อนุสาวรีย์นักฟุตบอล : ว่าด้วยความทรงจำ, ท้องถิ่น และชาติ

ปรับปรุงจากบทความในมติชนสุดสัปดาห์ 17-23 กรกฎาคม 2558

คริส สไตรด์ นักวิชาการด้านสถิติจากมหาวิทยาลัยเชฟฟิลด์ และ ฟีออน โธมัส นักศึกษาปริญญาเอก จากสถาบันศึกษากีฬาฟุตบอลนานาชาติ มหาวิทยาลัยเซ็นทรัล แลงคาเชียร์ ประเทศอังกฤษ ศึกษาค้นพบว่า ปัจจุบันสโมสรฟุตบอลทั่วโลก ได้จัดสร้างอนุสาวรีย์หรือประติมากรรมรูปหล่อของ (อดีต) นักฟุตบอล, ผู้จัดการทีม, ประธานสโมสร กระทั่งแฟนบอล ติดตั้งตามสนามแข่งขัน และแหล่งชุมชนเมือง

เป็นจำนวนรวมกันมากกว่า 350 แห่ง/ชิ้น

รูปหล่อเกือบทั้งหมดเพิ่งถูกสร้างขึ้นในราว 2 ทศวรรษที่ผ่านมา โดยสหราชอาณาจักรมีประติมากรรมลักษณะนี้มากที่สุด ตามมาด้วยเนเธอร์แลนด์ เยอรมนี และบราซิล แม้แต่จีน ที่ความนิยมในเกมลูกหนังยังไม่สามารถแปรสภาพไปสู่ความสำเร็จของผลการแข่งขันได้ ก็ยังมีอนุสาวรีย์นักฟุตบอลตั้งอยู่

มีแนวโน้มชัดเจนว่า บรรดาแฟนบอลมีบทบาทสูงขึ้น ในการระดมทุนจัดสร้างรูปรำลึกของนักฟุตบอลหรือผู้จัดการทีมขวัญใจพวกเขา ผ่านรูปแบบความร่วมมืออันหลากหลาย

ตั้งแต่การรวบรวมกุญแจเก่าๆ แล้วนำไปหลอมเพื่อสร้างรูปหล่อ เรื่อยไปจนถึงการจัดแสดงละครเวที แล้วนำรายได้จากการจำหน่ายตั๋วมาสร้างอนุสาวรีย์

ขณะเดียวกัน องค์กรการปกครองส่วนท้องถิ่นก็เริ่มเข้ามามีบทบาทในเรื่องนี้ เมื่อนักฟุตบอลถูกนับเป็นวีรบุรุษประจำท้องถิ่นประเภทหนึ่ง

อย่างไรก็ตาม โดยทั่วไปแล้ว (สำหรับในทวีปยุโรป) อนุสาวรีย์/รูปหล่อของนักเตะ มักถูกสร้างขึ้นจากการริเริ่มของสโมสรต้นสังกัด และคู่ค้าทางธุรกิจของสโมสรเหล่านั้นมากกว่า

เมื่อถามว่านักฟุตบอลคนไหนสมควรได้รับการยกย่อง ในระดับที่ต้องจัดสร้างอนุสาวรีย์ให้?

นี่ถือเป็นคำถามที่ถกเถียงกันในหมู่แฟนบอลอย่างไม่รู้จบ

บางคนเห็นว่าต้องพิจารณาจากจำนวนประตูที่นักบอลคนนั้นๆ ทำได้ (ในแง่นี้ ผู้เล่นตำแหน่งศูนย์หน้าย่อมได้เปรียบ)

บางคนพิจารณาจากลีลาการเล่นอันสนุกเร้าใจ และความจงรักภักดีที่นักเตะคนนั้นๆ มอบให้แก่สโมสร

ส่วนบรรดาแฟนบอลขาจร ผู้มิได้ผูกพันกับทีมใดเป็นพิเศษ ก็มักให้การยอมรับนักฟุตบอลที่มีส่วนร่วมสร้างความสำเร็จในระดับทีมชาติ หรือสุภาพบุรุษลูกหนังซึ่งมีบุคลิกภาพนอกสนามอันดีเลิศ

จากการศึกษาของสไตรด์และโธมัส ทั้งคู่พบว่า ส่วนมาก อนุสาวรีย์นักฟุตบอล จะถูกสร้างขึ้นหลังจากนักเตะคนดังกล่าวแขวนสตั๊ดไปแล้วราว 20-30 ปี

อย่างไรก็ตาม ผู้คนมักเข้าใจผิดกันว่าอนุสาวรีย์ส่วนใหญ่มีสถานะเป็นรูปจำลองของนักฟุตบอลผู้วายชนม์ไปแล้ว

ถ้าเป็นในกรณีของยุโรปตะวันออก ซึ่งความเชื่อที่ว่า “การสร้างรูปเหมือนบุคคลถือเป็นการสาปแช่งคนผู้นั้น” ยังคงดำรงอยู่ ความเข้าใจผิดดังกล่าวอาจเป็นเรื่องถูกต้อง

แต่สำหรับในหลายประเทศของทวีปยุโรปและอเมริกาใต้ นักฟุตบอลส่วนใหญ่ที่ได้รับเกียรติ ถูกสร้างรูปเหมือนเป็นอนุสาวรีย์ มักยังคงมีชีวิตอยู่

หนักกว่านั้น อาจมีเรื่องราวแปลกประหลาดหาได้ยากยิ่งเกิดขึ้น ดังกรณีของ “เธียร์รี อองรี” ซึ่งหวนกลับมาเล่นให้อาร์เซนอลในช่วงระยะเวลาสั้นๆ เป็นรอบที่สอง ด้วยสัญญายืมตัว เมื่อเข้าสู่บั้นปลายชีวิตการค้าแข้ง

ที่น่าสะดุดใจก็คือ ขณะที่ยอดนักเตะฝรั่งเศสกำลังลงเตะในสนามเอมิเรตส์ สเตเดียม อยู่นั้น อนุสาวรีย์/รูปหล่อท่วงท่าคุกเข่าสุดเท่ของเขา ก็ตั้งเด่นเป็นสง่าอยู่หน้าสนามฟุตบอลแห่งเดียวกัน

แน่นอนว่า อนุสาวรีย์มีความเชื่อมโยงกับประวัติศาสตร์, ความทรงจำ และอารมณ์โหยหาอดีต

สองนักวิชาการชาวอังกฤษ ระบุว่า ในเบื้องต้น อนุสาวรีย์นักฟุตบอลจำนวนมากถูกสร้างขึ้นเพื่อรำลึกถึงยอดนักเตะและทีมที่ยิ่งใหญ่เมื่อครั้งกระโน้น

รูปหล่อนักเตะจำนวนมากมีหน้าที่พาเหล่าแฟนบอลกลางคนกลับไปยังช่วงเวลาแสนสุข ซึ่งบรรดานักฟุตบอลชื่อดังยังมีสถานะเป็น “ฮีโร่ผู้ลงหลักปักฐาน” อยู่ในเกมลูกหนัง มิใช่เป็น “เซเล็บดาวกระจาย” ในแวดวงคนดัง เหมือนในปัจจุบัน

ทั้งคู่ตีความอีกว่า อารมณ์โหยหารำลึกอดีตอันปรากฏผ่านอนุสาวรีย์นักเตะอันคงทนถาวร ยังช่วยดึงแฟนบอลจำนวนมากกลับมายังสนาม เพื่อแชร์ความทรงจำเกี่ยวกับสโมสรสุดที่รักร่วมกัน

ถือเป็นการถ่วงดุลกับลักษณะความเป็นองค์กรธุรกิจและกิจการเชิงพาณิชย์ของทีมฟุตบอลในศตวรรษที่ 21 ซึ่งถูก “แฟนบอลพันธุ์แท้” บางกลุ่ม เหยียดหยามว่าเป็นสิ่งไม่คงทนถาวร

การตีความข้างต้นอาจแลดูฟูมฟายเกินไปบ้าง ทว่าที่สไตรด์และโธมัสนำเสนอไว้อย่างน่าสนใจ ก็คือ อนุสาวรีย์นักฟุตบอลนั้นมักถูกสร้างเคียงคู่กับ “สนามใหม่” ของสโมสร

เมื่อกีฬาฟุตบอลได้รับความนิยมเป็นอย่างสูง จนต้องการสังเวียนฟาดแข้งที่สามารถรองรับคนดูจำนวนมากขึ้น สโมสรหลายแห่งจึงตัดสินใจแสวงหาพื้นที่ว่างอันกว้างขวางกว่าเดิม แล้วย้ายไปก่อสร้างสนามใหม่บนพื้นที่ดังกล่าว

อย่างไรก็ดี สนามแห่งใหม่มักตั้งอยู่ห่างไกลจากชุมชนของฐานแฟนบอลกลุ่มดั้งเดิม (ในกรณีของสหราชอาณาจักร มักเป็นย่านอุตสาหกรรม) ด้วยเหตุนี้ รูปหล่อโลหะของนักเตะจำนวนมาก ที่ถูกสร้างขึ้นพร้อมๆ กับสเตเดียมใหม่ๆ จึงช่วยยึดโยงแฟนบอลของทีมให้ยังคงมีอัตลักษณ์และความทรงจำบางอย่างร่วมกันอยู่

แม้ว่าที่ตั้งของสนามแห่งใหม่จะอยู่ห่างไกลจาก “พื้นที่แห่งความทรงจำ” ดั้งเดิมก็ตามที

นักวิชาการคู่นี้อุปมาว่าสนามบอลในยุคสมัยใหม่ เปรียบเสมือน “ผืนผ้าใบว่างเปล่า” ผิดกับสนามยุคเก่า ที่เทียบเคียงได้กับ “ผืนผ้าอันเต็มไปด้วยลวดลายร้อยพ่อพันแม่แลดูแปลกตา” แต่ก็อัดแน่นไว้ด้วยความทรงจำร่วมและความทรงจำส่วนบุคคลที่หลากหลายของบรรดาแฟนบอล

ดังนั้น อนุสาวรีย์นักฟุตบอลจึงเป็นช่องทางหนึ่ง ที่เปิดโอกาสให้สโมสรและแฟนบอลมีโอกาสได้อพยพโยกย้ายประวัติศาสตร์-ความทรงจำบางส่วนเสี้ยวเกี่ยวกับทีมและนักเตะคนโปรด มายังบ้านหลังใหม่/สนามแห่งใหม่

ประเด็นหลักข้อสุดท้าย ที่สองนักวิชาการเสนอ คือ อนุสาวรีย์นักฟุตบอลนั้นยังอาจเชื่อมโยงกับความสำเร็จในระดับทีมชาติด้วย

ตัวอย่างสำคัญ ได้แก่ การที่ 8 นักเตะของทีมชาติเยอรมนีตะวันตก ชุดครองแชมป์โลกปี 1954 ถูกรำลึกถึงผ่านการสร้างอนุสาวรีย์ เช่นเดียวกับสมาชิกกว่าครึ่งหนึ่งของทีมชาติอังกฤษ ชุดแชมป์โลก ค.ศ.1966 ซึ่งได้รับเกียรติแบบเดียวกัน

ทว่า นอกจากอนุสาวรีย์ “บ็อบบี้ มัวร์” หน้าสนามเวมบลีย์แล้ว ก็ไม่มีอนุสาวรีย์นักฟุตบอลคนอื่นใดอีกเลย ที่มีสถานะเป็น “อนุสาวรีย์ของชาติ”

นักฟุตบอลส่วนใหญ่ยังคงถูกยกย่องในฐานะฮีโร่ประจำสโมสรหรือท้องถิ่น นี่อาจแสดงให้เห็นว่า ในมุมมองของแฟนบอลแล้ว “สโมสร” สำคัญเหนือ “ชาติ”

ทั้งนี้ ในทางปฏิบัติ ย่อมเป็นเรื่องง่ายดายกว่า หากแฟนบอลของสโมสรระดับท้องถิ่นจะรวมตัวรวมใจกันระดมเงินทุนเพื่อจัดสร้างรูปรำลึกของยอดนักเตะขวัญใจประจำทีม

ผิดกับโปรเจ็กต์คล้ายคลึงกันในระดับชาติ ที่ต้องการความกลมเกลียวเป็นน้ำหนึ่งใจเดียว ซึ่งเกิดขึ้นได้ยากยิ่ง เพราะการสร้างอนุสาวรีย์ให้วีรบุรุษของชาตินั้น ต้องการฉันทามติในหมู่แฟนบอลต่างสโมสร รวมถึงความยินยอมพร้อมใจจากคนที่ไม่ใช่แฟนบอลด้วย

(และดังที่กล่าวไปแล้วว่า คนกลุ่มหลังมักใส่ใจกับบุคลิกนิสัยใจคอนอกสนามบอลของนักเตะที่จะได้รับการยกย่อง มากกว่าความสำเร็จในฐานะนักฟุตบอลของเขา)

ยิ่งไปกว่านั้น การที่หลายประเทศไม่มี “สนามกีฬาแห่งชาติ” ก็ส่งผลให้ปราศจากพื้นที่อันเหมาะสมในการจัดสร้างอนุสาวรีย์ยอดนักฟุตบอล/นักกีฬาของชาติ

อย่างไรก็ตาม กรณียกเว้นได้เกิดขึ้นที่ประเทศจีน ซึ่งมีการสร้างประติมากรรมรูปตัวอักษร “วี” (V) อันบ่งชี้ถึงชัยชนะ โดยมีรูปหล่อโลหะของทีมนักเตะแดนมังกรชุดที่ผ่านเข้าไปเล่นฟุตบอลโลกรอบสุดท้ายปี 2002 ครั้งแรกและครั้งเดียวในประวัติศาสตร์ ถูกติดตั้งอยู่บนประติมากรรมดังกล่าว

แต่ความจริงที่ปรากฏนอกเหนืออนุสาวรีย์ตัว “วี” ก็คือ ทีมชาติจีนชุดนั้นพ่ายแพ้ 3 นัดรวด และยิงไม่ได้แม้แต่ประตูเดียว จนต้องตกรอบแรกฟุตบอลโลกไปอย่างบอบช้ำ

ขณะเดียวกัน ที่สไตรด์และโธมัสไม่ได้ระบุไว้ก็คือ อนุสาวรีย์ตัว “วี” นั้น ตั้งอยู่ที่เสิ่นหยาง เมืองเอกของมณฑลเหลียวหนิง ไม่ได้ตั้งอยู่ที่หน้าสนามกีฬา “รังนก” หรือสนามกีฬาแห่งชาติของจีน ณ กรุงปักกิ่ง แต่อย่างใด

นักวิชาการทั้งสองคนยังกล่าวถึง “สตีเวน เจอร์ราร์ด” ยอดกัปตัน ผู้เพิ่งอำลาทีมหงส์แดง ลิเวอร์พูล ไปค้าแข้งที่เมเจอร์ลีก สหรัฐ ทั้งคู่ทำนายว่า เจอร์ราร์ดจะเป็นนักฟุตบอลคนต่อไปของอังกฤษ ที่ได้รับการยกย่องผ่านการจัดสร้างอนุสาวรีย์

แต่รูปหล่อที่ถูกสร้างขึ้น คงเป็นภาพจำลองขณะที่สตีวี่จีกำลังชูถ้วยชนะเลิศใบใดใบหนึ่งในฐานะกัปตันทีมลิเวอร์พูล (แม้เจอร์ราร์ดจะไม่มีโอกาสได้สัมผัสถ้วยแชมป์ลีกสูงสุดของอังกฤษ) มากกว่าจะเป็นอนุสาวรีย์กัปตันทีมชาติอังกฤษ ซึ่งไม่เคยได้รับเกียรติยศใดๆ เลย หลังคว้าแชมป์โลกเมื่อ ค.ศ.1966

สไตรด์และโธมัสปิดท้ายด้วยข้อมูลที่บ่งชี้ว่า ความนิยมในการก่อสร้างอนุสาวรีย์นักฟุตบอลนั้นเหมือนจะยังไม่ได้ลดหย่อนผ่อนแรงลง

เอาแค่ในช่วง 2-3 สัปดาห์ที่ผ่านมา ก็มีอนุสาวรีย์/ประติมากรรมใหม่ๆ ของนักเตะ ถูกเปิดตัวที่ปารากวัย, บราซิล, เยอรมนี และเนเธอร์แลนด์

นอกจากนี้ ยังมีแผนการจัดสร้างอนุสาวรีย์นักฟุตบอลอีกกว่า 30 โปรเจ็กต์ จากทั่วทุกมุมโลก ที่กำลังอยู่ในช่วงพัฒนาโครงการ


(adsbygoogle = window.adsbygoogle || []).push({});

…………………………………………………………………….

แปลและเรียบเรียงจาก บทความ Statuesque strikers: how football fell in love with figurative sculpture โดย Chris Stride และ Ffion Thomas เว็บไซต์ https://theconversation.com

Leave a Reply

Fill in your details below or click an icon to log in:

WordPress.com Logo

You are commenting using your WordPress.com account. Log Out /  Change )

Twitter picture

You are commenting using your Twitter account. Log Out /  Change )

Facebook photo

You are commenting using your Facebook account. Log Out /  Change )

Connecting to %s

This site uses Akismet to reduce spam. Learn how your comment data is processed.