(มติชนสุดสัปดาห์ 16-22 ตุลาคม 2558)
งานศิลปะ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง งานศิลปะชั้นสูง เช่น นาฏศิลป์ จิตรกรรม ประติมากรรม บทกวี เรื่อยมาจนถึงหนังอาร์ต ฯลฯ นั้น มักต้องการ “ผู้อุปถัมภ์” มาโดยตลอด นับแต่ยุค “เจ้านาย” จนถึง “เจ้าสัว”
เพื่อศิลปินจะได้สามารถยังชีพในภาวะที่ผลงานของตัวเองเข้าไม่ถึงคนกลุ่มใหญ่มากพอ ขณะที่ผู้อุปถัมภ์ก็จะใช้งานศิลปะเหล่านั้น มาขับเน้นสถานะและรสนิยมพิเศษเฉพาะของตน
ผิดกับงานศิลปวัฒนธรรมของมวลชน ซึ่งมีตลาดกว้างกว่า ผู้ผลิตงานศิลปะชนิดหลัง ไม่จำเป็นต้องพึ่งพาการอุปถัมภ์จากผู้มีอำนาจ หรือผู้มีทรัพย์สมบัติมหาศาล
ทว่า เป้าหมายหลักของพวกเขา คือ การพยายามทำความเข้าใจในอารมณ์ความรู้สึกของสามัญชนที่เป็นผู้บริโภคกลุ่มใหญ่ หรือการพยายามเข้าถึง “พ่อค้าคนกลาง” ที่จะนำพาศิลปินไปสัมผัสหัวใจของมวลชนมากกว่า
เช่น สำหรับยุครุ่งเรืองของอุตสาหกรรมเทปและซีดีเพลง ผู้ยิ่งใหญ่ในช่วงเวลาดังกล่าว ก็ได้แก่ “อากู๋” และ “อาเฮีย” ซึ่งขายของเก่ง จนสามารถนำผลกำไรที่ได้ มาจัดสรรเป็นอัตราค่าตอบแทนอันแน่นอน ก่อนจะแบ่งปันให้แก่บรรดานักร้อง นักดนตรี และคนทำงานเบื้องหลังส่วนอื่นๆ ลดหลั่นกันไป
อุตสาหกรรมดนตรียุคนั้น อาจมีคนที่คล้ายๆ จะเป็น “ปูชนียบุคคล” อยู่บ้าง อาทิ “พี่เต๋อ” แต่เขาก็มิได้เป็นผู้อุปถัมภ์ ที่ทุ่มเทเงินทองส่วนตัวไปกับการชุบเลี้ยงนักร้อง นักดนตรี เพื่อให้บุคลากรเหล่านั้นสามารถสร้างสรรค์ผลงานเพลงได้อย่างเต็มที่ โดยมิต้องคิดเรื่องปัญหาปากท้อง
“พี่เต๋อ” มีสถานะเป็น “ศิลปินรุ่นพี่” ที่ช่วยผลักดันน้องๆ ให้เข้ามาทำงานในอุตสาหกรรมเพลง จนได้รับค่าตอบแทนอันสมน้ำสมเนื้อจากนายทุนมากกว่า
ระหว่างทศวรรษ 2530-40 อันเป็นยุครุ่งโรจน์ของเทปและซีดี ดูเหมือน “ลูกหลาน” จากตระกูลร่ำรวยระดับประเทศ จะมิได้ทะเยอทะยานอยากเป็น “ผู้อุปถัมภ์” วงการดนตรีทั้งระบบหรือนักร้องนักดนตรีบางกลุ่มบางค่าย เนื่องเพราะวงการเพลงมีผู้บริโภคระดับมวลชนเป็นฐานหลักคอยโอบอุ้มอยู่แล้ว
ตรงกันข้าม ดูคล้าย “ลูกหลาน” จากตระกูลมหาเศรษฐี ที่สนใจดนตรี จะอยากเข้ามาเป็นศิลปินออกเทปเสียเอง (มีอัลบั้มสักชุดสองชุดก็ยังดี)
กระทั่งในช่วงขาลงของอุตสาหกรรมเทป/ซีดีเพลง บทบาทของ “ผู้อุปถัมภ์” จึงหวนกลับคืนมาเพื่อกลบช่องว่างบางจุด เพราะบรรดาขาใหญ่ในธุรกิจบันเทิง ไม่ได้มุ่งเน้นความสำคัญไปยังธุรกิจเพลงอีกแล้ว
“สหภาพดนตรี” ที่มีความข้องเกี่ยวกับเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ยี่ห้อดัง คือตัวอย่างสำคัญของกรณีนี้
“สหภาพดนตรี” ไม่ใช่ค่ายเพลงใหญ่ ไม่ได้ออกผลงานถี่ และเหมือนจะไม่หวังผลลัพธ์เชิงพาณิชย์มากนัก
หากพิจารณาจากภาพลักษณ์ที่ถูกสร้างและสื่อมายังการรับรู้ของสาธารณชน “สหภาพดนตรี” เป็นองค์กรที่พยายามโอบอุ้มค้ำจุนบุคลากรมืออาชีพ “ระดับคุณภาพ” ของวงการ ซึ่งเริ่มจะไม่มีที่ทางในระบบอุตสาหกรรมดนตรีแบบเดิม
เมื่อวันที่ 10 ตุลาคม ผมมีโอกาสไปชมคอนเสิร์ตรวมศิลปินยุค 90 “กำเนิดอินดี้ รุ่นพี่ออกเทป” ที่จัดโดยสหภาพดนตรี
บางส่วนเสี้ยวของคอนเสิร์ต ทำให้ย้อนรำลึกถึง “บทบาท” หรือ “ตำแหน่งแห่งที่” ของผู้อุปถัมภ์ศิลปะ/ศิลปิน บนเวทีการแสดงสาธารณะ ขึ้นมา
ราวสองทศวรรษก่อน ผมเคยไปชมการแสดงของศิลปินจากกอง/สำนักการสังคีต กรมศิลปากร ที่นำโดยอาจารย์เสรี หวังในธรรม
จำได้ว่า วิธีการกล่าวขอบคุณภาคเอกชน ที่เป็นผู้อุปถัมภ์การแสดงครั้งนั้น ดำเนินผ่านกลวิธีซึ่งน่าสนใจยิ่ง
กล่าวคือ ผู้ที่ต้องเล่น “นอกบท” เพื่อกล่าวยกย่อง ประจบประแจงผู้สนับสนุนหลักในการแสดง มิใช่พระเอกอย่างปกรณ์ พรพิสุทธิ์ ไม่ใช่นักแสดงนำอย่างอาจารย์เสรี แต่กลับกลายเป็นกลุ่มนักแสดงตลก ได้แก่ ประสาท ทองอร่าม (ครูมืด) และ ถนอม นวลอนันต์
ด้วยเหตุนี้ ผู้อุปถัมภ์การแสดงจึงทั้งถูกป้อยอและเล่นหัวอย่างสนุกสนานเป็นกันเอง ไปในคราวเดียว
ส่งผลให้ชื่อของคนถูกกล่าวถึงไม่ได้แปลกแยกหลุดลอยออกจากการแสดง ขณะเดียวกัน การที่ผู้อุปถัมภ์ไม่ต้องขึ้นไปปรากฏตัวบนเวที ก็ช่วยทำให้ผู้ชมส่วนใหญ่ ซึ่งกำลังสนุกสนานกับการแสดง ไม่ถูกขัดจังหวะความบันเทิงเช่นกัน
กลับมาที่คอนเสิร์ต “กำเนิดอินดี้ รุ่นพี่ออกเทป”
ผมรู้สึกคล้ายกับเพื่อนที่ไปชมดนตรีด้วยกันว่า วิธีการยกย่อง “ผู้อุปถัมภ์” คอนเสิร์ตครั้งนี้ ดูจะแปลกแปร่งอยู่สักหน่อย
กล่าวคือ นอกจากศิลปินหลายๆ ราย จะกล่าวขอบคุณสหภาพดนตรี และเครื่องดื่มที่ให้การสนับสนุนคอนเสิร์ต ตามธรรมเนียมปกติทั่วไปแล้ว
ยังมีนักแซกโซโฟนฝีมือดีของวงการเพลงป๊อปไทย มากล่าวยกย่องบุคคลผู้อยู่เบื้องหลังการจัดคอนเสิร์ต ว่าเป็น “พี่ชาย” ผู้เป็นที่รักของนักดนตรีทั่วประเทศ ก่อนจะเชิญ “พี่ชาย” ผู้นั้น ขึ้นมาร้องเพลงบนเวที
ในช่วงเวลาเดียวกัน มีหนุ่มสาวกลุ่มใหญ่ที่นั่งอยู่ตรงโซนวีไอพี ค่อยๆ ทยอยยกทัพไปยืนอัดแน่นด้านหน้าเวที เพื่อมอบช่อดอกไม้จำนวนมากให้แก่ “พี่ชายใจดี” ที่กำลังร้องเพลงอยู่
แม้เหตุการณ์เช่นนั้นจะแสดงให้เห็นว่ามีศิลปินบางรายและคนดูผู้มีสิทธิพิเศษบางกลุ่ม รักใคร่ศรัทธาในตัว “พี่ชาย” อย่างเปี่ยมล้น
แต่ในทางกลับกัน การแสดงช่วงดังกล่าวก็ค่อยๆ ตัดขาดตัวเองออกจากคนดูส่วนใหญ่ในคอนเสิร์ต ฮอลล์ ไปอย่างน่าเสียดาย
ถ้า “พี่ชาย” ขึ้นไปร้องเพลงบนเวทีอย่างเนียนๆ โดยปราศจากคำยกยอปอปั้นใดๆ ผู้ชมก็คง “อิน” กับเพลงของเขามากกว่านี้ เนื่องจากคงไม่มีใครปฏิเสธได้ว่า “พี่ชาย” มีศักดิ์และสิทธิ์เต็มขั้นในการก้าวขึ้นไปจับไมค์ เพราะเขาเคยออกอัลบั้มอินดี้ช่วง 90 จริง และมีเพลงค่อนข้างดังอยู่หนึ่งเพลงจริงๆ
แต่พอ “พี่ชาย” ก้าวขึ้นเวทีท่ามกลางบรรยากาศการยกย่องเชิดชูที่เกินจริงไปนิด สถานะความเป็นนักร้องของพี่แก เลยพลอยถูกกลบเกลื่อนให้เลือนหาย ในสายตาของผู้ชมหลักพันหลักหมื่นคน
นี่คงเป็นความขัดแย้งข้อสำคัญประการหนึ่ง ที่ดำรงอยู่ในความสัมพันธ์ระหว่างบทบาทของผู้อุปถัมภ์ศิลปะ/ศิลปิน กับงานศิลปวัฒนธรรม ซึ่งมีศักยภาพในการเข้าถึงมวลชนกลุ่มใหญ่
การเน้นย้ำบทบาท สถานะของผู้อุปถัมภ์ศิลปะ/ศิลปินจนเกินควร อาจส่งผลให้งานศิลปะสาธารณะดังกล่าว มีค่าเป็นเพียงงานอดิเรกหรือปาร์ตี้ส่วนตัว มากกว่าจะเป็นกิจกรรมความบันเทิงร่วมกันของมหาชน