บางระจัน 2: เมื่อ “ประชาทิพย์” ปะทะ “ปีศาจพม่า”

(ปรับปรุงแก้ไขจากงานเก่าในนิตยสารไบโอสโคปเมื่อ 5 ปีก่อนครับ, เมื่อเกิดข่าวโศกนาฏกรรมของ “สิงห์ สควีซ แอนิมอล” ชื่อจริงเดิมของเขา คือ “ประชาธิป” ทำให้ผมนึกถึง “ประชาทิพย์” อันเป็นมโนทัศน์หลักสำคัญในงานบทกวีของไม้หนึ่ง ก.กุนที ช่วงปี พ.ศ.2553-54 และผมก็เคยนำมโนทัศน์ดังกล่าว มาใช้ในบทความที่เขียนถึงหนัง “บางระจัน 2” จึงขออนุญาตนำบทความชิ้นนั้นมาเผยแพร่ซ้ำอีกครั้งหนึ่ง โดยตัดทอนเนื้อหาแหลมๆ แรงๆ บางส่วนออกไป)

หลายคนวิเคราะห์ว่า “บางระจัน” ภาคแรก ของธนิตย์ จิตนุกูล ซึ่งออกฉายเมื่อปี 2543 นั้น สามารถจับอารมณ์ความรู้สึกชาตินิยมและความสมัครสมานสามัคคีของคนไทยจำนวนมากมายมหาศาลในยุคหลังวิกฤตเศรษฐกิจต้มยำกุ้งปี 2540 ได้อย่างแม่นยำ (โดยเฉพาะบรรดาคนชั้นกลางในกรุงเทพฯ ที่ปริมาณการบริโภค/ซื้อตั๋วหนังของพวกเขาถือเป็นตัวเลขสำคัญสำหรับการประเมินรายได้หนังแต่ละเรื่อง) จนหนังสามารถกอบโกยรายได้ไปอย่างท่วมท้น

“บางระจัน 2” ที่ออกฉายในอีก 10 ปีต่อมา ก็สามารถจับอารมณ์ความรู้สึกของคนไทยจำนวนมากมายมหาศาลนับตั้งแต่ช่วงหลังรัฐประหาร 19 กันยายน 2549 ได้เช่นกัน เพียงแต่คราวนี้ คนเหล่านั้นส่วนใหญ่ดูเหมือนจะมีสถานะเป็นคนชั้นกลางใหม่ คนชั้นกลางระดับล่าง รวมถึงคนชั้นล่างในต่างจังหวัด ตลอดจนคนชั้นกลางระดับล่างในเมือง ซึ่งอาจไม่ใช่กลุ่มคนดูที่เข้าโรงหนังเป็นประจำมากนัก หรือหากเมื่อก่อนเคยเข้าโรงหนังเป็นประจำ ในช่วงเวลาปัจจุบัน (มีนาคม 2553) พวกเขาก็คงไม่มีจิตใจจะดูหนังกันอยู่ดี

นอกจากนั้น ขณะที่บางระจันภาคแรกมีเนื้อหามุ่งจับไปที่ความรู้สึกสามัคคีของคนในชาติ บางระจัน 2 กลับมุ่งจับอารมณ์ความรู้สึกของสามัญชนระดับชาวบ้านที่ถูกกดขี่ข่มเหงโดยอำนาจรัฐ (ต่างชาติ) การถูกกดขี่ข่มเหงที่อาจนำไปสู่ความแตกแยกไม่เป็นอันหนึ่งอันเดียวกันและไม่มีวันจะสมานฉันท์กันได้

นี่อาจเป็นปัจจัยสำคัญจำนวนหนึ่ง ที่ส่งผลให้บางระจัน 2 ของธนิตย์ จิตนุกูล ต้องประสบกับความล้มเหลวทางด้านรายได้โดยสิ้นเชิง อย่างไรก็ตาม รายได้อันน้อยนิดคงไม่สามารถเป็นมาตรวัดได้ว่าหนังเรื่องนี้ไม่มีประเด็นน่าสนใจใดๆ แฝงเร้นอยู่ในเนื้อหา

บางระจัน 2 เล่าเรื่องราวของกลุ่มนักรบผ้าประเจียดจากหมู่บ้านเขานางบวช ที่ทำการสู้รบปล้นสะดมกองทัพพม่า โดยได้รับแรงบันดาลใจสำคัญจากชาวบ้านบางระจันซึ่งถูกตีแตกไปก่อนหน้านี้ ยิ่งกว่านั้น ชุมชนเขานางบวชยังได้นิมนต์พระอาจารย์ธรรมโชติจากหมู่บ้านบางระจันมาเป็นมิ่งขวัญกำลังใจให้แก่ชาวบ้านอีกด้วย

ทั้งบางระจัน 1 และบางระจัน 2 ดูเหมือนจะมีสถานะเป็นหนังชาตินิยมไทยรบพม่าทั่วไป ที่ทำได้เพียงแค่โอนย้ายบทบาทของวีรบุรุษวีรสตรีฝ่ายไทยจากเจ้ามายังสามัญชน ตามอิทธิพลการเขียนประวัติศาสตร์และการสร้างละครแนวปลุกใจจำนวนมากของหลวงวิจิตรวาทการในสมัยรัฐบาลจอมพล ป. พิบูลสงคราม ยุคแรก

แต่บางระจัน 2 ก็มีชีวิตชีวาและมีประเด็นความขัดแย้งที่น่าสนใจบางประการดำรงอยู่ในตัวเรื่อง กระทั่งหนังเรื่องนี้เป็นมากกว่าเรื่องเล่าว่าด้วยศึกสงครามระหว่างไทยกับพม่าอย่างที่เราเคยได้ฟังหรือได้ดูกันมา

ประเด็นแรกก็คือ ความสัมพันธ์ระหว่างชาวบ้านกับขุนนางจากอยุธยาในหนัง เพราะในขณะที่ชาวบ้านแห่งเขานางบวชทำการสู้รบกับทัพพม่า เพื่อปกป้องชุมชน ลูกเมีย ญาติพี่น้องของตนเอง โดยพวกเขาไม่เคยมีจุดหมายใหญ่โตเกินตัว ในการต่อสู้เพื่อปกป้องราชธานี หรือ สู้เพื่อชาติอะไรทั้งสิ้น (และแน่นอนว่าตอนนั้นก็ยังไม่มีมโนทัศน์เรื่อง “ชาติ” ดำรงอยู่) แต่กลุ่มขุนนางและนายทหารจากอยุธยากลับมุ่งหวังที่จะเกณฑ์ไพร่พลจากเขานางบวชไปช่วยรบเพื่อปกป้องราชธานี หรือ เข้าร่วมกอบกู้อยุธยาจากพม่า

นี่เป็นประเด็นความขัดแย้งที่น่าสนใจเหลือเกินในบางระจัน 2 และหากผู้สร้างรวมทั้งทีมงานเขียนบทสามารถผลักดันหนังให้หลุดพ้นไปจากเรื่องไทยรบพม่า แต่หันมาเล่นประเด็นความขัดแย้งอันสืบเนื่องมาจากโลกทัศน์และชีวทัศน์ที่แตกต่างกันของชาวบ้านเขานางบวชกับกลุ่มขุนนางที่นำโดยพระยาจากกรุงศรีอยุธยาแทน (หรืออาจกล่าวได้อย่างง่ายๆ ว่า หันมาเล่นประเด็นความขัดแย้งระหว่าง “ไพร่” กับ “อำมาตย์” ตามสมัยนิยม) หนังเรื่องนี้ก็อาจกลายเป็นภาพยนตร์อิงประวัติศาสตร์ในยุคอยุธยาชิ้นสำคัญและมีความร่วมสมัยเป็นอย่างยิ่ง

ทว่าบางระจัน 2 ก็หนีไปไม่พ้นจากพล็อตสงครามไทยรบพม่าอีกเช่นเคย เพราะสุดท้ายแล้ว ทั้งอำมาตย์และไพร่ต่างหันมาร่วมใจกันออกไปสู้รบกับกองทัพพม่าผู้แสนโหดหีนอยู่ดี

อย่างไรก็ตาม ในความซ้ำซากจำเจเหมือนไม่มีอะไรน่าสนใจ กลับมีประเด็นน่าสนใจแฝงอยู่อีกครั้งหนึ่ง กล่าวคือ หนังเรื่องนี้ไม่ได้มุ่งนำเสนอภาพการทำสงครามรบพุ่งอย่างโหดเหี้ยมดุเดือนเลือดพล่านเร้าอารมณ์ชาตินิยม เช่นดังที่ปรากฏในบางระจันภาคแรก หรือ “300” (ซึ่งหลายคนหรืออาจรวมทั้งผู้สร้างเองคิดว่าเป็นต้นแบบของบางระจัน 2) ยิ่งกว่านั้น ดูเหมือนว่าบางระจัน 2 กลับมีระดับความรุนแรงน้อยกว่าหนังและละครโทรทัศน์ว่าด้วยเรื่องไทยรบพม่าส่วนใหญ่ที่เกิดขึ้นหลังยุคบางระจันภาคแรกเสียด้วยซ้ำไป

หนังไม่ได้เสนอภาพวีรกรรมสละเลือดทุกหยาดเป็นชาติพลีของเหล่าขุนนางอยุธยาและชาวบ้านเขานางบวช ในศึกที่อย่างไรเสียพวกเขาก็ต้องตกเป็นฝ่ายพ่ายแพ้แก่กองทัพพม่า แต่บางระจัน 2 กลับเลือกจบตนเองในแบบ “ไม่จบ” จนคนดูไม่มีโอกาสได้รับรู้ว่าขุนนางและชาวบ้านเหล่านั้นจะเสียชีวิตอย่างไร และเร้าอารมณ์ความรู้สึกซาบซึ้งกินใจได้มากน้อยเพียงไหน แม้จะคาดเดาได้อยู่แล้วว่าพวกเขาย่อมไม่มีทางหลุดรอดจากความตายก็ตาม

ในฉากสู้รบตอนท้ายของบางระจัน 2 ชาวบ้านบางระจันจากหนังเรื่อง “บางระจัน” ภาคแรก ได้ปรากฏตัวออกมาสู้รบเคียงข้างกับชาวบ้านและขุนนางใน “บางระจัน 2” นี่เป็นการใช้กลวิธี “สัมพันธบท” ที่น่าทึ่งมากๆ ครั้งหนึ่งของวงการหนังไทย และดูเหมือนว่าชาวบ้านบางระจันจากหนังภาคแรกนั้นน่าจะมีสถานะเป็น “ประชาทิพย์” มากกว่า “ผี” ธรรมดา

(“ประชาทิพย์” เป็นมโนทัศน์สำคัญที่ถูกประดิษฐ์ขึ้นและปรากฏอยู่ในบทกวีการเมืองของ “ไม้หนึ่ง ก. กุนที” กวีคนสำคัญของฝ่ายเสื้อแดง ซึ่งหมายถึงสามัญชนที่ลุกขึ้นต่อสู้และยอมสละชีพของตนเองเพื่อระบอบประชาธิปไตยหรือความเท่าเทียมกัน แม้สามัญชนเหล่านี้จะต้องล้มหายตายจาก ทว่าพวกเขากลับไม่ได้ขึ้นไปเป็นเทพเทวดาบนสรวงสวรรค์ แต่จะมีสถานะเป็นกลุ่มพลังงานที่เรียกว่าประชาทิพย์ ผู้คอยทำหน้าที่ปกปักรักษาสามัญชนซึ่งยังมีชีวิตอยู่ให้ยืนหยัดต่อสู้กันต่อไป)

แล้วประชาทิพย์ในบางระจันภาคแรกกับชาวบ้านและขุนนางในบางระจัน 2 ก็ออกไปบุกตะลุยฟันฝ่ากับกองทัพพม่าจำนวนมหาศาลร่วมกัน นี่คือจุดสิ้นสุดของหนังที่ปราศจากตอนจบอันสมบูรณ์แบบเรื่องนี้

“ฉากจบแบบปลายเปิด” ดังกล่าวดำเนินไปเคียงคู่พร้อมกันกับคำพูดของพระอาจารย์ธรรมโชติที่กล่าวต่อหน้าสุกี้ พระนายกอง ว่า “มึงรู้ไหมว่าทำไมชาวบ้านระจันถึงได้เข้มแข็ง ก็เป็นเพราะมึงกดขี่เขายังไงเล่า และถ้ามึงยังกดขี่ข่มเหงเขาอยู่ก็จะมีบ้านระจันที่สองที่สามต่อไปไม่สิ้นสุด”

ด้วยประโยคเช่นนี้ ที่พูดในเมืองไทย พ.ศ. นี้ อาจทำให้ใครหลายคน (ที่ไม่ใช่แม่ทัพพม่า) สะดุ้งเฮือกกันยกใหญ่ จึงเป็นเรื่องน่าเสียดายที่บางระจัน 2 ยังเลือกที่จะผลักภาระและสถานะ “ความเป็นศัตรูของสังคมไทย” ให้แก่พม่า ตามทางเดินที่ประวัติศาสตร์นิพนธ์กระแสหลักแผ้วถางไว้

สุดท้าย “ประชาทิพย์” ในบางระจัน 2 จึงยังคงถูกตามหลอกหลอนโดย (หรือสร้างภาพหลอนหลอกตัวเองด้วย) “ปีศาจพม่า” ท่ามกลางบริบทของสังคมไทยร่วมสมัย ที่หลายคนคงตั้งคำถามว่าทำไมจึงเป็นกองทัพพม่าต่างชาติที่ต้องเผชิญหน้ากับระลอกคลื่นแห่งการลุกฮือซึ่งไม่มีวันสิ้นสุดของชาวบ้านสามัญชนผู้ถูกกดขี่? หรือประเด็น “ไทยรบพม่า” กับประเด็นความขัดแย้งระหว่าง “อำมาตย์กับไพร่” นั้น ประเด็นใดมีพลังในการอธิบายสังคมไทยได้มากกว่ากัน?

Leave a Reply

Fill in your details below or click an icon to log in:

WordPress.com Logo

You are commenting using your WordPress.com account. Log Out /  Change )

Facebook photo

You are commenting using your Facebook account. Log Out /  Change )

Connecting to %s

This site uses Akismet to reduce spam. Learn how your comment data is processed.