มติชนสุดสัปดาห์ 31 ก.ค.-6 ส.ค. 2558
“Gebo and the Shadow” เป็นผลงานหนังยาวเรื่องสุดท้ายของ “มาโนเอล เดอ โอลิเวียร่า” ผู้กำกับภาพยนตร์ชาวโปรตุเกส ที่เพิ่งลาโลกไปเมื่อเดือนเมษายนที่ผ่านมา ในวัย 106 ปี
“เกโบฯ” เป็นผลงานที่สร้างขึ้นเมื่อปี 2012 ขณะคุณปู่ เดอ โอลิเวียร่า มีอายุ 103 ปี
หนังเล่าเรื่องราวที่มีฉากหลังเป็นสังคมโปรตุเกสยุคปลายศตวรรษที่ 19 ของ “เกโบ” นักบัญชีวัยชรา ที่ทำงานหาเลี้ยง “โดโรเทีย” ภรรยา และ “โซเฟีย” ลูกสะใภ้ ณ เมืองชายทะเล บรรยากาศอึมครึม มีฝนตกแทบจะตลอดเวลา
ปมปัญหาสำคัญของคนในครอบครัวนี้ก็คือ การหายตัวไปของ “ชูเอา” ผู้เป็นลูกชาย
โดโรเทียผู้เป็นแม่ ทึกทักเข้าใจไปเองว่าบุตรชายกำลังออกไปแสวงหาชีวิตที่ดีกว่าในโลกภายนอก ขณะที่เกโบและโซเฟีย กลับรับรู้ว่าแท้จริงแล้ว ชูเอา ไม่ได้มีชีวิตที่ดีงามนัก เขาจมดิ่งลงไปใน “โลกใต้ดิน” ทั้งยังอาจจะเป็นอาชญากรเสียด้วยซ้ำ
หนังฉายภาพให้เห็นกิจวัตรประจำวันและวิถีชีวิตแบบเดิมๆ ณ ห้องรับแขก/ห้องทานข้าวขนาดเล็กๆ อันแสนทึมทึบ ภายในบ้านหลังเก่าๆ
เกโบกลับเข้าบ้านพร้อมชุดสูทซึ่งเปียกปอนเพราะสายฝน ก่อนจะเอางานมานั่งทำต่อบนโต๊ะอาหาร โดโรเทียรำพึงรำพันและเฝ้ารอคอยการกลับมาของลูกชาย
เกโบเล่าความลับดำมืดของชูเอาให้ลูกสะใภ้ฟัง ขณะที่ภรรยาของเขามักพูดถึงโซเฟียในแง่ไม่ดีนัก เมื่ออยู่กับเกโบสองต่อสอง
มีเพื่อนบ้านวัยชราบางคนแวะเวียนเข้ามาเยี่ยมเยียนครอบครัวของเกโบ คนหนึ่ง เป็นคุณป้าซึ่งไม่มีที่จะไปมากนัก อีกคนเป็นศิลปินอาวุโส ที่ดูเหมือนกำลังอยู่ในช่วงโรยราทางวิชาชีพ ผู้เอาแต่พร่ำบ่นถึงสถานะอันต่ำต้อยด้อยค่าลงของ “งานศิลปะ” ในโลกยุคสมัยใหม่
แต่แล้วในคืนหนึ่ง ความเป็นกิจวัตรประจำวันที่แน่นิ่ง สม่ำเสมอ แบบเดิมๆ ก็ต้องถูกปั่นป่วน เมื่อชูเอา ลูกชายของครอบครัว เดินทางกลับบ้าน
ครั้งหนึ่ง ผมเคยเขียนเปรียบเทียบ เดอ โอลิเวียร่า กับ “เสนีย์ เสาวพงศ์” เอาไว้ ทั้งคู่เป็นคนทำงานศิลปะในเจเนอเรชั่นเดียวกัน และยังเป็นศิลปินผู้กล่าวถึงการปะทะชนของ “โลกเก่า” และ “โลกใหม่” คล้ายๆ กัน
การหวนคืนบ้านของชูเอา นำไปสู่ฉากสนทนาขนาดยาวภายในหนัง ซึ่งชูเอายืนวิพากษ์วิจารณ์พ่อ, แม่, เพื่อนบ้านแก่ๆ และเมียตัวเอง อย่างเกรี้ยวกราดหนักหน่วง
เขาตั้งคำถามกับคนเหล่านั้นว่า ทำไมจึงเอาแต่ก้มหน้ายอมรับชะตากรรมเดิมๆ, มีพฤติกรรมซ้ำๆ ซากๆ, ยอมถูกระบบสังคมที่ไม่เป็นธรรมกดขี่ซ้ำแล้วซ้ำเล่า และเฝ้าโหยหาคุณค่าเก่าๆ อันคร่ำครึ เช่น ประเด็นเรื่องความสูงส่งของ “ศิลปะ”
คำถามสำคัญที่สุด ที่ชูเอามีต่อคนกลุ่มนี้ ก็คือ ทำไมพวกคุณไม่หัดขบถบ้าง? (และสำหรับเขา การก่ออาชญากรรม อันผิดกฎหมายและปทัสถานทางสังคม ก็ถือเป็นการขบถชนิดหนึ่ง)
ฉากการตั้งคำถามของชูเอาใน “เกโบฯ” อาจชวนให้คนอ่านนวนิยายเรื่อง “ปีศาจ” ของ เสนีย์ เสาวพงศ์ หวนนึกไปถึงสปีชเรื่อง “ปีศาจแห่งกาลเวลา” ที่ “สาย สีมา” กล่าวขึ้นท่ามกลางสมาคมชั้นสูงในบ้านท่านเจ้าคุณอยู่บ้าง
ทว่า ปลายทางชีวิตของชูเอา และผลลัพธ์จากพฤติการณ์บางประการของเขา กลับแตกต่างจากวิถีการยืนหยัดต่อสู้ของ สาย สีมา และบทสรุปของปีศาจ อย่างลิบลับ
ไปๆ มาๆ “เกโบฯ” ผลงานการกำกับของคนทำหนังที่ถือกำเนิดในทศวรรษแรกของศตวรรษที่ 20 กลับมีความเชื่อมโยงกันอย่างลึกซึ้งกับภาพยนตร์ไทยเรื่อง “พี่ชาย My Hero” ของกลุ่มคนทำหนังรุ่นที่เกิดในทศวรรษ 1980
หนังทั้งสองเรื่องพูดถึงกลุ่มตัวละครที่สยบยอมโดยสิ้นเชิงต่อระบอบอำนาจ แม้จะรู้ว่าสิ่งที่รายล้อม ตีกรอบพวกตนอยู่นั้น ไม่ได้ดีงามอะไร แต่พวกเขาและเธอก็ไม่รู้ว่าตนเองควรจะหนีไปไหน หรือควรจะลุกขึ้นสู้อย่างไร
คุณลุงเกโบคงมีวิถีชีวิตไม่ต่างกับตัวละครหลายรายในพี่ชาย My Hero ครั้งหนึ่ง แกเคยแสดงทรรศนะส่วนตัวให้ผู้เป็นลูกสะใภ้รับฟังว่า “ชีวิตที่ดี” นั้นหมายถึงการหมั่นทำกิจวัตรหรือหน้าที่ของตนไปเรื่อยๆ ไม่มีหยุดหย่อน ให้เหมือนกับเม็ดฝนที่ตกในจังหวะสม่ำเสมออยู่เกือบตลอดเวลา
ถ้าอ้างอิงกับประเด็นวิชาการแบบเชยๆ หน่อย ก็คงบอกได้ว่า คุณลุงแกสมาทานในทฤษฎีโครงสร้าง-การหน้าที่ จึงพยายามทำหน้าที่ย่อยๆ ของตัวเองไปให้ดีที่สุดเท่าที่จะทำได้ โดยเชื่อว่าหากทุกคนปฏิบัติหน้าที่ของตนอย่างสมบูรณ์ โครงสร้างใหญ่ (ซึ่งแม้จะกดขี่ขูดรีดคนเล็กคนน้อยอย่างไม่เป็นธรรมอยู่บ้าง) ก็จะดำเนินไปได้เป็นอย่างดีหรือมีดุลยภาพเอง
อย่างไรก็ตาม โครงสร้างอันสมดุลกลับไม่ได้ทำงานจนเป็นกิจวัตรสม่ำเสมอ แม้คุณลุงเกโบจะพยายามปฏิบัติหน้าที่ของตนเองอย่างเคร่งครัด และไม่ข้องแวะสิ่งผิดบาปอื่นใด แต่เมื่อชูเอา ผู้เป็นลูกชาย ตัดสินใจขโมยเงินสดในความดูแลของพ่อ แล้วหนีหายสาบสูญไปอีกรอบ
ความสัมพันธ์เชิงอำนาจ/ทางเศรษฐกิจ อันไม่เท่าเทียม ซึ่งสำแดงตนผ่านนายทุน ผู้เป็นเจ้าของเงินและนายจ้างของเกโบ ตลอดจนเจ้าหน้าที่ตำรวจ ก็บุกเข้าคุกคามและจับกุมตัวนักบัญชีวัยไม้ใกล้ฝั่งถึงหน้าประตูบ้าน
นอกจากชะตากรรมของเกโบแล้ว วิถีทางของ “ลูกชายขบถ” อย่างชูเอา ก็น่าสนใจอยู่มิใช่น้อย
ประการแรก พฤติการณ์ของตัวละครรายนี้ คล้ายจะนำไปสู่การดิสเครดิตคนหนุ่มสาวฝ่ายก้าวหน้าอยู่พอสมควร
ประการถัดมา หากพิจารณาในมุมมองเชิงเปรียบเทียบแล้ว เหมือนชูเอาจะมีทั้ง “ความแตกต่าง” และ “ความคล้ายคลึง” กับ “โอ๊ต” ตัวละครน้องชายในหนังเรื่องพี่ชาย My Hero
ขณะที่ชูเอา พยายามต่อต้านและหลบหนีไปจากระบบระบอบอันไม่เป็นธรรม รวมทั้งบรรทัดฐานหลักของสังคม โอ๊ตกลับยอมรับระบบที่เต็มไปด้วยการเอารัดเอาเปรียบแต่โดยดี และยอมสอดแทรกเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของห่วงโซ่การกดขี่ดังกล่าว
สุดท้าย ชูเอาต้องกระเสือกกระสนดำรงชีวิตอย่างหลบๆ ซ่อนๆ ในโลกอาชญากรรม ส่วนโอ๊ตนั้น หนังไม่ได้เฉลยให้คนดูรับรู้โดยกระจ่างแจ้งว่าเขาดำเนินชีวิตตอนโตอย่างไร ประกอบอาชีพอะไร หรือบางที เขาอาจหาเลี้ยงตัวเองผ่านการท่องไปในโลกใต้ดินเหมือนกับชูเอา ก็เป็นได้
เพียงแต่คนหนึ่งกำลังแข็งขืน ทว่า อีกคน กลับพยายามหาวิธีการเอาตัวรอดในสังคมที่ป่วยไข้
อย่างไรก็ดี ดูคล้ายสังคมโปรตุเกสก่อนปี 1900 ใน “เกโบฯ” และสังคมไทยร่วมสมัยใน “พี่ชาย My Hero” จะเต็มไปด้วยลำดับชั้นลดหลั่น รวมถึงช่องว่างที่เปิดโอกาสให้ความอยุติธรรมต่างๆ ค่อยๆ ก่อตัวขึ้น
ข้อสังเกตสุดท้าย ที่อยากเสนอทิ้งไว้ก็คือ ท่ามกลางสภาวะอันคลุมเครือ เมื่อสิ่งใหม่ยังไม่ทันได้ก่อเกิด ส่วนสิ่งเก่ายังไม่ยอมตกตาย (ดังเช่นการดำรงอยู่เคียงคู่กันของขบถพิกลพิการและสภาพสังคมผุกร่อนที่แน่นิ่งไร้ความหวัง ในหนังเรื่องเกโบฯ)
ดูเหมือนคุณปู่ เดอ โอลิเวียร่า ขณะมีวัยเกินหนึ่งศตวรรษ จะทำหนังด้วยอารมณ์ความรู้สึก “ปลง” กระทั่งยอมรับว่าชะตากรรมของมวลมนุษยชาติ ล้วนไม่สามารถหลีกหนีจากความพ่ายแพ้ ภาวะสิ้นหวัง และโศกนาฏกรรม
นี่อาจเป็นขีดจำกัด ที่มนุษย์ทุกคนไม่สามารถก้าวข้ามผ่านไปได้พ้น