ฟรีแลนซ์ฯ : ทำไมยุ่นจึงไม่สามารถ “เดินสยามฯ เพื่อเดินสยามฯ”? และที่ทางของ “ร้านสะดวกซื้อ” ภายในหนัง

มติชนสุดสัปดาห์ 11-17 กันยายน 2558

“ฟรีแลนซ์ ห้ามป่วย..ห้ามพัก..ห้ามรักหมอ” ผลงานการกำกับฯ ของ “นวพล รัตนฤทธิ์” และหนังไทยเรื่องแรกของปี 2558 จากจีทีเอช สตูดิโอภาพยนตร์อันดับหนึ่งของประเทศ คงจะเป็นหนังอีกเรื่องของค่ายนี้ที่เก็บเงินได้เกือบๆ 100 ล้านบาท หรือเกินหลัก 100 ล้าน ไปพอสมควร (แม้อาจจะไปไม่ถึงระดับที่ “พี่มาก..พระโขนง” และ “ไอฟาย..แต๊งกิ้ว..เลิฟยู้” เคยทำได้)

ขณะเดียวกัน ด้วยความที่หนังยาวเรื่องล่าสุดของนวพล พูดถึงวิถีชีวิตร่วมสมัยของหนุ่มสาวในเมืองใหญ่ ผ่านมุมมองเชิงวิพากษ์อยู่มากพอสมควร

หนังเรื่องนี้จึงถูกตีความจากคนดูหลายหลากกลุ่มอย่างหลากหลาย (สามารถตามอ่านการตีความที่น่าสนใจจำนวนมากได้ที่เพจเฟซบุ๊ก “Kafe Lumiere”)

หลังชมภาพยนตร์เรื่องนี้จบ โดยส่วนตัว ผมไปติดใจกับประโยคที่นางเอก คือ “หมออิม” ถามพระเอก คือ หนุ่มฟรีแลนซ์ที่มีอาการป่วยจากการทำงานหนักชื่อ “ยุ่น” ทำนองว่า คุณรู้จัก “การเดินสยามฯ เพื่อเดินสยามฯ มั้ย?”

หลังจากคุณหมอสาวเพียรถามฟรีแลนซ์หนุ่มถึงกิจกรรมอดิเรกในยามว่างของเขา

ซึ่งชายหนุ่มผู้บ้างาน และไม่ยอมปล่อยให้เวลาเดินผ่านไปอย่างสูญเปล่า เช่นยุ่น คล้ายจะออกอาการงุนงงว่า “ไอ้การเดินสยามฯ เพื่อเดินสยามฯ” นี่มันคืออะไรกันวะ?

ทำไมยุ่นจึงออกอาการเง็งเมื่อเจอคำถามของหมออิม?

ขออนุญาตนิยามความหมายของผู้ประกอบอาชีพ “ฟรีแลนซ์” อย่างหยาบๆ ว่า หมายถึง ผู้ที่ประกอบอาชีพอิสระ โดยรับจ้างบุคคล องค์กรต่างๆ ทว่า ไม่ได้สังกัดหน่วยงานรัฐหรือเอกชนใดๆ ขณะเดียวกัน เขา/เธอก็หาเลี้ยงชีพด้วยการประกอบอาชีพอิสระดังกล่าวเป็นหลักเท่านั้น มิได้มีทรัพย์สินจำนวนมหาศาลของครอบครัวมาเป็นหลักประกันในการดำเนินชีวิต

โดยไม่มีข้อมูลที่ชัดเจน ผมอนุมานเอาว่า ผู้ประกอบอาชีพฟรีแลนซ์ส่วนใหญ่น่าจะเป็น “คนชั้นกลาง” ที่มีรายได้ปานกลาง ซึ่งจำเป็นจะต้องแปร “งาน” เป็น “เงิน” ต้องแปร “งาน” เป็น “สถานภาพที่ได้รับการยอมรับนับถือในสังคม” หรือต้องแปร “งาน” เป็น “การไต่เต้าไปสู่สถานะที่สูงขึ้น”

หรืออาจกล่าวได้ว่า วิถีการดำเนินชีวิตหรือยังชีพของพวกเขา ถูกหล่อหลอมด้วยแนวคิด “การทำสิ่งหนึ่ง เพื่อหวังผลถึงอีกสิ่งหนึ่ง”

พิจารณาในแง่นี้ วิถีชีวิตของคนอย่างยุ่น จึงเข้าใจสิ่งที่ดำรงอยู่ได้โดยตัวของมันเองหรือดำรงอยู่เพื่อตัวของมันเองเท่านั้น (“thing in itself”) แทบไม่ได้เลย

เขาทำงานหนัก เพื่อผลลัพธ์อย่างอื่น (เงินทอง, ชื่อเสียง, ความฝัน ไปจนถึงการตัดใจจากผู้หญิง) ไม่ได้ทำงานหนักเพื่อทำงานหนัก

ด้วยเหตุนี้ ถ้าเขาจะไปสยามฯ ก็ต้องไปเพื่อจุดหมายบางอย่าง เช่น ช็อปปิ้ง หรือ เหล่หญิง ฯลฯ แต่หากเห็นว่ากิจกรรมเหล่านั้นทำให้เสียเวลาทำงาน (อันนำไปสู่สิ่งพึงประสงค์ชนิดอื่นๆ) เขาก็จะไม่ไปสยามฯ

ทว่า ยุ่นจะรู้สึกตลกสิ้นดี ถ้ามีคนอย่างหมออิม มาบอกให้เขาไปเดินสยามฯ เพื่อไปเดินสยามฯ โดยไม่หวังเป้าประสงค์ประการอื่น

คําถามสำคัญของหมออิมและความงุนงงของยุ่นยังเชื่อมโยงมาถึงเรื่องการจัดการร่างกาย ซึ่งเป็นประเด็นหลักสำคัญชวนถกเถียงในหนังเรื่องฟรีแลนซ์ฯ

สำหรับสังคมยุโรปในยุคสมัยหนึ่ง ขณะที่คนชั้นสูงมีแนวโน้มจะออกกำลังกายเพื่อมุ่งจัดการร่างกายของตัวเอง คือ ออกกำลังเพื่อสุขภาพส่วนตัวที่แข็งแรง หรือเพื่อการเสริมสร้างกล้ามเนื้ออันสวยงามบนเรือนร่าง (“thing in itself”)

คนชั้นล่างหรือคนชั้นกลางจำนวนมาก กลับเล่นกีฬา เพื่อประกอบอาชีพ เพื่อแสวงหาทรัพย์สิน หรือเพื่อขยับเขยื้อนสถานะทางสังคม ดังนั้น การออกกำลังกายในฟิตเนสของคนชั้นกลางเพื่อจัดการร่างกายตัวเอง จึงเป็นปรากฏการณ์ที่เพิ่งเกิดขึ้นมาได้ไม่นานนัก

และจึงไม่ใช่เรื่องแปลกอะไร ที่คนชั้นกลางผู้ประกอบอาชีพฟรีแลนซ์อย่างยุ่น จะมองเห็นการออกกำลังกายในฟิตเนสเป็นสิ่งแปลกปลอมของชีวิต

ยุ่นคงมองว่า เราจะออกกำลังกายเพื่อออกกำลังกาย หรือออกกำลังกายเพื่อร่างกายภายในไปทำไม? หากมันไม่สนองตอบต่อเป้าประสงค์หรือผลลัพธ์อื่นๆ ที่อยู่ภายนอกฟิตเนส (การรีทัชร่างกายนักกีฬาเพื่องานโฆษณา ที่อาจโด่งดังไปไกลถึงญี่ปุ่น ยังนำไปสู่ผลประโยชน์ ชื่อเสียง เงินทองอื่นๆ มากกว่า)

น่าสนใจว่า สุดท้ายแล้ว แม้ยุ่นจะเห็นประโยชน์ของการไปทำตัวชิลล์ๆ ที่ชายทะเล และการหันมาดูแลร่างกายตนเองมากขึ้น แต่เขาก็ไม่ได้มีความสุขกับทะเล เพื่อจะได้มีความสุขกับทะเล หรือดูแลร่างกาย เพื่อร่างกายของตัวเอง

เนื่องจากหนังในตอนท้ายเหมือนจะชี้ชวนให้คนดูเห็นว่า ยุ่นเปลี่ยนแปลงตนเอง เพื่อหมออิมต่างหาก

ดังนั้น ผมจึงรู้สึกว่าเรื่องราวความรักระหว่างยุ่นกับหมออิม (ที่หลายคนเห็นว่ามีผลทำให้โทนจริงจังหรือท่าทีแหกขนบจีทีเอชของหนังเรื่องนี้ ถูกลดทอนน้ำหนักลงไป) มีความสำคัญอย่างยิ่ง

เพราะความเป็นไปได้ของความรักระหว่างฟรีแลนซ์หนุ่มกับคุณหมอสาว ได้ช่วยย้ำให้เราเห็นว่า สุดท้าย คนอย่างยุ่น ก็ไม่มีวิธีคิดในแบบ “thing in itself” อยู่ดี

ทว่า เขายอมทำตัวชิลล์ ยอมลดภาระงานลง ยอมดูแลร่างกายให้มากขึ้น ก็เพื่อจุดมุ่งหมายใหม่ในชีวิต อันได้แก่ การสานต่อความรักกับหมออิม นั่นเอง

อีกข้อหนึ่ง ที่ผมรู้สึกว่า “จีทีเอช” รวมทั้งผู้กำกับฯ อย่างนวพล เก่งมากๆ ก็คือ การนำเสนอภาพลักษณ์ของ “ร้านสะดวกซื้อชื่อดัง” ในหนังฟรีแลนซ์ฯ

ผมไม่แน่ใจว่า โลโก้ร้านสะดวกซื้อดังกล่าว ในช่วงเอนด์ เครดิต นั้น บ่งชี้ถึงสถานะใดกันแน่? ระหว่างการที่กิจการร้านสะดวกซื้อ (เพียงแค่) เอื้อเฟื้อและอนุญาตให้ใช้สถานที่และแบรนด์ในการถ่ายทำภาพยนตร์ กับการที่กิจการร้านสะดวกซื้อเป็นหนึ่งในสปอนเซอร์หลักของหนังเรื่องนี้

แต่ไม่ว่าเหรียญจะออกด้านไหน ผมก็ยังทึ่งกับความสามารถของคนทำหนังอยู่ดี ที่สามารถเรียกความเชื่อมั่นจากผู้ประกอบกิจการร้านสะดวกซื้อได้สำเร็จ

ทั้งๆ ที่ภาพลักษณ์ของ “ร้านสะดวกซื้อ” ในหนัง มีอยู่สองด้าน ด้านหนึ่ง คือการนำเสนอภาพของ “พนักงานประจำร้าน” ในฐานะ “เพื่อนที่ดี” ไม่ได้เป็นเพียงแค่หุ่นยนต์ที่คอยพูดนำเสนอโปรโมชั่นราวเครื่องจักรกล เวลาลูกค้ามาจ่ายเงิน แต่อีกด้าน ชีวิตของตัวละครนำในหนังก็แทบพังพินาศลงเพราะสินค้าอาหารจากร้านสะดวกซื้อเหมือนกัน

(บางคนเสนอว่า แม้อาหารจากร้านสะดวกซื้อจะทำให้สุขภาพของยุ่นย่ำแย่ แต่นั่นก็เป็นเพราะวิถีการบริโภคอันเกินพอดีของตัวยุ่นเอง แถมในท้ายที่สุด การทรุดหนักหลังการบริโภคสินค้าจากร้านสะดวกซื้อ ยังชักนำให้ยุ่นได้กลับไปเจอหมออิมอีกครั้ง – ไม่นับว่า “ขนมจีบกุ้ง” ในหนัง ส่งผลให้ “ขนมจีบกุ้ง” ในร้านสะดวกซื้อนอกโรงภาพยนตร์ ขายดีขึ้นจริงๆ อย่างน่าทึ่ง)

กล่าวกันอย่างตรงไปตรงมา หนังเรื่องฟรีแลนซ์ฯ นั้นมีโฆษณาแฝงอยู่แน่ๆ แต่โฆษณาแฝงบางตัวกลับถูกนำเสนอออกมาได้อย่างมีชั้นเชิงพอสมควร

Leave a Reply

Fill in your details below or click an icon to log in:

WordPress.com Logo

You are commenting using your WordPress.com account. Log Out /  Change )

Facebook photo

You are commenting using your Facebook account. Log Out /  Change )

Connecting to %s

This site uses Akismet to reduce spam. Learn how your comment data is processed.