(มติชนสุดสัปดาห์ 6-12 มีนาคม 2558)
หากพูดถึงรางวัลที่มอบให้แก่ศิลปินในวงการดนตรี “ไทยสากล” แล้ว รางวัล “สีสัน อะวอร์ดส์” ที่จัดโดยนิตยสารสีสัน ถือเป็นรางวัลหนึ่ง ซึ่งดำรงอยู่มาอย่างต่อเนื่องยาวนาน
จากการมอบรางวัลครั้งแรก ซึ่งเป็นการประมวลผลงานเพลงที่ออกวางจำหน่ายตลอดทั้งปี พ.ศ.2531 (ยุครุ่งเรืองของคาสเส็ตเทป) มาจนถึงการมอบรางวัลครั้งที่ 25 ประจำปี พ.ศ.2555 (ยุคโรยราของซีดีเพลง)
แต่แล้ว การมอบรางวัลสีสัน อะวอร์ดส์ ครั้งที่ 26 ประจำปี พ.ศ.2556 (ซึ่งตามปกติ ควรจัดขึ้นในเดือนมีนาคม พ.ศ.2557) กลับถูก “เว้นวรรค” ไป
ในเดือนมีนาคม 2557 ผู้ใช้ชื่อเฟซบุ๊กว่า “สมาคมคนพันธุ์ร็อคแห่งประเทศไทย” ได้โพสต์ข้อความในเพจเฟซบุ๊ก “Season Awards” ว่า “รอปี 2014 (หมายถึง ผลรางวัลประจำปี พ.ศ.2556-ผู้เขียน) อย่างใจจดใจจ่อครับ”
แอดมินของเพจ Season Awards จึงได้เข้ามาโพสต์ตอบว่า “ใจเย็นนิดนะคะ รอสถานการณ์บ้านเมือง “นิ่ง” กว่านี้อีกสักหน่อย”
คล้ายกับว่า สำหรับนิตยสารสีสัน และผู้มีส่วนเกี่ยวข้องกับรางวัลสีสัน อะวอร์ดส์ แล้ว สถานการณ์บ้านเมืองในช่วงที่ กปปส. ออกมาเคลื่อนไหวบนท้องถนน และบุกยึดสถานที่สำคัญต่างๆ เพื่อขับไล่รัฐบาลพรรคเพื่อไทยนั้น มีความสำคัญ (หรือน่าเอาใจช่วย?) มากกว่า “งานประจำ” ที่เคยจัดให้มีขึ้นทุกปี
ราวกับว่า เมื่อถึงคราคับขัน ก็จำเป็นต้องเปิดทางให้ “เสียงนกหวีด” ดังกลบ “เสียงดนตรี” เสียอย่างนั้น
อย่างไรก็ตาม เป็นที่น่ายินดีว่า เมื่อวันที่ 26 กุมภาพันธ์ 2558 เพจเฟซบุ๊ก Season Awards ได้โพสต์ข้อความว่า
“ประกาศ สำหรับศิลปินทุกท่าน
“เนื่องจากผลงานอิสระหลายชุด (อัลบั้ม) ที่ทำออกมาขาย แต่ไม่ได้มีวางขายในวงกว้าง คณะกรรมการ สีสัน อะวอร์ดส์ ไม่อยากให้ตกหล่นไป ตอนนี้ สีสัน อะวอร์ดส์ กำลังพิจารณาผลงานที่ออกในปี 2556-2557
“ถ้าศิลปินรายใดมีผลงานจะส่งไปให้พิจารณาก็ได้ ที่ “นิตยสารสีสัน 261/10 ซ.สุขุมวิท 22 แขวงคลองตัน เขตคลองเตย กทม. 10110″ – ด่วน!””
ที่น่ายินดีก็คือ สีสัน อะวอร์ดส์ จะกลับมาประกาศรางวัลกันอีกครั้ง โดยรวบผลงานเพลงในปี พ.ศ.2556 และ 2557 มาพิจารณาร่วมกัน แล้วมอบรางวัลไปในคราวเดียวเลย
แต่สิ่งที่น่าสนใจไปกว่านั้น ก็คือ ดูเหมือนคณะกรรมการรางวัลสีสัน อะวอร์ดส์ จะพยายามเปลี่ยนแปลงรูปแบบการคัดเลือกศิลปินเข้าชิงรางวัล ให้เข้ายุคเข้าสมัยมากยิ่งขึ้น
จากการที่คณะกรรมการจะเป็นผู้มอนิเตอร์ตลาดเพลงโดยรวม (พิจารณาจากซีดีที่ค่ายเพลงทั้งหลาย ส่งมาให้เป็นอภินันทนาการ และอาจรวมถึงการมองหาผลงานแปลกๆ ใหม่ๆ ที่ออกวางจำหน่ายตามร้านเทป-ซีดี) แล้วประกาศรายนามผู้ถูกเสนอชื่อเข้าชิงรางวัลในสาขาต่างๆ ก่อนจะประกาศผลผู้ได้รับรางวัลในท้ายที่สุด
มาเป็นการหันไปใช้กติกาแบบที่นิยมกันในแวดวงวรรณกรรม เช่น การประกวดรางวัลซีไรต์ หรือการประกวดเรื่องสั้น บทกวี นวนิยาย ส่วนใหญ่ ซึ่งระบุให้ศิลปิน/นักเขียน/สำนักพิมพ์ ผู้สร้างสรรค์ผลงาน จัดส่งงานมาให้คณะกรรมการพิจารณา
โดยที่กรรมการไม่ต้องทำงานหนักในการมอนิเตอร์ตลาดหนังสือทั้งหมด และสอดส่องงานเขียนตามสื่อสิ่งพิมพ์หลากฉบับ ด้วยตนเอง
หรือในทางกลับกัน ก็อาจแปลความได้ว่า หนังสือบางเล่มและงานเขียนบางชิ้น อาจถูกซุกซ่อนอย่างจำกัดวงอยู่ในซอกหลืบลึกลับบางแห่ง จนคณะกรรมการไม่สามารถเข้าถึงได้
ในฐานะแฟนประจำของ “สีสัน อะวอร์ดส์” (ที่ไม่ได้ซื้อนิตยสารสีสันอ่านมาหลายปีแล้ว และอาจมีความเห็นทางการเมืองไม่สอดคล้องต้องตรงกับ “เจ้าสำนักสีสัน” มากนัก) ผมอยากจะลองวิเคราะห์เล่นๆ อย่างลวกๆ ว่า การเปลี่ยนแปลงที่กำลังเกิดขึ้นกับรูปแบบการพิจารณารางวัลสีสันฯ นั้นสะท้อนให้เห็นถึงอุตสาหกรรมเพลงไทยในยุคปัจจุบันอย่างไรบ้าง?
ประการแรก คำประกาศเชิญชวนศิลปินให้ส่งผลงานมายังคณะกรรมการ บ่งบอกว่าตลาดเพลงไทยเปลี่ยนแปลงไปเยอะทีเดียว
ไม่ใช่แค่ค่ายเพลง (ซึ่งเอาเข้าจริงๆ อดีตสองค่ายเพลงยักษ์ใหญ่ของประเทศนี้ ก็หันไปทุ่มทุนลงแข่งขันในธุรกิจโทรทัศน์กันหมดแล้ว) ส่งซีดีอภินันทนาการมาให้นิตยสารสีสัน พิจารณาและเขียนวิจารณ์ลดน้อยลง
แต่ยังเป็นที่ประจักษ์ชัดมาหลายปีแล้วว่า “ซีดีเพลง” ที่อยู่ในตลาด ถูกผลิตในจำนวนน้อยลง มีความหลากหลายน้อยลง และมีผู้บริโภคน้อยลงด้วย จนร้านขายดีวีดีหนัง-ซีดีเพลง หลายต่อหลายแห่งในห้างสรรพสินค้า ต้องทยอยปิดตัวลง หรือร้านใหญ่ๆ หลายร้าน ก็ต้องหันไปวางขายสินค้าชนิดอื่นๆ พ่วงด้วย อาทิ จักรยาน และเครื่องใช้อิเล็กทรอนิกส์ต่างๆ เป็นต้น
สามารถกล่าวได้ว่า ซีดีเพลงไม่อาจถูกนับเป็น “ผลิตภัณฑ์มวลชน” อีกต่อไป เพราะในยุคนี้ มันไม่ใช่สินค้าที่ถูกผลิตออกมาเป็นจำนวนมาก เพื่อครอบคลุมท้องตลาดอันไพศาล ทั้งยังไม่ใช่สินค้าทั่วไป ที่ใครๆ ต่างก็เข้าถึง (และต้องการจะเข้าถึง) อีกแล้ว
ทว่า ซีดีเพลงกลับมีแนวโน้มจะกลายเป็นสินค้าใน “ตลาดเฉพาะ” ดังที่หนังสือเป็นมาแล้วหลายปี แถมยังเป็นสินค้าในตลาดเฉพาะที่แลดูแห้งเหี่ยว รอวันตาย ผิดกับสินค้าในตลาดเดียวกันบางชนิด ซึ่งกลับมามีชีวิตชีวาในหมู่คนวงเล็กๆ เช่น แผ่นไวนิล
เมื่อตลาดเพลงเปลี่ยน รูปแบบการพิจารณารางวัลก็จำเป็นเปลี่ยนแปลงตามไปด้วยเป็นธรรมดา และอาจมีปัญหาท้าทายข้อใหม่ๆ เกิดขึ้น
เดิมที คณะกรรมการสีสัน อะวอร์ดส์ ต้องทำหน้าที่มอนิเตอร์ตลาดเพลงโดยรวม แล้วประมวลลักษณะโดดเด่นของตลาดในแต่ละปีออกมา ผ่านการมอบรางวัลให้แก่ศิลปินรายต่างๆ
คำถามที่คณะกรรมการสีสัน อะวอร์ดส์ ในยุคนั้น ต้องเผชิญ ก็คือ แน่ใจได้อย่างไรว่าบรรดากรรมการ ซึ่งทำหน้าที่คัดเลือกผู้เข้าชิงรางวัล และประกาศผู้ได้รับรางวัล จะสามารถมอนิเตอร์ตลาดเพลงที่กว้างขวางหลากหลาย ได้ครบถ้วนทั้งหมด
โดยเฉพาะในยุคค่ายเพลงอินดี้เฟื่องฟูระหว่างปลายทศวรรษ 2530 ถึงต้นทศวรรษ 2540 หรือยุคที่แฟต เรดิโอ ได้รับความนิยมจากบรรดา “เด็กแนว” จำนวนไม่น้อย
แต่สำหรับในกติการูปแบบใหม่ ที่เปิดช่องให้ศิลปินส่งผลงาน ซึ่งคณะกรรมการ “เข้าไม่ถึง” มาให้ผู้มอบรางวัลพิจารณา
ปัญหาที่คณะกรรมการรางวัลสีสันฯ ต้องเผชิญ ตั้งแต่ยังไม่ประกาศรายชื่อศิลปินผู้ได้เข้าชิงรางวัลก็คือ จำนวนผลงานที่จะนำมาพิจารณา มันถูกผลิตออกมาน้อยมากๆ น้อยเกินไป
น้อยจนกระทั่งผู้จัดให้มีการมอบรางวัล ก็ยังไม่แน่ใจว่า ตนเองมอนิเตอร์ตลาดเพลงไทยครบถ้วนแล้วหรือยัง? ถ้าครบแล้ว ทำไมมันจึงมีงานถูกผลิตออกมาน้อยขนาดนี้?
ประการที่สอง เราจำเป็นต้องแยกแยะว่า แม้ “ซีดีเพลง” จะไม่ได้มีสถานะเป็น “ผลิตภัณฑ์มวลชน” อีกต่อไป ทว่า “เพลง” (โดยเฉพาะ “เพลงป๊อป”) ยังคงมีสถานะเป็น “วัฒนธรรมมวลชน” อยู่
พูดอีกอย่างหนึ่งได้ว่า ถึงแม้ซีดีเพลงจะขายไม่ได้แล้ว แต่นั่นมิได้หมายความว่า ความนิยมฟังเพลงในหมู่ชนจะลดน้อยถดถอยลงไป
วัยรุ่นคนหนุ่มคนสาวในปัจจุบัน ก็ยังคงฟังเพลงที่ต้องตรงกับรสนิยมแห่งยุคสมัยของพวกเขา
คำถามจึงมีอยู่ว่า แล้วพวกเขาฟังเพลงกันผ่าน “สื่อกลาง” ประเภทใด?
ซึ่งหลายคนก็คงตระหนักได้ว่า คนในยุคปัจจุบันนั้นบริโภคเพลง ผ่านระบบดาวน์โหลด หรือระบบสตรีมมิ่ง ในอินเตอร์เน็ต เป็นหลัก
หรืออาจกล่าวได้ว่า สำหรับพวกเขาแล้ว ดนตรีมีสถานะเป็น “อวัตถุ” มากยิ่งขึ้น สอดคล้องไปกับวิวัฒนาการทางด้านเทคโนโลยีการสื่อสาร ที่มีแนวโน้มจะโยน “ข้อมูล” แทบทุกอย่าง ไปเก็บไว้ในอากาศ
ที่น่าตลกร้าย ก็คือ ในเพจเฟซบุ๊ก “Season Magazine” ซึ่งแยกออกจากเพจรางวัลสีสัน อะวอร์ดส์ ได้ระบุข้อความเพิ่มเติมไปด้วยว่า นอกจากคณะกรรมการรางวัลสีสันฯ จะเปิดโอกาสให้ศิลปินส่งผลงานดนตรีมาให้กรรมการพิจารณาแล้ว ผลงานที่ส่งเข้ามายังต้องเป็นเพลงซึ่งถูกบันทึกลงใน “แผ่นซีดี” ไม่ใช่เพลงที่เผยแพร่ผ่านระบบดาวน์โหลด ซึ่งกำลังเป็นที่นิยมกัน
ดังคำอธิบายว่า “ขอเป็นผลงานที่ทำออกมาวางจำหน่ายในรูปแบบซีดีเท่านั้น เนื่องจากคณะกรรมการไม่สามารถไล่ตามซิงเกิลที่ปล่อยให้ดาวน์โหลดกันได้ทัน (ฮา)”
ข้อกำหนดดังกล่าว อาจกลายเป็นข้อจำกัดของสีสัน อะวอร์ดส์ เอง และอาจส่งผลให้มีผู้ตั้งคำถามได้ว่า ผลรางวัลสีสัน อะวอร์ดส์ ครั้งที่กำลังจะมีขึ้นนั้น สามารถประมวลภาพรวมของวงการเพลงไทยสากลในระหว่างปี พ.ศ.2556-2557 ได้อย่างรอบด้าน ครอบคลุม เพียงใด?
ในเมื่อคณะกรรมการยังยึดติดกับวิถีการบริโภคดนตรีรูปแบบเดิมๆ ซึ่งดูคล้ายจะ “ตกยุค” ไปเรียบร้อยแล้ว หากพิจารณาจากบริบทของสังคมไทยร่วมสมัย
อย่างไรก็ดี การกลับมาของ “สีสัน อะวอร์ดส์” ยังถือเป็นเรื่องน่ายินดีมากกว่ายินร้าย
เพราะอย่างน้อย การหวนคืนมาทำงานในแวดวงที่ตนเองเคยมีความเจนจัดอยู่บ้าง ก็ยังนับเป็นสิ่งดี ยิ่งกว่าการไปเที่ยวมีวิวาทะกับผู้เห็นต่างทางการเมือง แล้วน็อตหลุด จนพาลพาดพิงถึงประเด็น “กระหายเลือด”
ใช่ไหมครับ “น้า”