(มติชนสุดสัปดาห์ 10-16 เมษายน 2558)
ถ้าจำไม่ผิด ก่อนหน้านี้ผมเคยเขียนถึง “มาโนเอล เดอ โอลิเวียร่า” ลงในมติชนสุดสัปดาห์ รวมทั้งสิ้นสองครั้ง
นับตั้งแต่ปี ค.ศ.2008 เป็นต้นมา ผู้กำกับภาพยนตร์ชาวโปรตุเกสรายนี้ถูกจดจำในฐานะคนทำหนังที่มีอายุมากที่สุดในโลก ที่ยังคงสร้างผลงานภาพเคลื่อนไหวอยู่
แต่ล่าสุด หนึ่งในตำนานบทสำคัญของวงการภาพยนตร์โลก ที่ผ่านยุคหนังเงียบมาสู่หนังเสียง, หนังขาวดำมาสู่หนังสี และหนังฟิล์มมาสู่หนังดิจิตอล กระทั่งได้ชื่อว่าเป็นคนทำหนังที่เริ่มต้นประกอบอาชีพในยุค “ภาพยนตร์เงียบ” รายสุดท้าย ที่ยังคงเหลือรอดชีวิต
ได้เสียชีวิตลงแล้วอย่างสงบ เมื่อวันที่ 2 เมษายนที่ผ่านมา ขณะมีวัย 106 ปี
เดอ โอลิเวียร่า เกิดเมื่อปี ค.ศ.1908 ที่เมืองปอร์โต้ ครอบครัวของเขาร่ำรวยจากกิจการโรงงานอุตสาหกรรม ขณะที่ตัวเขาเองเริ่มต้นชีวิตในวงการบันเทิง จากการเป็นนักเรียนการแสดง ก่อนจะผันตนเองมาเป็นคนทำหนังในเวลาต่อมา
ปี ค.ศ.1931 คือปีที่ เดอ โอลิเวียร่า เริ่มต้นทำภาพยนตร์เรื่องแรกในชีวิต (เป็นหนังสั้น) ตลอดชีวิตการทำหนัง ผู้กำกับรายนี้สร้างผลงานภาพยนตร์รวมทั้งสิ้นมากกว่า 50 เรื่อง
ส่งผลให้เขาได้รับรางวัลสิงโตทองคำเกียรติยศ ด้วยฐานะผู้ประสบความสำเร็จในวิชาชีพคนทำหนัง จากเทศกาลภาพยนตร์นานาชาติเวนิส ถึงสองหน (ครั้งแรกได้รับเมื่ออายุ 77 ปี ครั้งที่สองได้รับเมื่ออายุ 96 ปี)
นอกจากนั้น หนังของ เดอ โอลิเวียร่า เคยถูกคัดเลือกให้เข้าชิงรางวัลปาล์มทองคำ จากเทศกาลภาพยนตร์นานาชาติเมืองคานส์ถึง 5 ครั้ง ซึ่งแม้จะไม่เคยได้รับรางวัลดังกล่าว แต่สุดท้าย เทศกาลหนังเมืองคานส์ ก็มอบรางวัลปาล์มทองคำเกียรติยศให้แก่ผู้กำกับอาวุโสรายนี้ เมื่อปี ค.ศ.2008
โดยระบุเหตุผลว่า งานของเขาได้หลอมรวมความเอาใจใส่ในเชิงสุนทรียะเข้าเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันกับนวัตกรรมทางด้านเทคโนโลยี
นักดูหนังจัดแบ่งผลงานของ เดอ โอลิเวียร่า ออกเป็น 2 ยุค
ยุคแรก คือช่วงที่เขาสร้างหนังยาวเรื่องแรกๆ ซึ่งเป็นช่วงเวลาเดียวกันกับที่คนทำหนังในอิตาลีกำลังตื่นตัวกับกระแส “นิโอเรียลลิสม์” อยู่พอดี และดูเหมือนผู้กำกับชาวโปรตุเกสผู้นี้จะได้รับอิทธิพลจากกระแสความคิดดังกล่าวอยู่ไม่น้อย
เห็นได้จากการที่หนังยาวเรื่องแรกของเขา คือ “Aniki-Bóbó” (1942) ซึ่งเล่าเรื่องราวของเด็กข้างถนน ที่เติบโตขึ้นมาในเขตสลัมบริเวณริมแม่น้ำของเมืองปอร์โต้ เลือกพึ่งพาการแสดงอันเป็นธรรมชาติของนักแสดงเด็กมือสมัครเล่น ที่เติบโตอยู่ในเขตสลัมแห่งนั้นจริงๆ รวมทั้งยังถ่ายทำในสถานที่จริงอีกด้วย
โรนัลด์ เบอร์แกน นักวิจารณ์ของ เดอะ การ์เดี้ยน ระบุว่า เราสามารถเรียกงานในยุคแรกของโอลิเวียร่า ซึ่งมักเล่าเรื่องของคนเล็กคนน้อย ผ่านวิธีการถ่ายทำที่เชื่อมร้อยลักษณะการเล่าเรื่องแบบ “สารคดี” และ “เรื่องแต่ง” เข้าไว้ด้วยกัน ได้ว่า “ยุคแห่งเรื่องราวของสามัญชน”
ขณะที่ผลงานในยุคสอง ที่เริ่มต้นตั้งแต่ต้นทศวรรษ 1970 เป็นต้นมา อาจถูกขนานนามได้ว่าเป็นงานใน “ยุคแห่งเรื่องราวของกระฎุมพี”
โดยหนังกลุ่มหลังของ เดอ โอลิเวียร่า มักเล่าเรื่องราวว่าด้วยรักที่ไม่สมหวังของเหล่านายทุนคนชนชั้นกลาง โดยมีฉากหลังเป็นภาพสังคมที่เต็มไปด้วยการกดขี่
ภาพยนตร์ในยุคหลังนี้มักดัดแปลงมาจากงานวรรณกรรม นั่นส่งผลให้ผลงานในยุคที่สองของ เดอ โอลิเวียร่า ฉายภาพให้เห็นถึงการปะทะสังสรรค์กันระหว่างธรรมชาติของงานวรรณกรรมที่ถ่ายทอดเรื่องราวต่างๆ ผ่านตัวอักษร ซึ่งมักถูกแปร/แปลงออกมาเป็นลักษณะการถ่ายภาพที่แช่ยาวและแน่นิ่ง หรือการตัดต่อที่ตอกย้ำช็อตเดิมอยู่ซ้ำแล้วซ้ำเล่า
กับวิธีการเล่าเรื่อง ผ่านการเรียบเรียงรวบรวมช็อตสั้นๆ ต่างสถานที่ ต่างเวลา ให้กลายเป็นหนังเรื่องเดียวกัน อันเกิดจากกระบวนการลำดับภาพในแบบภาพยนตร์
น่าสนใจว่า เมื่อล่วงเข้าสู่วัย 55 ปี เดอ โอลิเวียร่า ยังคงมีประวัติการทำหนังยาวอยู่เพียงแค่สองเรื่องเท่านั้น และจนถึงปี ค.ศ.1981 นั่นแหละ ที่ผู้กำกับอาวุโสเพิ่งย้อนกลับมาผลิตภาพยนตร์เป็นประจำ เฉลี่ยราวปีละหนึ่งเรื่อง กระทั่งหนังของเขามักถูกคัดเลือกไปฉายในเทศกาลภาพยนตร์ชั้นนำของทวีปยุโรป โดยเฉพาะในประเทศฝรั่งเศส
สามารถกล่าวได้ว่า ผลงานส่วนใหญ่ของ เดอ โอลิเวียร่า เพิ่งถูกผลิตขึ้นหลังจากเขามีวัย 70 กว่าปี หรือประมาณสามทศวรรษที่ผ่านมานี่เอง
เพราะแท้จริงแล้ว คนทำหนังชาวโปรตุเกสผู้นี้ มีช่วงเวลาที่ “สูญสลายหายไป” จากโลกภาพยนตร์ ในยุคที่ประเทศบ้านเกิดของเขาถูกปกครองด้วยระบอบเผด็จการภายใต้การนำของ อันโตนิโอ ซาลาซาร์ ตั้งแต่ยุคต้นทศวรรษ 30 ถึงปลาย 60
ภายใต้กฎหมายเซ็นเซอร์อันหนักหน่วงของระบอบเผด็จการ เดอ โอลิเวียร่า ถูกบีบให้ต้องเงียบเสียงและเว้นวรรคจากการสร้างสรรค์ผลงานภาพยนตร์ขนาดยาวไปพักใหญ่ เขาจึงใช้ชีวิตในวัยกลางคนไปกับการบริหารจัดการธุรกิจของครอบครัว และใช้เวลาว่างไปกับงานอดิเรก อาทิ การขับรถแข่ง
แม้เมื่อซาลาซาร์เสียชีวิตลงในปี ค.ศ.1970 เดอ โอลิเวียร่า ก็ไม่สามารถหวนกลับมาทำหนังยาวได้อย่างง่ายดาย เนื่องจากกิจกรรมการสร้างหนังถูกตั้งข้อหาจากเหล่านักสังคมนิยม ที่ผงาดขึ้นมามีบทบาททางการเมืองในยุคนั้น ว่าเป็น “บาป” ของชนชั้นนำ
ส่งผลให้ เดอ โอลิเวียร่า ต้องอดทนรอคอยเวลาในการหวนกลับคืนสู่โลกภาพยนตร์อย่างยาวนาน
แต่ขณะเดียวกัน เขากลับมีเวลาอย่างเต็มที่ในการสำรวจตรวจตราประเด็นต่างๆ ที่จะกลายมาเป็นแก่นแกนสำคัญในภาพยนตร์ของเขา นั่นก็ได้แก่ ความปรารถนา, ความกลัว, ความรู้สึกผิดบาป และภาวะพังพินาศ
ซึ่งทั้งหมดจะถูกเน้นย้ำด้วยอารมณ์ความรู้สึกแห่งการพยายามเยียวยาความโศกเศร้าของผู้คนในสังคมโปรตุเกส
เดอ โอลิเวียร่า เคยให้สัมภาษณ์กับนิตยสารภาพยนตร์ฉบับหนึ่ง ถึงสภาวะที่หนังยาวเรื่องแรกและเรื่องที่สองเขามีช่องว่างห่างจากกันนานถึงกว่า 20 ปี ขณะเดียวกัน ช่องว่างระหว่างหนังยาวเรื่องที่สองกับเรื่องที่สาม ก็มีระยะห่างมากถึงหนึ่งทศวรรษ ซึ่งทั้งหมดเป็นผลมาจากการเซ็นเซอร์อย่างเข้มงวดของระบอบเผด็จการ
เดอ โอลิเวียร่า ชี้ว่า ในช่วงเวลาเงียบงันอันน่าอึดอัดดังกล่าว เขาได้หันไปอุทิศเวลาให้กับการทำเกษตรกรรม เขาเห็นว่าเกษตรกรรมคือบทเรียนชั้นดี ที่ทำให้ตนเองได้ตระหนักถึงมุมมองของธรรมชาติและมุมมองของมนุษย์ อันเป็นผลมาจากการได้ทำงานร่วมกับบรรดาคนงานภายในไร่
ในช่วงเวลานั้นเช่นกัน ที่ผู้กำกับอาวุโสชาวโปรตุเกสมีโอกาสได้ตรึกตรองสะท้อนคิดถึงกระบวนการถ่ายทำภาพยนตร์ นั่นส่งผลให้เขาได้แง่คิดอย่างลึกซึ้งเกี่ยวกับการทำหนัง
เดอ โอลิเวียร่า พิเคราะห์เรื่องร้ายๆ ผ่านการมองโลกในแง่ดี ว่า ถ้าหากเขาได้ทำหนังอย่างต่อเนื่องกันมาเรื่อยๆ ไร้จุดสะดุด ตั้งแต่ทศวรรษ 1930 เขาคงได้รับอิทธิพลจากกระแสนิยมต่างๆ ในแต่ละยุคสมัยอันผ่านพ้น จนมิได้กลายเป็นคนทำหนังที่ “แตกต่าง” จากเพื่อนร่วมวิชาชีพรายอื่นๆ
หรือไม่ได้กลายเป็นคนทำหนังที่ต่อต้านปทัสถานต่างๆ ในโลกภาพยนตร์และในทางการเมือง อย่างที่เขาเป็น (จนสิ้นอายุขัย)
หมายเหตุ : เนื้อหาในส่วนบทสัมภาษณ์ของ เดอ โอลิเวียร่า ดัดแปลงมาจากข้อความบนหน้าเฟซบุ๊ก ของ คุณไกรวุฒิ จุลพงศธร อดีตหัวหน้ากองบรรณาธิการนิตยสารไบโอสโคป ซึ่งปัจจุบันกำลังศึกษาปริญญาเอกด้านภาพยนตร์ศึกษาอยู่ที่สหราชอาณาจักร