน และประเด็นใจกลางหลักอันแข็งแรงเท่านั้น หากยังแสดงออกผ่านความสัมพันธ์ทางสายเลือดของตัวละคร และการเป็นทายาทผู้ถูกเลือก ว่ามีคุณสมบัติเหมาะสมจะสืบทอดจารีตการเป็นอัศวินเจได (ศิษย์มีครู)
ถ้าจำไม่ผิด คล้ายจะมีตัวละครรายหนึ่งในช่วงต้นของหนังภาค 7 แซว “เจ้าหญิงเลอา” ทำนองว่า เธอไม่ได้เป็นเพียงแกนนำของฝ่ายสาธารณรัฐและฝ่ายต่อต้านปฐมภาคีเท่านั้น หากยังเป็นสมาชิก “ราชวงศ์” (ระบอบการปกครอง ที่อำนาจถูกถ่ายทอดส่งมอบผ่านทางสายเลือด) ด้วย
พล็อตหลักสำคัญใน “อุบัติการณ์แห่งพลัง” จึงมีความเกี่ยวเนื่องกับประเด็นการสืบสายเลือด/ทายาท
หนังเล่าเรื่องราวของ “เบน” ลูกชายของเจ้าหญิงเลอา และ ฮัน โซโล ซึ่งถูกส่งไปฝึกเป็นเจไดกับ ลุค สกายวอล์กเกอร์ แต่แล้วเบนกลับถูกพลังด้านมืดเข้าครอบงำ เขาทำลายล้างเจไดรุ่นใหม่รายอื่นๆ (จนลุคต้องเร้นกายออกจาก “ยุทธภพ”) และกลายเป็นกำลังสำคัญของฝ่ายปฐมภาคี ภายใต้นามใหม่ว่า “ไคโล เร็น”
เท่ากับว่า ไคโล เร็น ได้พยายามสืบทอดพลังด้านมืดจากตาของตนเอง นั่นคือ “ดาร์ธ เวเดอร์” (อนาคิน สกายวอล์กเกอร์) และต้องการไปให้ถึงสุดทางของด้านมืด เสียยิ่งกว่าผู้เป็นตา ภายใต้การชี้แนะของ “สโนค” ผู้นำฝ่ายปฐมภาคี
ในหนังภาคล่าสุด ฮัน โซโล และเจ้าหญิงเลอา พยายามจะดึง ไคโล เร็น ให้กลับมาเป็นเบนคนเดิม ทว่า ความพยายามดังกล่าว กลับนำไปสู่การ “ตัดขาด” ทางสายเลือด ที่หนักหนาและน่าเศร้าสลดยิ่งขึ้นไปอีก
ภาวะแห่งการสืบทอดและความสืบเนื่อง จึงดำเนินเคียงคู่กันไปกับความพยายามจะตัดขาด (ซึ่งจริงๆ แล้วก็คือ การตัดสินใจเป็นทายาทรับมอบมรดกของพลังในอีกด้านหนึ่ง)
นอกจากนี้ “นางเอก” ของไตรภาคชุดล่าสุด อย่าง “เรย์” ก็เป็นอีกคนหนึ่ง ที่มีศักยภาพจะถูกพัฒนาเป็นเจไดได้ แม้เรย์จะมีปูมหลังในชีวิตที่ไม่ชัดเจนในหนังภาค 7 แต่การได้รับมอบภารกิจนำไลต์ เซเบอร์ ไปส่งคืนให้ ลุค สกายวอล์กเกอร์ ผู้เร้นกาย ในตอนท้ายของหนัง ซึ่งแน่นอนว่าจะมีความเกี่ยวเนื่องกับเนื้อหาในภาพยนตร์ภาคถัดไป ก็ชี้ให้เห็นว่า เธอไม่ใช่หญิงสาวธรรมดา
แต่อาจเป็นสายเลือดอีกคนของตัวละครนำรายใดรายหนึ่ง หรืออาจเป็นหนึ่งในผู้ถูกเลือกให้รับหน้าที่สืบทอดจารีตอัศวินเจได
ทั้งหมดนี้ จึงเป็นการเมืองเรื่องเจได การเมืองเรื่องจอมยุทธ์ การเมืองเรื่องการควบคุมสมดุลแห่งพลัง การเมืองเรื่องจิตวิญญาณ ที่สำแดงความเป็นรูปธรรมผ่านการดวลไลต์ เซเบอร์ และความสัมพันธ์สืบเนื่องทางสายเลือด หรืออย่างน้อยก็ในทางจารีตประเพณี
นี่คือ ระนาบหนึ่งของสงครามต่อเนื่องในสตาร์วอร์ส (อันดำเนินไปอย่างสอดคล้องกับธีมหลักว่าด้วยการต่อสู้ระหว่างพลังด้านสว่างและด้านมืด)
แต่ตามความเห็นของผม ยังมีการต่อสู้อีกระนาบหนึ่งเกิดขึ้นท่ามกลางสงครามระหว่างดวงดาว สงครามระหว่างระบอบ สงครามระหว่างปฐมภาคีกับฝ่ายต่อต้าน ซึ่งสำแดงผ่านกองทัพยานอวกาศ และกองกำลังสตอร์มทรูปเปอร์
ผู้อยู่ในกองกำลังเหล่านี้อาจไม่เท่แบบปัจเจก เหมือนกับอัศวินเจได แต่ต้องยอมรับว่ากองกำลังขนาดใหญ่เช่นนี้ เป็นตัวแปรสำคัญยิ่ง ต่อผลแพ้-ชนะในสงคราม และอาจเป็นปัจจัยสำคัญยิ่งกว่าเหล่าเจไดเสียด้วยซ้ำ
(เหมือนที่ก๊วยเจ๋ง-อึ้งย้ง เป็นยอดจอมยุทธ์แห่งยุคสมัย แต่สุดท้ายการยอมพลีชีพของทั้งคู่ก็ยังรักษาเมือง เซียงเอี๊ยง เอาไว้ไม่ได้ ด้านหนึ่ง นั่นอาจเป็นเพราะประวัติศาสตร์ได้กำหนดทางเดินของนิยายกำลังภายในอิงประวัติศาสตร์อย่าง “มังกรหยก” เอาไว้เรียบร้อยแล้ว ว่าถึงอย่างไร ราชวงศ์ซ่งต้องล่มสลาย และมองโกลต้องเป็นฝ่ายชนะ แต่อีกด้านหนึ่ง ก็เป็นข้อเท็จจริงสำหรับทุกๆ สงคราม ว่าผู้กำชัยชนะย่อมไม่มีทางเป็นวีรชนเอกชน/จอมยุทธ์ปัจเจกชน/อภิสิทธิ์ชนกึ่งปัญญาชนกลุ่มเล็กๆ ไปได้)
ไม่เพียงเท่านั้น การรบกันผ่านการใช้ยานอวกาศและเทคโนโลยีล้ำสมัยอื่นๆ ในสตาร์วอร์ส ยังช่วยเปิดที่ทางให้แก่ตัวละครที่เป็นคนธรรมดาๆ ได้เข้ามามีบทบาทในหนัง
ทั้ง ฮาน โซโล ในไตรภาคชุดแรก มาจนถึง “ฟินน์” สตอร์มทรูปเปอร์ผิวดำ ผู้ไม่ยอมตกเป็นเครื่องจักรสังหารซึ่งถูกสั่งการอย่างเชื่องๆ จนตัดสินใจแปรพักตร์จากปฐมภาคี และ “โพ ดาเมรอน” นักขับยานฝีมือดีแห่งฝ่ายต่อต้าน
สงครามในสตาร์วอร์ส จึงมีทั้งสงครามอันทรงความหมายลึกซึ้งทางวัฒนธรรม ระหว่างชนชั้นนำ อย่างเจได ซึ่งมีภูมิความรู้สูงส่ง และสามารถควบคุมสภาพจิตใจของตนได้ จนมีลักษณะเป็น “นาฏยุทธ” (ภาษาของ จา พนม เมื่อตอนกำกับหนัง “องค์บาก 2-3”) หรือการแสดงอำนาจผ่านการเป็นต้นแบบอันดีเลิศทางวัฒนธรรมใน “นาฏรัฐ” (แต่ความอ่อนช้อยเหล่านี้ ก็สามารถฆ่าคนได้ แถมฆ่าได้อย่างเลือดเย็นเสียด้วย)
กับสงครามระหว่างกองทัพ ที่อาจแลดูหยาบกว่า แข็งกระด้างกว่า ลึกซึ้งน้อยกว่า แต่น่าจะมีเทคโนโลยีและประสิทธิภาพการทำลายล้างสูงส่งกว่า และมีสามัญชนเข้ามามีส่วนร่วมในอัตราสูงกว่า
(น่าสนใจว่า ขณะที่เบน/ไคโล เร็น ดูคล้ายจะมุ่งมั่นหรือถูกฝึกฝนมาเพื่อทำสงครามแบบแรกเป็นหลัก เรย์ที่เต็มไปด้วยสัญชาตญาณ กลับมีทักษะในการทำสงครามสองด้านเท่าๆ กัน คือ อยู่ดีๆ เธอก็ใช้ดาบเลเซอร์ได้อย่างอยู่มือ และจู่ๆ เธอก็ขับยานอวกาศของ ฮาน โซโล ได้อย่างคล่องแคล่ว)
คงเป็นอย่างที่หลายคนวิเคราะห์ ว่า สตาร์วอร์สภาคล่าสุดนี้ เป็นหนังที่เล่าเรื่องราวของตัวละครรุ่นใหม่ เพื่อตอบสนองคนดูกลุ่มใหม่ๆ ในทศวรรษ 2010
อย่างไรก็ตาม “ตัวละครรุ่นใหม่” ดังกล่าว ย่อมมีทั้งคนรุ่นใหม่ที่รับมอบมรดกความขัดแย้ง สืบทอดจิตวิญญาณการต่อสู้ มาจากคนรุ่นเก่าๆ ผ่านทาง “สายเลือด” หรือทางสถานะ “อัศวินเจได/อภิสิทธิ์ชน”
และคนรุ่นใหม่ที่เป็นสามัญชนธรรมดาๆ ผู้ไม่มีหัวนอนปลายเท้าแน่ชัด (และความไม่แน่ชัดที่ว่าก็อาจถูกทำให้มีลักษณะคลุมเครือเช่นนี้ตลอดไป) แต่จับพลัดจับผลูเข้ามามีบทบาทสำคัญ ท่ามกลางความขัดแย้งระดับมหภาค ในฐานะกลไกหนึ่งของกองทัพขนาดใหญ่ (รวมทั้งอาจถูกสังหารทิ้งได้ง่ายๆ หากพิจารณาจากชะตากรรมของตัวละครเก่าบางรายในหนังภาคใหม่)
น่าจับตาว่าหนังภาค 8 และ 9 ของไตรภาคสตาร์วอร์ส ลำดับที่สาม (ซึ่งจะไม่ได้ถูกกำกับโดยแอบรัมส์อีกแล้ว) จะผสมผสานองค์ประกอบสองส่วนนี้อย่างไร ให้มีความกลมกลืนและสนุกเข้มข้นขึ้น
หรือปฏิสัมพันธ์ระหว่างองค์ประกอบคู่นี้จะนำพาเหล่าตัวละครไปสู่สถานการณ์แบบใดในหนังอีกสองภาคที่เหลืออยู่