สแน็ป : การเมืองเรื่องความทรงจำ

(มติชนสุดสัปดาห์ 6-12 พฤศจิกายน 2558)

 

“สแน็ป” ภาพยนตร์เรื่องล่าสุดของ “คงเดช จาตุรันต์รัศมี” ได้ฤกษ์ฉายรอบปฐมทัศน์โลกไปแล้ว ในเทศกาลภาพยนตร์นานาชาติโตเกียว 2015

แม้สุดท้ายจะไม่ได้รางวัลใดๆ ติดไม้ติดมือกลับมาจากญี่ปุ่น แต่หนังเรื่องนี้ก็มีองค์ประกอบหลายอย่าง ที่น่าพูดถึง

“สแน็ป” เป็นภาพยนตร์ที่มีบริบทการเมืองเข้ามาเกี่ยวข้อง เฉกเช่นผลงานส่วนใหญ่ของคงเดช

อย่างไรก็ตาม ตัวละครเอกในหนังมิได้ดำเนินชีวิตของตัวเองไปอย่างเป็นเอกเทศ โดยมีเหตุการณ์ความขัดแย้งทางการเมืองร่วมสมัยปรากฏขึ้นเป็นเพียงฉากหลังรางๆ และไม่ข้องเกี่ยวโดยตรงกับชีวิตของเหล่าตัวละคร

ตรงกันข้าม “สแน็ป” อาจทำให้คนดูหลายคนคิดไปถึง “กอด” ภาพยนตร์อีกเรื่องของคงเดช ซึ่งเคยมีผู้ตีความเอาไว้ว่า การมีหรือไม่มี “แขนที่สาม” (อวัยวะอันแปลกแยก ทว่า เป็นส่วนหนึ่งของร่างกายอย่างมิอาจปฏิเสธได้) ของ “ขวาน” ตัวละครนำในหนังเรื่อง “กอด” นั้น

เป็นการอุปมาถึงการมีอยู่หรือไม่มีอยู่ของระบอบประชาธิปไตยในสังคมไทย ภายหลังรัฐประหาร 19 กันยายน 2549

กรณีของ “สแน็ป” ก็คล้ายๆ กัน กล่าวคือ แม้นางเอกของเรื่องอย่าง “ผึ้ง” (รวมถึงพระเอกอย่าง “บอย” และตัวละครรายอื่นๆ) จะไม่ได้เป็นสัญลักษณ์ที่สื่อถึงความขัดแย้งทางการเมืองไทยหลังรัฐประหาร 22 พฤษภาคม 2557 อย่างตรงไปตรงมา

แต่วิถีชีวิต และกระแสความคิด-ความทรงจำ ของพวกเธอและเขา ก็เป็นเหมือนภาพร่างอันกระจัดกระจาย ที่ชวนให้เรานึกถึงความขัดแย้งทางการเมืองร่วมสมัยอยู่เกือบตลอดเวลา

ตัวละครเหล่านั้นจึงไม่ได้ลอยตัวออกจากบริบททางการเมือง หากเป็นเหมือนส่วนขยายต่อเติมของบริบทดังกล่าว ที่ช่วยให้คนดูได้มองเห็นหรือตั้งคำถามกับสภาวะความขัดแย้งทางการเมืองนอกโรงภาพยนตร์ อย่างเด่นชัดหรือมีเหลี่ยมมุมยิ่งขึ้น

แต่อย่างที่บอก ว่าชีวิตของตัวละครในหนังเป็นส่วนขยายอันกระจัดกระจายของบริบททางการเมือง ด้วยเหตุนี้ จึงเป็นหน้าที่ของคนดูแต่ละราย ที่จะต้องจัดเรียงหรือประมวลองค์ประกอบระเกะระกะเหล่านั้น แล้วสร้างกรอบความคิดบางอย่างขึ้นมาเอง

“สแน็ป” พูดถึงการเมืองไทยอย่างสลับซับซ้อนมากกว่าเรื่องย่อที่ถูกเผยแพร่ออกมา

หนังไม่ได้มีแค่นางเอกที่เป็นลูกสาวทหารยศน่าจะถึงนายพล ที่กำลังจะแต่งงานกับนายทหารหนุ่มยศนาวาอากาศโท แต่แล้วในวันประกาศกฎอัยการศึก ก่อนหน้ารัฐประหาร เธอก็ได้รับการ์ดเชิญให้ไปงานแต่งงานของเพื่อนสมัยมัธยมฯ ที่ต่างจังหวัด จนมีโอกาสรื้อฟื้นความสัมพันธ์อันค้างคากับเพื่อนชายสมัยวัยรุ่น

แก่นเรื่องหลักสำคัญจริงๆ ของ “สแน็ป” น่าจะเป็นประเด็นว่าด้วย “ความทรงจำ” “การประดิษฐ์สร้างความทรงจำ” “การแทนที่ความทรงจำ” และ “การหลงลืม” มากกว่า

ภาพสแน็ปช็อตที่ถ่ายจากโทรศัพท์มือถือ ถูกนำมาใช้นับครั้งไม่ถ้วนในหนัง ในฐานะเครื่องมือแสดงตัวตนผ่านโซเชียลมีเดียของผึ้ง ผู้เป็นนางเอก

คงเดชกล่าวขยายความเกี่ยวกับประเด็นนี้ในการแถลงข่าวที่โตเกียวว่า เทคนิคการถ่ายภาพด้วยโทรศัพท์มือถือยุคปัจจุบัน มีฟิลเตอร์ที่ทำให้ภาพใหม่ๆ สามารถแลดูเป็นภาพเก่าได้

จึงน่าตั้งคำถามว่า สิ่งที่เรารู้สึกว่ามันเป็นสิ่งเก่าแก่หรือเป็นอดีตที่ดีงามนั้น จริงๆ แล้วมันเก่าแก่แค่ไหน? มันดีงามจริงหรือ? หรือจริงๆ มันเพิ่งถูกสร้างขึ้นให้ “แลดูเก่า” เมื่อไม่นานมานี้?

ประเด็นทำนองนี้ถูกเน้นย้ำรอบแล้วรอบเล่า ผ่านสัญลักษณ์และเรื่องราวต่างๆ ใน “สแน็ป”

หนังยังตั้งคำถามถึงความชอบธรรมของการ “แทนที่” ไว้หลายครั้ง

ตั้งแต่การแทนที่รูปเพื่อนที่หายไปในหนังสือรุ่นด้วยกราฟิกเงาคน การที่เจ้าของร้านทำผม ซึ่งย้ายเข้ามาอยู่ในบ้านหลังเดิมของนางเอก มีชื่อว่า “ผึ้ง” เหมือนกัน การแทนที่ “ปลาตุ๊กแก” ตัวดั้งเดิม ที่เป็นหนึ่งในสัญลักษณ์เกี่ยวโยงกับอดีตรักของวัยรุ่นสองคนเมื่อแปดปีก่อน ด้วยปลา (ที่น่าจะเป็น) ตัวใหม่ ตลอดจนการแทนที่ “คนรักเก่า” ด้วย “คนรักใหม่ๆ”

ราวกับหนังต้องการจะถามคนดูว่า สิ่งของ/ผู้คน บางสิ่ง บางคน สามารถทดแทนสิ่งของ/ผู้คน อีกสิ่งหนึ่ง อีกคนหนึ่ง ได้จริง หรือ?

อย่างไรก็ดี คงเดชพยายามโต้ตอบข้อสงสัยที่มีต่อการให้คุณค่าแก่ “อดีต” ที่เพิ่งสร้าง และการแทนที่ระหว่างสิ่งของสองอย่าง ซึ่งคล้ายจะมีคุณค่าผิดแผกกัน ด้วยการทดลองนำเสนอทัศนะจากอีกแง่มุมหนึ่งเช่นกัน

หนังเล่าเรื่องเล็กๆ ของลูกสาวภารโรง ผู้เติบโตกลายมาเป็นภารโรง “แทนที่” แม่ผู้เสียชีวิต ภารโรงสาวตั้งตุ๊กตาที่เคยได้รับมอบจากผึ้งไว้บนหิ้งบูชาเคียงคู่กับพระพุทธรูป เพราะสำหรับเธอนี่ไม่ใช่สิ่งที่มีค่าเป็นเพียงของเล่น แต่เป็นของราคาแพง ที่มีคุณค่าสูงส่งในทางจิตใจ

“สแน็ป” ยังพูดเรื่องภาวะหลงลืมไว้อย่างน่าสนใจ

ทั้งการที่ผึ้ง ซึ่งเป็นอดีตดีเจประจำโรงเรียน จดจำชื่อเพลงที่บอยเคยขอให้เธอเปิดไม่ได้ การที่เพื่อนคนหนึ่งของบอย จดจำทริปการท่องเที่ยวที่ตนเดินทางไปกับเพื่อนๆ สมัยมัธยมฯ ไม่ได้ จนเพื่อนต้องนำหลักฐานภาพถ่ายมายืนยัน

เรื่อยไปจนถึง การที่บอยพยายาม “แสร้งลืม” ความทรงจำบาดแผลบางอย่าง ที่จะส่งผลต่อความสัมพันธ์ในครอบครัวของเขา และความทรงจำดีๆ ที่ตนเองมีต่อผึ้ง

การลืม การจำ การสร้าง/แทนที่ความทรงจำ เป็นบรรยากาศที่อบอวลอยู่ในหนังเรื่องใหม่ของคงเดช ตลอดเวลา

“สแน็ป” ยังมีรายละเอียดเล็กๆ น้อยๆ ที่ดูเหมือนไม่สำคัญ แต่กลับกระตุ้นให้คนดูได้ฉุกคิดอยู่เป็นระยะๆ

หนังพูดถึงภาวะอนิจจังของการต้องสูญเสียสมาชิกหลักในครอบครัว ด้วยท่าทีไม่ตื่นตระหนก

ขณะเดียวกัน พ่อยศนายพลของนางเอก ก็ไม่มีตัวตนภายในหนัง จนคนดูไม่อาจรู้ได้ว่าเขายังมีชีวิตอยู่หรือไม่ ผึ้งเคยพูดเท้าความว่าหลังรัฐประหาร 2549 พ่อของเธอถูกย้ายเข้ากรุงเทพฯ แต่ก็ไม่แน่ชัดนักว่า เขาได้รับการเลื่อนตำแหน่ง หรือถูกโยกเข้ากรุ ไม่ให้คุมกำลังรบ

ฉากหนึ่งในตอนท้ายเรื่อง ที่ผึ้งกำลังนั่งดูอัลบั้มภาพพรีเวดดิ้งของตนเอง อันเต็มไปด้วยรูปถ่ายชุดขาวของว่าที่สามีนายทหารอากาศ แต่แล้วกล้องก็ค่อยๆ เคลื่อนไปยังครึ่งล่างของกรอบรูปที่แขวนอยู่เหนือหัวนางเอก ซึ่งน่าจะเป็นภาพพ่อของเธอขณะแต่งเครื่องแบบสายสะพายเต็มยศ

สามารถแสดงอารมณ์ความรู้สึกของการต้องใช้ชีวิตอยู่ท่ามกลางคนในเครื่องแบบได้อย่างทรงพลัง

หนังยังเล่าเรื่องราวค่อนข้างแปลกแปร่งว่า ว่าที่สามีนายทหารอากาศนั้น เคยเป็น “อาจารย์สอนวิชารัฐศาสตร์” ให้แก่ผึ้งในมหาวิทยาลัยพลเรือน ไม่เพียงเท่านั้น โรงเรียนเก่าของเธอที่จันทบุรี ยังกำลังทาสีใหม่ เป็นอาคารสีเขียวเข้มทั้งหลัง

หนังพูดถึงการเลิกคบกันในหมู่เพื่อนเก่า เพราะทัศนคติที่แตกต่างกันในทางการเมือง และการไม่พูดคุยทักทายกันของคนในครอบครัว เพราะปมปัญหาร้าวลึกบางประการ

“สแน็ป” เล่นกับ “ภาพ/สัญลักษณ์ซ้ำ” บางภาพ ที่ถูกนำมาวนให้คนดูเห็นอยู่เป็นระยะๆ ทั้งที่เป็นฉากหลังอันชัดเจน และเป็นรูปเลือนรางท่ามกลางความมืดมิด

ฉากสำคัญฉากหนึ่งในตอนท้าย ที่เล่นกับประเด็นความรักลับๆ ของคนที่มิอาจรักกันได้อีกต่อไป ดำเนินไปในสถานที่อันคุกรุ่นด้วยความทรงจำ ซึ่งเพิ่งถูกประดิษฐ์สร้างขึ้น ยิ่งกว่านั้น ไม่ไกลจากสถานที่ดังกล่าว ยังมี “ภาพซ้ำ” ภาพเดิมยังตั้งตระหง่านอยู่อย่างสงบนิ่ง กลางสภาวะดึกสงัด

แก่นเรื่องและคำถามเกี่ยวกับความทรงจำ ตลอดจนรายละเอียดปลีกย่อยต่างๆ ดูมีน้ำหนักชวนครุ่นคิดมากขึ้น เมื่อเราพิจารณาไปยัง “กรอบเวลา” ภายในภาพยนตร์เรื่องนี้

นั่นคือ ผึ้งและเพื่อนๆ เรียนชั้นมัธยมศึกษาปีสุดท้าย ในช่วงรัฐประหาร กันยายน 2549 ก่อนที่พวกเขาและเธอจะหวนกลับมาพบกันอีกครั้ง ในช่วงรัฐประหาร พฤษภาคม 2557

อย่างไรก็ตาม ถ้าพิจารณาจากเนื้อหาของหนัง คงเดชก็ฉลาดพอที่จะไม่ผูกมัดผลงานล่าสุดของเขาเข้ากับจุดยืนทางการเมืองขั้วใดขั้วหนึ่ง

อารมณ์ ความรู้สึก ความทรงจำของตัวละครทั้งหมด และสิ่งแวดล้อมอื่นๆ เป็นเหมือนชิ้นส่วนย่อยๆ ที่จะประกอบขึ้นเป็นอารมณ์ความรู้สึกที่แตกต่างหลากหลาย งุนงงสับสน ของผู้คนในสังคมการเมืองไทยร่วมสมัย

ตัวละครแต่ละรายมีสถานะเป็นทั้งผู้กระทำและถูกกระทำ พวกเขาและเธอเป็นทั้งฝ่ายที่จดจำบางเรื่องราวได้ และเป็นฝ่ายหลงลืมไม่รับรู้ข้อเท็จจริงบางอย่าง แต่ละคนต่างปลอบประโลม กล่อมเกลาตัวเอง ด้วยทัศนะ ความเชื่อ และคุณค่าบางประการ เพื่อแทนที่ความทรงจำบางส่วนที่แหว่งวิ่นขาดหายไป

เพียงแต่คนดูจำนวนหนึ่งก็อาจตั้งคำถามต่อเนื่องจากประเด็นชวนคิดในหนังได้เช่นกันว่า เราจะสามารถทดแทน “ประชาธิปไตย” ด้วยระบอบการปกครองที่ไม่น่าจะเป็น “ประชาธิปไตย” ได้จริงหรือ?

สิ่งที่มา “แทนที่ประชาธิปไตย” ที่ดูเหมือนจะเป็นตัวแทนของ “ความดีงามครั้งเก่าก่อน” นั้น แท้จริงแล้ว มีความเป็นมาเก่าแก่ยาวนานขนาดไหน?

และก็คงเหมือนกับที่ผึ้งเอ่ยถามบอยด้วยความอัดอั้นตันใจว่า เราจะไม่สามารถทำอะไรได้มากกว่านี้หรือ ท่ามกลางความสัมพันธ์ที่มันยังครึ่งกลาง ค้างคา ไม่คืบหน้าไปไหน ในรอบแปดปี? (ซึ่งตัวละครบางคนรู้สึกว่าช่วงเวลาดังกล่าวเคลื่อนหน้าไปเนิบช้ามากๆ แต่บางคนกลับเห็นว่าเวลาผ่านพ้นไปอย่างรวดเร็ว)

ถึงที่สุด ปัจเจกบุคคลแต่ละรายก็คงจะต้องพยายามประคับประคองชีวิตและความทรงจำแหว่งวิ่นของตนเอง แล้วค่อยๆ เดินหน้าต่อไป ท่ามกลางความขัดแย้งทางการเมือง ความผันผวนแห่งยุคสมัย และการขาดหายไปของอะไรบางอย่าง

ดังเนื้อร้องท่อนหนึ่งของเพลงสำคัญ ซึ่งถูกนำมาใช้ปิดท้ายภาพยนตร์เรื่องนี้

“ชีวิตที่มันขาดเธอ วันนี้ยังเดินต่อไป แค่ได้คิดถึงก็เป็นสุขใจ”

Leave a Reply

Fill in your details below or click an icon to log in:

WordPress.com Logo

You are commenting using your WordPress.com account. Log Out /  Change )

Facebook photo

You are commenting using your Facebook account. Log Out /  Change )

Connecting to %s

This site uses Akismet to reduce spam. Learn how your comment data is processed.